วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 24, 2560

‘การกลั่นแกล้ง’ คือสิ่งที่เราเห็นจากคดีของโจนาธาน เฮด สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ‘ไผ่ ดาวดิน’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา





เราเห็นอะไรจากคดีของโจนาธาน เฮด สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ‘ไผ่ ดาวดิน’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

ทั้งสามคดีชี้ชัดว่ากระบวนการศาลไทยและระบบตุลาการทั้งหมด ยังไม่ได้มาตรฐานสากลแห่งหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย หรือ ‘Rule of Law’ ที่ภายในประเทศไทยมักจะอ้างกันนักกันหนาว่าคือ นิติธรรม

ความคล้ายคลึงของทั้งสามคดีอีกอย่างก็คือ การใช้กฎหมาย65gbvว่าด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งมีระวางโทษสูงเกินความเหมาะสม ควบเหมากับกฎหมายหมิ่นประมาทที่ขัดแย้งมาตรฐานโลก ไม่ว่าจะเป็นกรณีกระทบถึงบุคคลธรรมดา หรือต่อพระมหากษัตริย์และราชบัลลังก์

ในกรณีหลังยิ่งเป็นที่กล่าวขวัญ (สยอง) กันไปทั่วโลก ว่ามีความรุนแรงหาที่ไหนเปรียบปราน ด้วยโทษจำคุกอย่างสูง ๑๕ ปีต่อหนึ่งกระทง มีผู้ถูกตัดสินจำคุก ๖๐ ปีมาแล้วเพียงเพราะการนำลงข้อความบนเฟชบุ๊คซึ่งศาลเห็นว่ามีความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ของประมวลกฎหมายอาญา

คดีของโจนาธาน เฮด ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เคยประจำอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และเคยเป็นนายกสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ เขาถูกฟ้องหมิ่นประมาทที่ภูเก็ตโดยทนายความชาวไทย ที่อ้างว่าได้รับความเสียหายจากรายงานข่าวเรื่องชาวอังกฤษถูกกระบวนการเงินกู้นอกกฎหมายร่วมมือกับอดีตภรรยาชาวไทยฉ้อโกงเอาทรัพย์สินมูลค่าเกือบ ๑ ล้านปอนด์สเตอริงของเขาไปทั้งหมด

นายประทวน ธนารักษ์ โจทก์ ถูกระบุชื่อในรายงานข่าวว่าเป็นผู้ทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินของนายเอียน แร้นซ์ ให้แก่อดีตภรรยาชาวไทย โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ปรากฏร่างให้การรู้เห็น นายประทวนอ้างว่าการระบุชื่อเขาเช่นนั้นทำให้เสียชื่อเสียง

รายงานข่าวเอเอฟพี นำเสนอโดย นสพ.เดอะการ์เดียน เมื่อวานนี้ (๒๓ ก.พ.) กล่าวว่า “ภายใต้กฎหมายไทย ชาวต่างชาติไม่สามารถครอบครองที่ดินได้ แต่ก็มักจะใช้ทางอ้อมด้วยการนำทรัพย์สินเข้าเป็นสมบัติของบริษัทที่เขาเป็นเจ้าของ หรือไม่ก็ใส่ไว้ในชื่อของคนท้องที่ซึ่งไว้ใจได้”

(https://www.theguardian.com/…/bbc-journalist-faces-defamati…)

“ในปี ๒๕๕๓ นายแร้นซ์ค้นพบว่าภรรยาคนไทยของเขาได้ปลอมลายเซ็นต์เขาเพื่อถอนเขาออกจากการเป็นผู้อำนวยการ แล้วจัดการขายทรัพย์สินไปทั้งหมด ด้วยการช่วยเหลือของเครือข่ายเงินกู้และอสังหาริมทรัพย์บนเกาะภูเก็ต

เธอ (ภรรยานายแร้นซ์) ต้องติดคุกสี่ปีด้วยความผิดฐานฉ้อโกงนี้ แต่ตัวนายแร้นซ์พยายามที่จะเอาทรัพย์ของเขาคืนผ่านทางกระบวนการศาลไทยเป็นเวลาหลายปีแล้ว ป่านนี้ยังไม่สำเร็จ”

เขากลับกลายมาเป็นผู้ต้องหาเสียเอง ร่วมกับนายเฮด ในคดีซึ่งทนายความไทยคนที่ช่วยภรรยาเขาทำนิติกรรมอำพราง เกิดอาการ “เสียหน้า ถูกจ้วงจาบ และทำให้เกลียดชัง” เพราะบทความของโจนาธาน เฮด เปิดโปงคดีนี้ในปี ๒๕๕๘

เป็นคดีที่จำเลยทั้งสองอาจต้องโทษจำคุกเป็นเวลานานถึง ๕ ปี ปรับอีก ๒ แสนบาท เพราะมีการแจกแถมโทษฐานความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์เข้าไปด้วย

(โทษหมิ่นประมาทคุก ๒ ปี ปรับ ๒ แสน ความผิดคอมพิวเตอร์คุก ๕ ปี ปรับ ๑ แสน ดูประชาไท http://prachatai.org/journal/2017/02/70241)

ข้อที่ทำให้คดีนี้มีความอัปลักษณ์ในสายตาวิญญูชนและอารยะชนทั่วโลกอยู่ที่ ศาลอายัติหนังสือเดินทางของนายโจนาธาน เฮด เอาไว้ ทำให้เขาไม่สามารถเดินทางไปทำงานในหน้าที่ผู้สื่อข่าวซึ่งจะต้องไปไหนต่อไหนทั่วภูมิภาคได้สะดวก

หากจำเป็นจะต้องเดินทางออกนอกประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้สื่อข่าวมักจะต้องเดินทางอย่างกระทันหัน เขาไม่สามารถทำได้เนื่องจากต้องขออนุญาตศาลทุกครั้งไป แม้ศาลอนุญาตก็จะต้องเดินทางไปภูเก็ตเพื่อรับหนังสือเดินทางก่อน แน่นอนว่าเมื่อต่อไปถึงสถานที่ทำข่าวเหตุการณ์คงจบไปแล้วไม่ทันการณ์

วิธีทำให้ลำบากลำบนแก่ผู้ต้องหา (ไม่ทุกคน เฉพาะที่ศาลหมายหัว) เช่นนี้ เป็นที่เข้าใจของผู้มีจิตสำนึกในสิทธิมนุษยชนว่าคือการ ‘กลั่นแกล้ง’





เช่นเดียวกับการกลั่นแกล้งไม่ให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราวแก่คดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

นายสมยศถูกปฏิเสธประกันรวมแล้ว ๑๖ ครั้ง และติดคุกมาแล้ว ๕ ปี เพิ่งมีการตัดสินให้จำคุก ๖ ปี (ลดโทษฐานกรุณา) แต่แถมอีก ๑ ปี ฐานหมิ่นประมาทบุคคลยศ พล.อ. เมื่อวานนี้เช่นกัน

ถ้าจำกันได้ นายสมยศถูกข้อหาหมิ่นกษัตริย์จากบทความในนิตยสารที่เขาเป็นบรรณาธิการ ทั้งที “พ.ร.บ.การพิมพ์ ๒๕๕๐ กำหนดไว้ว่าเมื่อเกิดความผิดขึ้นจากสิ่งพิมพ์ บรรณาธิการไม่ต้องรับผิด ผู้เขียนเท่านั้นที่ต้องรับผิด” แต่ “ศาลตัดสินว่าสมยศกระทำความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ไม่ใช่ พ.ร.บ.การพิมพ์”

(จากข้อเขียนของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี อ้างอิง ‘มิตรสหายท่านหนึ่ง’)

“ถาม (ศาล) อีกทีว่าสมยศ ‘ทำอะไร’ จึงตัดสินว่ามีเจตนาหมิ่น ศาลบอกว่าเพราะสมยศ ‘เป็นบรรณาธิการ’ถาม (ศาล) ว่าก็กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ยกเว้นความผิดให้บรรณาธิการแล้ว จะนับเป็นการกระทำผิดได้อย่างไร

ถาม (ศาล) ว่าสมยศ ‘ทำอะไร’ (ที่ไม่ใช่การบรรณาธิการ) จึงผิด? (ศาล) เขาจึงบอกว่าเพราะพยานโจทก์อ่านแล้วบอกว่า (มัน) มีเจตนา

ถาม (ศาล) ว่า แล้วคุณไปตรัสรู้ได้อย่างไรว่าบรรณาธิการอ่านแล้วต้องคิดเหมือนพยานโจทก์คิด คุณรู้ได้ยังไงว่าคนอ่านคนหนึ่งอ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่งแล้วต้องคิดเหมือนกับคนอ่านอีกคนหนึ่ง คุณรู้ได้ยังไง...

(ศาล) เงียบ และยังไม่เคยมีคำตอบหรือพยานหลักฐานอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลยมาจนถึงวันนี้”

ด้วยเหตุฉะนี้ (ละซี) สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติจึงได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง (อีกครั้ง) ให้ปล่อยตัวนายสมยศทันที

“แม้ว่าคำตัดสินของศาลฎีกาจะก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งที่จำทำให้สมยศได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้น แต่เราก็ยังคงเป็นกังวลในการลงโทษอย่างรุนแรงเช่นนี้” ลอเร้นซ์ มีลแลน รักษาการตัวแทนภาคพื้นเอเซียอาคเนย์ระบุ

“หน่วยงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้รัฐบาลไทยยุติใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปิดปากคนเห็นต่าง

และยังได้แถลงซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าการกำหนดโทษรุนแรงในกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีความจำเป็น และไม่มีความเหมาะสม”

(https://www.facebook.com/UNHumanRightsAsia/photos/a.657330534369993.1073741828.654755261294187/926163867486657/?type=3&theater)





ข้อเรียกร้องทำนองเดียวกัน ได้มีองค์การสิทธิมนุษยชนนานาชาติแถลงไว้สำหรับคดีของ ไผ่ ดาวดิน แล้วเช่นกัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภา ศาลขอนแก่นปฏิเสธการยื่นหลักประกัน ๗ แสนบาทขอปล่อยตัวชั่วคราวเขา ที่มี ส. ศิวรักษ์ ร่วมเป็นผู้ค้ำประกัน อีกเป็นครั้งที่ ๗

แม้ว่าทนายของไผ่จะได้ชี้แจงต่อศาล “กระบวนการในการสอบสวนพยานหลักฐานได้สิ้นสุดไปแล้ว ฉะนั้นการที่จตุภัทร์จะได้รับการประกันตัว จึงไม่ส่งผลให้จำเลยสามารถที่จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานและหลักฐานได้”

(http://news.voicetv.co.th/thailand/464118.html)

การได้ประกันตัวเป็นสิทธิที่จำเลยควรได้รับการปล่อยตัวออกมาเตรียมหลักฐานสู้คดี ตามหลักกฎหมายทั้งสากลและกฎหมายไทยเอง แต่ศาลก็ยืนกรานปฏิเสธอย่างขัดแย้งกับตรรกะเหตุผลทางกฎหมาย

ด้วยเหตุเบื้องต้นที่ศาลสั่งถอนประกันไผ่ด้วยคำร้องของอัยการอ้างว่าเขา ‘เหย้ยหยันอำนาจรัฐ’ การเก็บกักตัวไผ่ไว้ในคุกนานๆ กระทั่งเขาพลาดการสอบวิชาสุดท้าย หมดโอกาสได้รับปริญญา น่าจะเป็นเพราะเจตนา ‘กลั่นแกล้ง’ ให้เจ็บจำ อย่าได้ท้าทายอำนาจศาลและระบบตุลาการไทยเป็นอันขาด

ลักษณะความคิดแบบข่มเหงห้ำหั่นให้หวั่นเกรงหากเป็นเช่นนั้น มิใช่แบบแผนการคิดและใช้สติปัญญาอย่างมนุษย์ผู้ประเสริฐด้วยอารยธรรม รู้จักเคารพในสิทธิแห่งบุคคลซึ่งกันและกัน ปราศจากซึ่งเดรัจฉานวิชาอย่างแน่นอน