ตรงข้ามกับที่หวังกันไว้ว่าการปราบปรามธรรมกายจะทำให้พุทธไทยเข้มแข็งขึ้น กระบวนการปราบธรรมกายครั้งนี้เปิดเผยจุดอ่อนของสถาบันสงฆ์ไทยมากขึ้นด้วยซ้ำ
ความหวังว่าการแต่งตั้งสังฆราชพระองค์ใหม่ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรงกับธรรมกายจะนำไปสู่การปรองดองในสถาบันสงฆ์นั้นไม่เป็นความจริง ถึงแม้จะไม่ออกหน้า แต่ก็สนับสนุนการล้อมปราบแน่ๆ ทำให้ภาพความเป็นกลางสิ้นไป
ที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ การที่สังฆราชไม่ออกหน้า แต่ให้พุทธอิสระเป็นหัวหอกฝ่ายสงฆ์ เทียบได้กับการใช้ทหารรับจ้างสู้รบ แม้จะได้รับชัยชนะ แต่ก็มีปัญหาเรื่องวินัย เรื่องความชอบธรรม
พุทธไทยจึงมีทีท่าพึ่งพิงอำนาจเผด็จการ และอำนาจพระเถื่อนมากขึ้นเรื่อยๆ บทบาทของมหาเถรสมาคมที่จัดการคนในบังคับของตัวเองก็เลือนลางไป
สำหรับการเมืองระดับชาติ ความหวังว่ารูปแบบของการแต่งตั้งคนกลางเพื่อความปรองดอง ที่จะนำมาใช้กับการเมือง ก็สิ้นสุดลงไปด้วย
สรุปชัดๆว่า ปรองดองแบบ คสช คือ การกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่เหลือพื้นที่ให้อีกฝ่ายแน่นอน
ที่น่าห่วงกว่าคือ เริ่มเห็นชัดแล้วว่า ฝ่ายชนชั้นนำไทยนั้น มีการจัดตั้งกองกำลังสำหรับปราบปรามผู้เห็นต่างที่เป็นระบบมากขึ้น ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เป็นต้นมา รูปแบบซ้ำๆ คือ สื่อมวลชนปลุกระดมโดยใช้วาจารุนแรง ส่อเสียดและข่าวปลอม ผู้นำมวลชน ฝูงมวลชน เจ้าหน้าที่บางส่วน และสุดท้ายคือกลไกกฎหมาย
การโจมตีในครั้งหลังๆนั้น ประสานกันดีมาก ได้ผลสำเร็จทุกครั้ง
แต่การจะจัดตั้งกองกำลังแบบนี้ได้ จำเป็นต้องทุบทำลายคุณค่าต่างๆที่สังคมที่เจริญแล้วลงไป ไม่ว่าจะเป็นหลักนิติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก ความจริง หรือความน่าเชื่อถือของกฎหมายและสถาบันตุลาการ ต้องทำลายสติปัญญามวลชนจำนวนมากในชาติด้วย ถึงที่สุด ทำลายความน่าเชื่อถือของชาติ ระบบเศรษฐกิจ
ที่สำคัญคือ กองกำลังแบบนี้ จำเป็นต้องมีเป้าหมายต่อไปตลอดเวลา ไม่อาจสลายกองกำลังได้ คราวหน้าจะเป็นใครก็ยังไม่รู้เลย
Khemthong Tonsakulrungruang
ooo