วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 23, 2560

ชวนซื้อหนังสือ iLaw #ห้องเช่าหมายเลข112 ... -112 The Series





#ห้องเช่าหมายเลข112

จากเรื่องเล่า เรียงร้อย บนหน้าเว็บเพจและเฟซบุ๊ก iLaw

-112 The Series- ว่าด้วยชีวิตนักโทษคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ คดีหมิ่นประมาทร้ายแรงที่หลายครั้ง ผู้ตกเป็นจำเลย ถูกโบยตีจากฑัณฑ์ทรมานที่สูงยิ่งกว่าคดีอาญาทั่วไป กระทั่งบางครั้งบางคราพวกเขาถูกหลงลืมความเป็นมนุษย์ เพราะความคิดที่แตกต่างหรือเผลอไผลจากอาการทางจิต

นอกจากติดตามเฝ้าสังเกตการณ์ทั้งที่ศาลและเรือนจำเเล้วการเก็บเล็กผสมน้อยของข้อมูลมาประกอบเป็นเรื่องเล่าของพวกเขา ก็เป็นอีกงาน ที่คณะเขียนซึ่งประกอบด้วย ทีมiLaw อาสาสมัครเยี่ยมนักโทษทางการเมืองและกลุ่มเพื่อนรับฟัง ร่วมกันขีดเขียนขึ้น เป้าหมายร่วมคือ การพยายามคืนความเป็นมนุษย์ของนักโทษคดี 112 ผ่านเรื่องราวแง่มุมชีวิตอื่นๆของเขาที่บางรายเป็นแค่คนธรรมดา แล้วต้องมาผจญกับเหตุการณ์ในชีวิตที่ไม่ปกติสุขอีกต่อไป

นับเนื่องมาสามปี จากข้อเขียนตอนแรก เรากำลังขยับฐานช่องทางสื่อสารมาเป็นรูปแบบใหม่ในหน้ากระดาษ

เชิญชวนผู้สนใจ ร่วมพรีออเดอร์ กับทางเราโดย Inbox มาติดต่อสั่งซื้อในเฟซบุ๊กเพจได้ ในราคา 112 บาท (จากราคาปกติ 150 บาท) ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม - 25 มกราคม 2560) จัดส่งฟรี และรอติดตามรายละเอียดงานเปิดตัวหนังสือ #ห้องเช่าหมายเลข112 เร็วๆนี้

ห้องเช่าหมายเลข 112/ iLaw
พิมพ์ครั้งแรก/ เปนไท พับลิชชิ่ง
จำนวน 168 หน้า / ราคาปก 150 บาท
 
iLaw
.....

ตอนนี้มีวางขายที่ร้าน the writer secret และ the reading room

ooo
เปิด “ห้องเช่าหมายเลข 112” บทบาทนักจดบันทึกประวัติศาสตร์ราคาจ่ายของเสรีภาพ


Wed, 2017-02-22 14:45
ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม
ประชาไท





“ห้องเช่าหมายเลข 112”

หนังสือเล่มล่าสุดของ iLaw (อ่านว่า ไอลอว์) หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ซึ่งริเริ่มทำงานติดตามคดีเสรีภาพอย่างใกล้ชิดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ราวปี 2554

ใครที่คาดหวังแง่มุมทางประวัติศาสตร์ การเมือง การขับเน้นปัญหากระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ และการถกเถียงในปรัชญา หลักกฎหมาย ความเชื่อความคิดอย่างถึงราก อาจเป็นการคาดหวังที่ผิดฝาผิดตัว อันที่จริงนั่นก็เป็นสิ่งที่หลายกลุ่มหลายองค์กรพยายามทำตลอดหลายปีที่ผ่านมารวมถึงไอลอว์ด้วย แต่หนังสือเล่มนี้นำเสนอสิ่งที่ต่างออกไป นั่นคือ การเล่าเรื่อง “ชีวิต” และ “ชะตากรรม” ของคนธรรมดาที่ต้องเจอกับคดีนี้ แต่ขณะเดียวกันก็แอบซ่อนคำถาม-ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไว้ด้วยตามรายทาง

อาจกล่าวได้ว่า มันเป็นหนังสือเล่มแรกที่บันทึก “ประวัติศาสตร์ของผู้ต้องหาและครอบครัว ในคดีมาตรา 112” อย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ยอด pre-order นั้นก็ทำให้ทีมงานประหลาดใจ จากที่คิดว่าจะมีเพียง 40-50 เล่มกลับมากกว่านั้นถึง 10 เท่า ปัจจุบันมันยังถูกส่งไปยังห้องสมุดมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงห้องสมุดประชาชนในจังหวัดต่างๆ ที่สำคัญ มันกำลังจะปรากฏบนแผงหนังสือในร้านหนังสือทั่วไป รวมถึงในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เดือนมีนาคม-เมษายนนี้

คำถามแรกสุดหลังหยิบเล่มนี้ขึ้นมา อาจเป็นว่า ทำไมต้องเป็น “ห้องเช่า”

“ความหมายของห้องเช่า คือ การที่จะได้ออกมาสักวันหนึ่ง เป็นความหวัง ไม่ใช่ห้องถาวร มันสื่อว่าสักวันต้องมีความเปลี่ยนแปลง” บก.หนังสือเล่มนี้ตอบไว้ในเบื้องต้น

ส่วนคำถามอื่นหลังจากนั้นอาจสะท้อนผ่านอารมณ์ความรู้สึกและความคิดของเหล่าคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเบื้องหลัง





ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือเป๋า เป็นหัวเรือใหญ่ของไอลอว์ เขาทำงานที่นี่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เขาเรียนจบกฎหมาย เป็นทนายความ มาจากครอบครัวที่เป็นนักกฎหมายกันทั้งบ้าน

เขาเล่าถึงที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ว่ามา เป็นการวบรวมงานมาจาก 112 The Series ของไอลอว์มาขัดเกลาและเพิ่มเติมบางบทที่เครือข่ายที่ใกล้ชิดเคสเป็นคนเขียน

“เรามีความรู้สึก มีความคิดเห็น แต่ฐานข้อมูลมันจำกัด บันทึกกระบวนการพิจารณาคดีเฉยๆ มันแข็งและไม่มีความรู้สึก เลยลองเขียนเล่า”

“คดีที่รู้สึกเยอะแล้วเขียนในบล็อก คือคดีอากง คนอ่านเยอะ เขียนต่ออีกบ้าง 3-4 ชิ้น แต่หลังรัฐประหารคดีเยอะมาก น้องที่เข้ามาก็บ่นว่าเขียนข้อมูลอย่างเดียวไม่มีใครอ่าน เลยลองคุยกันว่าเขียนแบบนี้ไหม ทุกคนก็เห็นด้วยเลยเริ่มเขียนกันมาเรื่อย”

เขาบอกว่าตัดสินใจรวบรวมเพื่อทำหนังสือเพราะอยากให้เข้าถึงคนอ่านที่กว้างขึ้น ในอารมณ์ของ “กระดาษ” และองค์กรทำหนังสือที่เข้าใจประเด็นนี้อย่างดีและพร้อมจะเสริมต่องานนี้ก็คือ WAY Magazine นักเขียนของเวย์คนหนึ่งตกลงมาเป็นบก.เล่มให้

“ผมไม่เคยคิดว่า การถกเถียงกันด้วยหลักการ กฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรนัก ผมไม่เชื่อเลยว่าจะไปคุยกับคนเห็นต่างกันในเรื่องหลักการได้อย่างไร ไปบอกเขาว่าหลักที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้ๆ แล้วเขาต้องยึดถือตามเราหรือ เรื่อง Human Rights ทุกเรื่องต้องพูดกันที่ความเป็นมนุษย์ ความรู้สึก ตัวผมเองทำงานเรื่องพวกนี้เริ่มแรกไม่ได้ทำเพราะหลักการ แต่ทำเพราะเห็นแล้วรู้สึก แล้วเชื่อ เลยเริ่มคิดกับมัน ผมจึงเชื่อว่าการจะสื่อสารกับคนต้องสื่อสารด้วยความรู้สึกและข้อเท็จจริง ถ้าคนรับรู้ข้อมูล แล้วรู้สึกไปด้วยแล้ว กระบวนการคิดถึงหลักการก็จะตามมา ผมพูดแบบนี้ก็คงโดนด่าเยอะ (หัวเราะ)”

คำถามหนึ่งที่ผู้ที่ทำงานกับเหยื่อและเห็นเรื่องเศร้าต่างๆ มักจะเจอคือ งานที่ทำซ้ำๆ เรื่องที่เจอซ้ำๆ ส่งผลต่อสภาพจิตใจหรือไม่ เป็นโรคซึมเศร้าบ้างไหม

“อันนี้ต้องให้หมอบอกสิ” เขาตอบสมกับเป็นนักกฎหมาย

“ถ้าดูตัวเอง ผมไม่มีปัญหา แต่คนอื่นๆ ก็อาจไม่แน่ ผมไม่เป็นคนเก็บกด ไม่แบกเรื่องพวกนี้ไว้นาน รับรู้แล้ว เจ็บบ้าง เศร้าบ้าง แต่มีอย่างอื่นต้องทำ ก็วางมันแล้วทำงานอย่างอื่นได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลายครั้งที่เขียนงานแบบนี้ก็ไม่ใช่เพื่อจะสื่อสาร แต่เขียนเพื่อให้ตัวเองนิ่ง เจอหนักๆ พอเขียนจบก็จะนิ่ง นิ่งแล้วก็จะวางแล้วไปทำอย่างอื่นต่อได้”

“เคสที่เป็นแรงบันดาลใจคือ เคสพี่หนุ่ม (ธันย์ฐวุฒิ) แต่ไม่ได้รวมในเล่มนี้ สาเหตุก็เพราะพี่หนุ่มทำให้ผมเปลี่ยน เป็นคนแรกที่ผมคุยด้วย คุยจริงๆ เข้าไปเห็นคดี เห็นลูกชาย พอรู้สึกก็คิดต่อหลักการ รู้สึกเศร้าและเจ็บปวด ในวันที่ศาลอ่านคำพิพากษา เรารู้สึกว่าน่าจะชนะ แต่แพ้ ข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ถูกรับฟังเลย เรารู้สึกเศร้าและเจ็บปวด เจ็บปวดที่ผลเป็นอย่างนี้ เศร้าที่คดีแบบนี้ทำอะไรไม่ได้ ก่อนหน้านั้นมีความเชื่อว่ามันไม่ได้แย่ แต่พอลงไปคลุกคลีมันแย่กว่านั้นอีก และมันยังเลยลิมิตไปได้เรื่อยๆ”

“ถามว่าทำเรื่องพวกนี้เยอะๆ แล้วด้านกลับจะยิ่งทำให้คนกลัวไหม มันก็เป็นอย่างนั้น ส่วนหนึ่งในการทำงานของเรา มีผลสร้างความกลัวให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งก็จริง แต่ก็คิดว่าคนที่กลัว ร้อยละ 70-80 จะรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มีความสุขกับการอยู่ภายใต้กฎหมายนี้หรือระบบนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย เราอาจช่วยแผ่ขยายความหวาดกลัว แต่มันก็จะทำให้คนไม่พอใจกับระบบ และยิ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงมีวิธีเดียวคือ คนรู้สึกอยากเปลี่ยน”





ณัชปกร นามเมือง หรือถา ทำงานกับไอลอว์มา 2-3 ปี เขาเป็นหนุ่มอารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน แต่ขณะเดียวกันก็ค่อนข้างอ่อนไหวและสะเทือนใจกับเคสที่ติดตามค่อนข้างมาก เรารู้สึกถึงเรื่องนี้ได้ไม่ยากจากการพูดคุยกันแม้ช่วงสั้นๆ

ถาเล่าว่า เขารู้จักคดี 112 คร่าวๆ มาตั้งแต่สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัย แต่ “ไม่อิน” เพราะไม่รู้ข้อมูลมากนัก จนกระทั่งหลัง “อากง” หรืออำพล ผู้ต้องขังชราเสียชีวิตในเรือนจำและเกิดการรณรงค์ขนานใหญ่เรื่องมาตรา 112 เขาจึงเริ่มฟังมากขึ้น

“จุดเปลี่ยนของผมคือ การที่ได้ฟังอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พูดกรณีอากงเปรียบเทียบคดีชิตบุศย์เฉลียว บอกว่าศาลไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ทำให้ผมเริ่มเห็นว่าเป็นปัญหากระบวนการยุติธรรม ตอนนั้นเริ่มคิด แต่ไม่เศร้า พอมาทำงานไอลอว์ได้ตามเคสแรกคือ ป้าฐิตินันท์ อันนี้เศร้ามาก เพราะได้เห็นกับตาว่าป้าแกป่วยเป็นจิตเภท ดูเบลอมาก ดูภายนอกก็เห็นเลย ศาลเองก็เชื่อว่าป้าแกก็เบลอจริง ศาลชั้นต้นรอลงอาญา แต่พอหลังรัฐประหาร ศาลอุทธรณ์ลงโทษผมเลยช็อค ข้อเท็จจริงมันค่อนข้างสมบูรณ์มาก ใบรับรองแพทย์ชัดเจน ตอนอ่านคำพิพากษาชั้นต้น หน้าป้าแกไม่ยินดียินร้ายอะไรเลย ลูกเดินไปจับมือแม่ว่า ไม่ติดคุกแล้วนะแม่ ป้าก็ยังนั่งเบลอของแกอยู่”

“อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ ก็เป็นอีกคนที่ผลักดันให้พวกเราเขียนงานลักษณะนี้ มันอยู่บนฐานคิดว่าคนพวกนี้จะถูกลดทอนให้ต่ำกว่ามนุษย์ หน้าที่ของ 112 เดอะซีรี่ส์ คือ การคืนความเป็นมนุษย์ให้พวกเขา คนแบบนี้คิดยังไง ชีวิตปกติเป็นยังไง เขาไม่ต่างจากเรา มีบางอย่างที่ห้อมล้อมเขา ทำให้เขาคิดและเป็นแบบนั้น ผมซื้อไอเดียนี้นะ ถ้ามีคนเห็นป้าฐิตินันท์แบบเดียวกับผมก็อาจเห็นปัญหาของการใช้ 112 แบบเดียวกับผมมากขึ้น”

เมื่อถามถึงคดีที่สำคัญสำหรับเขา เขากล่าวอย่างไม่ลังเลว่าคือ คดีของสิรภพ ผู้ซึ่งถูกคุมขังมาแล้วเกือบ 3 ปีจนปัจจุบัน คดีพิจารณาในศาลทหาร และเป็นหนึ่งในสองรายที่ “ขอต่อสู้คดี”

“มันน้อยคนที่จะสู้คดี เขาบอกว่าเขายอมรับไม่ได้ในความผิดที่เขาไม่ได้ทำ เขาเล่าว่าข้อหาที่เขาโดนเกิดจากรูปภาพกับกลอน จะตีความอย่างไรก็ได้ แรงจูงใจเบื้องหลังคือเขาเป็นกวี เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อยู่ในแบ็คลิสต์อยู่แล้ว เขามั่นใจมากว่า 112 ถูกนำมาใช้กำจัดเขา”

“เรื่องนี้เขียนยาก เคยเขียนไว้อีกแบบ แต่ตอนที่เขียนเผยแพร่ ผมก็ข้อเท็จจริง ไม่ได้ดราม่ามาก แต่ก็เป็นตัวเองมากที่สุด มันมาจากปากเขา เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้ต่อสู้ภายใต้กฎหมาย แต่สู้กับทัศนคติของศาล โดยเฉพาะศาลทหาร ซึ่งวิธีคิดเป็นคู่ขัดแย้งกับเขามากกว่าศาลพลเรือนเสียด้วยซ้ำ เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องมันพื้นฐานมาก ไม่ได้เรียกร้องให้มาเห็นใจเขา แค่ให้เข้าใจว่าเขากำลังสู้กับอะไร สู้กับวิธีคิด”

“ส่วนตอนที่เคยเขียนไว้อีกแบบไม่ได้เผยแพร่เพราะเป็นตัวของตัวเองมากไป ผมเล่าเรื่องที่ผมไปศาลแล้วเป็นการรอการประกันตัวเขา เรานั่งรอกันนานมาก มีผม ลูกสาว และพี่สิรภพ จนศาลใกล้จะปิด คำสั่งลงมาว่าไม่ได้ประกัน ผมเห็นเขากอดลูกเขา บอกว่ารู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ประกัน ลูกสาวซื้อชอคโกแลตมาให้พ่อ พี่สิรภพยื่นให้ผมบอกว่า “กินซะ จะได้รู้สึกดีขึ้น” เย็นวันนั้นผมเดินออกจากศาล ผมหยิบชอคโกแลตออกแล้วก็ร้องไห้เละเทะเลย เชี่ย! เขาสิต้องกิน ไม่ใช่กู”

“เขาเคยบอกผมว่า ถ้าเขาไม่สู้ ทุกคนจะเข้าใจว่าเขาทำผิดจริง ... “ผมเป็นหิน โยนลงน้ำ คุณก็เป็นคลื่นส่งต่อให้สังคมให้หน่อย” คำนี้มันติดหูมาตลอด และมันทำให้ผมฝังใจกับคดีนี้มากและอยากถ่ายทอด”

“แต่ก่อนผมไม่เคยคิดเรื่องพิจารณาคดีลับ เป็นปัญหายังไงวะ วันหนึ่งก็เห็นจริงๆ ว่าเป็นปัญหา สังคมมันตรวจสอบไม่ได้ ถ้าเอาคำฟ้องเขามากางสู่สาธารณะมาโหวตกันเลยว่าผิดไหม ผมว่ามีลุ้นมากๆ ไม่ต้องพูดหลักกฎหมายเลย มันเหมือนกรณี “จ้า” ของแม่จ่านิว มันเกิดอย่างนี้เยอะนะ แต่พอพิจารณาคดีลับทำให้กระบวนการไม่เคยถูกตรวจสอบได้เลยว่ากำลังทำอะไรกันอยู่”

“ปัญหาสุขภาพจิตเหรอ มี ไม่รู้ว่าเกิดจากเคสหรือคนรอบข้าง เช่น เวลาอ่านสเตตัสพี่คนหนึ่งที่ชื่อกุ้ย มันทำให้เราจม เคยคิดว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าแล้วไม่ยอมรับหรือเปล่า เราไม่อยากเจอสังคม ก่อนหน้านี้ตอนรัฐประหารใหม่ๆ เข้าสังคมไม่ได้ ไม่อยากเจอใคร รู้สึกว่าถ้ากินเหล้ากับเพื่อนแล้วเห็นเพื่อนมีความสุข เราจะรู้สึกแย่ ทำไมมึงความสุข ทั้งที่โลกมัน fuck up มาก พี่กุ้ยเคยบอกว่า กินเหล้าไปเหอะ กินให้เมาๆ ง่วงแล้วก็นอนไปจะได้ไม่ต้องคิดอะไร แต่ช่วงหลังก็ดีขึ้น พอคนอื่นรอบๆ ตัวเริ่มเห็นปัญหาการใช้กฎหมายนี้ด้วย ทำให้เรามีเซฟตี้โซน”

“ผมไม่รู้สึกว่า เชี่ย กูทำไรไม่ได้ ไปเรียนต่างประเทศดีกว่า เราไม่ได้ถูกฝึกมาให้หนีความจริง เวลาผมได้ยินคนพูดว่า ประเทศนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ประเทศห่านี่หรอก ไปอยู่ต่างประเทศดีกว่าก็จะรู้สึกว่า มันเป็นสิทธิเขาแต่เผลอๆ การยิ่งคิดแบบนี้ ปัญหายิ่งไม่ถูกแก้ มันยิ่งเลวร้ายมากขึ้น เมื่อเราคิดจะหนีมัน”

“มันเหมือนหนังเดอะ เมทริกซ์ มียาสีฟ้ากับสีแดง แต่เราเสือกเลือกทะลึ่งกินยาเม็ดสีแดง ทำให้เห็นความจริงว่าเราไม่ได้สุขสบายอย่างที่ตาเห็น ถ้าเรากินสีฟ้าอยู่อำมาตย์ ใช้ชีวิตในสังคมทุนนิยมไปก็สบายแล้ว เสือกไม่กิน”





วีรวรรธน์ สมนึก หรือ แน็ค เป็นหนุ่มแว่น นักดนตรี พูดน้อย เริ่มทำงานที่นี่หลังเรียนจบและลงมือเขียนหลายเรื่องในเล่มนี้ เขาเล่าว่าเส้นทางการทำงานนั้นเป็นไปอย่างจับผลัดจับผลู เพราะคาดหวังงานที่ไม่ใช่เอกชน กับ ไม่ใช่ข้าราชการ ติดตามการเมืองแบบห่างๆ แต่ช่วงเรียนจบเป็นช่วงหลังรัฐประหาร 2557 พอดีทำให้การเมืองร้อนแรงอย่างช่วยไม่ได้และจึงเริ่มรู้จักไอลอว์จากทางเพจเฟซบุ๊ก จนกระทั่งมีการเปิดรับสมัครงาน

“ไม่เคยคิดมาก่อนว่าชีวิตจะได้ไปคลุกคลีกับคนต้องโทษคดี 112 หรือไม่คิดว่าวันหนึ่งต้องไปตามคนที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมในค่ายทหาร ไม่เคยคิดมาก่อนว่าชีวิตต้องมาทำอะไรแบบนี้ แต่มันก็เป็นการฝึกแบบหนึ่ง ฝึกให้เราเก็บข้อมูล สังเกตการณ์ บันทึก แล้วเอามาเผยแพร่เป็นประโยชน์กับประเทศ”

“นักโทษคดี 112 คนแรกที่เจอคือลุงโอภาส คดีเขียนฝากผนังห้องน้ำห้าง วันนั้นรู้สึกต้องชั่งใจ ปกติเราก็เป็นคนไม่กล้าเข้าไปคุยกับใครเท่าไรนัก พอมันต้องทำ ก็ 5 4 3 2 1 เริ่มเลย ก็เข้าไปคุยกับลุงแล้วเก็บข้อมูลไปทำเคสฟอร์ม พอทำความรู้จักกับแก รู้สึกว่า สำหรับคนเรียนจบใหม่นี่เป็นโอกาสดีมากๆ ที่ได้มาคุยกับลุง มีหลายเรื่องที่ข่าวไม่นำเสนอ”

“ช่วงเริ่มทำงานเป็นช่วงที่มีคดีเยอะมาก หลังรัฐประหารใหม่ๆ ไง คนโดนจับวันแรกเราต้องไปเจอให้ได้ในชั้นฝากขัง เราไปช่วยเยียวยาคุยกับเขา กลับมาก็ต้องเยียวยาตัวเองด้วย คือ กินเหล้า (หัวเราะ) มันทำให้หลับง่าย ทำให้อยู่ในอีกสภาวะหนึ่งที่ลืมไปก่อน ค่อยกลับมาคิดใหม่ทีหลัง”

“เวลาไปเจอตัวจำเลยครั้งแรก เป็นสิ่งที่ยากที่สุดแล้วในกระบวนการ เราจะทำยังไงให้เขาไว้ใจเรา เราจะมีวิธีเข้าถึงเขายังไงบ้าง เราจะแนะนำตัวว่าเราเป็นอะไร แล้วเราจะเจอกันครั้งต่อไปได้ยังไง มันต้องใช้พลังงานเยอะเหมือนกัน นอกจากจะไปหาข้อมูลของเขาเพื่อมาทำข้อมูลแล้ว เรายังต้องไปช่วยรับฟังเขา ช่วยแนะนำขั้นตอนทางกฎหมายหรือการเตรียมตัวเข้าเรือนจำกับเขา แล้วต้องเสริมกำลังใจให้เขาด้วย ซึ่งบางทีมันก็ไม่ได้ยากแค่ตัวจำเลยที่จะเข้าไปคุย แต่มีอุปสรรคจากเจ้าหน้าที่ด้วย เราก็ต้องพยายามอธิบายว่า เขาควรได้รับสิทธิบางอย่าง อย่างน้อยก็ขอให้เขามีเพื่อนคุยบ้างระหว่างขึ้นศาล”

“ยอมรับว่าคุยเรื่องการเมืองกับที่บ้านไม่ได้เลย จะเลี่ยงคุยเรื่องการเมือง แค่เรื่องเหลืองแดง ไม่ต้องพูดถึง 112 เลย พยายามบอกเล่าให้เขาฟังบ้าง ที่เหลือก็ให้เขาตัดสินเอาเอง จริงๆ การทำหนังสือห้องเช่าหมายเลข 112 ก็เป็นอีกวิธีการที่ดี ต้องเล่าผ่านเรื่องแบบนี้ ชีวิตของเขา มิติความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมี”

“ผมอยากให้เรื่องแบบนี้ไปอยู่บนเซลฟ์หนังสือร้านใหญ่ๆ ทั่วประเทศ อยู่หมวดอะไรก็ได้ช่างมัน อยากให้คนที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้ คนที่ไม่ได้ตามการเมืองเลย แค่หยิบหนังสือมาเปิดดู แล้วอยากรู้ว่าเรื่องนี้คืออะไร แล้วซื้อกลับไปอ่าน มันน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับตอนนี้”





อานนท์ ชวาลาวัณย์ หรือแว่น เป็นคนที่มีสไตล์เฉพาะตัวสูง ดูภายนอกเทียบมาตรฐานทั่วไปอาจไม่มีใครรู้ว่าเป็นนักเรียนนอก มาสเตอร์ดีกรี เขาออกตัวว่ามาทำงานนี้โดยไม่มีอุดมการณ์อะไรเบื้องหลังมากมาย แต่เขาสนใจการเมืองอย่างเข้มข้น และเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาพอสมควร เราจึงเชื่อว่าเขาและการเจอกันกับไอลอว์ไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญ

“ทำงานมาตั้งแต่ปี 2013 คิดว่าองค์กรนี้น่าจะทำอะไรได้บ้างแค่นั้น พอหลังรัฐประหารก็เห็นปัญหาชัดขึ้น รู้สึกอยากจะทิ้งอะไรให้สังคม มีการตั้งเป้า ไม่ใช่เรื่องความสำเร็จในชีวิต เรื่องเงินทอง แต่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ เรื่องราวการละเมิดสิทธิที่เกิดในช่วงนี้ วันนี้มันอาจยังไม่มีค่าอะไร แต่วันหน้าสมมติมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี รายละเอียดที่เราบันทึกอาจมีส่วนในการช่วยรื้อฟื้นความยุติธรรมก็ได้”

“มันสนุกนะ ได้อยู่กับเรื่องการเมือง มันเป็นเรื่องยากที่จะหางานที่เราได้ทำเรื่องที่เราสนใจแล้วยังได้เงินมาใช้ชีวิต นี่เคยไปทำบริษัททัวร์อยู่ได้ 7 วันลาออกเลย มันไม่ใช่ ”

ถามว่าทำไมชอบการเมือง เขาเล่าเท้าความไปถึงสมัยเรียนที่พลัดหลงไปในวงเสวนาของกลุ่มศึกษามาร์กซิสม์ นั่นคือจุดเริ่มต้น

“ตอนนั้นคุยกันเรื่องศาสนา ฟังแล้วก็ช็อค แต่เราเถียงไม่ได้ ฟังเหตุผลเขาแล้วก็หนักแน่นดีก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนให้ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ และชอบบรรยากาศการถกเถียงหนักๆ แล้วเขาก็คุยกันหลายประเด็นนะ ทำให้เห็นว่าการเมืองไม่ได้ไกลตัว ไม่ใช่แค่เรื่องในสภา มันอยู่ในชีวิตประจำวัน”

“พอทำงานเก็บข้อมูลตรงนี้มานานก็เห็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรม พอมันมีประเด็นอุดมการณ์ทางการเมืองเข้าไปมันทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม แต่คนไม่ค่อยพูดกันเรื่องนี้ แล้วก็ได้เห็นชีวิตคน คดี 112 เราได้เห็นมิติที่อาจต่างจากคนทั่วไป”

“อะไรนะ ซึมเศร้าเหรอ ผมไม่เคยเป็นนะเพราะกลับบ้านก็มีซีรีส์ดู สามารถตัดได้ ตอนที่คุยตอนรับรู้เรื่องก็รู้สึกมากอยู่ แต่พอถึงเวลาเลิกงานก็กินเบียร์เฮฮาได้ เรามีทางจะตัดมัน ผมหมกมุ่นกับการเมืองกับเรื่องพวกนี้เหมือนสื่อบันเทิง เป็นเรื่องที่เราติดตามใกล้ชิดเราพยายามดูว่ามันเคลื่อนไปไหน มันจึงไม่ทำลายไฟในการทำงาน ตรงกันข้ามกลับยิ่งเติมไฟ เพราะมันยังมีปัญหาอีกมาก เราต้องเรียนรู้ ยังต้องลุยอีกเยอะ”

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจ เขาเล่าถึงประสบการณ์เสียวที่เกิดขึ้น

“ตอนไปค้นบ้านลุงบัณฑิตไง ไปกับนักข่าวประชาไทคนหนึ่ง ตอนนั้นเรากลัวมากเลย ทั้งที่ตัวเราไม่ได้ทำอะไร ไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหา ไม่ใช่เป้าหมายของตำรวจทหารที่ไปวันนั้น แต่กลัวมาก แต่เราเห็นคนที่เป็นเป้าหมายเถียงกับตำรวจว่า ผมปวดเยี่ยว แล้วก็เดินไปเยี่ยวเลย ไม่สนใจตำรวจที่บอกต้องรอทหารก่อน ผมเลยรู้สึกว่าบางทีเราอาจต้องกล้ามากกว่านี้”

“ลุงแกพูดในสิ่งที่เชื่อ กล้าออกมาเรียกร้องเสรีภาพในการคิดการพูดซึ่งเป็นผลประโยชน์ของทุกคน แล้วก็ไม่ได้ตังจากสิ่งที่แกพูด เราต่างหากที่ได้ตังจากการทำงาน แต่เรากลับยังเต็มไปด้วยความกลัว ผมก็เลยคิดว่าต้องทำหน้าที่บันทึกให้ดีที่สุด บันทึกความรุนแรง ความรุนแรงไม่จำเป็นต้องเป็นทางกายภาพ การกดทับความคิดความเชื่อคนก็เป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง”

“รัฐมีหอจดหมายเหตุของเขา แต่เรื่องของประชาชนไม่เคยมีหอจดหมายเหตุบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของตัวเอง ผมหวังว่างานที่ทำอาจะไปสู่จุดนั้น”




ถ่ายโดย อนุช ยนตมุติ


อภิรดา มีเดช เป็นนักเขียนผู้ทำงานกับ WAY มา 7 ปีกว่า เธอทำประเด็นหลากหลายตั้งแต่อาหาร สิ่งแวดล้อม จนถึงประเด็นต่างประเทศ

“แม่น้ำเจ็ดสาย” คือกิจกรรมเล็กๆ ที่ทำให้คนทำงานในองค์กรด้านการสื่อสารเพื่อสังคมได้มาเจอกัน และไอลอว์ก็ไม่รอช้าที่จะปรึกษาพี่เบิ้มในวงการหนังสือให้มาช่วยทำเล่มนี้ ทั้งในแง่การเป็น บก.และศิลปกรรม

“ฟังโปรเจ็กต์แล้วก็อยากทำ มีความสนใจอยู่แล้ว มีกองอีกคนหนึ่งที่เขาสนใจประเด็นนี้ด้วยกัน ก็ช่วยกันดู”

“จริงๆ ตามประเด็นมาบ้าง นานมาแล้วก็เคยไปสัมภาษณ์อาจารย์วรเจตน์เรื่อง 112 เห็นปัญหา เห็นมาโดยตลอด ถามว่ากลัวไหม ตัวเราเองไม่ได้กลัว แต่ถึงเราไม่กลัวถ้ามีคนจะเล่นงาน ก็โดนอยู่ดี มันกลั่นแกล้งกันได้ แล้วพอได้อ่านเล่มนี้ เรากลัวการติดคุกมากเลย ถ้าคุณโดนแล้วคุณเหมือนไม่มีทางเลือกอะไรเหลือแล้ว”

“สำหรับวิธีการทำงาน เขามีเนื้อหาอยู่แล้ว เราคุยกันตอนแรกคิดว่าน่าจะพัฒนาขึ้นอีก ให้มีการคุยกับผู้ต้องหาหรืออดีตผู้ต้องขังเพิ่ม แต่เอาเข้าจริงมันเป็นไปได้ยาก จึงทำอยู่บนฐานสิ่งที่ไอลอว์มี”

“บทบาทสำคัญคือ ช่วยคัดและเรียงเรื่อง ถือว่าปรับแก้น้อยมาก มีบางเรื่องเหมือนกันที่ต้องถูกตัดไป ก็เสียดายมากเหมือนกัน แต่มันมีธีม มีการเล่าเรื่องของเล่มอยู่ บางอันมันค่อนข้างหลุดไป เป็นคนสนิทกับเคสเขียนเล่าออกแนวเป็นกึ่งวรรณกรรมแล้ว”

“ชื่อเรื่องนี่ช่วยกันคิดทั้งไอลอว์และเวย์ ระดมความคิดกันมา ทีแรกเลยมีคนเสนอว่าไม่อยากให้ใช้เลข 112 บนปก กังวลไปหมด 112 โผล่หลาเลยแล้วคนจะคิดยังไง คิดกันไปต่างๆ นานา ก็เลยช่วยกันคิดชื่อ นักโทษทางความคิด ขังได้แต่ตัวขังความคิดไม่ได้ ฯลฯ คิดกันไปเรื่อย เยอะมาก แต่สุดท้ายเวย์เผด็จการว่าต้องใส่ 112 ด้วย พูดปุ๊บคนจะเข้าใจประมาณหนึ่งเลย ถ้าเป็นชื่ออื่นคนจะไม่เก็ต แล้วก็ใช้คำว่าห้องเช่า คือ มันสะท้อนว่าเป็นแค่ห้องเช่า ยังไงก็จะได้ออกมาซักวันหนึ่ง เป็นความหวัง ไม่ใช่ห้องถาวร มันต้องมีความเปลี่ยนแปลง”

“ตอนอ่านเรื่องทั้งหมด หดหู่ แต่จะพยายามคุมโทนไม่ให้ดราม่ามาก เพราะเป้าหมายของเราคือ อยากสื่อสารให้คนที่ปกติแล้วอาจจะสนใจบ้าง แต่ไม่ได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังหรือรายละเอียดของเคส แล้วอาจจะเหมารวม อยากให้ลองอ่านดูบ้าง แต่คนที่ตามประเด็นก็จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เรื่องจริงมันดราม่าเข้าใจ แต่ถ้าเขียนดราม่าไป ความดราม่าของเคสมันจะบังเรื่องโครงสร้างปัญหา

“กรณีที่สะเทือนใจมาก คือ ศศิวิมล อ่านแล้วซึมไปเลย อยากให้ลองอ่านกันดู”