เจาะชีวิต ‘ธัมมชโย’ จาก ‘ภิกษุ’ สู่ ‘ผู้ต้องหา’
21 ก.พ. 60
ที่มา มติชนออนไลน์
กลายเป็นบุคคลที่รัฐต้องการตัวมากที่สุดในห้วงเวลานี้ สำหรับ พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่อันตรธานหายไปอย่างไร้ร่องรอย แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ 3,000 รายที่ปฏิบัติงานภายใต้
มาตรา 44 ก็ยังไม่อาจพบแม้เพียงเงาวูบไหวให้มีความหวัง ด้านสานุศิษย์ผู้เลื่อมใสเผยว่า นี่คืออิทธิปาฏิหาริย์ที่ทำให้ถูกบังตา ในขณะที่อีกฝ่ายที่เชียร์ให้พบตัวเพื่อเชิญมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายก็พากันตั้งข้อสงสัยว่าพระสงฆ์รูปนี้อยู่ที่ไหนกันแน่? กว่าสถานการณ์จะล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ เส้นทางชีวิตของบุคคลในข่าวผู้นี้มีความเป็นมาอย่างไร ช่างน่ากรอภาพกลับไปพิจารณา
เปิดสมุดบันทึกวัย 13
ประวัติชีวิตที่ถูกบรรจุไว้ เว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ dmc ของวัดพระธรรมกายระบุว่า เด็กชายไชยบูลย์ สุทธิผล ผู้ซึ่งไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะเติบโตขึ้นเป็นประหนึ่งศาสดาของสำนักใหญ่ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ.2487 ที่บ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นบุตรของจรรยงค์ สุทธิผล นายช่างใหญ่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กับจุรี สุทธิผล
ในวัยเด็กต้องย้ายตามบิดาไปราชการหลายจังหวัดจึงเปลี่ยนโรงเรียนบ่อยครั้ง กระทั่งชั้น ม.ปลาย สอบเข้าได้ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เริ่มสนใจศึกษาธรรมะตั้งแต่วัยรุ่น โดยเฉพาะด้านกรรมฐาน มีนิสัยชอบอ่านหนังสือ จึงมักไปเดินเล่นตามตลาดย่านสนามหลวงและริมคลองหลอด
เว็บไซต์ดังกล่าวยังระบุว่า เด็กชายไชยบูลย์ในวัย 13 ปี เคยเขียนสมุดบันทึกมีข้อความว่า “ถ้าเรามาทางโลก ก็อยากไปให้สูงสุดในทางโลก ถ้าหากว่าอยู่ในทางธรรม ก็อยากจะไปให้สูงที่สุดในทางธรรม และก็จะนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ทั่วโลก”
เมื่อครั้งยังเป็น นายไชยบูลย์ สุทธิผล
กำเนิด ‘ธัมมชโย’
ต่อมาไม่นานเด็กหนุ่มคนนี้ได้พบหนังสือชื่อ “ธรรมกาย” ซึ่งเขียนตามแนวทางการเทศนาของ พระมงคลเทพมุนี (สด) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และได้ทราบถึงเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ชีจันทร์ ศิษย์ของพระมงคลเทพมุนี จึงเดินทางไปถามหาที่วัดปากน้ำและร่ำเรียนวิชา ซึ่งในขณะนั้นนายไชยบูลย์ได้เข้าเป็นนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว เมื่อเรียนจบจึงบวชเป็นภิกษุเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2512 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ณ พระอุโบสถวัดปากน้ำ ได้ฉายาว่า “ธัมมชโย” แปลว่า “ผู้ชนะโดยธรรม”
ผุด ‘วัดพระธรรมกาย’
ไม่กี่เดือนหลังการเข้าสู่ร่มกาสาวพักตร์ วัดพระธรรมกายก็ถือกำเนิดขึ้น โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา คุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี บริจาคที่ดินย่านรังสิต
196 ไร่ ให้เนรมิตอาราม ซึ่งมีเงินทุนเริ่มต้นเพียง 3,200 บาท พระธัมมชโยพร้อมหมู่คณะรุ่นบุกเบิกประกาศปณิธานว่า “จะสร้างพระให้เป็นพระ สร้างวัดให้เป็นวัด เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับสร้างคนให้เป็นคนดีของสังคม”
วัดพระธรรมกายได้รับความศรัทธาล้นหลาม ผู้คนนับหมื่นกระทั่งเรือนแสนเดินทางหลั่งไหลมาปฏิบัติธรรม เม็ดเงินบริจาคมากมายราวกับโปรยลงมาจากฟ้า อาคารสุดอลังการถูกสร้างขึ้นแม้กระทั่งในยุคฟองสบู่แตก แนวคิด วัตรปฏิบัติ วิถีทางในการทำบุญที่วัดพระธรรมกายเผยแพร่สู่ผู้คน เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงหลัง พ.ศ.2540 เป็นต้นมา ทว่าพระธัมมชโยผู้เป็นเจ้าอาวาสยังคงเดินหน้าต่อไปท่ามกลางสานุศิษย์มหาศาล
พระธัมมชโย กับที่ดินย่านรังสิตครั้งบุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกาย ในปี 2513
จากข้อ ‘ครหา’ สู่ ‘ผู้ต้องหา’
ประเด็นเรื่องความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมและการถูกวิจารณ์จากคนในสังคม นับเป็นเรื่องเล็กเมื่อเทียบกับสิ่งที่พระธัมมชโยต้องเผชิญต่อมาในช่วงปี 2542 คือกรณีข้อกล่าวหาเรื่องการ “ยักยอกที่ดิน” ของวัดพระธรรมกายมาเป็นของตัวเอง และมีการถอนฟ้องใน พ.ศ.2549 ต่อมาในปี 2558 คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ เสนอให้ ปปง. อายัดทรัพย์พระธัมมชโย พร้อมกับตรวจสอบที่ดินวัดพระธรรมกาย
เส้นทางการเงินกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น พบว่ามีการออกเช็คเงินสดให้กับพระธัมมชโย มีเส้นทางการเงินที่ไปยังบัญชีพระธัมมชโย 8 ฉบับ กว่า 348 ล้านบาท วัดพระธรรมกาย 6 ฉบับ 436 ล้านบาท และจ่ายให้พระลูกวัดหรือปลัดวิจารณ์ 119 ล้านบาท แล้วโอนต่อไปยังบัญชีอื่น ซึ่งทาง ปปง.ให้ไปดำเนินการฟ้องทางแพ่ง ทำให้มติที่ประชุมของคณะกรรมการเห็นว่าควรจะให้อายัดทรัพย์สินของพระธัมมชโยทั้งหมด โดยฟันธงว่าเป็นการทุจริตและฉ้อโกง
ไม่เพียงเท่านั้น ในมุมของวงการผ้าเหลือง ได้มีการอ้างถึง “พระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช” ว่าพระธัมมชโยต้องโทษปาราชิกจากกรณีนี้ ทว่ามติของมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ออกมาว่า “ไม่ปาราชิก” เนื่องจากพระธัมมชโยคืนทรัพย์สินให้วัดหมดแล้ว ประเด็นนี้สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอย่างมาก โดยมีหลายฝ่ายออกมา “แอ๊กชั่น” อย่างเผ็ดร้อน รวมถึงพระพุทธอิสระ วัดอ้อน้อย นครปฐม ที่ขอให้มีการตรวจสอบการทำหน้าที่ของ มส. พร้อมกับปะทะคารมกับศิษย์วัดพระธรรมกายอย่างดุเดือด
เรื่องยังไม่จบแค่นั้น เมื่อในที่สุดอัยการสั่งฟ้องพระธัมมชโยและอดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ทั้งคู่จึงตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีพิเศษที่ 27/2559 ในข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร
คุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี (นั่งพนมมือ) ผู้บริจาคที่ดิน 196 ไร่สร้างวัดพระธรรมกาย โดยมีพระธัมมชโยเป็นเจ้าอาวาส
ประเด็นเรื่องความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมและการถูกวิจารณ์จากคนในสังคม นับเป็นเรื่องเล็กเมื่อเทียบกับสิ่งที่พระธัมมชโยต้องเผชิญต่อมาในช่วงปี 2542 คือกรณีข้อกล่าวหาเรื่องการ “ยักยอกที่ดิน” ของวัดพระธรรมกายมาเป็นของตัวเอง และมีการถอนฟ้องใน พ.ศ.2549 ต่อมาในปี 2558 คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ เสนอให้ ปปง. อายัดทรัพย์พระธัมมชโย พร้อมกับตรวจสอบที่ดินวัดพระธรรมกาย
เส้นทางการเงินกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น พบว่ามีการออกเช็คเงินสดให้กับพระธัมมชโย มีเส้นทางการเงินที่ไปยังบัญชีพระธัมมชโย 8 ฉบับ กว่า 348 ล้านบาท วัดพระธรรมกาย 6 ฉบับ 436 ล้านบาท และจ่ายให้พระลูกวัดหรือปลัดวิจารณ์ 119 ล้านบาท แล้วโอนต่อไปยังบัญชีอื่น ซึ่งทาง ปปง.ให้ไปดำเนินการฟ้องทางแพ่ง ทำให้มติที่ประชุมของคณะกรรมการเห็นว่าควรจะให้อายัดทรัพย์สินของพระธัมมชโยทั้งหมด โดยฟันธงว่าเป็นการทุจริตและฉ้อโกง
ไม่เพียงเท่านั้น ในมุมของวงการผ้าเหลือง ได้มีการอ้างถึง “พระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช” ว่าพระธัมมชโยต้องโทษปาราชิกจากกรณีนี้ ทว่ามติของมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ออกมาว่า “ไม่ปาราชิก” เนื่องจากพระธัมมชโยคืนทรัพย์สินให้วัดหมดแล้ว ประเด็นนี้สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอย่างมาก โดยมีหลายฝ่ายออกมา “แอ๊กชั่น” อย่างเผ็ดร้อน รวมถึงพระพุทธอิสระ วัดอ้อน้อย นครปฐม ที่ขอให้มีการตรวจสอบการทำหน้าที่ของ มส. พร้อมกับปะทะคารมกับศิษย์วัดพระธรรมกายอย่างดุเดือด
เรื่องยังไม่จบแค่นั้น เมื่อในที่สุดอัยการสั่งฟ้องพระธัมมชโยและอดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ทั้งคู่จึงตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีพิเศษที่ 27/2559 ในข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร
คุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี (นั่งพนมมือ) ผู้บริจาคที่ดิน 196 ไร่สร้างวัดพระธรรมกาย โดยมีพระธัมมชโยเป็นเจ้าอาวาส
เมินมอบตัว ยัน ‘อาพาธ’
นับแต่ตกเป็นผู้ต้องหา ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าพระธัมมชโยจะเข้าพบเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย โดยลูกศิษย์ยืนยันพร้อมภาพนิ่งรวมถึงคลิปวิดีโอว่าอาพาธหนัก ไม่อาจเดินทางออกจากวัดได้ แน่นอนว่าถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าเป็นแค่การจัดฉากหรือไม่ พร้อมกับมีการจับผิดภาพและอุปกรณ์ที่ใช้ว่ามีพิรุธหลายประการ
ในขณะเดียวกัน องอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย เผยว่ามีการยื่นอุทธรณ์กระบวนการพิจารณาของศาล กรณีที่ศาลอาญาสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนหมายจับต่อศาลอุทธรณ์แล้ว โดยขอความกรุณาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้โปรดชะลอการปฏิบัติการตามหมายจับ เพื่อรอฟังผลการพิจารณาศาลอุทธรณ์ รวมทั้งรอการพิจารณาของแพทยสภาส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานกลางมาตรวจพิสูจน์ยืนยันว่าพระธัมมชโยอาพาธจริง ทว่าเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเตรียมส่งแพทย์จาก รพ.ตำรวจเข้าตรวจก็ถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าไม่เชื่อมั่นในความเป็นกลาง
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้นได้มีภาพพระธัมมชโยเผยแพร่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กว่าสามารถเดินทางไปปล่อยนกเนื่องในงานวันเกิดลูกศิษย์คนสนิททั้งที่อ้างว่าอาพาธ แต่ต่อมาทางวัดปฏิเสธว่าเป็นเพียงระยะใกล้ๆ แค่หน้ากุฏิหลังหนึ่งในวัดเท่านั้น
พระธัมมชโย ถ่ายภาพหน้าพระอุโบสถวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในวันอุปสมบท เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2512
ศิษย์รัก หักเหลี่ยมโหด
ท่ามกลางกระแสข่าวต่างๆ ตัวละครสำคัญที่คอยออกมาให้ข้อมูลมากมายต่อสื่อหลายสำนัก ทั้งเรื่องภายในของวัดพระธรรมกายและชีวิตส่วนตัวของพระธัมมชโย ก็คืออดีตลูกศิษย์อย่าง ดร.นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ จุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตศิษย์วัดพระธรรมกายและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตพระเถระที่เคยบวชเรียนที่วัดพระธรรมกาย โดยระบุว่าตนเคยนับถือพระธัมมชโยอย่างมาก แต่เมื่อพบว่ามีการเปิดบริษัทนอมินีในปี 2526 จึงตักเตือน แต่ไม่เป็นผล สุดท้ายเลยตัดสินใจโบกมือลาหลวงพ่อ
นพ.มโนยังอ้างว่า ทางวัดมีธุรกิจมากมาย ทั้งด้านอัญมณีและการปล่อยกู้คิดดอกเบี้ย พระธัมมชโยเองก็ใช้ชีวิตสุดหรูอยู่ในห้องที่เพียบพร้อมด้วยความสะดวกสบาย นิสัยเนี้ยบ ดูแลผิวพรรณ ใช้สบู่ก้อนละหลายพันบาท มีคนนวดขานวดหน้าวันละ 3 รอบ
ครั้งวัดพระธรรมกายรุ่งโรจน์ มีการติดต่อกับวัดทั่วโลก เช่น วัดฝอกวงซาน ไต้หวัน เมื่อปี 2536
ปมศัลยกรรม เครื่องทำเบเบี้เฟซ
ความสำอางของพระธัมมชโยซึ่งถูกเปิดเผยขึ้นมานั้น สอดคล้องกับกระแสเมาธ์มอยในสังคมออนไลน์ที่มีมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นศัลยกรรมตา 2 ชั้น ก่อนที่ลูกศิษย์จะนำภาพถ่ายขาว-ดำครั้งเป็นนักเรียนสวนกุหลาบมายืนยันว่าท่านมีหน้าตาดีมานานแล้ว ไม่ต้องพึ่งศัลยกรรมให้เป๊ะปังแต่อย่างใด
ประเด็นหยุมหยิมเหล่านี้ ท้ายที่สุดได้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับเครื่องมือทางการแพทย์ราคาหลายสิบล้านบาทข้างเตียงที่ว่างเปล่าในอาคารดาวดึงส์ซึ่งเคยเป็นที่พำนักของพระธัมมชโย สังคมตั้งคำถามว่าเป็นเครื่องที่ช่วยเรื่อง “เบบี้เฟซ” หรือไม่ กระทั่งกระทรวงสาธารณสุขอธิบายว่าเป็นเครื่อง “ไฮเปอร์แบริค แชมเบอร์” ช่วยเติมออกซิเจนให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายทำงานดีขึ้น เป็นอีกทางเลือกในการรักษาแผลเบาหวาน ส่วนข้อดีเรื่องผิวพรรณเต่งตึงนั้นไม่ใช่จุดประสงค์ของเครื่องโดยตรง ด้านลูกศิษย์ก็ออกมายืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการทำเบบี้เฟซอย่างแน่นอน
5 เสือธรรมกาย
ชีวิตของพระธัมมชโย นอกจากมีสานุศิษย์มหาศาล ยังมีผู้รายล้อมที่เรียกกันว่า 5 เสือวัดพระธรรมกาย ประกอบด้วย 1.พระราชภาวนาจารย์ หรือพระทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย 2.พระถวัลย์ศักดิ์ ยติสักโก รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากร วัดพระธรรมกาย 3.พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย 4.พระครูใบฎีกาอำนวยศักดิ์ มุนิสโก ผู้อำนวยการสำนักองค์ประธาน วัดพระธรรมกาย และ 5.พระสุธรรม สุธัมโม เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
ก่อนหน้านี้ นพ.มโนได้เคยแนะรัฐบาลให้ใช้มาตรา 44 และควบคุมตัว 5 เสือธรรมกายนี้ โดยเชื่อว่าจะช่วยให้ได้ตัวพระธัมมชโยง่ายขึ้น
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของเส้นทางชีวิตพระธัมมชโยที่ยังล่องหนจนถึงวินาทีนี้
ภาพส่วนหนึ่งจากเวปไซต์ dmc.tv
และหนังสือเจาะลึกวัดพระธรรมกาย