วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 26, 2560

“ลูกฉันถูกยิงตาย จะให้ลืมๆ แล้วปรองดองกับใคร?” คำถามจากผู้สูญเสีย เราจะรักกันได้อย่างไร?





“ลูกฉันถูกยิงตาย จะให้ลืมๆ แล้วปรองดองกับใคร?”คำถามจากผู้สูญเสีย เราจะรักกันได้อย่างไร?


วงค์ ตาวัน
คอลัมน์ ชกคาดเชือก
21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 กุมภาพันธ์ 2560

ในบรรยากาศวันแห่งความรัก วาเลนไทน์เดย์ ไม่เพียงมีแต่ข้อความหวานฉ่ำ โรยด้วยกุหลาบสีแดงเท่านั้น แต่ยังมีถ้อยคำ “แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร” ที่ดังก้องขึ้นมา จากคนที่เจ็บปวดเพราะสูญเสียคนที่รักไปในเหตุการณ์ปราบปรามทางการเมือง

คำถามนี้ เพื่อจะตอบกลับไปยังรัฐบาลและ คสช. ที่อาศัยฤกษ์วาเลนไทน์ เป็นฤกษ์เปิดการพูดคุยเพื่อการปรองดองสมานฉันท์

โดยเครือข่ายญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ทางการเมือง เมษายน-พฤษภาคม 2553 จัดเสวนาเรื่อง “แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร วาทกรรม ปรองดองหรือลบลืม”

มี นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ น.ส.กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา 1 ใน 6 ศพวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 เข้าร่วมตั้งคำถามถึงผู้มีอำนาจที่กำลังเร่งผลักดันการปรองดองอยู่ในขณะนี้

“ประเด็นของแม่น้องเกดคือ ถ้ายังไม่มีความยุติธรรมเกิดขึ้น จะปรองดองได้หรือ!?”





ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีสมาชิก สปท. ได้พยายามผลักดัน แนวนโยบาย 66/2523 ที่เคยยุติความขัดแย้งในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เสนอให้นำมาใช้เป็นแนวทางในการปรองดองสมานฉันท์ในยุคนี้

โดยหัวใจของ 66/23 ก็คือ การใช้การเมืองนำการทหาร เปิดโอกาสให้คนเข้าป่าจับปืนรบกับรัฐบาล กลับคืนเมืองได้ มาใช้ชีวิตอย่างปกติ โดยไม่ถือว่าการสู้รบเหล่านั้นเป็นความผิดทางคดีอาญา

คล้ายกับการล้างผิดทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นปัญหาทางความคิดอุดมการณ์

แต่แกนนำรัฐบาลและ คสช. ออกมาปฏิเสธอย่างทันทีว่า จะไม่นำแนวทางนี้มาใช้กับการสร้างความสมานฉันท์ในยุคนี้


“ยืนยันว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย จะไม่มีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”

การยืนยันใช้กฎหมายต่อไป สอดคล้องกับความเห็นของคนจำนวนไม่น้อย แต่ก็เน้นย้ำกันว่า ก็ต้องใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคแท้จริง ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มี 2 มาตรฐาน

ในจำนวนนี้ เครือญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 หรือที่เรียกกันว่าเหตุ 99 ศพ


“ยืนยันว่า ไม่เอาด้วยกับการนิรโทษกรรม เพราะคนที่เกี่ยวข้องกับความตายของคนร่วมร้อยชีวิต จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย”

ที่สำคัญทุกคนรู้ดีว่า แนวโน้มคดี 99 ศพ กำลังจะหลุดพ้นจากกระบวนการศาลอาญา ให้กลายเป็นสำนวนไต่สวนของ ป.ป.ช. อันหมายถึงโทษทัณฑ์จะเบาบางลง

เพราะผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนสั่งการให้เหตุการณ์นี้ ได้ต่อสู้คดีด้วยเทคนิคทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้กลายเป็นคดีอาญา แต่ให้เป็นแค่คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

จากที่เข้าสู่ศาลอาญา กำลังจะไปอยู่ในมือ ป.ป.ช. แทน

นี่เป็นอีกชนวนเหตุที่ญาติมิตรของ 99 ศพ ยืนยันว่า ถ้าไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีใครต้องรับผิด การปรองดองก็ทำไม่ได้!




AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL


แม่ของน้องเกด ผู้ร่วมตั้งคำถามว่า แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร ได้กล่าวในวงเสวนาว่า รู้สึกอึดอัดมากที่ผู้มีอำนาจออกมาเสนอเรื่องปรองดอง คำถามแรกคือประชาชนอยู่ตรงไหนในการปรองดอง ทำไมไม่มีการให้ความสำคัญกับประชาชนอันดับแรกก่อน แล้วประชาชนที่สูญเสีญในเหตุการณ์ทางการเมืองกว่า 10 ปี ที่ผ่านมาจะทำอย่าไร

หลายท่านบอกไม่ต้องพูดแล้วกรณี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ให้มองไปข้างหน้า แล้วทำไมจะพูดไม่ได้


“ลูกของดิฉันถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต จะให้ลืมๆ ไป แล้วให้ปรองดองกับใคร ลูกสาวไม่ใช่คนร้าย เขาเป็นอาสาสมัครพยาบาลที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชน!”

นางพะเยาว์ ย้ำด้วยว่า หัวหน้า คสช. และคณะ ไม่เคยอยากฟังใครเลย มีท่าทีปฏิเสธตลอดเวลา แบบนี้ไม่มีทางปรองดองได้ อีกทั้งคณะกรรมการปรองดองที่ตั้งขึ้นมามีทหารเกินครึ่ง เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนโดยตรง แล้วจะปรองดองอย่างไร ตนไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้

เชื่อว่าเป็นเพียงการซื้อเวลาไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ที่ผ่านมามีทั้งการล้มเวทีเสวนา มีการจับกุมดำเนินคดี ถ้าบรรยากาศแบบนี้ยังมีอยู่ ไม่มีทางปรองดองได้ รัฐบาลต้องให้เกียรติประชาชนก่อน ไม่ใช่มัวไปว่านักการเมืองมีปัญหาอย่างเดียว


“ความยุติธรรมเวลานี้เหมือนคนพิการ ก่อนหน้านี้มีการเสนอนโยบาย 66/23 มา ดิฉันบอกเลยว่า อย่าลืม 99/53 ด้วย เพราะต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้สั่งการสลายการชุมนุมก่อน ประชาชนถึงจะยอมรับกระบวนการปรองดองได้”

นี่คือท่าทีอันหนักแน่นชัดเจน จากแม่ผู้สูญเสียลูก


“การจุดประกาย 99/53 จะเป็นถ้อยคำที่ทรงความหมายอีกยาวนาน!!”

นั่นคือ ความตายของคน 99 คน เมื่อปี 2553 จะไม่เลือนหายไปได้ง่ายๆ แม้ว่าคนที่มักพูดว่าตนเองพร้อมรับผิด พร้อมติดคุก ไม่ขอนิรโทษกรรมบ้างผิด แต่กลับใช้เทคนิคทางกฎหมายจนทำให้คดีกำลังจะหลุดจากข้อหาทางอาญา กลายเป็นข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ สอบสวนโดย ป.ป.ช.

ถ้าเป็นอย่างนี้ อีกฝ่ายก็จะไม่ยอมให้ 99/53 จบสิ้นไปง่ายๆ

เพราะคนถูกกระทำ คนสูญเสีย ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

ในจำนวน 99 ศพนั้น มีการทำสำนวนไต่สวนชันสูตรศพส่งพิสูจน์ในศาล และศาลได้ชี้แล้ว 17 รายว่า ตายด้วยกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ศอฉ. นั่นหมายความว่า สำนวนไต่สวนดังกล่าว จะกลายเป็นคดีอาญา เพื่อส่งฟ้องเอาผิดกับผู้สั่งการในเหตุการณ์

มีการทยอยส่งศาลเป็นคดีอาญาไปแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ต่อมาฝ่ายที่ตกเป็นจำเลย ได้ต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมาย จนกำลังจะทำให้คดีนี้ พ้นจากคดีอาญาเป็นคดีที่ไปไต่สวนโดย ป.ป.ช. แทน

ที่น่าสังเกตอีกประการ หลังจากการเข้ายึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา สำนวนของคนตายรายอื่นๆ นอกเหนือจาก 17 ศพแรก ก็เงียบหายแทบหมดสิ้น


“ขณะที่บุคคลบางรายที่ทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองหนนี้ มีผลได้ผลเสียกับคดีนี้โดยตรง!”

นี่จึงเป็นปมปัญหา ที่ญาติพี่น้อง 99 ศพ ยังคาใจ

แม้จะพยายามขยายผลคดีชายชุดดำเช่นไร ก็ไม่มีผลลบล้างผลคดีสังหารประชาชน 99 ศพ เพราะคดีชายชุดดำที่ศาลเพิ่งตัดสินไปนั้น เป็นแค่กลุ่มคนที่ถูกดำเนินคดีฐานมีอาวุธสงคราม นำอาวุธเข้ามาในเมือง ในคืนวันที่ 10 เมษายนเท่านั้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าชายชุดดำกลุ่มนี้ได้ยิงใคร ที่ไหน


“แต่มีหลักฐานอื่นๆ มากมาย เห็นเจ้าหน้าที่ ศอฉ. เล็งยิงชัดเจน มีคลิปเสียง 2 สไนเปอร์ที่สวนลุมพินี ยิงแล้วบรรยายผลกันครบถ้วน”

มี 17 ศพที่ศาลชี้แล้วว่า ตายด้วยกระสุนจากเจ้าหน้าที่ ศอฉ.




AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI


“ในจำนวนนี้มี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ที่มีน้องเกดรวมอยู่ด้วย ศาลก็ชี้แล้วเช่นกันว่า ตายด้วยกระสุนจากเจ้าหน้าที่ ศอฉ. บนรางรถไฟฟ้า และอีกหน่วยที่ยิงจากพื้นราบ”

อีกทั้งเจ้าหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าก็รับว่ายิงจริง แต่อ้างว่ายิงต่อสู้กับชายชุดดำ ขณะที่ศาลชี้ในสำนวนนี้ว่า ไม่มีพยานหลักฐานว่ามีชายชุดดำยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ที่วัดปทุมฯ นี้เลย

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด. ที่ถ่ายวิดีโอเห็นนาทียิงจากรางรถไฟฟ้า ก็ให้การด้วยประสบการณ์ที่ผ่านการสู้รบว่า เห็นเจ้าหน้าที่ ศอฉ. ยืนยิงเข้าไปในวัด โดยไม่มีการก้มหลบ แปลว่า ไม่มีการยิงต่อสู้จากอีกฟาก

หากผลการไต่สวนชัดเจนเช่นนี้แล้ว แต่ไม่มีความรับผิดชอบจากผู้สั่งการของ ศอฉ.

คำถามจากฝ่ายสูญเสียก็คือ

แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร!?