วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 27, 2560
การ ‘kowtow’ ต่ออำนาจเผด็จการ
เป็นเรื่องอีกละ มาตรา ๔๔ อำนาจ ‘สมเสร็จ’ เผด็จการสร้างสรรค์ ครานี้ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลกลายเป็นขนหน้าแข้ง คสช. ไปในพลัน
เรื่องมันโยงใยมายืดยาว ถ้าจะเอาตามที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดลระบุไว้ ก็ได้แก่
“คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่ง 4/2560 เรื่องการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 105/2557 คำสั่ง 5/2560 เรื่องมาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย คำสั่ง 6/2560 เรื่องการแต่งตั้งนายกเมืองพัทยา คำสั่ง 7/2560 เรื่องการปรับปรุงระบบพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ คำสั่ง 8/2560 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น คำสั่ง 9/2560 เรื่องการดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกลำน้ำสาธารณะ คำสั่ง 10/2560 เรื่องการปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย คำสั่ง 11/2560 เรื่องการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ และคำสั่ง 12/2560 เรื่องการกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตําแหน่ง”
โดยเฉพาะคำสั่งที่ ๕ และ ๑๒ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกรณีวัดพระธรรมกาย อันเป็นข่าวอื้อฉาวส่งกลิ่นเน่าไปทั่วโลก ว่ารัฐบาลทหารประเทศไตแลนเดียรังแกศาสนสำนักและประชาชน
มาตรา ๕ เป็นคำสั่งให้ใช้กำลังเข้าค้นหาพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาส ซึ่งมีการปิดล้อมห้ามคนเข้า พระ-เณรภายในขาดแคลนอาหาร จนต้องขึ้นป้ายบนเสาสูงร้องเรียนต่อชาวโลกว่า “เราต้องการอาหาร”
ส่วนมาตรา ๑๒ เป็นการ ‘สั่งเด้ง’ ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติไปเข้ากรุประจำสำนักนายกฯ เพียงเพราะเขาให้ความเห็นว่าพระธัมมชโยไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาที่ตำรวจและดีเอสไอต้องการจับกุมตัวไปดำเนินคดี
เสร็จแล้ว คสช. ตั้ง “ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ” ไปทำหน้าที่แทน จนเป็นที่วิพากษ์กันว่า คสช. ใช้สติปัญญาพินิจพิเคราะห์เลิศล้ำ ถ้าจะให้ดีมีสมดุล น่าจะย้าย ผอ. สำนักพุทธไปประจำที่ดีเอสไอสลับกัน
(สำหรับตัวอย่างข้ออ้างเรื่องกลิ่นเน่าของรัฐไทย ล่าสุดที่เห็นเป็นข่าวของอัลจาซีร่า “Dhammakaya temple and Thailand's saffron resistance.” http://www.aljazeera.com/…/dhammakaya-temple-thailand-saffr… โพสต์แนะนำโดยนักข่าวชาวเยอรมัน ‘Wolfgang Staible’ ว่า “Kriegsrecht verhängt - Buddhistischen Tempel vom Militär umstellt. -jws-” พากษ์ไทย “กฎอัยการศึก - พุทธสถานห้อมล้อมโดยกองทัพ. – jws-”)
ความร้ายแรงของ ม.๔๔ ทำให้มีประชาชนคนหนึ่งพลีชีพเพื่อต่อต้านการใช้อำนาจสมเสร็จของ คสช. ดังกล่าว ตามหลักฐานใหม่ที่ดีเอสไอไม่สน แต่แหล่งข่าวสื่อสังคมค้นพบว่า
“คือลุงแกเครียดค่ะ แกไม่เอา ม.๔๔ แกเข้าบ้านไม่ได้ ติดต่อครอบครัวไม่ได้ คนอยู่รอบวัดเดือดร้อน พี่สาวที่อยู่ใกล้วัดติดต่อสามีไม่ได้เพราะไม่ให้เข้าหมู่บ้าน ทหารล้อม คนขายของเค้าขายของไม่ได้ เค้าเครียดกัน ลุงแกเลยทำแบบนี้เพื่อให้คสช.ยกเลิกคำสั่ง ม.๔๔ คนก็มาโยงกับธรรมกาย คนละเรื่องนะ”
(http://www.thethainews.net/2017/02/44_25.html)
ซึ่งสถาบันสิทธิฯ มหิดล ก็ทำถูกต้องแล้วที่ออกแถลงการณ์กลางดึก (๕ ทุ่มคืนวันที่ ๒๕ กุมภา) “ขอเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยุติการใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๕๖๐”
(http://www.matichon.co.th/news/476822)
แต่การยืนหยัดต้านอำนาจเผด็จการที่ล่วงล้ำสิทธิมนุษยชนขององค์กรสิทธิมนุษยชนในสังกัด ม.มหิดล ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย อย่างนายแพทย์เกษม วัฒนชัย นายกสภามหาวิทยาลัย และนายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดี
จึงได้มีแถลงการณ์อีกฉบับในนามมหาวิทยาลัยตามออกมา ยืนหยัดจุดก้งโค้ง ‘kowtow’ ต่ออำนาจเผด็จการ อ้างว่าการคัดค้านมาตรา ๔๔ เป็น
“ทางที่เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย” พร้อมทั้งคำรามคาดโทษด้วยว่า “ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาทางวินัยต่อไป”
ซึ่ง Thanapol Eawsakul “สรุปเป็นความโง่ กร่าง และเชลียร์คณะรัฐประหารเกินเหตุของผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล” และ Pavin Chachavalpongpun แค่บอกว่า “โอ๊ย สถาบันการศึกษาต่ำตม”
ส่วน Korrakot Kanthamang มีคำถาม “แล้วมหิดลกลัวอะไรครับ สมัยออกมาเป่านกหวีดสร้างความปั่นป่วนเต็มถนนคนอื่นไม่เห็นด้วยก็ยังเอาชื่อมหาวิทยาลัยมาแอบอ้าง”
ครานั้นเมื่อพฤศจิกา ๕๖ “กลุ่มนักศึกษา บุคลากร และศิษย์เก่า รวมถึงคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวนมากได้รวมตัวกันเพื่อแสดงพลังคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
โดยได้มีการเคลื่อนขบวนเดินเท้ามาตามถนนพระรามที่ ๖ พร้อมเป่านกหวีด ชูป้าย และส่งเสียงตะโกน” แถมยังพากันไปขึ้นเวที คปท. ที่แยกอุรุพงษ์ด้วย
(http://www.innnews.co.th/show/492762/%A9)
นั่นดูเหมือนจะไม่ใช่การ “แอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัย” (เพราะใช้กันตรงๆ เลย) และเป็นการแสดงออกด้วย “เสรีภาพทางวิชาการ” (เพราะไม่ได้มีแถลงการณ์ตามมาว่าจะพิจารณาทางวินัย)
หากพิจารณาความชั่วช้าและชั่วร้ายของ กม.นิรโทษกรรม กับ กม.ให้อำนาจเบ็ดเสร็จพวกยึดอำนาจ แล้วอาจจะพอๆ กัน แม้กรณีหลังจะทำความเดือดร้อนให้แก่ประชากรมากกว่า แต่ไฉนมหาวิทยาลัยมหิดลกลับยกย่องอย่างหลัง
หากเป็นเพราะความเกรงกลัวต่ออำนาจ คสช. ก็สามารถทำได้ด้วยการคลานเข้าไปกราบขอโทษเป็นการภายใน ไม่ควรที่จะมาออกแถลงการณ์ประจานตัวเอง
ที่ทั้งแสดงว่า ‘หงอ’ ไม่พอ หากชี้ชัดว่าทำตัวดุจสมุนรับใช้เจ้านายอีกด้วย