วันเสาร์, สิงหาคม 13, 2559

ข้ออ้างของ คสช. ว่าคณะทหารมีความจำเป็นต้องครองอำนาจในชาติต่อไปทั้งสั้นและยาว เพื่อรักษาความมั่นคงนั้น ถูกสั่นคลอนใหม่อีกครั้งเสียแล้ว จากการวางระเบิดและวางเพลิงในภาคใต้ ๗ จังหวัด ๑๗ จุด





การวางระเบิดและวางเพลิงในภาคใต้ ๗ จังหวัด ๑๗ จุด ช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระราชินีนาถ ถูก คสช. ฟันธงทันทีว่าเกิดจากน้ำมือของฝ่ายทางการเมือง ที่พ่ายแพ้จากการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม

แต่หากจะฟังการวิเคราะห์ของ นายอาทิตย์ ทองอินทร์ ผู้เชี่ยวด้านเหตุการณ์ก่อการร้าย หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ให้สัมภาษณ์ต่อ ‘Thaivoicemedia’ ของ จอม เพชรประดับ ละก็น่าเข้าท่ามากกว่า

“กองกำลังติดอาวุธในสามจังหวัดภาคใต้ ก่อเหตุนอกพื้นที่” และ “เพราะเห็นว่า การพูดคุยสันติภาพหยุดชะงักไป และรัฐไทยก็ไม่ยอมรับข้อตกลงร่วม ขณะเดียวกันสามจังหวัดภาคใต้ก็ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นส่วนใหญ่”

(https://www.facebook.com/jom.petchpradab?fref=ts)





ซึ่งพ้องกับที่ สศจ.วิเคราะห์ไว้ “อ.สมศักดิ์ เจียม (ธีรสกุล) เชื่อว่า ผู้ก่อการ ๓ ชายแดนใต้ เป็นผู้ต้องสงสัยอันดับแรก เพราะเสื้อแดงหมดศักยภาพจะทำอะไรแบบนี้ไปนานแล้ว...

ประเด็นที่ สศจ.วิเคราะห์ สอดคล้องกับเหตุการณ์ก่อนถึงวันประชามติ ที่มีการแขวนป้ายผ้า+พ่นสีไม่เอารธน.หลายจุดในจังหวัดชายแดนใต้” (begin is alway today @Jeed_NBC)

ย้อนกลับไปฟังคำอ้างของฝ่าย คสช. ดูอีกที “โฆษกไก่อู (พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด) เชื่อเหตุบึ้มหลายจังหวัดใต้ ฝีมือกลุ่มผู้ไม่หวังดี สร้างสถานการณ์ คาดเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง” (จาก @Jeed_NBC)

ส่วน พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา “ผบ.ตร. ระบุสั้นๆ สังเกตุดีๆ จังหวัดที่เกิดเหตุ ส่วนใหญ่รับร่างรัฐธรรมนูญ” (จาก satien viriya@satien_pptv)





จึงมีคำถามที่เหมาะกับ ผบ.ตร. จาก V Nus @meVnus น่าคิดตาม “มีประเทศใดบ้าง เมื่อเกิดวินาศกรรมใหญ่ๆ แล้วรีบโทษเป็นฝีมือศัตรูการเมืองในประเทศ ให้ดูเป็นเหตุการณ์หน่อมแน้มที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกจุด”

แต่วันนี้ (เสาร์ที่ ๑๓ สิงหาคม) รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ กลับแถลงข่าวยืนยันว่า “ไม่ใช่การก่อเหตุหรือขยายพื้นที่ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ลักษณะระเบิดที่ใช้จะเป็นชนิดเดียวกันก็ตาม”

โดยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๘ พลตำรวจโทเทศา ศิริวาโท แจ้งว่า “ได้ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลออกหมายจับผู้ต้องสงสัยก่อเหตุ ๑ คน...

จากการข่าวมั่นใจว่า การก่อเหตุครั้งนี้ทำกันเป็นขบวนการ มีผู้สั่งการอยู่เบื้องหลัง”

(http://www.tnamcot.com/content/534714)

หากแต่ระหว่างนี้ที่ยังไม่สามารถเสาะหาเบาะแส เอามาค้ำยันข้ออ้างสำเร็จรูปเรื่องการเมืองฝ่ายตรงข้ามจัดมาได้





“นายกฯ ประยุทธ์ (เลย) โมโหสื่อ (ไปพลางๆ ก่อน) ถามเรื่องความมั่นคงหลังเกิดระเบิด บอกว่ากำลังประชุม ซักไซร้อะไรนักหนา เหตุเกิดเพราะมีคนไม่ชอบสงบ” (จาก joe black @joe_black317)

พวกลิ่วล้อและลูกไล่ คสช. ก็ชวนกันมาพลอยพยัก “อาทิตย์ อุไรรัตน์ โยงสหรัฐฯ เอี่ยวความวุ่นวายทางการเมืองตั้งแต่ก่อน-หลังการลงประชามติ” (จาก Pannika Wanich @pannikawanich)

รายนี้ไปไกลสุดกู่เลยทีเดียว กล่าวหาสหรัฐสมคบกับทักษิณ (ชินวัตร) ว่า “เห็นกลุ่มก่อการร้ายในเขตนี้ออกมาต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ...รู้แต่ว่ามีการวางแผนทำเป็นขบวนการ เดินสายปล่อยข่าวตามตำบลหมู่บ้านสารพัดเรื่อง...

ประกอบกับคำเตือนของสถานทูตสหรัฐฯ เกี่ยวกับสถานการณ์วันลงประชามติ...จะพบว่าการแสดงบทบาทของสหรัฐฯ ก่อนสงครามกลางเมืองในตะวันออกกลางทุกประเทศ คล้ายกันมากกับความเคลื่อนไหวในไทย”

อีกรายสุเทือก กปปส. โยงใย “เคยเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นมาที่ อ.สมุย มาครั้งหนึ่ง เราก็ติดตามสถานการณ์มาจากคนกลุ่มเดียวกัน

และวันนี้ตนเชื่อว่าเป็นการกระทำที่จงใจที่จะทำให้เกิดความเสียหายให้กับประเทศชาติของเราโดยคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นพวกการเมืองด้วยกัน...

เขาหวังที่จะก่อเหตุเพื่อให้คนตระหนกตกใจ ให้เสียภาพลักษณ์ประเทศไทย ให้คนเห็นว่ารัฐบาลไม่มีน้ำยา”

(http://www.dailynews.co.th/crime/515362)

ในแวดวงผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้ความสนใจวิพากษ์วิจารณ์ ‘ระเบิดวันแม่’ กันมาก ด้วยความกังวลว่าจะเป็นการคืบหน้าเข้ามาไทยของขบวนการจิฮัดนานาชาติ ครั้นเมื่อรัฐบาลทหารไม่สามารถควานหาที่มาอย่างจะแจ้งได้ภายใน ๒๔ ชั่วโมง แล้วโยน conspiracy theory ทฤษฎีสมคบคิดใส่ฝ่ายการเมืองตรงข้าม

ก็น่าขำตรงที่ Andrew Spooner @andrewspoooner อดีตนักข่าวชาวอังกฤษที่เคยจัดทำเว็บ Asia Provocateur ทวี้ตว่า

“One theory I've heard is that Southern Thai bombs could possibly be linked to fascist-gangster Suthep Thuagsuban. He is capable of that.”

ย้อนรอยตลบหลังใส่สุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าให้บ้าง ว่ามีแหล่งข่าวให้ทิปว่า เขามีประสิทธิภาพที่จะทำอย่างนั้นได้ ทั้งที่ไม่น่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากเขาเป็นผู้สนับสนุน คสช. ตัวยง และอาจเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ประชามติผ่านอย่างขาดลอยในภาคใต้ก็ได้

การกล่าวหาสุเทือกจึงอยู่ในอารมณ์เดียวกับการกล่าวหาทักษิณ

การวิเคราะห์ที่ให้แง่มุมครอบคลุมถึงความน่าจะเป็นได้ดีทีเดียว มาจาก Andrew MacG Marshall @zenjournalist ที่ว่า

“การโจมตีครั้งนี้ดูเหมือนจะเจาะจงสถานที่แหล่งท่องเที่ยว (หัวหิน ป่าตอง พังงา เป็นจุดสำคัญ ตามด้วยสุราษฎร์ นครฯ ตรัง และกระบี่) ทำนองเดียวกับระเบิดศาลพระภูมิเอราวัณเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านี้”

ประเด็นที่สอง AMM ชี้ว่าขบวนการแยกดินแดนในระยะหลังๆ ก่อการร้ายในพื้นที่ล้ำขึ้นมานอกเหนือสามจังหวัดใต้สุด หรือ deep south ซึ่งตรงกับที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงชนิดของระเบิดที่ใช้เหมือนกัน แต่แอนดรูว์ก้าวล้ำไปถึงกรณีที่มีขบวนการจิฮัดนานาชาติหนุนหลัง

อีกประเด็นที่แอนดรูว์ มาร์แชล เอ่ยถึงการวางระเบิดพร้อมกันในวันเฉลิมสมเด็จฯ ครบ ๘๔ ชันษา มีจุดเด่นอยู่ที่คณะทหารฮุนต้าไทย คสช. เป็นกลุ่ม Queen’s Guard หรือทหารเสือราชินี ระเบิดสี่ลูกที่หัวหินอาจมีจุดมุ่งหมายทางสัญญลักษณ์ได้เหมือนกัน

ประเด็นสุดท้ายของ AMM ที่ไม่น่าเป็นไปได้ว่า เป็นการสร้างภาพให้เห็นความสำคัญของการ ‘ครองเมือง’ โดยทหาร ด้วยสถานการณ์ก่อการร้าย เป็นตุรกีโมเดลเอาอย่างเออร์โดแกนอันไม่ควรทำ

เพราะการวางระเบิดสถานที่ท่องเที่ยวจะทำให้เศรษฐกิจทรุด ไม่เป็นผลดีแม้แต่นิดต่อ คสช.

(https://twitter.com/zenjournalist/status/764049641621028864)

ไม่ว่าการวางระเบิดและเพลิงไหม้ตามแหล่งท่องเที่ยวไทยในวันคล้ายวันราชสมภพสมเด็จพระราชินีจะเกิดจากมูลเหตุใด ซึ่งท้ายที่สุด คสช. คงจะดำเนินคดีกับใครสักคนสองคนเพื่อให้เหตุการณ์ผ่านไป โดยประชาชนไม่มีทางรู้แท้จริงเลยว่า ‘มันเกิดอะไรขึ้น’

ที่แน่นอนก็คือ การก่อการร้ายของขบวนการภาคใต้ชายแดนได้กลับมาใหม่ แข็งขันกว่าเดิม และขยายพื้นที่ขึ้นมาไกลเหนือชายแดนอย่างมากมาย และท้าทายอำนาจจากปากกระบอกปืนของ คสช. ที่กดคอ จี้หัวประชาชนทั่วไปที่ไม่เห็นด้วย

ข้ออ้างของ คสช. ว่าคณะทหารมีความสำคัญ ด้วยความจำเป็นต้องครองอำนาจในชาติต่อไปทั้งสั้นและยาว เพื่อรักษาความมั่นคงนั้น ไม่ใช่

ความมั่นคงในแหล่งท่องเที่ยวอันเป็นตัวทำเงินหัวใจของเศรษฐกิจไทยนั้น ถูกสั่นคลอนใหม่อีกครั้งเสียแล้ว