วันเสาร์, สิงหาคม 06, 2559

จบกัน ท่องเที่ยวไทยไม่ ‘บูม’ แล้วละ นักวิจัย ‘ไฟแน้นเชียล ไทมส์’ รายงานแย้ง ‘กอบกาญจน์’





จบกัน ท่องเที่ยวไทยไม่ ‘บูม’ แล้วละ นักวิจัย ‘ไฟแน้นเชียล ไทมส์’ รายงานแย้ง ‘กอบกาญจน์’

แดน กัลลุคชี นักวิจัยเศรษฐกิจของนิตยสาร Financial Times เขียนรายงาน ‘FT Confidential Research’ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคมที่ผ่านมาว่า

“การเติบโตขนานใหญ่ของการท่องเที่ยวในประเทศไทยช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงแล้ว อุตสาหกรรมด้านนี้จะยังคงเป็นภาคส่วนธุรกิจที่ดีที่สุดของประเทศต่อไป แต่จะไม่สามารถรักษาอัตราการเติบโตได้อย่างเคย”

“ขณะที่ความต้องการพักผ่อนในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวจากจีนยังคงมีมาก แต่ก็จะไม่อาจเทียบเท่าการเติบโตในช่วงปี ๒๕๕๔ ถึง ๒๕๕๘ ได้

อัตราการเพิ่มของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยตกไปอยู่ที่ ๑๓.๒ เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่สองของปีนี้ ดึงให้อัตราการเติบโตของทั้งปีต่ำลง ภาคส่วนอุตสาหกรรมด้านนี้ยังต้องอาศัยการผลักดันให้ยอดการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น (เพื่อมาทดแทน) ต่อไป”

“ขณะที่การขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอ่อนแรงลง เศรษฐกิจไทยยิ่งเสี่ยงต่อการขาดประสิทธิภาพมากขึ้น





ในเมื่อภาคส่วนธุรกิจชนิดนี้มีผลกระทบมากเกินไปกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยที่ไตรมาสแรกของปีนี้มีขนาดใหญ่เป็นประวัติการณ์ ถึงจำนวน ๑๓.๒ เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทีเดียว” (GDP=Gross Domestic product)

รายงานชี้ว่า หลังจากที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การเติบโตของท่องเที่ยวไทยถดถอยไป ในไตรมาสที่สองของปี ๒๕๕๙ จำนวนคนเดินทางเข้าไปเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นในอัตราเฉื่อย ต่ำแค่ ๘.๒ เปอร์เซ็นต์ปีต่อปีเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเสื่อมคลาย

ไฟแน้นเชียลไทมส์ระบุด้วยว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวหนึ่งในสิบอันดับต้นตลอดสิบปีที่ผ่านมา เมื่อปีที่แล้วไทยอยู่ในอันดับ ๖ ของโลก ด้านรายได้จากการท่องเที่ยว และอันดับ ๑๑ ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ

“จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวจากปี ๒๕๕๔ สู่ปี ๒๕๕๘ จาก ๑๕.๙ ล้านคนเป็น ๒๙.๙ ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ต่อปีขณะนี้มากกว่า ๑.๔ ล้านล้านบาท หรือ ๔๐.๕ พันล้านดอลลาร์”

(https://next.ft.com/co…/8a71c4b6-599c-11e6-9f70-badea1b336d4)

ขณะที่นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว. ท่องเที่ยวเพิ่งแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคมนี้ว่า “ปีนี้การท่องเที่ยวเติบโตทุกไตรมาส

เช่นเดียวกับไตรมาส ๒ มีรายได้ ๕.๗๑ แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น ๑๑.๘๙% โดยตลาดต่างประเทศมีการเพิ่มเชิงจำนวน ๘.๒๓% เป็น ๗.๕๕ ล้านคน แต่รายได้กลับเพิ่มขึ้นถึง ๑๓.๒% เป็น ๓.๖๒ แสนล้านบาท”

(http://www.posttoday.com/biz/gov/446077)

รัฐมนตรีท่องเที่ยวของไทยอ้างว่า “แนวโน้มไตรมาส ๓ ซึ่งตรงกับนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ก.ค.-ก.ย. คาดว่าจะมีรายได้ทางการท่องเที่ยว ๕.๙ แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น ๑๐% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา”

ดูเหมือนว่าการทำนายสภาพการณ์เบื้องหน้า หรือ projections จะสวนทางกับการวิจัยของไฟแน้นเชียลไทมส์อย่างเกือบสิ้นเชิง

FT Research ยกเอาตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ชี้ว่าเป็น ‘slower growth’ นั่นคือเพิ่มเพียงจิ๊บจ้อย จาก ๑๖.๔ เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายน เป็น ๑๐.๖ ในเดือนพฤษภา และ ๑๓ ถ้วนในเดือนมิถุนายน

การถดถอยลงในอัตราเพิ่มของนักท่องเที่ยวจีน จะไปดึงให้การท่องเที่ยวไทยหงอยลงจากที่เป็นอยู่แล้ว เมื่อการเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่จีนผ่อนคลายลงในระยะครึ่งปีแรกของปีนี้เหลือ ๘.๓ เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ๘.๘ เปอร์เซ็นต์






ซึ่งดูจะต่างกับข้ออ้างของทางการไทยชนิดหัวกับก้อย “ตลาดหลักอย่างจีนและอาเซียนยังเติบโตสูง โดยจีนเติบโต ๑๓.๓๘% ตลาดยุโรปเติบโต ๑๐.๖๗% อาเซียนเติบโต ๖.๓๔% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา” นางกอบกาญจน์อ้างในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒ ส.ค.

“ที่จริงแล้ว ในระยะ ๖ เดือนแรกของปีนี้ รายได้การท่องเที่ยวที่ไทยได้รับโดยตรงจากนักท่องเที่ยวจีน อยู่ที่ ๔ เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไทย” นายแดน กัลป์ลุคชีอ้างไว้ในบทความไฟแน้นเชียลไทมส์ของเขา





อัตราจีดีพี หรือการเติบโตของผลิตผลมวลรวมในประเทศของไทยนั้น ขยายตัว ๓.๒ เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรกของปีนี้ การที่คณะทหารฮุนต้าทุ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผลเหนือการคาดหมายของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจนานาชาติ

สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติของไทยคาดหมายว่า ปีนี้ทั้งปี จีดีพีของไทยจะโตในระหว่าง ๓ เปอร์เซ็นต์ ถึง ๓.๕ แต่ไฟแน้นเชียลไทมส์กลับทำนายว่า ถึงจะเพิ่มในเกณฑ์ดังกล่าวก็ยังจะอยู่ในจุดต่ำสุดของอัตราเพิ่มที่ทางการไทยอ้าง คือค่อนมาทาง ๓ เปอร์เซ็นต์ถ้วนๆ

“ความเสี่ยงทางการเมืองที่ถูกทำให้สูง ด้วยความไม่แน่นอนของการออกเสียงประชามติ ในวันอาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคมนี้ จะเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจไม่ยอมโต

เพราะความไม่มั่นคงในทางการเมือง เป็นปัจจัยหน่วงเหนี่ยวความมั่นใจของผู้บริโภค”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พูดเมื่อวานนี้อีกว่า ถ้าประชามติไม่ผ่าน ตนก็จะจัดให้มีการร่างรัฐธรรมใหม่อีกต่อไป อันนี้แหละจะเป็นปัจจัยหน่วงเหนี่ยวความมั่นใจของผู้บริโภค ที่ทำให้เศรษฐกิจจมปลักไม่กระเตื้องได้

ถ้าครั้งนี้ไม่ผ่านอีก ก็เท่ากับพล.อ.ประยุทธ์ล้มเหลวถึงสองครั้งสองครา (ฟังประชาชนเสียหน่อยก็สิ้นเรื่องไปนานแล้ว) ในแวดวงเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นจุลภาค มหภาค ไม่มีที่ไหนทนให้พลาดพลั้งสองครั้ง

ถ้าประยุทธ์บอกว่า ‘ถ้าไม่ผ่านผมไปแน่’ นั่นสิจะสร้างความมั่นใจแก่ภาคเศรษฐกิจไทยมากกว่า