เอาแล้วไง เขาไม่เอาทั้งขึ้นทั้งล่องกับ คสช. และ รธน. ฉบับ 'มีชัย'
คำประกาศของ 'คนไทยผู้รักประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา'
(https://www.facebook.com/ThaiRedUSA.LA/posts/1041272165963751:0)
‘กูไม่เอากะมึง ทั้งขึ้นทั้งล่อง’
แถลงการณ์คนไทยผู้รักประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา ไม่เอาเผด็จการในประเทศไทย ไม่รับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ๒๕๕๙ ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไร ผ่านหรือไม่ผ่าน
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้บนหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐครั้งหนึ่ง หลังจากที่โดนทหารตบเท้ากันไปพังรั้วบ้าน เพราะเหตุขัดแย้งทางการเมืองว่า “กูไม่กลัวมึง”
เราใช้วลีพื้นบ้าน ‘กูไม่เอากะมึง’ ต่างกาลเวลา ต่างสถานการณ์ ต่างประเด็นการเมือง แต่ตรงตามเป้าหมายเดียวกัน เมื่อคณะทหารใช้กำลังคุกคามเสรีภาพและก้าวล้ำสิทธิทางการเมืองของประชาชนไทย
ด้วยเหตุที่ คณะรัฐประหาร คสช. ที่ยึดอำนาจมาครองตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ไม่เหมาะสมในการสร้างรัฐธรรมนูญให้แก่ประเทศตั้งแต่ต้น
ในเมื่อรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เก่า ไม่ว่าฉบับปี ๒๕๔๐ หรืฮ ๒๕๕๐ มีเนื้อหาที่ดีกว่า สอดคล้องกับระบอบปกครองในทางประชาธิปไตยสากลยิ่งกว่า ฉบับที่ร่างใหม่มีนัยยะทางเผด็จการมาให้ประชาชนออกเสียงประชามตินี้
อีกทั้งกระบวนการทำประชามติไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับหลักการสากลตั้งแต่แรกเริ่ม การจัดการและรณรงค์เพื่อประชามติมีความไม่โปร่งใส คสช. ไม่ยอมให้มีการอภิปรายปัญหาของร่างฯ แต่ดันทุรังยัดเยียดใส่ประชาชนด้วย พรบ. เลือกตั้งที่กำหนดโทษผู้คัดค้านให้จำคุกถึง ๑๐ ปี
ทั้งที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื้อหาในร่างฯ อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าเรื่องหละหลวมในหลักสิทธิมนุษยชน หรือจงใจทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ
ทั้งสอดแฝงบทบัญญัติให้ คสช. และคณะทหาร มีอำนาจกำกับควบคุมการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างแยบยล ต่อไปอีกยาวนาน อาจถึง ๒๐ ปี
บทเฉพาะกาลและคำถามพ่วง ที่ให้ คสช. ยังคงมีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผ่านการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกทั้งสภา ๒๕๐ คน ซึ่งมีอำนาจกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีควบไปพร้อมกับสภาผู้แทนฯ แล้วยังให้นายกฯ มาจากคนนอกได้
ถือว่าเป็นหลักเกณฑ์ครอบงำเหนือระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่ควรบรรจุในร่างฯ เพื่อการทำประชามติแต่ต้น ผลคะแนนไม่ว่าจะออกมาในทางใด ย่อมไม่ชอบธรรมสำหรับการประกาศใช้
วิญญูชนที่รักประชาธิปไตย และประชาชนซึ่งจักต้องมีสิทธิเสรีภาพสมบูรณ์ในกิจการบ้านเมือง จึงไม่สามารถรับได้กับรัฐธรรมนูญอย่างเผด็จการนี้
แม้นมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่แสดงเจตจำนงค์ ‘ไม่รับ’ ร่างฯ ในการทำประชามติวันที่ ๗ สิงหาคมนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสียงข้างมากหรือข้างน้อยก็ถือว่าอยู่ในกรอบของการปฏิเสธ คสช. และกิจกรรมที่พวกเขาทำ อันมีผลกระทบต่อสุขภาพของประเทศชาติ
ซึ่งเห็นกันโดยทั่วไปแล้วว่า สองปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจมีแต่ทรุดโทรม ย่ำแย่
คำประกาศนี้จงใจบอกว่า ‘พอกันที’ สำหรับการล่อลวงของ คสช. ที่ว่าเข้ามาครองอำนาจเพื่อระงับความขัดแย้ง แตกแยก แท้จริงเป็นการช่วงชิงอำนาจเพื่อความพูนสุขของพวกตนเท่านั้นเอง
ถึงเวลาแล้วสำหรับทั้ง คสช. และ ครม. ที่มีหัวหน้าคณะรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องละมือจากอำนาจที่ยึดมาจากรัฐบาลเลือกตั้ง แล้วคืนกลับไปให้ประชาชน
ด้วยการมอบหมายแก่ตัวแทนประชาชนในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคการเมืองต่างๆ ที่อยู่ในสภาขณะทหารยึดอำนาจ คัดเลือกกันเองให้ได้คณะรัฐมนตรีชั่วคราว เพื่อจัดการเลือกตั้งภายใน ๙๐ วัน โดยนำรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งที่เคยมีมาก่อนรัฐประหาร (ฉบับ ๒๕๔๐ หรือ ๒๕๕๐) มาใช้เป็นแม่แบบกำกับชั่วคราว
รัฐบาลชุดที่ได้รับเลือกตั้งใหม่นี้ มีอายุสมัยไม่เกิน ๒ ปี ทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมตามปกติ ผ่านทางปลัดกระทรวงต่างๆ เพียงสมัยสั้นๆ สมัยเดียวเพื่อรักษาเสถียรภาพ รอรัฐธรรมนูญฉบับที่สมบูรณ์ต่อไป
ฉะนั้นในทางการเมือง รัฐบาลชั่วคราว ๒ ปีนี้มีพันธะหลัก คือ
ต้องจัดตั้งคณะกรรมการทำการ ‘สร้าง’ รัฐธรรมนูญสมบูรณ์ฉบับใหม่ พร้อมกฎหมายลูกต่างๆ โดยนำเอาเนื้อหาเด่นที่เป็นแบบอย่างประชาธิปไตยแท้จริงในทางสากล ของรัฐธรรมนูญเก่าๆ อาทิ ปี ’๗๖ ’๘๙ ’๔๐ และ ’๕๐ มาพิจารณาผนวกไว้ในฉบับใหม่
และต้องมีบทบัญญัติให้อำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างชัดเจนว่าสามารถบริหาร จัดการ และปรับปรุงกองทัพไม่ให้เป็นภัยต่อประชาธิปไตยอีกต่อไป
ทั้งนี้กำหนดด้วยว่าจะต้องร่างให้แล้วเสร็จและผ่านกระบวนการรับรองของประชาชนภายในเวลา ๒ ปี
รัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดนั้น จึงจะเป็นฉบับสมบูรณ์และยั่งยืนตามอุดมคติ ใช้เป็นแม่แบบต่อไปสำหรับการเลือกตั้งให้ได้มาซึ่งรัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริงและสถาพรสืบไป
ประกาศในสหรัฐอเมริกา
ณ วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๙
คนไทยผู้รักประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา