วันพุธ, สิงหาคม 10, 2559

ต่อจากนี้...ประเทศชาติอยู่ในมือคุณแล้ว... เลิกโทษทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ได้แล้ว “ถ้าประเทศฉิบหาย... พวกมึงเลือกเอง”





เห็นไหม ‘ลายออก’ แค่สองวันให้หลังร่าง รธน.ผ่าน ไพบูลย์กับมโนประกาศตั้งพรรครองรับประยุทธ์เป็นนายกฯ เลือกตั้ง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงเมื่อ ๙ ส.ค. ว่า “ได้หารือกับพวกที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง...ภายใต้ชื่อว่า พรรคประชาชนปฏิรูป”





อ้างเจตนารมณ์หนึ่งในสามข้อว่า “จะปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้มีความบริสุทธิ์และดีงาม” จึงมี นพ.มโน เลาหวณิช ร่วมจัดตั้งพรรคนี้ด้วย

“ศาสนากับการเมืองนั้นผูกพันกัน ยังแยกไม่ออกในประเทศไทย ผมอยากจะให้พระธรรมวินัย เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุ การปฏิบัตินอกลู่นอกนอกทาง หาเงินหาทอง ทำให้เกิดลัทธิคลั่งศรัทธา คลั่งเจ้าอาวาส มันเป็นผลร้าย” หมอมโนว่า





แต่สำคัญกว่านั้นเป็นคำยืนยันของนายไพบูลย์ว่า การที่คำถามพ่วงผ่านประชามติเป็นการรับรองอุดมการณ์ที่ตนเคยเสนอ สนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อ หลังมีการเลือกตั้ง

นายไพบูลย์ยังประกาศด้วยว่าที่ออกมาพูดตั้งแต่ไก่โห่นี่ “เพื่อประกาศให้ประชาชนรู้ไปเลยว่ามีพรรคนี้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ”

(http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1470799412)

มิใยที่พี่ป็อก (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) หนึ่งในสาม ป. รีบปฏิเสธแทนน้องตู่ในวันต่อมา (๑๐ ส.ค.) “เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ไปเข้าร่วม (พรรคใหม่ของนายไพบูลย์) อย่างแน่นอน”

(http://www.thairath.co.th/content/686671)

ทำเหนียมอย่างนั้น จะเป็นด้วยเพราะกรุงเทพฯ โพลเพิ่งโผล่ออกมา ชี้แนะสวนทางประชามติหรือเปล่าไม่รู้ บอกถ้ามีการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกอีกถึง ๘๔ เปอร์เซ็นต์

แต่ทีเด็ดกว่านั้น ก่อนหน้าประกาศตั้งพรรคปฏิรูปหนึ่งวัน มีอีก ‘ลาย’ ออกมาผายลมรับยุค คสช. เป็นพ่อทุกสถาบันการเมือง

คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการสาธารณสุข สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สรุปแนวทางปฏิรูปภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ไว้ ๔ ข้อ

หนึ่ง ต้องใช้มาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี ที่อาจจะนำไปสู่การดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ สอง ต้องควบคุมให้ประชาชนไม่ใช้เงินมากเกิน ในการจับจ่ายเพื่อประกันสุขภาพ

สาม เพิ่มเพดานการจัดเก็บภาษี ปรับขึ้นเพดานเงินประกันสังคม ภาษีสุขภาพกับภาษีท้องถิ่น และภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแว็ต

และ สี่ ส่งเสริมให้มีการร่วมจ่าย





ถ้ายังจำกันได้ ก่อนประชามติไม่นานมีเสียงฮือฮาเรื่อง จะให้คนไข้ร่วมจ่ายค่าประกันระบบสุขภาพถ้วนหน้า พอมีเสียงวิพากษ์กันหนัก คสช.ก็ออกมาแถลงว่าไม่จริง ยังไม่คิดยกเลิกโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค

(http://www.posttoday.com/social/health/447325)

ดูเหมือนว่าสองเรื่องออกลายที่ว่ามา จะเป็นแค่น้ำจิ้มชิมลาง เชื่อได้ต้องมีเด็ดๆ กว่านี้ตามมาอีกเยอะ

ก็คงต้องย้อนกลับไปหาข้อสรุป ‘เหตุ’ ประชามติผ่านข้อหนึ่งที่อ้างถึงกันมาก ว่าเพราะคนที่ไปออกเสียงไม่ได้อ่านร่างฯ เสียก่อนตัดสินใจ





จึงมีคนเอาไปสัพยอกตอกลิ่ม ‘ผล’ ที่จะตามมาได้ ด้านหนึ่งว่าหากประเทศชาติ “ล่มจม หวังว่าคงไม่โทษรัฐบาลที่แล้ว”

อีกด้านหนึ่งหนักหน่อย ห้ามบ่น “ถ้าประเทศฉิบหาย...พวกมึงเลือกเอง”