วันเสาร์, สิงหาคม 06, 2559

อีกสองวันคนอีสานจะบอกให้ คสช.และผู้อุปการะ รู้ว่าคนอีสานรู้สึกต่อพวกเขาอย่างไร




บรรยากาศสังเกตการณ์เลือกตั้งปี 2554 ที่จังหวัดขอนแก่น อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปหลังรัฐบาลพรรคร่วมนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภา ผลการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยนำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ครองที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 104 จาก 126 ที่นั่งของพื้นที่ภาคอีสาน



อีสานจะบอกอะไร? ย้อนดูประชามติ 2550 อีสานไม่รับร่าง รธน.


Posted on 05/08/2016 by The Isaac Record


รับร่างรัฐธรรมนูญ 3,050,182 คน (37.20%) ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 5,149,957 คน (62.80%) คือผลการลงคะแนนเสียงประชามติทั่วประเทศเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าผลการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ทั่วประเทศนี้ให้ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ผ่าน และถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศมาเกือบ 7 ปี และสิ้นสุดด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจโดย คณะรัฐประหารภายใต้ชื่อย่อ คสช. ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

จากตัวเลขที่ได้ยกมาแสดงให้เห็น เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของประเทศแล้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่ประชาชนออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มากที่สุด คำถามที่สำคัญคือ อะไรทำให้ผลการลงประชามติรับร่าง รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ของภาคอีสานนี้ออกมาสวนทางกับเสียงข้างมากของประเทศที่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น? คนอีสานต้องการจะบอกอะไรกับสังคมไทยเมื่อ 9 ปีที่แล้ว? ในฐานะที่เป็นภูมิภาคที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุดในประเทศ ภาคอีสานอาจเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการลงประชามติเพื่อตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2559 ครั้งล่าสุดที่จะมาถึงในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ก็เป็นได้

มากกว่าผลการพิจารณาเนื้อหารัฐธรรมนูญ แต่ยังเป็นช่องทางแสดงจุดยืน

จากงานวิจัยปี 2552 ชื่อ “พฤติกรรมการลงประชามติและการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร : ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-การเมืองและผลต่อการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง ระดับชาติและชุมชนชนบท” จัดทำโดย ดร. สิริพรรณ นกสวนสวัสดี ข้อมูลจากงานวิจัยเผยว่า ผู้ออกคะแนนเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ให้เหตุผลว่า “เป็นการต่อต้านรัฐประหาร” มากที่สุดถึง 52.5% และตามมาด้วยเหตุผลที่ “ไม่ชอบเนื้อหารัฐธรรมนูญ” 46% และเหตุผลของไปออกคะแนนเสียงรับร่าง 80% ให้เหตุผลว่า “ต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว”




(ซ้าย) โปสเตอร์รณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยอ้างถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดมีขึ้นหากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน – (ขวา) โปสเตอร์รณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในฐานะการแสดงออกซึ่งการต่อต้านรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)



ข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวทำให้เห็นว่าเหตุผลในการตัดสินใจไปลงประชามติไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับเนื้อหาและสาระในร่างรัฐธรรมนูญเพียงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความคิดและทัศนคติทางการเมืองของประชาชนในเรียกร้องและต่อรองทางการเมืองอะไรบางอย่าง โดยช่วงใช้การลงประชามติให้เป็นพื้นที่แสดงจุดยืนทางการเมืองในสมัยนั้นดร. บัวพันธ์ พรหมพักพิง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มองว่า ในช่วงก่อนปี 2540 ประชาชนยังคงมีความรู้สึกว่าเรื่องของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องส่วนรวมเป็นกติกาของสังคมที่ต้องร่วมกันกลั่นกรอง แต่ในช่วงหลังจากปี 2540 รัฐธรรมนูญได้ถูกนำมาเป็นอาวุธทางการเมืองที่ใช้ในสมรภูมิความขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจน

ช่วงเวลานั้นมีการรณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติอย่างเปิดกว้างทั้งจากฝ่ายที่แสดงจุดยืนในการรับร่างและฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีการใช้ยุทธวิธีในการรณรงค์ในแบบต่างๆ ที่หลากหลายคล้ายกับบรรยากาศทางการเมืองของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เช่น ฝ่ายที่รณรงค์ให้สังคมรับร่างรัฐธรรมนูญชูข้อความว่า “เห็นชอบรัฐธรรมนูญให้ประเทศมีการเลือกตั้ง”หรือวาทกรรมที่ว่า “รับๆไปก่อนค่อยแก้ทีหลัง” ส่วนฝ่ายรณรงค์ไม่รับร่างก็ใช้ข้อความรณรงค์อย่างเช่นว่า “โหวตล้มรัฐธรรมนูญคือล้มรัฐประหาร” เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการพูดและการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญสมัยนั้น ไม่เพียงแค่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้วิพากษ์วิจารณ์ตัวเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้พูดถึงบริบทแวดล้อมของการลงประชามติและอภิปรายถึงผลที่จะตามมาด้วย

ความไม่พอใจต่อการ ‘ล้มรัฐบาลที่ตั้งโดยคนอีสาน’ ตัวแปรสำคัญต่อการตัดสินใจลงคะแนนประชามติ

หากจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองในช่วงการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ของคนอีสานนั้น เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจบริบททางการเมืองในระดับประเทศและในภูมิภาคอีสานเวลานั้นด้วย

ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หนึ่งในผู้ร่วมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ในภาคอีสาน อธิบายถึงบรรยากาศการทำประชามติในช่วงนั้นว่า “การรณรงค์เป็นไปอย่างเปิดเผยและไม่มีการคุกคามประชาชน ชาวบ้านสามารถรวมตัวตั้งวงพูดคุยเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ พวกเรานักวิชาการก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยนั้น เขาไปยืนยันสิทธิของพวกเขาว่ามีสิทธิรับหรือไม่รับ” บรรยากาศการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ค่อนข้างเปิดกว้าง ซึ่งมีความแตกต่างจากการบรรยากาศก่อนการลงประชามติในปัจจุบัน ที่ตนไม่สามารถขยับหรือรณรงค์ได้มากเหมือนครั้งก่อนเนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายต่างๆ

“การรณรงค์เป็นแค่ส่วนย่อย แต่สิ่งที่เกิดกับประชาชนคือพรรคการเมืองที่พวกเขาเลือก นโยบายที่พวกเขาได้รับประโยชน์มันถูกทำลายต่อหน้าต่อตา” นายธีระพลกล่าว ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัจจัยสำคัญในการเลือกลงประชามติ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ปัจจัยหนึ่งคือความไม่พอใจต่อการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กระทำการรัฐประหารต่อรัฐบาลและผู้แทนราษฎรที่คนอีสานเลือกเข้ามาบริหารประเทศ

ภาคอีสานเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคไทยรักไทยนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา จนในปี 2548 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในภาคอีสานอย่างถล่มทลาย โดยได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปถึง 126 ที่นั่งจากทั้งหมด 135 ที่นั่งของพื้นที่ภาคอีสาน จนในที่สุดรัฐบาลพรรคไทยรักไทยนำโดย พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร กลับถูกรัฐประหารยึดอำนาจโดยคมช. ในวันที่ 19 กันยายน 2549

ตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจในงานวิจัยของสิริพรรณที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว คือร้อยละ 70 ของผู้ที่ลงคะแนนเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ได้เลือกพรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปี 2550 โดยตัวเลขนี้ก็สูงขึ้นมาอีกในพื้นที่ภาคอีสานคือร้อยละ 71.4 ตัวเลขนี้อาจมีนัยยะว่าผู้ที่ไปออกแสดงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ คมช. ส่วนใหญ่เป็นคนที่ชื่นชอบพรรคการเมืองของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร อย่างชัดเจน โดยการเลือกลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองอย่างหนึ่ง

ทั้งนี้ มีสองจังหวัดในภาคอีสานซึ่งคะแนนเสียง “รับ” สูงกว่า “ไม่รับ” นั่นคือจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดนครราชสีมา โดยนายธีระพลให้คำอธิบายว่า “คนอีสานเลือกตั้งเพราะต้องการปรับสภาพความเป็นอยู่ ปรับสถานะทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็น แน่นอนว่า 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และนโยบายของไทยรักไทย ทำให้คนที่นี่ลืมตาอ้าปากได้ 17 จาก 19 จังหวัดในอีสานจึงโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ส่วนจังหวัดที่รับคือบุรีรัมย์ และนครราชสีมา บุรีรัมย์คือฐานเสียงของ เนวิน ชิดชอบ และนครราชสีมา เป็นฐานบัญชาการของพันธมิตรอีสานและกองทัพภาคที่ 2”

ในมุมมองของ ดร. อลงกรณ์ อรรคแสง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองว่าสาเหตุที่จำนวนผู้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ในภาคอีสานค่อนข้างสูง น่าจะเกิดจากการที่ประชาชนคับข้องใจกับการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนภาคอีสานและประชาชนในพื้นที่ชนบทที่มีความผูกพันกับการเลือกตั้งผู้แทนของตนเพื่อเข้าไปบริหารประเทศมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่ พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา การเลือกตั้งถือเป็นช่องทางของประชาชนในการต่อรองอำนาจกับนักการเมืองและระบบราชการ นอกจากนี้การเลือกตั้งยังเป็นช่องทางต่อรองและเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากร, งบประมาณ, และโครงการพัฒนาของรัฐต่างๆ

“ยุคทักษิณ ชินวัตร ยิ่งทำให้การเลือกตั้งมีความสำคัญมากต่อความรู้สึกของประชาชนในชนบท เพราะการเลือกตั้งมันทำให้ประชาธิปไตยเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ประชาชนระดับปัจเจกสัมผัสมันได้” นายอลงกรณ์กล่าว

แต่เมื่อเปรียบเทียบบริบททางการเมืองในภูมิภาคอื่น อย่างเช่นภาคเหนือซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กลับต่างออกไปจากภาคอีสาน ซึ่งในภาคเหนือนั้นมีผู้ลงคะแนนเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญถึง 54.47%

ดร. สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองในอีสาน มองว่าปัจจัยที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ผ่านในภาคอีสานนั้น มาจากความไม่พอใจการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ของชาวบ้านเองมากกว่าการที่พรรคการเมืองต่างๆ สั่งการให้ประชาชนไปออกเสียงตามมติของพรรค

“พวกคณะรัฐประหารหรือพวกนักวิชาการบางส่วนบอกว่ามันมีพวกหัวคะแนนไปทำให้ชาวบ้านออกเสียง แต่คิดว่านั่นไม่น่าจะใช่ประเด็นที่สำคัญ” นายสมชัยกล่าว

โดยช่วงนั้นการเคลื่อนไหวรณรงค์ของพรรคการเมืองเกี่ยวกับการไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังไม่ค่อยมี ส่วนการที่ผลการลงประชามติของภาคอีสานต่างไปจากภูมิภาคอื่นนั้น คือการที่ภาคอีสานคุ้นเคยกับการเรียกร้องทางการเมืองมาโดยตลอด โดยผ่านการเรียนรู้จากขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในอีสานหลากหลายกลุ่ม จนถือได้ว่าคนอีสานต่อสู้ทางการเมืองมาตลอดประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย

“ถือเป็นเรื่องธรรมดามาก ถ้าเรา[คนอีสาน]ไม่พอใจอะไร ก็ต้องแสดงออกเรียกร้อง ดังนั้นการเคลื่อนไหวแสดงถึงการต่อต้าน ภาคอื่นไม่เยอะเท่าภาคอีสาน ประวัติศาสตร์มันเป็นมาอย่างนั้นโดยตลอด” นายสมชัยทิ้งท้าย

9 ปีจากประชามติปี 2550 ถึงปี 2559 ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยบนความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง


นับจากการทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 จนถึงวันนี้ เป็นเวลาเกือบ 9 ปี มีเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญมากมายเกิดขึ้นในประเทศไทย จนมาสู่การทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ลง ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วตามมาด้วยการเปิดให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธ์ ในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ เมื่อหีบลงคะแนนได้ปิดลงก็ยากที่จะคาดเดาว่าผลการลงคะแนนเสียงประชามติในอีสานจะเป็นเหมือนดั่ง 9 ปีที่ผ่านมาหรือไม่

หากมองย้อนไปที่การเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทย (ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองเดียวกับพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนที่ถูกพิพากษายุบพรรคไปทั้งสองพรรค) ก็สามารถครองเก้าอี้ ส.ส. ได้จำนวนถึง 104 จากทั้งหมด 126 ที่นั่งของพื้นที่ภาคอีสาน จึงเสมือนเป็นหนังฉากเดิมที่ฉายซ้ำว่า รัฐบาลที่คนอีสานนิยมถูกโค่นล้มโดยทหารอีกครั้ง

กระนั้น ถึงแม้ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยตรงที่มีการโค่นล้มรัฐบาลที่ได้รับความนิยมจากคนอีสานส่วนใหญ่อีกครั้ง ก็เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากว่าผลประชามติในอีสานในปี 2559 จะออกมาเช่นไร

“บ่าววี” ดีเจจัดรายการวิทยุและนักกิจกรรมคนเสื้อแดงจังหวัดขอนแก่น เล่าความหลังถึงบรรยากาศการลงประชามติในช่วงปี 2550 ว่าบรรยากาศในระดับพื้นที่แทบไม่มีการรวมกลุ่มพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งยังไม่มีกลุ่ม นปช. ที่ชัดเจนเหมือนทุกวันนี้ ตนเป็นคนหนึ่งที่ออกเสียงไม่รับร่าง รธน. ด้วยเหตุผลที่ยังศรัทธาในรัฐธรรมปี 2540 เพราะคิดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดและมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมองว่าสาเหตุที่คนภาคอีสานไปลงคะแนนไม่รับร่างกันเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากความชื่นชอบในตัวของนโยบายของพรรคไทยรักไทยมากกว่าเหตุผลอื่น

“เขาก็คิดว่าถ้าเราไม่รับรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มาจากประชาชน บางทีอาจจะเป็นการต่อสู้ที่ทำให้อดีตนายกฯ ได้กลับมาก็ได้ แต่ก็มีผู้หลักผู้ใหญ่มาพูดบอกว่ายังไงก็ให้รับไปก่อน ให้ประเทศชาติมันเดินไปได้แล้วค่อยมาแก้กันทีหลัง”

“ทุกวันนี้ชาวบ้านรู้สึกตื่นตัวกับการเมืองอย่างมาก เสพข่าวสาร อะไรเป็นอะไรเขารู้หมด ชาวบ้านก็มีคำตอบในใจแล้วว่าควรจะยังไง”

บ่าววีมองว่า สิ่งที่แตกต่างออกไปจากการทำประชามติเมื่อ 9 ปีที่แล้วคือความตื่นตัวทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นในท้องถิ่น

“ผมว่าไม่ต้องเดินเกมให้มันเปลืองตังค์มากเท่าไหร่หรอก” ดีเจวิทยุเสื้อแดงเห็นว่าการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองหรือแกนนำเกี่ยวกับการลงประชามติที่ปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อ ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนักกับคนในท้องถิ่น ด้วยเหตุที่คนท้องถิ่นตื่นตัวทางการเมืองและเข้าถึงข่าวได้ด้วยตัวเอง จึงสามารถตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างอิสระ

“อันนั้นก็เป็นในส่วนของพรรคการเมือง แต่ระดับชาวบ้าน คิดว่าทุกคนก็คงจะมีคำตอบในใจแล้วหละ เขารู้ว่าเดี๋ยวนี้เขาขายของดีเหมือนเก่าไหม? เขามองจากผลสะท้อนที่มันเกี่ยวข้องกับเขาเอง อะไรที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นและอะไรทำให้แย่ลงไป เขาจะตัดสินใจได้”

ความสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ภาคอีสานเป็นตัวแปรสำคัญต่อผลการลงคะแนนประชามติในครั้งนี้ คือ ตัวเลขผู้มีสิทธิ์ลงประชามติในภาคอีสานมีสูงถึง 17 ล้านเสียง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 33.6 ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมดในประเทศ ในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาอีสานจึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญ ว่าพรรคการเมืองใดจะได้ครองเสียงข้างมากในฝ่ายนิติบัญญัติ

แต่แม้การลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในภาคอีสานจะมีสัดส่วนที่สูง แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการลงประชามติปี 2550 ได้ในท้ายที่สุด เพราะผู้ออกมาลงประชามติในครั้งนั้นมีจำนวนน้อย โดยเป็นภูมิภาคที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์น้อยที่สุด คือร้อยละ 52 ซึ่งก็เป็นที่น่าสังเกตเช่นกันว่า ทำไมจำนวนผู้มาลงประชามติจึงมีน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า คือมีจำนวน 67% และการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปีเดียวกันซึ่งมีสูงถึง 71%

การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนผู้ไปลงคะแนนเสียงประชามติในอีสานจึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษาและทำความเข้าใจถึงเหตุปัจจัยที่ส่งผลให้คนไม่ออกไปลงประชามติในครั้งนั้น เป็นการตั้งใจ “no vote” ไม่ร่วมสังฆกรรมกับคณะรัฐประหารหรือไม่ มากน้อยเพียงใด?

เมื่อผลการลงประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะมาถึงนี้ออกมา เราคงต้องกลับมาย้อนศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการไปลงประชามติของคนอีสานในหนนี้อีกครั้ง เพื่อจะทำความเข้าใจว่ามีอะไรที่ยังคงอยู่หรือเปลี่ยนไปบ้างในการเมืองของภาคอีสานตลอด 9 ปีที่ผ่านมา จากประชามติปี 2550 ถึงประชามติปี 2559