วันเสาร์, มีนาคม 05, 2559

ปกครองกันด้วยความกลัว โดย วีรพงษ์ รามางกูร




ที่มา มติชนออนไลน์
3 มี.ค. 59

ทุกวันนี้ดูเหมือนผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่างก็เกิดความกลัวอยู่ 2-3 อย่าง อย่างที่หนึ่งความกลัวการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างที่สองกลัวการเลือกตั้ง และอย่างที่สามกลัวว่าจะเกิดความวุ่นวายและในที่สุดจะมีการเสียเลือดเนื้อ แล้วก็ต้องปฏิวัติรัฐประหารกันอีก

ดูเหมือนจะเป็นการบ้านที่ยังคิดไม่ออกว่าจะเขียนกฎเกณฑ์เพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดเวลาไว้อย่างไร จะใช้กฎหมายป้องกันการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างไร กฎหมายก็กำหนดโทษสำหรับการทุจริตคอร์รัปชั่นไว้สูงกว่าโทษอาญาอื่นๆ ใช้ สูงสุดคือประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตอยู่แล้ว ถ้าจำเลยเป็นนักการเมืองหรือร่วมกระทำความผิดร่วมกับนักการเมือง ก็ขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ

ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ซึ่งมีศาลเดียว ผิดหลักของกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาได้เลย แต่ถ้าผู้กระทำผิดไม่ใช่นักการเมืองหรือไม่ได้ดำรงตำแหน่งการเมือง และไม่ได้กระทำความผิดร่วมกับนักการเมือง ก็ไปขึ้นศาลอาญา ซึ่งสามารถอุทธรณ์และฎีกาได้ตามปกติ

การกระทำความผิดทางอาญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น หลายคนคิดว่าเป็นวัฒนธรรมของชาติหรือสังคมนั้นๆ เหมือนๆ กับความคิดเรื่องประชาธิปไตย ก็เป็นวัฒนธรรมของชนชาตินั้นๆ การจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยการเขียนกฎหมายบังคับเอาคงจะเป็นไปได้ยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ยอมรับการกระทำทุจริต คอร์รัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ควรจะกระทำการป้องกัน โดยปลูกฝังความคิดของผู้คนเสียตั้งแต่ยังเล็กว่า การกระทำทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นสิ่งเลวร้าย เป็นสิ่งไม่ดี ข้อสำคัญที่สุดคือผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ในคณะรัฐบาล ในวงการราชการ ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ถูกต้องเป็นเบื้องแรก ข้อแรกดูเหมือนว่าได้ประชาสัมพันธ์กันมามากแล้ว ส่วนข้อหลังไม่แน่ใจ

การมีระบบระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่รอบคอบรัดกุมแต่คล่องตัว ก็เป็นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการจัดการป้องกันเบื้องต้นที่เหมาะสม ส่วนการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นน่าจะเป็นเรื่องสุดท้าย ยกเว้นแต่ว่าเขียนเพื่อป้องกันคนที่มีประวัติและพฤติกรรมที่ผ่านมา เช่น เคยถูกลงโทษโดยคำพิพากษาศาลว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ แต่ถ้าไปมุ่งเขียนรายละเอียดจนเกินไปก็อาจจะไปทำให้ขัดกับหลักการอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรอง

การเขียนรัฐธรรมนูญด้วยความกลัวการทุจริตคอร์รัปชั่นจนเกินไป อย่างที่มีกระแสทางความคิดเช่นว่านี้อยู่ในขณะนี้ อาจจะทำให้มีการออกกฎหมายลูกที่มัดมือมัดเท้าข้าราชการ หน่วยงานของรัฐ พนักงานของรัฐ จนไม่สามารถใช้ดุลพินิจได้เลย ถ้าทุกคนทำงานไปตามกฎระเบียบ ความคิดริเริ่มก็จะไม่มี ไม่เกิดขึ้น ไม่มีใครกล้ารับผิดชอบ การส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่มพร้อมๆ กับความรับผิดชอบเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมี ความกลัวมากไปอาจจะทำให้เสียหายยิ่งกว่าเพราะเป็นการเสียโอกาส ความพอดีอยู่ที่ไหนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ความคิดริเริ่ม ความคิดที่จะต้องมีผลงาน ความจริงเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายการเมือง เพราะเป็นผู้รับผิดชอบต่อประชาชน หรือตัวแทนของประชาชนในสภาผู้แทนราษฎร เพราะต้องคิดถึงการเลือกตั้งในสมัยหน้าเสมอ

แต่ในยามที่ประเทศชาติปกครองโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนหรือสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน รัฐธรรมนูญก็จะมีแนวโน้มไปในทางจำกัดอำนาจตัวแทนที่มาจากประชาชน ซึ่งได้แก่ผู้แทนราษฎร ไม่ให้สภาผู้แทนมีอำนาจ จนกลายเป็นการปกครองระบอบเผด็จการโดยรัฐสภา ที่องค์กรประชาชนไม่สามารถตรวจสอบควบคุมได้

อีกประการหนึ่งที่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญอาจจะรู้สึกว่าเป็นภาระหน้าที่ของตน ถ้าหากเกิดกรณีวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างที่เกิดขึ้นคราวที่แล้วๆ มา จนเกิดคำพูดที่ว่า ปฏิวัติทั้งทีก็ทำให้ “เสียของ” กล่าวคือเมื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน ระบบพรรคการเมือง 2 พรรคก็ยังคงอยู่ แทนที่จะมีพรรคการเมืองหลายๆ พรรคไว้คานอำนาจกันในสภา จนไม่มีพรรคใดจัดตั้งรัฐบาลได้เอง แต่ก็ปรากฏว่าพรรครัฐบาลได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างท่วมท้น พรรคฝ่ายค้านไม่มีเสียงมากพอที่จะเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลได้

ปรากฏการณ์ดังกล่าว หลายคนคิดว่าเป็นการพัฒนาการเมืองขึ้นไปอีกก้าวหนึ่ง จากที่มีรัฐบาลผสมหลายพรรคที่อ่อนแอมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบ 2 พรรค พรรคเสียงข้างมากสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็งมีเสถียรภาพได้

ปรากฏการณ์เดียวกัน หลายคนคิดว่าเป็นความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยของไทย เพราะการที่มีพรรคการเมืองสำคัญเพียง 2 พรรค พรรคหนึ่งได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง จะทำให้ได้รัฐบาลเผด็จการโดยเสียงข้างมาก รัฐบาลจะใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงฝ่ายค้าน หรือแม้แต่เสียงของประชาชน

ความคิดเห็นดังกล่าว เป็นความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า กองทัพดำรงตนเป็นกลางในทางการเมืองและอยู่ใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร ตามความคิดของประเทศประชาธิปไตยตะวันตก

แต่กองทัพในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา หรือแม้แต่ประเทศในแถบทวีปอเมริกาใต้ มิได้มีความคิดเช่นนั้น แต่กองทัพเป็นอีกอำนาจหนึ่ง นอกจากอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ โดยที่กองทัพนั้นเป็นองค์กรอิสระไม่ต้องขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพราะไม่ไว้วางใจว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะใช้กองทัพเป็นฐานในการสถาปนาระบอบเผด็จการหรือไม่ โดยแต่งตั้งพรรคพวกของตนให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพ เหมือนๆ กับผู้นำหลายประเทศที่เริ่มมาจากการได้รับเลือกตั้ง มาโดยระบอบประชาธิปไตย แต่ลงท้ายกลายเป็นเผด็จการ ด้วยการสนับสนุนจากผู้นำกองทัพที่ตนสนับสนุนขึ้นมาดำรงตำแหน่งก็ได้

เขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดกรณีทั้ง 2 กรณี คงไม่ใช่เรื่องง่าย กฎหมายอาจจะเป็นอุปสรรคในการพัฒนาการทางการเมืองได้ แต่จะพัฒนาการเมืองโดยใช้แต่กฎหมายอย่างเดียวคงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ถ้าเรายอมรับเสียว่ากองทัพกับรัฐสภาในกรณีของประเทศที่ยังด้อยพัฒนาทางการเมืองนั้น ต่างก็มีอำนาจเท่าเทียมกันและคอยคานอำนาจกันอยู่ สุดแท้แต่ว่าในห้วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายที่สามารถสร้างกระแสสยบอีกฝ่ายหนึ่งได้ ทั้งนี้ก็เพราะประชาชนที่อยู่ในเมืองหรือผู้คนชั้นสูง ที่โดยธรรมชาติก็มิได้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยและไม่อดทนต่อความไม่เรียบร้อยของผู้คน ไม่อดทนกับสังคมที่มีการขัดแย้งโต้เถียงกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้รู้สึกว่าตนไม่มีความสุข ส่วนรัฐบาลเผด็จการทหารนั้นเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม ซึ่งเหมาะกับจริตของคนชั้นสูง ที่ไม่สามารถอดทนต่อความไร้สาระของการโต้เถียงของฝ่ายต่างๆ ความล่าช้าของการตัดสินใจในโครงการพัฒนาที่ตนชอบ มีสมองที่มองเห็นว่านักการเมืองเท่านั้นที่ทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ว่ารัฐบาลที่มาจากผู้แทนราษฎรจะต้องชี้แจงและถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา ส่วนรัฐบาลของข้าราชการนั้นเป็นรัฐบาล “คนดี” ของ “คนดี” ไม่จำเป็นต้องชี้แจง ไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบ แม้แต่องค์กรอิสระ เช่น ศาลปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ หรือแม้แต่ ป.ป.ช.

ความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นจากการถูกอบรม ได้รับการบ่มเพาะจากการโฆษณาโดยสื่อมวลชนของรัฐและของเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นธุรกิจและยากที่จะเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนอย่างไร พฤติกรรมทางการเมือง โครงสร้างอำนาจทางการเมืองก็ยังอยู่เหมือนเดิม หากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ทางการเมืองนอกระบบ ก็คงจะเกิดขึ้นตามวัฏจักรของมัน

ไม่มีใครห้ามได้