วันพุธ, มีนาคม 16, 2559

ปาหี่โรงใหญ่ที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากดู --- หนังสือ ด่วนที่สุด ที่คสช. ส่งถึง มีชัย กัน 'เสียของ'







หนังสือ ด่วนที่สุด ที่คสช. ส่งถึง มีชัย ลงนามโดย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช.

มีความน่าสนใจ ในเชิงยุทธวิธี เล่นเกมบี้ตามๆกัน นี่ไงแม่น้ำอีกสาย ก็เห็นตรงกัน ในเรื่องที่เราไปตั้งวงคุยกันมา ซึ่งไหลมารวมกัน4สาย ขาดแต่ปู่มีชัย ที่ไม่ไหลมารวมกันในวันนั้น

อ่านแล้วก็ชวนชี้ให้เห็น มีประเด็นที่ เขียนได้ถึงอกถึงใจ สไตล์เนติบริกร ชอบเขียนชอบร่าง วางวาทกรรมใสๆ ใจชื่นบาน ว่านี่คือระยะเปลี่ยนผ่าน ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

อย่ากระนั้นเลย เราเห็นตรงกันแล้วว่า ไอ้พวกนักการเมืองนั้น บางส่วนซื่อสัตย์ บางส่วนไม่น่าไว้ใจ พยายามใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาบิดเบือนเจตนารมณ์กฎหมาย แถมยังมีภารกิจปฏิรูปการเมืองอื่นๆอีก ยกอ้างเหตุผลมากมาย

จบปึ้ง เคาะปั้ง วางฝ่ามือแรงๆลงบนโต๊ะ ว่า เพื่อให้เหตุต้นผลกรรมเหล่านั้นผ่านไปได้ด้วยดี ขอให้มีใครคณะหนึ่ง สัก250คน เรียกว่า ส.ว. มาประคับประคองเถอะ ไม่ต้องเลือกตั้ง คัดสรรมาเลย เอาคนเก่ง คนดีเข้ามา แต่ให้ล็อกไว้สัก6ตำแหน่ง คือ ปลัดกลาโหม บรรดา ผบ.ทุกเหล่าทัพ แค่นั้นเอง

สำทับอีกระลอกว่า นี่ๆ ที่ตั้งเขามานี่ ไม่มีสิทธิเลือกนายกฯ หรือ รมต. นะ แต่ตรวจสอบเขาได้หมดเลย แถม ควบคุมการบริหารพวกเขาได้ด้วย คือ ขออภิปรายไม่ไว้วางใจก็ได้ด้วย คุณพระ! อันนี้คือเสียงร้องเสียงหลง จากคนนอก ว่า อู้หู อำนาจ อำนาจ อำนาจ

ตบท้ายด้วย ข้อความ น่าเห็นอกเห็นใจว่า คสช. ขอเรียนว่า อย่าได้หวาดระแวง ว่าจะมีการ "สืบทอดอำนาจ" ขีดเส้นใต้ตรงนี้ พร้อมกาดอกจันทร์700ดอก ไว้เลย ให้น้ำท่วมโลกกันเสียทีเดียว --- คสช.พร้อมจะพ้นจากตำแหน่ง และ ยุติอำนาจหน้าที่ทั้งปวงตามกำหนดเวลาในโรดแมป จะไม่ก้าวก่ายเลือกตั้ง พอละอ่านต่อไปไม่ไหว ลายตา หน้ามืด

เหตุต้นผลปลาย คนไทย ก็เห็นกันอยู่ พิจารณากันเอาเอง เขาว่าเวลาผ่านมาก็ผ่านไป สายน้ำไม่หวนย้อนคืน แม่น้ำใหญ่ แม่น้ำน้อย ก็มีวิถีทางตามธรรมชาติ แบบนั้นนั่นเอง

เข้าไปอ่านเต็มๆตา กันเลยจ้า http://www.matichon.co.th/news/71604

ที่มา
Eak Wongpanya

.....

เปิดข้อเสนอคสช.ฉบับเต็ม! ล็อกผบ.เหล่าทัพ-ปลัดกห.ร่วม250ส.ว. งดเปิดชื่อ 3นายกฯ





ที่มา มติชนออนไลน์
15 มี.ค. 59 

หมายเหตุ…ข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ ที่พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

เรื่อง ข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ
เรียน ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ในการประชุมหารือเป็นการภายในระหว่างหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 ที่ประชุมได้รับทราบตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแจ้งให้ทราบถึงแนวทางและขั้นตอนการคืนอำนาจให้แก่ประชาชน (Roadmap) ระยะที่หนึ่ง ระยะที่สอง และระยะที่สาม ตามที่เคยประกาศไว้แล้ว นอกจากนี้ เมื่อได้พิจารณาถึงสถานการณ์ของประเทศในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมแล้ว ที่ประชุมยังมีความเห็นว่าเมื่อเข้าสู่ระยะที่สามใน พุทธศักราช 2560 ตาม Roadmap ดังกล่าว ก็จะเป็นช่วงเวลาของการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล และการเปลี่ยนผ่านการบริหารประเทศไปสู่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติคณะใหม่ ซึ่งมีเวลาเท่ากับวาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ 4 ปี จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าการเมืองในช่วงเวลานั้นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศซึ่งอาจประสบปัญหาความรุนแรง ความไม่สงบเรียบร้อยและเกิดเงื่อนไขความขัดแย้งขึ้นใหม่ อันเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปไม่ประสงค์จะพบเห็น

ที่ประชุมแสดงความห่วงใยว่าโดยที่ห้วงเวลาหลังการเลือกตั้งทั่วไปเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการยึดอำนาจรัฐที่เมื่อวัน 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นที่ทราบแล้วว่า ภายหลังจากนั้นได้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อผู้กระทำผิดในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ คดียาเสพติด และคดีค้ามนุษย์ อย่างเข้มงวดตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังดำเนินการปฏิรูปประเทศไปแล้วบางเรื่อง มีการออกกฎหมายและขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมและเพิ่มความเข้มแข็งในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในตลาดโลก การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การจัดระเบียบสังคม และการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมเดชานุภาพมิให้มีการล่วงละเมิดจาบจ้วง ดังที่เคยเกิดขึ้นก่อน วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดังนั้น สิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลได้ดำเนินการไว้ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบกระเทือนบุคคลาบางหมู่เหล่า เป็นธรรมดาและกำลังฟื้นฟูดูแลให้เข้ารูปเข้ารอย อาจถูกล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงจนขาดความต่อเนื่อง โดยอาศัยวิถีและกลไกประชาธิปไตยว่ามาจากการเลือกตั้งเป็นข้ออ้างจึงใช้เสียงข้างมากในรัฐสภามุ่งเอาชนะคะคานจนเกิดความเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งรุนแรง และความไม่ปกติสุขดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วและหวนกลับคืนมาใหม่จนเข้าวงจรเดิมดังที่เรียกกันทางสื่อต่างๆ ว่าเป็นกับดักทางเศรษฐกิจที่ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของประเทศ การทำมาค้าขาย การลงทุน การส่งออก การท่องเที่ยว ไม่อาจเติบโตได้ กับดักทางสังคมที่ชะลอการพัฒนาประเทศ การดูแลสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของประชาชน การแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการรักษาความสงบเรียบร้อย และกับดับทางการเมืองที่สร้างความหวาดระแวงหรือเกลียดชังในหมู่ประชาชนแล้วแยกประชาชนออกเป็นฝักเป็นฝ่ายผลักดันให้ออกมาปะทะกันทั้งทางความคิด วาจา และการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ในแทบทุกปัญหา รัฐบาลเองก็จะขาดเสถียรภาพ การปฏิรูปและการออกกฎหมายอาจดำเนินการต่อไปไม่ได้ อันจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติล้มครืนลง กรณีเช่นนี้ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการเข้าควบคุมการบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ติดตามรับฟังความเห็นดังกล่าวและข้อแนะนำจากวงการและภาคส่วนต่างๆ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และประชาชนอย่างหลากหลายตลอดมา เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์แล้ว สิ่งที่วิตกกังวลมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้สูงโดยพิจารณาจากความเคลื่อนไหวและความพยายามของบุคคลบางหมู่เหล่าที่วางแผนเคลื่อนออกมาต่อต้าน ปลุกระดมและแทรกซึมอยู่ทั่วไปเพื่อทำลายความชอบธรรมและขัดขวางการดำเนินการต่างๆ ในการคืนความสงบสุขแห่ประชาชนในขณะนี้ จึงขอเสนอแนวทางการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญมาเพื่อพิจารณาดังนี้

1. ปกติแล้วร่างกฎหมายทั้งหลายหรือแม้แต่รัฐธรรมนูญย่อมต้องมีบทเฉพาะกาลรองรับการดำเนินการที่ทำไปแล้ว และการดำเนินการใหม่ที่ประสงค์จะให้ดำเนินการต่อไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องหรือมิฉะนั้นก็เป็นการกำหนดภารกิจในช่วงรอยต่อระหว่างเก่ากับใหม่ให้พัฒนาไปเป็นลำดับอย่างมั่นคง แม้แต่รัฐธรรมนูญในอดีต เช่น ฉบับพุทธศักราช 2511, พุทธศักราช 2517, พุทธศักราช 2521, พุทธศักราช 2534, พุทธศักราช 2540 และพุทธศักราช 2550 ก็มีบทเฉพาะกาลเช่นว่านี้ ซึ่งหมายความว่าในขณะที่บทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญมีผลบังคับอย่างถาวรและเต็มรูปในทันที เช่น หมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ศาล องค์กรอิสระ การปกครองส่วนท้องถิ่น บทบัญญัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่บางมาตราบางเรื่องที่มีเหตุผลและความจำเป็นดังได้กล่าวมาแล้ว อาจต้องการเวลา การพัฒนา และการประคับประคองในช่วงเวลา หัวเลี้ยงหัวต่อหรือระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งมีความอ่อนไหวมาก เพื่อให้ประเทศและระบอบประชาธิปไตยเพิ่มความเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับตามมาตรการชั่วคราวที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลเสมือนการประคับประคองคนที่เพิ่งฟื้นจากอากาบอบช้ำหรือการเจ็บไข้ได้ป่วยอาการหนัก หากเร่งก้าวกระโดดดังคนปกติที่แข็งแรงแล้วโดยทันทีอาจล้มเจ็บอาการทรุดหนักได้อีก จำเป็นต้องระมัดระวังเพื่อให้เข้มแข็งมั่นคงอย่างยั่งยืน

คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าการที่ประเทศไทยจะใช้ระบบสองสภา สภาหนึ่งคือสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกมาจากการเลือกตั้งย่อมเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมตามหลักสากล แม้วิธีการเลือกตั้งจะยังเป็นปัญหาโต้แย้งก็ตามซึ่งเป็นปกติของการร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้ง เพราะทุกวิธีต่างก็มีข้อด้อยข้อเด่นและยังจะเกี่ยวกับความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองหรือผู้สมัครแต่ละคนอีกด้วย ส่วนอีกสภาหนึ่งคือวุฒิสภานั้น สมาชิกวุฒิสภาในบางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็มีส่วนที่มาจากการแต่งตั้งหรือเป็นการดำรงตำแหน่งตามตำแหน่งหน้าที่ ในประเทศไทย สมาชิกวุฒิสภาในอดีตเลยมีที่มาทั้งจากการเลือกตั้ง แต่งตั้ง และสรรหาหรือผสมกัน ซึ่งต่างก็มีข้อดีข้อเสียเช่นกัน แต่เมื่อคำนึงถึงความมุ่งหมายของการให้มีวุฒิสภาตามร่างธรรมนูญฉบับนี้คือทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดูแลการขับเคลื่อนการปฏิรูปและเป็นสภากลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติในกระบวนการนิติบัญญัติแล้ว ประกอบกับมีข้อเสนอจากประชาชนว่าเพื่อมิให้วุฒิสภาถูกอิทธิพลทางการเมืองชักจูงหรือครอบงำโดยตรงหรือโดยอ้อม ดังนั้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่เริ่มจัดระเบียบทางการเมืองใหม่ มีการบังคับใช้บทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเคร่งครัด แม้นักการเมืองบางส่วนจะประพฤติปฏิบัติตามกิตกาและซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่น่าไว้วางใจแต่ก็อาจมีบุคคลบางหมู่บางเหล่าที่พยายามใช้ความได้เปรียบหรือเสียงข้างมากในรัฐสภาบิดเบื่อนเจตนารมณ์ของกฎเกณฑ์กติกาการปกครองบ้านเมือง เพื่อสร้างประโยชน์ส่วนตน และในขณะที่ภารกิจในการปฏิรูปทางการเมืองและอื่นๆ ยังต้องดำเนินต่อไป ดังนั้นนนระยะเริ่มแรกซึ่งเป็นวาระแรกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง จึงควรมีบทเฉพาะกาลให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกมาจากการคัดสรร หรือแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เป็นธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ ปลอดจากพรรคการเมือง สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนอย่างน้อยก็ในระยะแรกได้ว่าแม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมแต่ก็ช่วยประคับประคองความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ดูแลการขับเคลื่อนการปฏิรูป และการสร้างความสามัคคีปรองดองร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งได้ ตามข้อเสนอในบทเฉพาะกาลเพื่อกรุณาพิจารณาดังนี้

1.1 จำนวน สมาชิกวุฒิสภาควรมีจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ 250 คน เพื่อให้สามารถรักษาสัดส่วนในการใช้อำนาจหน้าที่บางอย่างร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

1.2 ที่มา มาจากการสรรหา หรือแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิโดย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง วิธีการควรดำเนินการโดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระเป็นกลาง เป็นที่น่าเชื่อถือตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยมีจำนวนประมาณ 8-10 คน

1.3 วาระ 5 ปี (ที่จริงควรมีวาระเท่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ 4 ปี แต่เพื่อให้มีเวลาเหลื่อมออกไปและต่อเนื่องกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้ามาใหม่สักระยะหนึ่งและสอดคล้องกับช่วงเวลาตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงควรให้มีวาระ 5 ปี)

1.4 คุณสมบัติ เป็นไปตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนด แต่เพื่อประโยชน์ในการดูแลและพิทักษ์รักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเป็นที่วางใจแก่ประชาชน ในกรณีที่ต้องมีคุณสมบัติว่า “ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ” ควรเปิดให้สามารถแต่งตั้งข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญบางตำแหน่งซึ่งมิใช่สมาชิกในคณะรักษาความสงบแห่งชาติในปัจจุบัน โดยให้มีจำนวนไม่เกิน 6 คน หรือไม่เกินร้อยละตามสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งได้และไม่มีอำนาจหน้าที่พิเศษกว่าสมาชิกวุฒิสภาคนอื่นในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งข้าราชการ ก็ให้ผู้นั้นพ้นจากความเป็นสมาชิกวุฒิสภา และให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นคนใหม่เข้ามาเป็นแทน คำว่าสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งในที่นี้มุ่งหมายถึงตำแหน่งอันจะเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงแห่งชาติ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

1.5 อำนาจหน้าที่ สมาชิกวุฒิสภาประเภทนี้ไม่มีอำนาจหน้าที่เลือกหรือกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี แต่ควรให้มีอำนาจหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญดูแลการขับเคลื่อนการปฏิรูป ตามแผนการปฏิรูป แนวนโยบายแห่งรัฐแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติตลอดจนมีส่วนในกระบวนการนิติบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญจะกำหนดส่วนวิธีดำเนินการตามแผนและนโยบายเหล่านั้นย่อมเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีแต่ละคณะจะเลือกใช้ให้สอดคล้องกับนโยบายของตนหรือตามที่หาเสียงเลือกตั้งไว้ และเพื่อให้วุฒิสภาในวาระแรกนี้สามารถทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญมิให้ฝ่ายการเมืองอาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรบิดเบือนเจตนารมณ์หรือฝ่าฝืนความต้องการของประชาชนและยังสามารถช่วยสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ที่มีธรรมาภิบาลและปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องชอบธรรมเป็นที่พอใจแก่ประชาชน จึงควรให้วุฒิสภามีบทบาทในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจหรืออื่นๆ ตามกติการะบบรัฐสภาและกระบวนการยุติธรรมตามสมควรในระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวด้วย

อนึ่ง เมื่อกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาในวาระแรกตามบทเฉพาะกาลมีจำนวน 250 คน ตามที่เสนอแล้ว หากจะปรับปรุงให้สมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 102 ในบทถาวรซึ่งจะใช้บังคับในอีก 5 ปีมีจำนวน 250 คนหรือกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเช่นกันก็จะเป็นการสอดคล้องกันทั้งฉบับและสอดคล้องกับความจำเป็นแม้จะยังเป็นเรื่องใน่วงเวลาต่อไปก็ตาม เว้นแต่อนาคตจะมีการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญในส่วนนี้เสียใหม่

2.วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดให้ใช้แบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น โดยที่มีผู้เสนอเป็นอันมากกว่าควรใช้แบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบหนึ่งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (350 คน) อีกใบหนึ่งสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน) นอกจากนั้น ในกรณีเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีผู้เสนอให้พิจารณาประเด็นที่ให้เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้นและมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่เกิน 3 คน แต่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแต่ละคนใช้สิทธิเลือกได้เพียง 1 คน แล้วเรียงลำดับจากผู้ได้รับคะแนนสูงสุดลดหลั่นลงไปจนได้ครบจำนวนที่ต้องการ ดังที่ใช้อยู่ในบางประเทศ จึงขอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาประเด็นดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจกำหนดวิธีการเลือกตั้งในระยะแรกตามบทเฉพาะกาลไว้ให้ต่างจากในบทถาวรก็ได้

3.หลักการในบทถาวรของร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 43 และมาตรา 154 ที่ว่าพรรคการเมืองอาจแจ้งรายชื่อผู้ที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อและให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เฉพาะจากรายชื่อดังกล่าวเท่านั้น ข้อนี้ยังเป็นปัญหาโต้แย้งความเหมาะสมและความจำเป็น หากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าสมควรจะใช้มาตรการนี้เพื่อให้เป็นที่รู้ล่วงหน้าว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ใดผู้หนึ่งในบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองแจ้ง ก็ควรคำนึงด้วยว่าโดยที่เรื่องนี้เป็นมาตรการที่เพิ่งจะนำมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยหลังการเลือกตั้งที่ว่างเว้นมาและอาจเป็นครั้งแรกในโลกด้วย การพยายามทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกติกาสากลเป็นเรื่องจำเป็นแต่การดำเนินการทุกอย่างและโดยทันทีอาจยังไม่เหมาะสมเพราะอ่อนไหวสุ่มเสี่ยงและอันตรายสำหรับระยะเปลี่ยนผ่าน แม้ปัจจุบันนี้ประชาชนจะมีความรู้ ความคิด มีการศึกษาและประสบการณ์เรียนรู้ความสำเร็จและความล้มเหลวในอดีตมากขึ้น แต่ผลการสำรวจก็แสดงว่าประชาชนอีกไม่น้อยยังมีฐานะความเป็นอยู่ไม่ดี และรอยร้าวที่เกิดจากการเพาะความแตกแยกในอดีตนานปี หรือผลจากความเหลื่อมล้ำในสังคมยังคงฝังใจอยู่ คนเหล่านี้คือผู้ที่จะตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งใหม่และถูกผลักดันให้ออกมาปะทะกัน ดังนั้นการนำกติกาใหม่ๆ มาใช้อาจเป็นอีกกับดักหนึ่งที่ปิดทางออกในยามวิกฤติจนทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้

คณะรักษาความสงบแห่งชาติขอเรียนว่าอย่าได้หวาดระแวงว่าจะมีการสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติยินดีจะพ้นจากตำแหน่งและยุติอำนาจหน้าที่ทั้งปวงตามกำหนดเวลาใน Rcedmap และในร่างรัฐธรรมนูญ และจะไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการจัดการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่การประคับประคองสถานการณ์ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ รัฐสภาใหม่ซึ่งรวมถึงวุฒิสภาด้วยจึงได้เสนอให้ในระยะแรกสมาชิกควรมาจากการคัดสรรหรือแต่งตั้ง อีกทั้งเป็นเรื่องขององค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายตำรวจทหาร พลเรือนที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนดูแลรักษาสถานการณ์ตามด้วยบทกฎหมายคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงควรพิจารณาโดยคำนึงถึงหลักสากลและปัญหาในประเทศไทย ความจำเป็นและความเหมาะสมความอิสระเสรีและความมั่นคง การรุดหน้าทันทีทันใดและการก้าวเดินอย่างระมัดระวังชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกับในกรณีนี้ควรพิจารณาถึงอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจเกิดขึ้นเพราะเหตุที่มีเงื่อนไขเข้มงวด เช่นผู้มีชื่อในบัญชีถอนตัวหรือตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในภายหลัง หรือไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากจนจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคการเมืองอื่น แต่ไม่อาจตกลงในชื่อบุคคล ผู้สมควรเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของแต่ละพรรคได้ อันจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลประสบปัญหา ทั้งที่พรรคการเมืองเหล่านั้นอาจเห็นชอบร่วมกันให้เสนอชื่อบุคคลอื่นนอกบัญชี แต่ย่อมไม่อาจทำได้ แม้จะจัดการเลือกตั้งใหม่ก็ยังน่าวิตกว่าจะทำได้โดยราบรื่นเรียบร้อยหรือไม่ ทั้งมาตรา 154 ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลไว้จึงอาจยืดเยื้อยาวนาน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงอาจแก้ไขเพิ่มเติมให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องทำให้เสรีภายในเวลาที่กำหนดขณะเดียวกันเพื่อเป็นการหาทางออกในยามวิกฤติในระยะแรกตามบทเฉพาะกาล ก็ควรงดเว้นไม่นำเรื่องการแจ้งรายชื่อผู้ที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 ชื่อตามมาตรา 83 และมาตรา 354 มาใช้บังคับ

ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ในการยึดอำนาจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงขอเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญตามผลการหารือมาเพื่อกรุณาพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ

พล.อ.ธีรชัย นาควานิช
เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ooo