ที่มา Hilight Kapook.Com
สุหฤท สยามวาลา เฉ่งประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่ง คสช. แก้กฎหมายสิ่งแวดล้อม ลัดขั้นตอนอีไอเอ ซัดใครเป็นรัฐบาลก็ไม่ควรออกกฎหมายแบบนี้ ชี้มีอีกเป็นล้านวิธีในการเร่งรัดโครงการไม่ใช่ไม่ต้องตรวจสอบอะไรเลย
วันนี้ (9 มีนาคม 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุหฤท สยามวาลา ดีเจคนดัง และผู้บริหารบริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว DJ Suharit Siamwalla ระบุถึงกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้รัฐบาลสามารถจ้างเอกชนเพื่อรอก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องรอการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment (EIA) (อ่านข่าว นายกฯ งัด ม.44 แก้กฎหมายสิ่งแวดล้อม ให้รัฐจ้างเอกชนได้ โดยไม่ต้องรอผล EIA) ว่า ทนมาหลายอย่างแล้ว แต่อันนี้ตนว่าแย่ที่สุดเพราะถึงขั้นให้เอกชนมาเตรียมงานก่อนที่จะสรุปผลการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าห้ามมีผลผูกพันกับการคัดเลือกเอกชน
หากอยากให้เกิดความรวดเร็วและความเจริญ ตนว่าก็ควรจะปรับปรุงให้ EIA เร็วขึ้น โปร่งใสขึ้น และความเห็นจาก EIA ต้องได้รับการเคารพจากรัฐบาล จะสร้างความเจริญอย่างรวดเร็วมันมีทางที่ดีกว่าการทำงานง่าย ๆ แบบนี้ไม่ต้องตรวจสอบอะไรมันแย่มาก ๆ ให้ใครเป็นรัฐบาลก็ไม่ควรออกกฎหมายอะไรแบบนี้ แต่นี่คือคำสั่ง ให้ทุกคนผงกหัวโอเคอย่างเดียว
โดยข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ"DJ Suharit Siamwalla" มีรายละเอียดดังนี้
ที่มา มติชนออนไลน์
9 มี.ค. 5946 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ต้าน ม.44 ทำเมกะโปรเจ็กต์ไม่สนอีไอเอ จี้’หัวหน้า คสช.’ยกเลิกคำสั่ง ป้องกันความขัดแย้งเพิ่ม-สวนทางแนวนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาที่ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.) เปิดเผยว่า 46 องค์กรและเครือข่ายภาคประชาชน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2559 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีสาระให้กิจการด้านคมนาคม ชลประทาน การป้องกันและสาธารณภัย โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัยไม่ต้องรอให้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ สามารถหาทางออกล่วงหน้าได้เลย ทั้งนี้ ทาง 46 องค์กรและเครือข่ายภาคประชาชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน จำนวน 46 องค์กร ได้มีข้อวิเคราะห์ถึงคำสั่งที่ 9/2559 ดังกล่าว 2 ข้อ คือ 1.คำสั่งที่ 9/2559 เป็นการส่งสัญญาณทางนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นเป้าหมายเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่อง การคมนาคม เช่น ท่าเรือ ระบบรถไฟ ทางด่วน ฯลฯ ชลประทาน เช่น เขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งมักประสบปัญหาการทำลายนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของชุมชนท้องถิ่นตลอดมา
นายบัณฑูรกล่าวว่า การเร่งรัดดังกล่าวเป็นการลดความสำคัญด้านการดูแลคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการโดยที่มาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังมิได้รับความเห็นชอบเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่บกพร่องในการละเว้นการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่ปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ สาระสำคัญและผลของคำสั่งนี้จึงไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้กรอบของสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้แสดงความผูกพันทางการเมืองในทางปฏิบัติ ไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายบัณฑูรกล่าวว่า 2.โครงการหรือกิจการเข้าข่าย คำสั่งที่ 9/2559 เป็นโครงการของหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางและรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพชีวิต แม้ว่าจะยังให้มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป แต่จะสร้างผลกระทบและความเชื่อมั่นต่อความเป็นอิสระในการจัดทำและพิจารณาของ EIA และจะยิ่งทำให้โครงการที่ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว มีปัญหาความขัดแย้ง ความไม่เชื่อถือยอมรับจากประชาชนและชุมชนในพื้นที่โครงการรวมทั้งจากสาธารณะ แม้ว่าจะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมก็ตาม
นายบัณฑูรกล่าวต่อว่า ทางองค์กรได้มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ดังนี้ 1.ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 เพื่อป้องกันและระงับมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในสังคมไทย และมิให้เป็นคำสั่งที่ขัดแย้งกับแนวนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาที่ยั่งยืน 2.รัฐบาลควรเร่งผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับธรรมาภิบาล สร้างความเชื่อถือและเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งมิให้เกิดความล่าช้าเกินควร ข้อเสนอในการปฏิรูปโครงสร้างและระบบ EIA ได้มีการจัดทำและเสนอไว้แล้วนับตั้งแต่มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2555 ข้อเสนอของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ (สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม) และข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
นายบัณฑูรกล่าวต่อว่า 3.เพิ่มเติมเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวดสิทธิและเสรีภาพ (ด้านสิทธิชุมชน) และในหมวดการปฏิรูป เพื่อให้มีบทบัญญัติที่นำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างและระบบการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการนำการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA)มาใช้ดำเนินการ 4.ให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ทั้งฉบับเพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการจัดทำข้อเสนอแนะการยกร่างปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวไว้แล้วโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนฯ จำนวน 46 องค์กร อาทิ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.) สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย เครือข่ายรักษ์ชุมพร สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) มูลนิธิอันดามัน สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น