ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
updated: 23 ก.พ. 2558 เวลา 20:29:41 น.
ธุรกิจยามขาขึ้นอะไรก็ดูดีไปหมด ตรงข้ามยามภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจไม่ดี อะไรๆ ก็ดูจะแย่ไปเสียหมด
แม้แต่ตัวเลขที่เรียกกันว่า backlog หรือตัวเลขยอดจองสะสม ที่ผู้ซื้อมาจองซื้อบ้านและคอนโดมิเนียม อยู่ระหว่างผ่อนดาวน์ รอการก่อสร้างและรอโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อก่อนตัวเลขนี้บริษัทใดมียอดมากถือว่าเท่ เพราะเป็นตัวเลขที่รอเปลี่ยนเป็นเงินสดที่จะรับรู้รายได้
แต่ในปัจจุบันตัวเลข backlog 2.8 ล้านบาทซึ่งเป็นของเฉพาะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 15 รายในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น คนก็ร้องอื้อฮือด้วยความวิตก เกรงว่าจะโอนกันได้ครบหมดหรือเปล่า
ตัวเลขนี้กลายเป็นความเสี่ยงที่ต้องบริหารจัดการอย่างละเอียดใน พ.ศ.นี้
สัญญาณ ภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์สัญญาณแรก มาจากธนาคารพาณิชย์ที่เห็นแนวโน้มสัดส่วนตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูง จึงเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อประเภทต่างๆ รวมทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทำให้อัตราการปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อสูงขึ้น
ขนาดทาวน์เฮ้าส์ระดับราคาประมาณ 2 ล้านกว่าบาท ซึ่งตลาดนี้ไม่มีการซื้อเก็งกำไร ก็ว่ากันว่าธนาคารปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อถึงประมาณ 30%
ยังไม่พูดถึงตลาดที่มีการซื้อลงทุนและเก็งกำไรกันมากๆ อย่างคอนโดมิเนียม
บ้าน ทาวน์เฮ้าส์ ห้องชุด ที่ถูกปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อ บริษัทเจ้าของโครงการจะนำมาทำตลาดขายใหม่ ห้องชุดในมือนักลงทุนและเก็งกำไร เห็นแนวโน้มไม่สดใสอย่างที่คิด ก็นำมาปล่อยขายแบบทำใจ
ฉะนั้น เวลานี้ในตลาด จึงมีการทำแคมเปญรีเซลของทางโครงการเอง มีการขายมือสองโดยนักลงทุนรายย่อย ขายแข่งกับโครงการเปิดใหม่ ซึ่งฝ่ายขายรีเซลมีราคาเสนอขายที่ต่ำกว่า
สอบถามสถานการณ์กับผู้ประกอบการในภูมิภาค
ถามทางหาดใหญ่สงขลาซึ่งเป็นตลาดที่ไม่มีปัญหาซัพพลายล้นเกินเหมือนตลาดอื่นๆ ได้รับคำตอบว่า ราคายางพารากิโลกรัมละ 10 กว่าบาท กับราคา 3 กิโล 100 บาท กำลังซื้อต่างกันเยอะมาก
เชียงใหม่ ขอนแก่น มีโครงการคอนโดมิเนียมมาก ชะลอตัวมาระยะหนึ่งแล้ว เจอภาวการณ์อย่างปัจจุบัน ก็เหนื่อยขึ้นกว่าเดิม
แม้แต่ ชลบุรี ระยอง ซึ่งขายบ้าน คอนโดมิเนียม ให้กับคนทำงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งน่าจะมีผลกระทบน้อยสุด ก็ได้รับคำตอบว่า รายได้จากการทำงานล่วงเวลา (โอที) มีผลมากต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งตอนนี้ทุกโรงงานไม่มีการทำงานล่วงเวลา เพราะยอดสั่งซื้อสินค้าตก
ดูท่า ต้องปรับทัศนคติทางด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจประเทศ กันเสียแล้ว