ธงชัย วินิจจะกูล
ที่มา ประชาไท
Wed, 2015-02-25
มหาอวิชชาลัยสร้างคนที่เชื่องๆ อยู่ในกรอบ ทำลายปัจเจกภาพของผู้เรียน ไม่มีมหาวิทยาลัยที่ไหนในโลกหรอกที่แจ้งตำรวจให้จับนักศึกษาตัวเองเพียงเพราะเขาคิดแตกต่าง มหาอวิชชาลัยไม่ปกป้องนักศึกษาหรืออาจารย์ที่ถูกรังแกจากอำนาจรัฐ ....
ในสังคมรวยปัญญา มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งอุดมปัญญา อุดมศึกษา และอุดมจรรยา
ในสังคมจนปัญญา มหาอวิชชาลัยเป็นทะเลทรายแห้งแล้งปัญญา การศึกษา และจรรยา
อุดมปัญญา หมายถึง การแสวงหาความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป ปรับเปลี่ยนให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม บ่อยครั้งควรนำหน้าหรือชี้นำการเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำไป การแสวงหาความรู้ใหม่ๆ “ต้อง” ส่งเสริมการคิดนอกกรอบ ท้าทายความคิดที่มีอยู่เดิม
ปัจจัยพื้นฐานของการส่งเสริมเช่นนี้คือ “ต้อง” มีเสรีภาพในการแสดงออกและความเคารพต่อการคิดแตกต่างกัน ทั้งยังรังเกียจผู้ที่มักดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นที่คิดต่างจากตน มหาวิทยาลัยในสังคมรวยปัญญาจึงเปี่ยมด้วยความหลากหลายเพราะนักศึกษานักวิชาการกล้าคิดกล้าลองกล้าแสดงออกตามศักยภาพของตน
มหาวิทยาลัยในสังคมรวยปัญญาไม่เต็มไปด้วยข้อห้ามที่จำกัดการคิด เพราะการคิดไม่ใช่อาชญากรรม แถมมีมาตรการเพื่อปกป้องเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก มิให้ถูกจำกัดหรือกลัวที่จะคิดและแสดงออก เช่น ห้ามลงโทษเลิกจ้างหรือไล่ออกด้วยเหตุทางความคิด
นี่เป็นอุดมคติที่เป็นรากฐานของมหาวิทยาลัยในสังคมรวยปัญญาทั้งโลก
อุดมศึกษา หมายถึง เป็นแหล่งให้การศึกษาอบรมบ่มเพาะคนรุ่นถัดๆ ไปให้เป็นผู้รู้ คือมีความรู้และมีวิจารณญาณเพื่อเลือกสรรและรู้จักใช้ความรู้เหล่านั้นอย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์ต่อตนเองและรับใช้ผู้อื่น ไม่ใช่เพียงความรู้เทคนิคจำนวนหนึ่งเพียงเพื่อทำตามตัวอย่างที่มีมาก่อนหรือทำตามครูบาอาจารย์อย่างงมงาย หรือทำซ้ำๆ ซากๆ อย่างปรับประยุกต์ไม่ได้คิดเองไม่เป็น
การอบรมบ่มเพาะคนเช่นนี้ต้องอาศัยความรู้กว้าง ไม่คับแคบ ให้รู้จักทางเลือกและรู้จักตัดสินใจเลือกปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น ดังนั้นต้องไม่ผลิตคนที่คับแคบ เชื่องตามอำนาจหรือคำบัญชา ทั้งต้องใจกว้างต่อความแตกต่าง เพื่อรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่หลากหลายต่างกัน มีความสัมพันธ์กันอย่างอารยะ และรู้จักผลกระทบที่ตัวเองอาจกระทำต่อผู้อื่น
ดังนั้นอุดมศึกษาตามอุดมคติจึงมักไม่มีเรื่องงมงายหรือพิธีกรรมหรือความเชื่อตายตัวที่บังคับให้นักศึกษาต้องทำตามโดยห้ามคิดห้ามใช้สมอง ต้องยอมให้มีการละเมิด ให้มีการแหวกกรอบ แหกคอก หาเรื่อง คิดท้าทายความคิดความเชื่อที่มีอยู่เดิม ไม่จำเป็นต้องทำตัวสอดคล้องกับผู้อื่นไปหมด อุดมศึกษาในสังคมที่รวยปัญญาจึง “ต้อง” อนุญาตให้นักศึกษากล้าทดลองเพราะพวกเขาอยู่ในวัยของการเรียนรู้ที่ต้องการท้าทายและกล้าทดลองโดยต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายต่อผู้อื่น มหาวิทยาลัยในสังคมรวยปัญญาคือห้องทดลองทางปัญญาที่ก่อความเสียหายจำกัดแต่ก่อผลบวกมหาศาล
อุดมจรรยา หมายถึง ประชาคมมหาวิทยาลัยต้องอยู่ด้วยหลักการและจรรยาบรรณทางวิชาชีพและทางวิชาการเป็นบรรทัดฐาน ไม่แกว่งปัดเป๋ไปตามอำนาจหรือผลประโยชน์ ไม่เลือกข้างทางการเมือง (หมายถึงว่านักศึกษาบุคลากรเลือกข้างได้ แต่มหาลัยต้องยืนให้มั่นเพื่อต้อนรับความหลากหลายทางการเมืองของปัจเจกบุคคลจำนวนมากให้ได้) และไม่แกว่งไกว่ไปตามความใฝ่ต่ำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอคติ ความเกลียดชัง ความ เคียดแค้น หรือหลงตัวเอง
มหาวิทยาลัยในสังคมรวยปัญญาจึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่แหล่งให้การศึกษาและองค์ความรู้ใหม่เท่านั้น แต่มักถูกคาดหวังให้เป็นประภาคารของสังคมด้วย เพื่อนำทางให้ผู้คนที่อยู่ท่ามกลางความมืดมัวของความไม่รู้ ให้สามารถมองเห็นหลักหมายที่พวกเขาควรเดินมุ่งไป ประภาคารมีภารกิจต้องยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางทะเลเชี่ยวและความมืดมิดอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเวลาทั้งหมดให้ได้
เกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยชั้นนำในโลกมิได้มาจากการสามารถผลิตบัณฑิตเพื่อป้อนตลาดเพียงแค่นั้น นั่นเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่มาจากความมั่นคงต่อภารกิจตามอุดมคติของมหาวิทยาลัยดังที่กล่าวมา สั่งสมต่อมาหลายชั่วคนแม้จะเผชิญอุปสรรคสารพัดก็ตาม
มหาอวิชชาลัยในสังคมจนปัญญา มีลักษณะตรงกันข้ามกับมหาวิทยาลัยในสังคมรวยปัญญาทุกประการ กล่าวคือ หนึ่ง เป็นทะเลทรายที่ทำให้ปัญญาความรู้เหือดหาย ไม่ส่งเสริมความรู้ใหม่ๆ แต่ผลิตซ้ำและตอกย้ำความงมงายของสังคม แถมยังกลัวการพัฒนาความรู้ใหม่ๆ กลัวความคิดท้าทาย จึงต้องจำกัดและกำจัดเสรีภาพที่พอมีอยู่ให้แห้งเหือดลงไปทุกที ใครหากแหวกกรอบก็ต้องอัปเปหิออกจากมหาอวิชชาลัยไปเลย
สอง มหาอวิชชาลัยเป็นสถาบันที่มุ่งผลิตนักศึกษาที่มีความสามารถทำตามๆ กัน ไม่สามารถใช้วิจารณญาณอย่างมีเหตุมีผลได้ ฝึกฝนอบรมให้คนรุ่นถัดๆ ไปเชื่องกลัวต่ออำนาจ หวาดกลัวการใช้สมอง แต่กลับบ้าอำนาจต่อผู้ต่ำชั้นกว่า
มหาอวิชชาลัยสร้างคนที่เชื่องๆ อยู่ในกรอบ ทำลายปัจเจกภาพของผู้เรียน ผลิตมนุษย์สมองฝ่อที่คิดได้แค่แคบๆ สั้นๆ มองไกลๆ ไม่เป็น ปรับตัวไม่เป็น กลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวคนที่คิดต่าง กลัวที่ตัวเองจะแตกต่างจากคนอื่นด้วยซ้ำไป ไม่มีมหาวิทยาลัยที่ไหนในโลกหรอกที่แจ้งตำรวจให้จับนักศึกษาตัวเองเพียงเพราะเขาคิดแตกต่างออกนอกกรอบ
มหาอวิชชาลัยไม่ปกป้องนักศึกษาหรืออาจารย์ที่ถูกรังแกจากอำนาจรัฐ เพราะมหาอวิชชาลัยเป็นแค่เครื่องมือของอำนาจในสังคมจนปัญญาเพื่อผลิตประชาชนพันธุ์เชื่องๆ ตามที่ Big Brother ปรารถนา
สาม มหาอวิชชาลัยไม่ยืนยันหลักการ ไม่ทำตัวเป็นประภาคาร ทั้งกลับทำตัวเป็นแค่เครื่องมือของชนชั้นนำในการแพร่ความหลงตัวเองอย่างดัดจริต และหลอกตัวเองอย่างดักดานจนเห็นกะลาเป็นจักรวาล
ทั้งหมดนี้มิใช่การก่นด่าอย่างอคติด้วยความโกรธเกรี้ยว แต่เป็นการสรุปรวบยอดถึงความเกี่ยวโยงเชื่อมร้อยกันหมดของมหาวิทยาลัยกับสังคม การสร้างความรู้ใหม่กับเสรีภาพและความหลากหลาย การอบรมบ่มเพาะประชากรที่เข้มแข็งกับภัยของการผลิตคนที่คับแคบเชื่องตามอำนาจ ความสำคัญอันดับหนึ่งของหลักการและจรรยาบรรณและภารกิจตามอุดมคติของมหาวิทยาลัย
(มาถึงวันนี้ ผมเชื่อว่าผมรู้จักมหาวิทยาลัยในสังคมรวยปัญญาพอสมควร จึงพอรู้ว่ามหาวิทยาลัยต่างกับมหาอวิชชาลัยอย่างไร ต้องการปัจจัยต่างๆ เชื่อมโยงกันอย่างไร เมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมเคยพูดเขียนวิจารณ์โลกวิชาการและมหาวิทยาลัยของไทยเพียงเบาๆ ก็ถูกมองว่าเป็นคนไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงมาอบรมสั่งสอนพวกแก่พรรษาในมหาวิทยาลัยของไทย ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นโดยมากรู้จักมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างผิวเผินจากประสบการณ์สมัยเรียนหรือจากการเดินทางไปดูงานแค่นั้นเอง)
ผมเห็นว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้ล้มละลายแทบกลายเป็นมหาอวิชชาลัยกันไปหมด ทุกแห่งล้มละลายทางจรรยาต่อสังคม เพราะกลายเป็นแค่เครื่องมือค้ำจุนสังคมจนปัญญา จนทั้งระบบอุดมศึกษาและสังคมโดยรวมตกต่ำง่อยเปลี้ยอย่างเหลือเชื่อ บางแห่งยังพอประคองตัวรอดได้ในทางการศึกษา แค่ไม่กี่แห่งและบางสาขาวิชาเท่านั้นที่สมควรต่อชื่อเสียงทางปัญญา
ธรรมศาสตร์ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่ผมเห็นว่าในภาพรวมได้ล้มละลายหรือได้กลายเป็นมหาอวิชชาลัยไปแล้วทั้งทางปัญญา การศึกษา และจรรยาบรรณ ตั้งแต่หลายปีก่อนวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เสียอีกนักวิชาการดีๆ ที่นั่นช่วยพยุงให้เราเข้าใจว่ายังดีอยู่ต่อมา
ผู้มีปัญญาทั้งหลายในมหาวิทยาลัยจงช่วยกันตรองดูเถอะว่าเราจะปล่อยให้มหาวิทยาลัยอยู่ในภาวะลักษณะใกล้ล้มละลายเช่นนี้ หรือได้เวลาแล้วที่จะต้องช่วยกันกอบกู้ฟื้นชีวิตของมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ ผลักไสภาวะมหาอวิชชาลัยให้หลุดออกไป
เริ่มต้นด้วยการให้ความคุ้มครองกับนักวิชาการและนักศึกษาที่กล้าแหวกกรอบ ท้าทายขัดกับผู้มีอำนาจในสังคม เพียงแค่นี้ก็จะเปิดช่องทางให้กับเสรีภาพอีกมากมายทั้งในมหาวิทยาลัยและในสังคม แล้วช่องทางที่เปิดขึ้นนี้จะช่วยให้ความหลากหลายทางปัญญาผลิดอกออกผลขึ้นมาใหม่
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ต้องการเติบใหญ่ในแวดวงอื่นๆ กรุณาออกไปพ้นๆ เสียเถอะ อย่าเอามหาวิทยาลัยเป็นเพียงบันไดไตเต้าของพวกคุณเลย เพราะการทำเช่นนั้นก็คือเป็นกาฝากที่ดูดเอาพลังชีวิตของมหาวิทยาลัยจนใกล้ตายกันหมดแล้ว
ooo
https://www.youtube.com/watch?v=GSaYUWhgRYs
ที่มา Thai Voice Media
WED, 02/25/2015 - 02:59 JOM
นายรังสิมันต์ โรม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ Thaivoicmedia กรณีที่ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคำสั่ง ไล่ออก อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ที่หยุดราชการติดต่อกันเกิน 15 วัน เนื่องด้วยอาจารย์สมศักดิ์ ปฎิเสธการรายงานตัวต่อ คณะรัฐประหาร และได้หนีออกนอกประเทศว่า การไล่อาจารย์สมศักดิ์ออก ส่งผลกระทบต่อการเรียนวิชาประวัติศาตร์ของนักศึกษาอย่างมาก ทำให้การเรียน หมดความน่าสนใจลงไปอย่างมาก เพราะความกล้าหาญทางวิชาการของอาจารย์สมศักดิ์ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามตามหลักวิชาการซึ่ง หาไม่ได้ในอาจารย์คนอื่น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นไปตามที่คาดการณ์กันเอาไว้แล้ว แต่ก็ไม่ทำให้นักศึกษาหวาดกลัวต่ออำนาจเผด็จการภายในมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด แต่กลับยิ่งทำให้่เกิดแรงขับให้เกิดการตื่นตัวด้านสิทธิเสรีภาพ การเรียกร้องประชาธิปไตย ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพิ่มมากขึ้น และแม้ว่าจะไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนกับอาจารย์ในห้องเรียน แต่ยังสามารถติดตามความคิดเห็น การวิเคราะห์ของอาจารย์สมศักดิ์ได้ผ่านทางโชเชียลมีเดีย แต่ยอมรับว่า ไม่เหมือนกับการเรียนในชั้นเรียนที่มีโอกาสได้โต้แย้ง ปะทะความคิดกับอาจารย์ได้
นายรังสิมันต์ โรม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ Thaivoicmedia กรณีที่ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคำสั่ง ไล่ออก อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ที่หยุดราชการติดต่อกันเกิน 15 วัน เนื่องด้วยอาจารย์สมศักดิ์ ปฎิเสธการรายงานตัวต่อ คณะรัฐประหาร และได้หนีออกนอกประเทศว่า การไล่อาจารย์สมศักดิ์ออก ส่งผลกระทบต่อการเรียนวิชาประวัติศาตร์ของนักศึกษาอย่างมาก ทำให้การเรียน หมดความน่าสนใจลงไปอย่างมาก เพราะความกล้าหาญทางวิชาการของอาจารย์สมศักดิ์ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามตามหลักวิชาการซึ่ง หาไม่ได้ในอาจารย์คนอื่น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นไปตามที่คาดการณ์กันเอาไว้แล้ว แต่ก็ไม่ทำให้นักศึกษาหวาดกลัวต่ออำนาจเผด็จการภายในมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด แต่กลับยิ่งทำให้่เกิดแรงขับให้เกิดการตื่นตัวด้านสิทธิเสรีภาพ การเรียกร้องประชาธิปไตย ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพิ่มมากขึ้น และแม้ว่าจะไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนกับอาจารย์ในห้องเรียน แต่ยังสามารถติดตามความคิดเห็น การวิเคราะห์ของอาจารย์สมศักดิ์ได้ผ่านทางโชเชียลมีเดีย แต่ยอมรับว่า ไม่เหมือนกับการเรียนในชั้นเรียนที่มีโอกาสได้โต้แย้ง ปะทะความคิดกับอาจารย์ได้