วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 19, 2558

เศรษฐกิจฟื้น ?? เอกชนทุกคนรู้ดีว่าการค้าขายของตัวเองเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือเลวลง ทุกคนก้มลงไปดูเงินในกระเป๋าของตัวเองแล้วคงแปลกใจ ทำไมไม่เหมือนกับที่รองนายกฯพูดเลย และคงสงสัยว่าเราอยู่ประเทศเดียวกันหรือเปล่า




คอลัมน์ Market-Think โดย สรกล อดุลยานนท์
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
18 ก.พ. 2558

ถ้าใครเป็น "หม่อมอุ๋ย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีที่คุมด้านเศรษฐกิจคงอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

เพราะลำพังเรื่องเศรษฐกิจก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว

ยังต้องเจอปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อีก 2 เรื่อง

เรื่องแรก คือ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไล่ล่ากันไม่จบไม่สิ้น

ความหวาดระแวงทางการเมืองทำให้รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับ "ความมั่นคง" มากกว่าเรื่อง "เศรษฐกิจ"

กฎอัยการศึกที่ควรจะยกเลิกก็ไม่ยอมยกเลิก

รัฐบาลจึงต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาอย่างหนัก

เป็นครั้งแรกของการรัฐประหารในเมืองไทยที่สหรัฐอเมริกาแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจรัฐบาลไทยและกดดันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งแถลงข่าวที่สหรัฐอเมริกาและให้สัมภาษณ์ในเมืองไทย

ราวกับไทยเป็น "พม่า"

การท่องเที่ยวที่ควรจะเป็น "เครื่องยนต์" ที่ดีที่สุดของเศรษฐกิจไทยในวันนี้ก็เดินเครื่องได้ไม่เต็มที่เพราะ "กฎอัยการศึก"

นักท่องเที่ยวที่มีฐานะก็ไม่มา เพราะประกันภัยไม่ครอบคลุมประเทศที่ประกาศกฎอัยการศึก

ทั้งหมดมาจากเหตุผลเดียว คือ รัฐบาลให้ความสำคัญกับ "ความมั่นคง"มากกว่า "เศรษฐกิจ"

เรื่องที่สอง คือ ความช่างพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

"หม่อมอุ๋ย" เคยบ่นดัง ๆ ครั้งหนึ่งว่าแถลงข่าวเรื่องเศรษฐกิจยาวเหยียด แต่สื่อมวลชนไม่ลงข่าวให้

เล่นแต่ข่าวการเมือง

โดยเฉพาะข่าว พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ซึ่งมีทั้งเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง

และการแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวของนายกฯ

ในเชิงการประชาสัมพันธ์ต้องบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ชิง "พื้นที่ข่าว" ไปหมด

ข่าวเศรษฐกิจที่ "หม่อมอุ๋ย" พยายามปั้นขึ้นมาจึงหายไปกับสายลม

ในอดีต สมัย "ทักษิณ ชินวัตร" ตอนที่ชนะเลือกตั้งครั้งแรก

เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในก้นเหว

"ทักษิณ" ใช้ความได้เปรียบที่รัฐบาลเป็นแหล่งกำเนิดข่าวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกำหนดวาระของ "ข่าว" เอง

ช่วงที่จะปล่อยแคมเปญเศรษฐกิจอะไรออกมา เขาจะให้คนในรัฐบาลหยุดพูดเรื่องอื่น

ห้ามตอบโต้การเมือง

เพื่อให้ "ข่าวใหญ่" มีเรื่องเดียว

ถ้าจะให้ "ข่าวดี" ก็โหม "ข่าวดี" อย่างต่อเนื่อง

กลยุทธ์แบบนี้ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รู้ดีครับ

แต่วันนี้ไม่มีใครกล้ากระซิบบอก พล.อ.ประยุทธ์ตรง ๆ

ท่านนายกฯจึงยังสนุกสนานกับการทะเลาะกับนักข่าว

เจอประเด็นไหน ตอบไม่ได้ก็ใช้วิธีการถามกลับนักข่าว

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่รู้ว่านักข่าวเขาไม่คิดจะโต้วาทีแข่งกับนายกฯ

เขาไม่ตอบคำถาม เพราะเขาไม่มีหน้าที่ตอบ

หน้าที่ของเขาคือตั้งคำถาม

ถ้าเป็นการโต้วาที พล.อ.ประยุทธ์ใช้กลยุทธ์นี้ได้

แต่ในการบริหาร กลยุทธ์เช่นนี้ไม่ได้ทำให้รัฐบาลดีขึ้นเลย

เพราะ "พื้นที่ข่าว" มีแต่เรื่องความขัดแย้ง เรื่องอารมณ์ฉุนเฉียวของนายกฯ

รัฐบาลกำหนดวาระข่าวไม่ได้เลย

"หม่อมอุ๋ย" ที่เคยเป็นโฆษกรัฐบาลก็รู้เรื่องแบบนี้

แต่ปัญหาก็คือไม่มีใครกล้าบอก พล.อ.ประยุทธ์

หรือบอกแล้วนายกฯไม่ฟังก็ไม่รู้

2 ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้นี้จึงเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับ "หม่อมอุ๋ย"

แต่อุปสรรคที่ใหญ่กว่า คือ เรื่อง "ความน่าเชื่อถือ" ของทีมงานเศรษฐกิจ

ต้องยอมรับว่าการทำนายเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจเมื่อปีที่แล้วของรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็น"หม่อมอุ๋ย"หรือแบงก์ชาติ

ล้วนผิดพลาดไปทั้งสิ้น

พอผิดติดต่อกันหลายครั้ง ความ

น่าเชื่อถือก็ลดต่ำลง

ไม่แปลกที่วันนี้ "หม่อมอุ๋ย" พยายามให้ "ข่าวดี" ทั้งเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนมกราคมสูงเป็นประวัติการณ์

ตัวเลขการลงทุนก็เพิ่มขึ้น จ้างแรงงานก็เพิ่มขึ้น

และสรุปว่า "เศรษฐกิจไทยฟื้นแล้ว"

น่าแปลกที่ไม่มีเสียงตอบรับจากภาคเอกชนเลย

เพราะนอกจากเรื่อง "ความเชื่อมั่น" และ "ความน่าเชื่อถือ" แล้ว

เอกชนทุกคนรู้ดีว่าการค้าขายของตัวเองเป็นอย่างไร

ดีขึ้นหรือเลวลง

ทุกคนก้มลงไปดูเงินในกระเป๋าของตัวเองแล้วคงแปลกใจ

ทำไมไม่เหมือนกับที่รองนายกฯพูดเลย

และคงสงสัยว่าเราอยู่ประเทศเดียวกันหรือเปล่า