วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 19, 2558

112 the Series สิรภพ: บทกวีที่ถูกตามล่า



ที่มา Ilaw

สิรภพ: บทกวีที่ถูกตามล่า

คงไม่มีใครคาดคิดว่า เพียงแค่การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือการเขียนกาพย์กลอนการเมืองจะเป็นเหตุให้ต้องถูกเจ้าหน้าที่ทหารตามไล่ล่า หรือทำให้ครอบครัวต้องตกอยู่ในสภาวะหวาดกลัว แต่มันคือความจริงที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย เมื่อ คสช. เริ่มประกาศรายชื่อคนผ่านทางโทรทัศน์ ว่าใครบ้างจะต้องมารายงานตัวที่ค่ายทหารเพื่อ "ปรับทัศนคติ"

1 มิถุนายน 2557 คสช. มีคำสั่งเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัว โดยมีชื่อของสิรภพ ปรากฎอยู่บนจอทีวี ตัวตนของสิรภพในสังคมปกติคือ ชายผิวขาว ผมยาว ร่างใหญ่ อายุราวๆ 50 ปี อาชีพรับเหมาก่อสร้าง หย่าร้างกับภรรยาแล้วและมีหน้าที่ต้องดูแลครอบครัวที่มีลูก 3 คนและหลานชายอีก 1 คน

สิรภพ เล่าว่า เขารับไม่ได้กับการทำรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 เพราะเป็นความอยุติธรรมที่คนกลุ่มหนึ่งที่กระทำต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ อีกทั้งทหารยังเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ความรุนแรงกับคนในชาติ จากกรณีสลายการชุมนุม จนเสียมีคนชีวิตนับร้อย บาดเจ็บนับพัน กลางเมืองหลวงของประเทศนี้

ในวินาทีที่รู้ว่ามีรายชื่อให้ไปรายงานตัวนั้น สิรภพรู้สึกว่า เขาจะไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารที่กระทำการอุกอาจ จึงตัดสินใจ “อารยะขัดขืน” ไม่เข้ารายงานตัว ตามคำสั่งเรียกของ คสช. ความตั้งใจของสิรภพ คือ ต้องการขอสถานะ “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” จาก UNHCR รวมถึงจัดการงานรับเหมาก่อสร้างที่สงขลาซึ่งยังค้างอยู่ให้เสร็จ

สิรภพมีความวิตกกังวลอย่างมาก เขาไม่ทราบเลยว่า คณะรัฐประหารเชื่อมโยงตัวเขา กับนามปากกา "รุ่งศิลา" ได้อย่างไร เพราะเขาค่อนข้างมันใจว่ามีเพียงเพื่อนสนิท 2 คนเท่านั้นที่รู้ตัวตนจริงๆของเขา จนถึงวันนี้คำตอบนั้นก็ยังไม่ถูกคลี่คลาย

ระหว่างที่เขาเดินทางเพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง "สิรภพ" จำเป็นต้องจากลูกชายวัย 16 ปีของเขา และมอบหมายให้ควบคุมงานก่อสร้างแทน สิรภพติดต่อลูกๆ และสั่งงานรายวันกับคนงานผ่านทางสมาร์ทโฟนและต้องเปลี่ยนโทรศัพท์และซิมอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้เขายังต้องขอให้ลูกสาวอีก 2 คน ซึ่งคนโตเพิ่งจบการศึกษา และคนกลางที่กำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่2 รีบบินจากกรุงเทพฯ มาอยู่เป็นเพื่อนน้องชายเพื่อความปลอดภัย

ไม่กี่วันหลังการออกคำสั่งเรียกรายงานตัว ตำรวจในเครื่องแบบ 8-10 คน บุกเข้าตรวจค้น สถานที่ก่อสร้าง โดยแจ้งแก่เจ้าของบ้านและคนงานว่า มาตรวจหาแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย แล้วจึงกลับไป

หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบพร้อมอาวุธสงครามครบมือกว่า 30 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย บุกจู่โจมเข้าตรวจค้นบ้านพัก ซึ่งมีเพียงลูกสาว 2 คน, ลูกชายคนเล็ก พร้อมหลานชายอายุ 10 เดือน อยู่ในบ้าน นาทีนั้นสิรภพไม่สามารถติดต่อกับลูกๆ ได้ จึงติดต่อไปยังผู้ที่จ้างเขารับเหมาก่อสร้าง และทราบว่า "ครอบครัวถูกจับไป"

สิรภพ เล่าว่า ในวันนั้นลูกสาวทั้งสองอุ้มหลานทำอะไรไม่ถูก ได้แต่กอดกันร้องไห้ มีเพียงลูกชายที่ยังพอควบคุมสติได้ เมื่อทหารบุกเข้ามา

หลังทหารตำรวจตรวจค้นทุกซอกทุกมุมของบ้านจนเป็นที่พอใจ ไม่พบอาวุธหรือสิ่งผิดกฎหมายใดๆ จึงยึดอุปกรณ์สื่อสารในบ้าน มี CPU คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง, external hard disk 1 TB 3 ชุด, โทรศัพท์มือถือ smartphone 5 เครื่องและโทรศัพท์มือถือธรรมดา 1 เครื่อง และควบคุมตัวทั้ง 4 คนไปที่ค่ายทหาร

"ช่วงเวลาที่ลูกๆ ถูกจับตัวไป ผมเครียดมาก โดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้ ได้แต่พลุ่งพล่านอยู่ข้างในอย่างสุดแสนทรมาน" สิรภพกล่าว

เรื่องไม่ได้จบลงแค่นั้น ในวันที่ 25 มิถุนายน 2557 เวลา 22.30 น. ขณะกำลังเดินทางโดยรถยนต์มาถึงถนนแยกเข้าตัวเมืองกาฬสินธุ์ มุ่งหน้าไปยังจังหวัดอุดรธานี ในระหว่างที่รถยนต์ชะลอเข้าทางแยก มีรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ขับปาดหน้า ชายฉกรรจ์ 5 คนสวมโม่งพร้อมอาวุธหนักเปิดประตูวิ่งลงมา รถถตู้อีกคันประชิดเข้ามาจอดปิดท้าย ชายฉกรรจ์อีก 7 คนวิ่งลงมารายล้อม หน้าตาถมึงทึง ในมือถืออาวุธสงครามพร้อมลั่นไก ตะโกนให้สั่งยอมแพ้ ห้ามต่อสู้ ให้ชูมือออกมาจากรถ แล้วบังคับให้ทุกคนนอนหมอบลงกับพื้นถนน ขณะฝนกำลังตกหนัก

ชายสวมโม่งเหล่านั้น แต่งกายนอกเครื่องแบบทะมัดทะแมงถืออาวุธปืนไรเฟิลจู่โจม ‘ทราโว’ คาดซองปืนพร้อมอาวุธปืนสั้น พกวิทยุสื่อสารที่หัวไหล่ พาตัวเขาไปควบคุมตัวที่ค่ายทหารเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงพาตัวมาที่กองบังคับการปราบปราม และถูกตั้งข้อหาไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง ฝ่าฝืนประกาศคสช. ฉบับที่ 41/2557

ศาลทหารอนุญาตให้ สิรภพ ได้ประกันตัวในคดีไม่มารายงานตัว แต่ก่อนที่จะได้รับอิสรภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจอายัดตัวเขาไปสอบสวนต่อในข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แม้การโพสข้อความลงบนอินเทอร์เน็ตของสิรภพจะเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร แต่ คดีของเขาถูกตีความว่าข้อความบนอินเทอร์เน็ตยังปรากฏอยู่มาจนปัจจุบัน ถือว่าความผิดยังเกิดขึ้นอยู่ จึงเป็นคดีที่ต้องส่งให้ศาลทหารพิจารณา

ในคดี 112 สิรภพ ถูกฟ้องจากการเผยแพร่ 3 ข้อความ ซึ่งหมายถึงโทษสูงสุด 45 ปีในเรือนจำ สิรภพ รับสารภาพว่าเป็นเจ้าของนามปากก "รุ่งศิลา" และเป็นเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์และเฟซบุ๊คเพจจริง แต่กลอนที่เขาเขียนนั้นเป็นเรื่องการเมืองทั่วๆ ไป พูดถึงอำนาจที่ไม่เป็นธรรมในสังคมไทย ไม่มีความหมายถึงพระมหากษัตริย์ สิรภพยื่นขอประกันตัวด้วยเงินสด 400,000 บาท แต่ด้วยข้อหาที่หนักขึ้น ศาลทหารไม่อนุญาต

แม้ตัวเขาจะถูกคุมขังเรื่อยมานับแต่วันที่กลุ่มชายสวมโม่งขับรถปาดหน้า เขาก็ยังประกาศว่าจะขอต่อสู้คดีอย่างถึงที่สุด

ทนายของ "สิรภพ" ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ความผิดที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นก่อนการประกาศให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะศาลทหารเห็นว่าจะเป็นการโยนคดีไปมาระหว่างศาลทหารและศาลพลเรือน

ทนายของ "สิรภพ" ยังยื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอให้คำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ศาลทหารวินิจฉัยแล้วว่า การเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารนั้นไม่ใช่การละเมิดสิทธิ เพราะตุลาการศาลทหารมีความเป็นอิสระ แม้จะอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมแต่ก็ยังมีดุลพินิจอิสระ และศาลทหารไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้

นอกจากจะยกคำร้องเรื่องอำนาจศาลทหารแล้ว ศาลทหารยังสั่งให้พิจารณาคดีมาตรา 112 ของสิรภพ เป็นการลับ ส่วนคดีฐานไม่มารายงานตัวให้สาธารณชนเข้าฟังได้ แต่ไม่อนุญาตให้จดบันทึก

สิรภพ ยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี และยังยืนยันขอต่อสู้ทุกช่องทางที่มีอยู่ ไม่ต้องการยอมรับสารภาพเพื่อหวังการได้ลดโทษ และไม่ต้องการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ โดยหวังให้สังคมรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในคดีของเขา

ระหว่างหลายปีของการต่อสู้คดี ลูกสามคนและหลานชายอีกหนึ่งคนต้องรับภาระงานและค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด รวมทั้งค่าใช้จ่ายทางการศึกษาด้วย มีความเป็นไปได้สูงว่าภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ปิดกั้น หากศาลทหารที่ประกอบด้วยนายทหารซึ่งไม่ได้จบกฎหมายมาพิจารณาและตัดสินคดี ชายวัยกลางคนที่ประกาศขอยืนหยัดต่อสู้โดยไม่มีวันก้มหัวยอมรับอำนาจที่เขาเชื่อว่าไม่ถูกต้องชอบธรรม อาจต้องใช้เวลาที่เหลือทั้งชีวิตอยู่ในเรือนจำ