วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 19, 2558

ลุงตู่คะ ก่อนหน้านี้ท่านบอกว่า ท่านรู้หมดแหละ ว่าใครด่าท่านบ้าง ท่านอ่าน นสพ.ทุกฉบับ แอดมิน (เมด อิน อุษาคเนย์) เชื่อค่ะ แต่มาวันนี้ท่านบอกว่า พวกเรามาจากเขาอัลไต !!! แสดงว่าท่านไม่ได้อ่านอยู่ฉบับนึงค่ะ ... ท่านไม่ได้อ่าน "มติชน"




คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ประวัติศาสตร์ ′ปลอม′ ที่ไม่ยอมจากไป  และพิพิธภัณฑ์ไทย ที่ไม่หมุนตามโลก


ที่มา มติชนออนไลน์
รายงานโดย ผู้สื่อข่าวพิเศษ

คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ประวัติศาสตร์ ′ปลอม′ ที่ไม่ยอมจากไป
และพิพิธภัณฑ์ไทย ที่ไม่หมุนตามโลก

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2557

คนไทย มาจากไหน? คำถามที่หลายคนสงสัย และหนึ่งในคำตอบแบบพ้นสมัย ก็คือ คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต แนวคิดที่คนในวงวิชาการส่ายหน้าแล้วบอกว่า ไม่มีใครเชื่ออย่างนั้นอีกแล้ว เพราะถูกยกเลิกจากแบบเรียนของเด็กไทยมานานเหลือเกิน

แต่เมื่อเฟสบุ๊กแฟนเพจชื่อ ′เมด อิน อุษาคเนย์′ หยิบยกประเด็นนี้มาบอกเล่าโดยเป็นหนึ่งในหัวข้อ ′ประวัติศาสตร์ปลอม ที่คนไทย (เคย) ยอมรับ′ กลับมีผู้กดถูกใจ และแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นหลากหลาย

กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้รู้ว่าแนวคิด ′คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต′ ยังอยู่ในความรับรู้ของคนจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ

ประวัติศาสตร์ปลอมที่คนไทย (เคย) ยอมรับ

ข้อความที่ถูกโพสต์ลงเฟสบุ๊ก เมด อิน อุษาคเนย์ เมื่อช่วงเย็นของวันเสาร์ที่ 6 กันยายน 2557 ราว 17.00 น. มีผู้อ่าน (หรือได้เห็นผ่านตา) ถึง 48,800 คน ในเวลาเพียง 2 วัน เนื้อหามีดังนี้

"รู้น่า! ว่าแนวคิดเรื่องคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตนั้นเก่ากึ๊ก และยอมรับกันแล้วว่ามันไม่จริ๊ง ไม่จริง แต่นี่คือหนึ่งในประวัติศาสตร์ปลอมสุดคลาสสิคที่ต้องหยิบยกมาเม้าท์กัน ว่าในอดีตนั้นเราเคยเชื่อเรื่องนี้ถึงขนาดมีบรรจุในแบบเรียนมานานนับปี ว่าคนไทยในสยามประเทศเรานี้หอบลูกจูงหลานมาจากเทือกเขาที่ชื่อว่าอัลไต ซึ่งก็นับว่าฟังเข้าที เพราะมันออกเสียง ไทๆ ไตๆ อิไต อิไต อะไรนี่ ดูเข้าเค้า

กระทั่งมีคนขี้สงสัยตั้งคำถามว่า ไอ้เขาอิไต เอ้ย! อัลไตที่ว่านี้มันอยู่ไหนกันหว่า? พอสืบค้นไปมา ปรากฏว่าอยู่แถบเอเชียกลางนู่นแน่ะ แบบว่าเป็นช่วงพรมแดนร่วมของประเทศรัสเซีย จีน มองโกเลีย และคาซัคสถาน ที่ฮากว่านั้นคือ เคยมีคนพยายามเดินทางไปโดยสอบถามทางการรัสเซีย คำตอบที่ได้ชวนหงายเงิบ เพราะนอกจากที่นั่น จะไม่มีคนไท/ไตอาศัยอยู่แล้ว จากสภาพแวดล้อมทั้งปวงก็ไม่น่าจะเคยมีมนุษยชาติคนใดตั้งถิ่นฐานมาก่อน เพราะเป็นภูเขาน้ำแข็งอุณหภูมิติดลบยิ่งกว่าอยู่ในตู้แช่ปลา ซึ่งทางการรัสเซียเขาใช้เป็นสถานที่ติดตั้งสัญญาณเรดาร์อะไรสักอย่าง

ว่าแต่ว่า---แนวคิดเรื่องคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต มาจากไหน?

อะแฮ่ม‚ขอบอกว่าเรื่องนี้เขามีที่มาที่ไป นั่นก็คือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ท่านแต่งหนังสือชื่อ ′หลักไทย′ เล่าเรื่องนี้เป็นคุ้งเป็นแคว แต่ๆๆๆ แต่ก็โทษท่านไม่ได้ เพราะท่านแต่งเข้าประกวดในงานๆ หนึ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นตำรับตำราประวัติศาสตร์แต่อย่างใด เนื้อหาในหนังสือระบุประมาณว่า



"เดิมชนชาติไทยเคยอาศัยอยู่แถบเทือกเขาอัลไตเมื่อประมาณ 6,000 ปีที่แล้ว ต่อมา ได้อพยพลงมายังแม่น้ำหวงเหอ เรียกว่า อาณาจักรไทยมุง หรืออาณาจักรไทยเมือง และได้อพยพลงมาอีกจนถึงลุ่มแม่น้ำแยงซี แต่ต่อมาได้เสียเมืองให้กับจีน จึงต้องอพยพลงมาทางใต้ต่อไป"

ทั้งนี้ เหตุที่ท่านเลือกเทือกเขาอัลไตในนิยาย เอ้ย! หนังสือของท่านก็เพราะชื่อมันไตๆ ไทๆ นั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์หลายท่านได้โต้แย้งประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เจตนาปลอมของท่านขุน ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน อาทิ ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ที่แสดงความเห็นว่า ระยะทางจากเทือกเขาอัลไตถึงประเทศไทยอยู่ห่างกันมาก จึงไม่น่ารอด ชีวิตจากการเดินทางผ่านทะเลทรายโกบีได้---พูดง่ายๆ คือ จะพากันตายก่อนมาถึงแดนสยามนะจ๊ะ

สรุปว่า หลังจากบรรจุในแบบเรียนอยู่เนิ่นนาน ปัจจุบันได้ยกเลิกแนวคิดนี้ไปแล้ว แต่ยังมีผู้นำแนวคิดที่ว่านี้มาใช้เป็นคำสแลงเสียดเย้ยกลุ่มอนุรักษนิยมที่ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม ทำนองว่า "พวกนี้มาจากเทือกเขาอัลไต!!!"

คำสารภาพของขุนวิจิตรมาตรา

คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต เริ่มจากหนังสือหลักไทยของขุนวิจิตรามาตราได้รับพระราชทานรางวัลและประกาศนียบัตรวรรณคดีของราชบัณฑิตยสภา เมื่อ พ.ศ. 2471

จนกระทั่งมีการบรรจุเนื้อหาเรื่องคนไทยมาจากภูเขาอัลไตลงในแบบเรียน ก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยเรื่อยมา เพราะไม่มีหลักฐานอันน่าเชื่อถือ

สุดท้าย แบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการตามหลักสูตรใน พ.ศ. 2521 ได้ระบุให้ยกเลิกแนวคิดนี้จากแบบเรียนเรื่องคนไทยอพยพจากเทือกเขาอัลไต

ราว 2 ปีต่อมา นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2523 ตีพิมพ์ถ้อยคำของ ขุนวิจิตรฯ ถึงประเด็นอันน่าเคลือบแคลงนี้ ซึ่งท่านอ้างว่าไม่ได้คิดขึ้นเอง แต่ได้มาจากหมอวิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ ผู้เขียน The Thai Race-The Elder Brother of Chinese

"ผมเขียนตามของหมอดอดด์ เขาว่างั้นนะ ไม่ใช่ผมมาเม้คขึ้นเองเมื่อไหร่ ผมก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ผมไม่รู้หรอก ว่าจริงหรือไม่จริง" ขุนวิจิตรฯ ในวัย 83 ปี กล่าวกับคณะทำงานนิตยสารศิลปวัฒนธรรมซึ่งเดินทางไปพบที่บ้านบนถนนวิภาวดีรังสิต---และนั่นคือเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว



พิพิธภัณฑ์ผลิตซ้ำ ตอกย้ำแนวคิดล้าหลัง

การที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างล้นหลามในประเด็นอัลไตทั้งที่ยกเลิกราว 35 ปีมาแล้ว แสดงถึง ′ความไม่รู้′ ว่าแนวคิดนั้นล้าหลังไปนานแล้ว ทั้งยังมีผู้แสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่ชวนแปลกใจว่าปัจจุบันยังมีผู้เชื่อว่าคนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต

ส่วนหนึ่งเป็นคนรุ่นที่เคยใช้แบบเรียนรุ่นเก่า ซึ่งหลายคนบอกว่าเคยเรียนในชั้นประถมศึกษา และปัจจุบันก็ยังเชื่ออย่างนั้นอยู่ จนกระทั่งได้มาอ่านข้อเขียนในเฟส บุ๊กดังกล่าว

และมีผู้ยืนยันว่าในการอบรมสัมมนาโดยหน่วยงานของรัฐบางแห่ง ในช่วงหลายปี ที่ผ่านมา ยังคงกล่าวถึงแนวคิดนี้

′พิพิธภัณฑ์นักศึกษาวิชาทหาร′ ซึ่งศูนย์ข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ทำการสำรวจไว้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 ระบุว่า มีส่วนจัดแสดงที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ไทย โดยมีแผนที่เส้นทางอพยพคนไทยลงมาจากเทือกเขาอัลไต นับเป็นข้อมูลล้าสมัยที่ยังคงถูกบอกเล่าอยู่ทุกวี่วัน

′พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ′ บางแห่ง มีการนำเสนอข้อมูลดังกล่าว โดยให้ความสำคัญในฐานะเป็นหนึ่งในหลาย "ทฤษฎี" ของถิ่นฐานคนไทย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นเพียงแนวคิดที่ถูกขยายผลเพื่อรับใช้รัฐบาลเผด็จการยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ด้วยเหตุนี้ แม้แนวคิดดังกล่าวจะถูกยกออกจากตำราเรียนไปนานเพียงใด แต่การถูกผลิตซ้ำหรือละเลยในการเผยแพร่ข้อมูลใหม่ๆ จึงทำให้ประโยคที่ว่า ′คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต′ ยังคงวนเวียนอยู่ในความคิด ความเชื่อ การรับรู้ โดยไม่ยอมจากไปไหนเสียที

เผยแพร่ความรู้ใหม่ "เรื่องใหญ่" ของพิพิธภัณฑ์

แม้ภาพลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นที่เก็บของเก่า ทว่าบทบาทหน้าที่ ที่ถูกต้องของพิพิธภัณฑ์คือการให้ข้อมูลความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ใช่ปล่อยให้ข้อมูลเก่าคร่ำครึได้รับการเผยแพร่โดยไม่ยอมแก้ไข ดังเช่นกรณีคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต

ด้วยเหตุนี้ การปรับปรุงแก้ไขนิทรรศการให้ถูกต้อง ทันสมัย รวมถึงการสร้างทัศนคติ และประสบการณ์ใหม่ๆ ย่อมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

หทัยรัตน์ มณเฑียร ภัณฑารักษ์อิสระ ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา จ. พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ ′ก้าวหน้า′ ที่สุดในเมืองไทยขณะนี้ กล่าวไว้ในบทความเรื่อง ′แนวคิดใหม่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของเนเธอร์แลนด์′ (ตีพิมพ์ในหนังสือสรรพศาสตร์ประวัติศาสตร์ศิลป์ เอกสารประชุมวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2557) ว่า

"หัวใจของการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ จะสำเร็จไปไม่ได้เลย ถ้าขาดวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล ต้องอาศัยการผ่าตัดภายใน กล้าหาญที่จะลองใช้วิธีการที่แตกต่างไปจากขนบเดิม เพื่อสร้างวิธีการ, สร้างประสบการณ์, และทัศนคติใหม่ๆ ให้ผู้ชม"

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ′กิจกรรม′ ที่ต้องจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความเคลื่อนไหว และหมุนไปตามโลก

"สังคมเปลี่ยน โลกหมุน ข้อมูลใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา แนวคิดทฤษฎีต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ พิพิธภัณฑ์อาจจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนนิทรรศการถาวรได้ทันทีด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือการจัดอีเวนต์ สัมมนา พูดคุย ซึ่งช่วยให้พิพิธภัณฑ์ก้าวไปพร้อมๆ กับสังคม นอกจากนี้กิจกรรมต่างๆ ยังเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่เคยเข้าชมแล้วย้อนกลับมาอีก" หทัยรัตน์กล่าว

ในประเด็นที่ว่านี้ กรมศิลปากรเองก็ดูจะเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรมเผยแพร่ความรู้มากขึ้นทุกที ดังเช่นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมที่ให้ข้อมูลความรู้ใหม่ แก้ไขข้อมูลเก่า เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี จัดงาน ′อู่ทอง ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย′

ต่อมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ. พระนครศรีอยุธยา จัดงาน ′พระเจ้าอู่ทอง สร้างอยุธยา มาจากไหน?′

ล่าสุด ′สุพรรณบุรี มาจากไหน? เหน่อสุพรรณ สำเนียงหลวงกรุงศรีอยุธยา′

การมีกิจกรรมต่อเนื่องเช่นนี้ เป็นสัญญาณที่ดีของการปรับตัวของกรมศิลปากร ซึ่งเห็นความสำคัญของการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน

แต่ถ้ายังยึดติดกับขนบเดิมๆ ไม่ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการเสียใหม่ ก็อย่าแปลกใจที่เทือกเขาอัลไต จะยังเป็นถิ่นกำเนิดคนไทยอยู่ต่อไปชั่วลูกสืบหลาน
ooo

ถ้าพูดอย่างเป็นธรรม กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เราทุกคนเป็นคนจีน จะคล้ำหน่อยแต่ก็มาจากเทือกเขาอัลไต" นั้น




1. แกอาจเป็นมุขก็ได้นะ (หลังจากพูดแกก็ขำ)
2. แกน่าจะเรียนหนังสือผ่านแบบเรียนก่อนปี 21 เพราะแนวคิดนี้ ถูกยกเลิกไปโดยมีระบุในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการตามหลักสูตรใน พ.ศ. 2521 และผู้เสนอทฤษฎีนี้คือ ขุนวิจิตรมาตรา ก็สาระภาพกับนิตยสารศิลปวัฒนธรรมในปี 23 ว่าแท้จริงแล้วจริงหรือไม่ก็ไม่รู้
3. เมืองอัลไต ปัจจุบันที่อยู่ในเขตปกครองซินเจียงอุยกูร์ ส่วนใหญ่เป็นชาวอิสลาม ชาวคาซัคสถาน ไม่มีชาวไต หรือชาวไทยเลย
4. แต่ก็นั่นล่ะ ถ้าสิ่งที่ประยุทธ์พูดไม่มุข มันก็สะท้อนตัวประยุทธ์เองที่ไม่อัพเดทข้อมูลเลย - -''

(อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ ประยุทธ์อวยพรตรุษจีน-ชี้ทุกคนเป็นคนจีนเพราะมาจากเทือกเขาอัลไต http://prachatai.org/journal/2015/02/57989 และ คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ประวัติศาสตร์ ′ปลอม′ ที่ไม่ยอมจากไป และพิพิธภัณฑ์ไทย ที่ไม่หมุนตามโลก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1411100223)

Bus Tewarit
ooo




https://www.facebook.com/video.php?v=856133227778470&set=vb.100001454030105&type=2&theater

ooo

คอลัมน์อัฟเดททั่นผู้นำ...


คนไทย, ภาษาไทย, และภูเขาอัลไต



มติชนออนไลน์
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

"เราไม่มีศัพท์ที่บอกให้รู้ว่าเรามาจากเทือกเขาอัลไต เพราะไม่มีศัพท์คำว่าหิมะเลย" (หิมะเป็นคำยืม) มีแต่คำว่า กล้วย อ้อย ควาย นา ฯลฯ บ่งบอกว่าอยู่ในเขตร้อนชื้น
อ.สุวัฒนา เลี่ยมประวัติ (คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร) กล่าวในงานเสวนายุคมืดของประวัติศาสตร์ไทยที่ ม.ธรรม ศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2557 (จาก fb เมดอินอุษาคเนย์)

ข้อความข้างบนรับรู้กันมานานแล้ว และเป็นที่ยอมรับกว้างขวางในหมู่นักวิชาการ

แต่ยังมีครูบาอาจารย์อีกมากไม่รู้ จึงยังเชื่อว่าคนไทยและภาษาไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ตามตำราเก่า เช่น ตำรา ความรู้ทั่วไปทางภาษาไทย ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2523) ภาคที่ 1 หลักภาษา มีผู้ถ่ายสำเนาส่งมาให้อ่าน จะคัดมาดังนี้

ตำนานอักษรไทย แต่เดิมไทยอยู่แถบภูเขาอัลไต ซึ่งอยู่กลางทวีปอาเซีย

ต่อมาไทยมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงและฮวงโหต่อมาย้ายมาตั้งราชธานีอยู่ที่น่านเจ้าเป็นอาณาจักรใหญ่ต่อมาพวกจีนมีอำนาจขึ้นก็เริ่มขยายอาณาเขตรุกแดนไทยเข้ามาโดยลำดับ

พวกไทยที่ไม่ยอมอยู่ในอำนาจจีน จึงพร้อมใจกันอพยพจากเมืองเดิมมาตั้งภูมิลำเนา ----- ได้ชื่อว่า ไทยใหญ่ ส่วนอีกพวกหนึ่ง ----- ได้ชื่อว่า ไทยน้อย

ต่อมาพวกไทยน้อยอพยพมาตั้งภูมิลำเนาถึงแดนลานช้าง ลานนา และเขตสยามปัจจุบัน -----

ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่าเดิมการเขียนหนังสือของไทยคงจะได้แบบจากมอญ เพราะลักษณะอักษรอาหม ลื้อ ผู้ไทยแถบสิบสองปันนา มีลักษณะใกล้อักษรขอมทั้งนั้น

ต่อมาเมื่อราว พ.ศ.1500 พวกขอมแผ่อาณาเขตมาถึงดินแดนไทย

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.1800 ขอมอ่อนอำนาจลง พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเปนอิสระ พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะให้ราษฎรเลิกประพฤติตามธรรมเนียมขอมและคงจะให้เลิกใช้ภาษาขอมในทางราชการ และกลับใช้ภาษาไทยตามเดิม

ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระองค์ทรงเห็นว่าอักษรซึ่งได้แบบจากมอญเขียนไม่สะดวก จะใช้อักษรขอมล้วนก็ไม่สมควร เพราะเมืองสุโขทัยเป็นอิสระ พระองค์จึง "หาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึงมีเพื่อพ่อขุนผู้นั้นใส่ไว้"

หมายเหตุ ในศิลาจารึกมีคำว่า "ลายสือไทยนี้" อยู่หลายตอน หมายความว่า "หนังสือไทยนี้" คือหนังสือที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้นนี้เท่านั้น มิได้ประสงค์จะแสดงว่า หนังสือของชนชาติไทยเพิ่งมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1826

ทั้งหมดนี้ (รวมหมายเหตุในล้อมกรอบ) คัดจากตำราเก่าเมื่อ พ.ศ.2523 มีในห้องสมุดสถาบันการศึกษา แล้วมีผู้คัดขึ้นสื่อสาธารณะแบ่งปันเผยแพร่กว้างขวาง

แต่หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีไม่สนับสนุน ทางการจึงยกเลิกแนวคิดเทือกเขาอัลไตไปนานแล้ว

และประวัติศาสตร์แบบนี้ถูกตรวจสอบคัดค้านมากจนไม่น่าเชื่อถืออีก

ใครพูดเรื่องเทือกเขาอัลไตทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องตลกจึงเขียนบอกไว้ตรงนี้จะได้ไม่เข้าใจไขว้เขว