วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 19, 2558
ในที่สุด อานนท์ นำภา ทนายหนุ่มผู้มีชื่อเสียงจากการเป็นทนายอาสาช่วยเหลือ "คนเสื้อแดง" ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 53 ก็มีอันต้องเปลี่ยนสถานะใหม่เป็น "ผู้ต้องหา" เสียเอง
ที่มา ILAW
ในที่สุด อานนท์ นำภา ทนายหนุ่มผู้มีชื่อเสียงจากการเป็นทนายอาสาช่วยเหลือ "คนเสื้อแดง" ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 53 ก็มีอันต้องเปลี่ยนสถานะใหม่เป็น "ผู้ต้องหา" เสียเอง หลังถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 ชุมนุมเกิน 5 คน จากการจัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่ถูก(รัก)ลัก" เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ในวันนั้นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามเข้าควบคุมตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายราย และเมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้น อานนท์ และเพื่อนอีก 3 คน ถูกควบคุมตัวไปพูดคุยที่สน.ปทุมวัน ก่อนจะถูกตั้งข้อหาในเวลาเกือบตีสอง ขณะที่ผู้ต้องหาคนอื่นใช้เงินสด 20,000 บาทประกันตัว อานนท์ใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความยื่นประกันตัวเอง
ถาม : กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่ออะไร
ตอบ : เหมือนเป็นการรำลึกครบหนึ่งปีของการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 บังเอิญมาตรงกับวันวาเลนไทน์พอดีก็เลยตั้งชื่อแบบนี้
ถาม : กลุ่มคนที่จัดกิจกรรมนี้เป็นใคร
ตอบ : เป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมแบบนี้มาหลายครั้งตั้งแต่หลังรัฐประหาร เช่น นัดไปกินลาบ นัดกันไปเค้าท์ดาวน์ปีใหม่
ถาม : คิดไว้หรือเปล่า ว่าทำแบบนี้แล้วจะถูกจับ
ตอบ : ไม่คิดว่าจะถูกจับเพราะการทำกิจกรรมแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่คาดหมายได้ว่าจะถูกปิดพื้นที่ไม่ให้จัด อย่างมากก็อาจจะโดนเรียกไปคุย เวลาทำกิจกรรมแต่ละครั้งที่ผ่านมาก็จะมีทหารและตำรวจมาคอยทำให้การจัดไม่ราบรื่น เราคิดว่าการพูดถึงการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็คงเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ทหารตำรวจไม่อยากให้พูด
ถาม : แล้วทำไมสุดท้ายถูกจับและถูกดำเนินคดีด้วย
ตอบ : จริงๆ วันนั้นตำรวจจะปล่อยอยู่แล้วนะ แต่ถูกสั่งให้ดำเนินคดีโดยนายทหารพระธรรมนูญ คิดว่านายทหารคนนี้คงไม่ค่อยชอบการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย การตั้งข้อหาแบบนี้เป็นเรื่องการเมือง ที่เขาต้องการหยุดไม่ให้เราใช้สิทธิเสรีภาพ
ถาม : การใช้วิธีตั้งข้อหาแบบนี้ หยุดการเคลื่อนไหวได้จริงหรือเปล่า
ตอบ : กลุ่มของเราคงไม่หยุดการเคลื่อนไหว และวางแผนไว้แล้วว่าจะมีกิจกรรมอีกหลายครั้ง ต่อให้จับไปสี่คนก็ไม่กระทบอะไรกับกิจกรรมของกลุ่ม ผมเชื่อว่าการที่ทหารตั้งข้อหาแบบนี้ยิ่งทำให้คนอยากออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน กิจกรรมแบบนี้มันเป็นเรื่องกวนตีนแบบเล็กๆ ไม่ได้ทำให้เกิดความวุ่นวายอะไรหรอก
ถาม : ถ้าทนายความต้องติดคุกเอง จะกระทบกับคดีและลูกความที่ต้องดูแลหรือเปล่า
ตอบ : หลายคดีที่ทำอยู่ก็ทำกันเป็นทีม มีทนายความคนอื่นดูแลและทำต่อได้ แค่อาจจะไม่ราบรื่นเหมือนเดิมนัก ระหว่างนี้สถานะทนายความของผมยังมีอยู่ ถ้าผมถูกสั่งขัง ศาลก็ต้องเบิกตัวผมไปว่าความในคดีที่ผมรับผิดชอบอยู่ ซึ่งก็เท่ากับว่า ศาลรู้อยู่แล้วว่าผมมีหน้าที่แต่ยังสั่งขัง ก็คือศาลทำตัวขัดขวางกระบวนการยุติธรรมเสียเอง
ถาม : เป็นทนายความอยู่ดีดีไม่ได้เหรอ ทำไม่ต้องออกมาเคลื่อนไหวเองอีก
ตอบ : ผมก็มีความเป็นพลเมือง ไม่ได้เป็นทนายความ 24 ชั่วโมง ในความเป็นพลเมืองก็ต้องพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ
ถาม : ถ้ามีคนออกมาทำตาม แล้วต้องติดคุกจะรู้สึกอย่างไร
ตอบ : ผมอยากทำให้คนอื่นที่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรได้เห็นเป็นตัวอย่างนะ เวลาคิดเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะคิดเรื่องการติดคุกไม่ได้ เราต้องคิดว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งที่ทำได้ การถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐ นั้นเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่ความผิดของคนออกมาเคลื่อนไหว
ถาม : ถ้ามีเงื่อนไขในการประกันตัวว่าต้องงดการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะยอมตกลงไหม
ตอบ : ผมรับไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นเงื่อนไขที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดกับหลักกฎหมาย ขัดกับรัฐธรรมนูญ และขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าจะต้องติดคุกก็ต้องติด
ถาม : ที่ทำแบบนี้ เพราะอยากดังหรือเปล่า
ตอบ : เราคิดว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ควรต้องทำนะ และนี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรกของผม ผมทำกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ปัจจุบันก็ทำคดีการเมืองมากมาย เรื่องพวกนี้มันอยู่ในชีวิตประจำวันของผม ไม่มีใครหรอกที่อยากดังแล้วเอาตัวเองไปเสี่ยง มันไม่ได้คุ้มขนาดนั้น
ถาม : ถูกทักษิณจ้างมาก่อความวุ่นวายหรือเปล่า
ตอบ : โอ๊ยยยย ทักษิณน่ะ เขาให้เงียบ เขาให้รอ ถ้าเป็นขี้ข้าทักษิณต้องอยู่เฉยๆ แต่ที่ต้องออกมาทำแบบนี้เพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน
ทนาย อานนท์ นำภา จบการศึกษาคณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2549 และจบเนติบัณฑิต ในปี 2552 หลังสำเร็จการศึกษาก็ทำงานกับสำนักงานกฎหมายมีสิทธิ ซึ่งช่วยเหลือชาวบ้านที่รวมตัวเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมแล้วถูกดำเนินคดี หลังการสลายการชุมนุมในปี 2553 อานนท์ รับทำคดีทางการเมืองโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับคนเสื้อแดงจำนวนมาก ทั้งคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คดีเผาศาลากลาง และคดีมาตรา 112 ต่อมาเขาตั้งสำนักงานของตัวเองชื่อว่าสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ และรับทำคดีทั่วไปเพื่อหารายได้ด้วย หลังการรัฐประหารอานนท์เข้าร่วมเป็นทนายความอาสากับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองโดยไม่คิดค่าใช่จ่าย
ก่อนตกเป็นผู้ต้องหาเอง อานนท์เป็นทนายความช่วยเหลือคดีมาตรา112 ของสิรภพhttp://freedom.ilaw.or.th/case/622, "กวี"http://freedom.ilaw.or.th/case/646และสมัครhttp://freedom.ilaw.or.th/th/case/584 คดีอาวุธของเจริญ และผู้ต้องหายิงM79 ใส่บิ๊กซีราชดำริ คดีไม่มารายงานตัวและมาตรา116 ของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุดhttp://www.ilaw.or.th/node/3189