วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 15, 2558

อนาคตท้องถิ่นโฉมใหม่ : ท้องถิ่นระดับจังหวัดและท้องถิ่นระดับต่ำกว่าจังหวัด พร้อมเห็นควรปรับ อบต. ให้เป็นเทศบาล




ที่มา ชุมชนคนท้องถิ่น

ถอดแบบเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ
ประเด็นด้านการปกครองท้องถิ่น

ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไว้ดังนี้

รูปแบบขององค์กรปกครองท้องถิ่น

องค์กรปกครองท้องถิ่นจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบทั่วไปและรูปแบบพิเศษ

รูปแบบทั่วไป หมายถึง รูปแบบที่ใช้กับองค์กปกครองท้องถิ่นทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ
- ท้องถิ่นระดับจังหวัด
- ท้องถิ่นต่ำกว่าระดับจังหวัด

รูปแบบพิเศษ หมายถึง รูปแบบที่กำหนดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ อันมีลักษณะแตกต่างออกไปจากรูปแบบทั่วไป

ซึ่งจะเห็นได้ว่าองค์กรปกครองท้องถิ่น 2 รูปแบบข้างต้น จะแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. องค์กรปกครองท้องถิ่น ต่ำกว่าระดับจังหวัด เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นในระดับตำบลหรือเมืองที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน สามารถเปิดให้เกิดกระบวนการปรึกษาหารือรับฟังความเห็นประชาชนในการบริหารจัดการกิจการของท้องถิ่นได้อย่างใกล้ชิดและทั่วถึง มีอำนาจหน้าที่และบทบาทในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นในขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

2. องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัด เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ ในระดับจังหวัดมีอำนาจหน้าที่และบทบาทในการวางแผนและกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัด โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับทิศทางและนโยบายการพัฒนาประเทศ สามารถจัดหารายได้ เก็บภาษีและกู้เงินเพื่อลงทุนในการพัฒนาพื้นที่ได้ และทำหน้าที่จัดสรรรายได้ดังกล่าวให้กับเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบลในเขตจังหวัด ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความเป็นธรรมด้วย

3.องค์กรปกครองท้องถิ่นพิเศษ เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีการจัดรูปการปกครองที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่น ภายใต้แนวคิดท้องถิ่นจัดการตนเอง ทั้งนี้ ท้องถิ่นที่มีความพร้อมสามารถเสนอขอทำประชามติเพื่อยกขึ้นเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นประเภทพิเศษนี้ได้ ซึ่งอาจจะมีทั้งแบบเต็มพื้นที่จังหวัด และไม่เต็มพื้นที่จังหวัด หรืออาจไม่เต็มพื้นที่จังหวัดแต่คาบเกี่ยวกันระหว่างจังหวัด




ปัจจุบันการบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหาหลายประการ ในด้านขนาดของ อปท. ปัจจุบันมี อปท. ขนาดเล็กจำนวนเล็กจำนวนมากซึ่งไม่มีรายได้เพียงพอต่อการบริหารงาน ทำให้งบประมาณจำนวนมากต้องใช้ไปเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ดังนั้น เพื่อลดภาระต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารของภาครัฐ จึงควรมีการกำหนดขนาดที่เหมาะสมของ อปท. โดยการควบรวม อปท. ขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง และยกสถานะทั้งหมดให้เป็นเทศบาล

ข้างต้นนี้ คือ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ

สิ่งที่บอกจะบ่งบอกได้ชัดเจนในระดับหนึ่ง คือ การยกสถานะ อบต. ให้เป็น เทศบาลทั้งหมด
จากนี้ต้องคอยติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง

ส.เสือ รายงาน