วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 28, 2558

"บวรศักดิ์" เดือด! รับไม่ได้ สื่อพาดหัว "ส.ว.ลากตั้ง"... แล้วท่านคิดว่าปชช.เจ้าของสิทธิจะยอมรับส.ว.ที่ไม่ได้มาจากปชช.ได้หรือ เลิกดูถูกปชช.เสียที



ที่มา มติชนออนไลน์

"กมธ.ยกร่างฯถกหมวดครม.แล้ว "บวรศักดิ์"เดือดหลังสื่อพาดหัว"ส.ว.ลากตั้ง"จวกสื่ออย่าเสนอข่าวแบบใช้ความส่วนตัว ย้ำต้องเสนอข่าวรอบด้าน

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา จ.ชลบุรี มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา นอกสถานที่เป็นวันที่สอง โดยเป็นการพิจารณาต่อเนื่องในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี หมวด 4 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีด้วยกัน 29 มาตรา

ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นายบวรศักดิ์ กล่าวกรณีมีสื่อมวลชนไปพาดหัวข่าวในทำนองว่ากมธ.ยกร่างฯกำหนดให้มีส.ว.ลากตั้ง 200 คน โดยยืนยันว่าประเทศฝรั่งเศสก็ให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม ดังนั้นการใช้เสรีภาพของสื่อควรเสนอข่าวไม่ใช่เสนอความเห็นส่วนตัว ซึ่งการพาดหัวข่าวเป็นการตัดพิมพ์โดยผู้พาดหัว การเลือกอ่านเฉพาะบางที่ในทีวีก็ไม่ครบถ้วน สื่อมวลชนที่ดีต้องเสนอข้อมูลถูกต้อง รอบด้านปราศจากอคติซึ่งไม่มีการพูดถึงเลย

"ผมถามหน่อยโครงสร้างวุฒิสภาในอดีตเคยมีตัวแทนชาติพันธุ์เคยเข้ามาหรือไม่ปราชญ์ชาวบ้านเคยเข้ามาหรือไม่ยิ่งใช้ระบบเลือกต้ังคนเหล่านี้ชายขอบทั้งนั้นจะมีแต่นักเลือกตั้งที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นขอความร่วมมืออย่าปนระหว่างข่าวสารกับความเห็นส่วนตัวของผู้พาดหัวข่าวจะทำให้ข่าวที่ประชาชนได้รับไม่ครบถ้วนมีอคติการวิพากษ์วิจารณ์ผมไม่ขัดข้องแต่เป็นเรื่องรับผิดชอบของคนที่เป็นคอลัมนิสต์แต่การพาดหัวข่าวหรือนักอ่านข่าวให้คนฟังในทีวีอย่าเลือกสิ่งที่นำเสนอ แต่ต้องเสนอให้หมด เพราะจะทำให้ผู้รับข่าวสารได้ข้อมูลด้านเดียวของผู้พาดหัวข่าว โดยขอให้นำข้อมูลทั้งหมดไปแจกสื่ออีกครั้ง และเชื่อว่าผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ตรงจุดนี้ส่งข่าวตรงไปตรงมา" นายบวรศักดิ์ กล่าว

...

ทุบโต๊ะข่าว : "บวรศักดิ์" เดือด! รับไม่ได้สื่อพาดหัว ส.ว.ลากตั้ง - เพื่อไทยรุมอัด 26/02/58
https://www.youtube.com/watch?v=nv51Gpza6SQ

...



ooo

สภาสายล่อฟ้า


ที่มา โลกวันนี้
On February 27, 2015
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ประเด็นที่จะมาเป็นสายล่อฟ้าสั่นคลอนความมั่นคงของฝ่ายคุมอำนาจมาแล้ว และจะมีมาอีกเรื่อยๆ

ทันทีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเคาะรูปแบบของวุฒิสภาออกมาเสียงต่อต้านก็ดังอื้ออึงในทุกวงการ

รูปแบบของวุฒิสภาใหม่หลักๆคือ

ให้ ส.ว. มาจากการสรรหาทั้งหมด 200 คน หรืออาจจะใช้ว่าการเลือกตั้งโดยทางอ้อม โดยเป็นการเลือกตั้งมาจากกลุ่มวิชาชีพ และกลุ่มประสบการณ์ เช่น กลุ่มผู้เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา เลือกกันเองให้ได้ไม่เกิน 10 คน

กลุ่มผู้เคยเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนระดับสูง ที่ตำแหน่งปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหาร หรือข้าราชการฝ่ายทหารระดับปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หัวหน้าองค์กรรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เลือกกันเองประเภทละไม่เกิน 10 คน

กลุ่มผู้แทนองค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้งรับรองอีกไม่เกิน 10 คน กลุ่มตัวแทนจากองค์กรด้านเกษตรกรรม แรงงาน วิชาการ ชุมชน ท้องถิ่น ไม่เกิน 50 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา การเศรษฐกิจ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ผังเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม คุ้มครองผู้บริโภค เด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และอื่นๆอีกรวมกันไม่เกิน 100 คน

นอกจากหน้าที่ตรวจสอบแล้ว ส.ว. ใหม่ยังมีอำนาจเพิ่มสามารถเสนอร่างกฎหมายต่อสภาได้

อุต๊ะ! ลากตั้งกันทั้งสภา ลดอำนาจประชาชน เพิ่มอำนาจอดีตข้าราชการใหญ่ๆเข้ามาตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คล้ายมีพรรคการเมืองใหญ่คุมสภาบนเพื่อกดหัวสภาล่าง

รัฐประหารคราวที่แล้วได้ ส.ว. ลูกผสมเลือกตั้งกับลากจั้ง เมื่อ ส.ส.-ส.ว. เข้าชื่อกันขอแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ให้ ส.ว. มาจากเลือกตั้งทั้งสภา ถูกตราหน้าว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถูกองค์กรอิสระชี้มูลความผิดจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

รัฐประหารครั้งนี้เลยแก้เป็นลากตั้งทั้งสภา เพราะเห็นประสิทธิภาพการทำงานของ ส.ว.ลากตั้งชุดแล้วในนามกลุ่ม 40 ส.ว .ว่ามีประสิทธิภาพ ทรงอิทธิพลเพียงใด

แต่ไม่ใช่แค่ฝ่ายคุมอำนาจเห็นประสิทธิภาพของเหล่า ส.ว.ลากตั้ง ประชาชนทั่วไปก็เห็นและรู้ซึ้งดี

การกำหนดให้ ส.ว. มาจากลากตั้งทั้งสภาจะเป็นสายล่อฟ้า ตำบลกระสุนตกของฝ่ายคุมอำนาจอย่างแท้จริง