วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 26, 2558

แอมเนสตี้ฯ จัดหนัก เปิดรายงานละเมิดสิทธิทั่วโลก เสนอไทยยกเลิกกฎอัยการศึก-แก้ไข ม.112


Thailand's military rulers accused of human rights abuses
Picture from LA Times
ที่มา ประชาไท

25 ก.พ. 2558 ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นำเสนอรายงานประจำปี 2557-2558 สรุปภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก

ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ได้สรุปภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกว่า เหล่าผู้นำในแต่ละประเทศมีความล้มเหลวในการปกป้องพลเรือนจากภัยสงคราม ลามถึงเรื่องปัญหาผู้ประสบภัยจากสงคราม ทั้งยังมีการบังคับให้พลเรือนเป็นบุคคลศูนย์หาย ในหลายประเทศมีการปราบปรามเอ็นจีโอที่ออกมาเรียกร้อง โดยรัฐใช้ความรุนแรงเข้าควบคุม ยกอย่างกรณีในประเทศฮ่องกงที่ผู้ประท้วงชุมนุมเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองนำโดยนักศึกษา แต่ทางรัฐบาลกลับมีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามข่มขู่คุกคามเหล่านักศึกษาและผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสงบ ทั้งยังนี้มีรายงานเรื่องที่หลายประเทศใช้วิธีการทรมานพลเรือนเพื่อให้ได้มาซึ่งการรับคำสารภาพหรือข้อมูล ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามนักโทษทางความคิดไม่ว่าจะเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือความเชื่อทางศาสนา มีทั้งหมด 62 ประเทศ โดย 18 ประเทศที่มีอาชญากรรมสงครามที่ทำให้พลเรือนเป็นเหยื่อ ใน 119 ประเทศที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มี 28 ประเทศที่ระบุว่าการขอทำแท้งคืออาชญากรรมส่งผลให้เหล่าสตรีที่ถูกข่มขืนอาจเข้าไม่ถึงสวัสดิการทางการแพทย์ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และ 78 ประเทศ ที่ระบุเรื่องของการเป็นเพศทางเลือกหรือการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ปริญญายังเปิดเผยอีกว่า ในส่วนของฝั่งเอเชียแปซิฟิก พบว่า ในปี 2557 มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในเรื่องของการออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทั้งของตนเองและสังคม เช่น เมียนม่าร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฮ่องกง ฯลฯ โดยนักเคลื่อนไหวออกมาเรียกร้องการตรวจสอบรัฐบาล แต่ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องอย่างสันติวิธี โดนรัฐใช้ความรุนแรงเข้าทำการปราบปรามฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ทั้งในจีน เกาหลีเหนือ กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา เกาหลีใต้ ปากีสถาน และประเทศไทย ด้านของสื่อก็ได้รับการข่มขู่คุกคามอย่างกว้างขวาง รวมทั้งถูกสังหาร ทั้งในประเทศจีน ศรีลังกา อัฟกานิสถาน อินเดีย ฯลฯ ทั้งนี้หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีเหยื่อและครอบครัวเหยื่อที่ได้รับผลกระทบความเสียหายจากปฏิบัติการที่โหดร้าย โดนทรมานจากการตรวจสอบเพื่อซัดทอดข้อกล่าวหา และการขัดแย้งกันด้วยอาวุธ เช่น ในอัฟกานิสถานที่มีรายงานตัวเลขจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ที่มีผู้ขอลี้ภัยจากสงครามถึง 2 ล้านคน และยังมีอีกนับ 6 แสนคน ที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และในเมียนมาร์ที่ยังคงมีความขัดแย้งในเรื่องชาติพันธ์ทั้งในรัฐฉานและรัฐคะฉิ่น โดยกองกำลังติดอาวุธปลดแอกตนเองและจากรัฐบาลเมียนมาร์

ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ยังกล่าวเสริมอีกว่า เอเชียแปซิฟิกยังคงมีปัญหาเรื่องของสิทธิสตรีและเด็ก โดยการละเมิดบังคับให้สมรสหรือสังหารเพื่อศักดิ์ศรี และการออกกฎหมายทำแท้งเป็นอาชญากรรม แม้ว่าผู้หญิงจะโดนข่มขืน และประเด็นในเรื่องของเพศสภาพ มีหลายประเทศในโซนเอเชียแปซิฟิกที่คุกคามขุมขังเพียงเพราะมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ด้านความอดทนอดกลั้นในด้านศาสนาและชาติพันธ์ที่แตกต่างกันมีการหมิ่นศาสนาและความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ในส่วนของหลายประเทศบรรษัทไม่มีการเคารพเรื่องของสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้พลเรือนต้องรับผลกระทบทางด้านสุขภาพ หรือต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยของตนเอง และระบบนิเวศน์ชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายจากการเข้าไปทำเหมืองเป็นต้น

ทั้งนี้ปริญญาเปิดเผยการสรุปภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยอันครอบคลุมประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การทรมานภายใต้บริบทการปราบปรามความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ 2) สภาพเรือนจำและสถานที่กักขัง 3) กฎหมายภายในประเทศที่กำหนดให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา 4) หลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement) 5) การทรมานและความรับผิด

ผลกระทบที่รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 80% ที่เสียชีวิต เป็นพลเรือน ซึ่งผิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ในส่วนของปัญหาทางการเมือง ปีที่ผ่านมามีการใช้ความรุนแรงโดยมีกองกำลังติดอาวุธทั้งจากภาครัฐและกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.นอกจากนี้สถานการณ์ในเรือนจำและสถานที่กักขังในประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีความกังวลว่าสภาพในเรือนจำและการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังอาจเข้าข่ายเป็นการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้ายและย่ำยีศักดิ์ศรี ทั้งความรุนแรงทางร่างกายและความรุนแรงทางเพศขัดต่อข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขององค์การสหประชาชาติ โดย มี134 เรื่อง ใน 138 คน ที่ได้รับความเสียหายจากการทรมานซึ่งมาจากเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายความมั่นคง การบังคับให้กลายเป็นบุคคลศูนย์หาย จากรายงานที่มีการร้องเรียนในประเทศไทยมี 89 เรื่องอยู่ที่องค์กรสหประชาชาติ(UN) ว่ามีผู้ถูกบังคับศูนย์หาย โดยมีเพียง 2 กรณีเท่านั้นที่ทางรัฐบาลมีคำตอบให้กับUN รายแรกได้รับอิสรภาพ และมีอีก 1 รายยังไม่ได้รับการปล่อยตัว

ในด้านวิกฤตการณ์ทางการเมือง ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกหลังรัฐประหาร โดยประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ทางรัฐบาลทหารไทยได้ออกกฎห้ามชุมนุมเกิน 5 คน มีการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ทั้งการสั่งปิดสื่อชุมชนและการห้ามสื่อวิพากษ์วิจารณ์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ห้ามจัดสัมมนาวิชาการเป็นเชิงกระทบต่อความมั่นคง ควบคุมพลเรือนโดยพลการแบบไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา จำนวนไม่เกิน 7 วัน ทั้งนี้มีมากกว่า 193 คนถูกบังคับให้ไปรายงานตัว และมีหลายรายที่โดนขึ้นศาลทหารจากการขัดคำสั่งไม่ไปรายงานตัวของ คสช. ทางรัฐบาลทหารไทยยังมีการลงโทษกลุ่มผู้ต่อต้านการรัฐประหารแบบไม่มีการไต่สวนที่เป็นธรรม รวมทั้งออก พ.ร.บ.ศาลทหาร ให้พลเรือนที่เป็นจำเลยคดีความมั่นคงถูกพิจารณาคดีในศาลทหารและไม่สามารยื่นอุทธรณ์ได้ รวมทั้งกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่บังคับให้พลเรือนต้องรับการพิจารณาคดีในศาลทหาร

ปริญญายังแจงอีกว่า ความล้มเหลวของรัฐไทยในการปกป้องสิทธิของนักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มี 42 กรณี ถูกอุ้มหายและขู่ฆ่า ยังไม่รวมกรณีถูกคุกคามและและถูกข่มขู่ รวมถึงการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เช่น ชาวโรฮิงยา และอุยกูร์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไทยบกพร่องในนโยบายไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้ สุดท้ายประเด็นเรื่องโทษประหารชีวิต แม้ในปี 2557 ยังไม่มีการประหารนักโทษ แต่ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงดำเนินหน้ารณรงค์ยกเลิกโทษประหารในประเทศไทยต่อไป

ภายในงานแถลงการณ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้นำเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ดังนี้

ในด้านวิกฤตการณ์ทางการเมืองเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายฉุกเฉิน กฎหมายความมั่นคง ที่จำกัดเสรีภาพของพลเรือน ทั้งการแสดงออก การชุมนุม การปิดกั้นสื่อ ยุติการเซ็นเซอร์เว็บไซต์โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ(ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยให้ยกเลิกข้อบัญญัติที่อนุญาตให้บุคคลสามารถฟ้องร้องบุคคลอื่นในข้อหาละเมิดกฎหมายอาญา ม. 112 เสนอให้กำหนดอัตราโทษให้ได้สัดส่วนต่อฐานความผิดและให้ชะลอการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพระหว่างที่รอการแก้ไขกฎหมาย ยุติการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการและประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนจะได้รับการนำตัวเข้าสู่การไต่สวนของคณะตุลาการอย่างเป็นอิสระโดยทันที ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือนไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ถอนข้อกล่าวหาบุคคลที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังภายใต้ข้อกล่าวหาที่ว่านั้นโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ต้องยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ยุติการใช้โทษจำคุกเพื่อคุกคามผู้ประท้วงอย่างสงบ รวมทั้งยุติมาตรการที่ขัดขวางไม่ให้มีการอภิปรายและโต้เถียงทางการเมือง ให้ทางการประกาศอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดส่วนบุคคลและสถานที่ควบคุมตัวบุคคลทุกคนโดยเฉพาะในระหว่างการใช้กฎอัยการศึก และปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข

ซาลิต เซ็ตติ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ใน 2557 เป็นปีแห่งหายนะสำหรับประชาชนหลายล้านคนที่ตกอยู่ในวังวนความรุนแรง การตอบสนองสงครามระดับโลกต่อความขัดแย้งและการปฏิบัติการโดยไม่ชอบทั้งรัฐและกลุ่มติดอาวุธ ยังเป็นเรื่องน่าละอายและไม่เป็นผล ในขณะที่ประชาชนต้องเผชิญกับการทำร้ายและการปราบปรามที่ป่าเถื่อนมากขึ้น ประชาคมนานาชาติยังต้องมีบทบาทที่จำเป็น

"องค์การสหประชาชาติก่อตั้งเมื่อ70ปีก่อน เราจะต้องไม่เห็นความโหดร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ปัจจุบันเรากำลังเห็นความรุนแรงในวงกว้าง และเป็นวิกฤตใหญ่หลวงด้านผู้ลี้ภัยที่เป็นผลมาจากความรุนแรงเหล่านั้น ที่ผ่านมามีความล้มเหลวในการค้นหาทางออกเพื่อรับมือกับความจำเป็นเร่งด่วนมากที่สุดในยุคของเรา" เลขาธิการแอมเนสตี้ฯ กล่าว

ด้านรองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระบวนการยุติธรรม เพื่อความยุติธรรม เพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ได้มีการออก ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... หรือเรียกสั้นๆ ว่าร่างกฎหมายทรมานและสูญหายฯ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย

“ทางเจ้าหน้าที่เองก็รู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมากที่ต้องรับเรื่องพิจารณาว่ามีเจ้าหน้าที่เองที่เป็นผู้ทรมาน ผู้ถูกกล่าวหา และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องนี้ ได้มอบหมายไปยังท่านวิษณุ เครืองาม เพื่อจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างดีทีสุด”รองอธิบดีกล่าว

นอกจากนี้ยังมีนางรอมือละห์ แซเยะ ภรรยานายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ(อันวาร์) อดีตนักข่าวอิสระในพื้นที่ชายแดนใต้ ผู้ทำงานถึง 12 ปี ต้องคดีเมื่อ 2548 เป็นเหยื่อของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกกล่าวหาว่าเป็น อั่งยี่ ซ่องโจร (อ่านรายละเอียดได้ที่ http://prachatai.org/journal/2013/05/46736) ภรรยาของอันวาร์ เผยว่า ก่อนที่สามีจะถูกดำเนินคดี ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการเชิญตัวอันวาร์ในลักษณะเหมือนเป็นญาติมานั่งทางข้าวที่บ้าน และกล่าวกับครอบครัวอย่างเป็นมิตรว่าจะมีการสอบปากคำเล็กน้อยจากนั้นจะปล่อยตัวกลับมา แต่ในที่สุดสามีตนกลายเป็นจำเลยสั่งคม โดยสื่อทุกสื่อทั้งสื่อออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ได้พิพากษาอันวาร์ว่าเป็นผู้ต้องหาผู้ก่อการร้าย ทั้งที่ยังไม่มีการพิจารณาคดี ตลอด 11 ปี จนถึงในปี 2552 ศาลอุธรณ์จึงได้สั่งยกฟ้องอันวาร์ แต่เมื่อในปี 2556 ศาลได้เรียกตัวสามีกลับไปเพื่อพิจารณาคดีตามศาลชั้นต้นอีกครั้ง

รอมือละห์ ยังเสริมว่า เมื่อตั้งข้อสังเกตอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ไม่เคารพคำตัดสินของศาล แต่ต้องตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม ข้อกล่าวที่สามีตนได้รับไม่มีน้ำหนัก แต่หลังจากศาลตัดสินกลับเจ้าหน้าที่มาที่บ้านอีกครั้ง และกล่าวหาว่าสามีตนว่ามีส่วนในการสังหารพระภิกษุในพื้นที่ ทั้งที่อันวาร์ซึ่งอยู่ในเรือนจำไม่สามารถออกจากคุกไปก่อเหตุได้อีก ทั้งยังมีกรณีที่น้องชายตนนั้นถูกเรียกตัวไปจากที่ทำงาน ไม่มีการบอกให้ครอบครัวรับรู้ และได้มาทราบทีหลังว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับไป โดยได้รับคำพูดที่เจ็บปวดจากเจ้าหน้าที่ว่า เมื่อไม่ได้ทำอะไรผิดทางญาติก็ไม่มีความจำเป็นต้องเดือดร้อนดิ้นรนตามหา

“เจ้าที่ขาดสามัญสำนึกอย่างรุนแรง ลองถอดชุดทหารแล้วกลายมาเป็นปุถุชน หากญาติพี่น้องลูกเมียหายตัวไปตัวทหารเจ้าหน้าที่จะยังนิ่งเฉยไม่ตามหาใช่หรือไม่ ไม่ว่าใครที่มารับรู้เรื่องราวของอันวาร์ ต้องเกิดคำถามว่ากระบวนการยุติธรรมอยู่ที่ไหน เราจะเชื่อมั่นอะไรได้อีก ไม่ใช่ว่าไม่เคารพศาล แต่หากศาลไม่ตัดสินอันวาร์เมื่อปี 2556 ในปี 2557 อันวาร์ก็ต้องโดนข้อกล่าวหาเรื่องใหม่อีก ไม่ว่าใครที่พลัดหลงเข้าไปอยู่ในแบล็คลิสต์ มันไม่มีความปลอดภัยหลงเหลือ ดังนั้นไม่แปลกใจว่าทำไมคนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ถึงไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วเลือกที่จะหนีหายไปที่ไหนได้ ไปต่างประเทศก็ได้ ไปมาเลเซียก็ได้ ที่รู้สึกปลอดภัยแล้วอีกหลายปีค่อยกลับมา ความร่วมมือมันไม่เกิด เปิดปากปกป้องสิทธิ์ก็หาว่าต่อต้านไม่ทำตาม ศึกษาหาความรู้เพื่อช่วยเหลือตนเองและครอบครัวก็ถูกมองว่าไม่รักชาติ และเราจะมีชีวิตที่ปลอดภัยได้อย่างไร ได้โปรดส่งคืนความสุขความยุติธรรมให้เราเถอะค่ะ” รอมือละห์ กล่าวทิ้งท้าย

...

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติ ดังนี้

กฎหมายด้านความมั่นคงในประเทศ

· ปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องต่อพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายที่จำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพรอดพ้นจากการควบคุมตัวโดยพลการ เสรีภาพในการแสดงความเห็น การรวมตัวและการชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพในการเดินทาง

· ยุติการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการและประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนจะได้รับการนำตัวเข้าสู่การไต่สวนของคณะตุลาการอย่างเป็นอิสระโดยทันที โดยเป็นองค์คณะที่มีคุณสมบัติในการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวบุคคล

· ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือนไม่ว่าในกรณีใด ๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการละเมิดพันธกิจของไทยที่มุ่งคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

กฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น

· ฟื้นฟูสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบโดยทันที ปัจจุบันมาตรการปราบปรามอย่างกว้างขวางต่อการใช้สิทธิเหล่านี้ กำลังทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว

· แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยให้ยกเลิกข้อบัญญัติที่อนุญาตให้บุคคลใดๆ สามารถฟ้องร้องบุคคลอื่นในข้อหาละเมิดกฎหมายหมิ่นฯ การกำหนดอัตราโทษให้ได้สัดส่วนต่อฐานความผิด และให้ชะลอการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ระหว่างที่รอการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

· ยุติการเซ็นเซอร์เว็บไซต์โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

· ถอนข้อกล่าวหาบุคคลใด ๆ ที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังภายใต้ข้อกล่าวหาที่ว่านั้นโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข

วิกฤตทางการเมือง

· ให้มีการทบทวนถึงวิธีการที่ใช้เพื่อควบคุมฝูงชนระหว่างการเดินขบวนประท้วง และประกันว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปฏิบัติตามหลักสากลในการสลายฝูงชนและการใช้กำลัง อย่างเช่น จรรยาบรรณของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) และหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งการใช้กำลังเป็นวิธีการสุดท้าย และให้ใช้เท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด

· ให้ประกันว่าจะมีการสอบสวนข้อร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโดยทันที อย่างรอบด้านและอย่างเป็นอิสระ และให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และในระหว่างการสอบสวน ให้สั่งพักราชการบุคคลใด ๆ ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการละเมิดดังกล่าว

· ให้ประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวได้รับการเยียวยาช่วยเหลืออย่างเต็มที่

· การปราบปรามต่อผู้ประท้วงอย่างสงบต้องยุติลงโดยทันที และต้องยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ การใช้โทษจำคุกเพื่อคุกคามผู้ประท้วงอย่างสงบ มาตรการอื่นใดที่ขัดขวางไม่ให้มีการอภิปรายและโต้เถียงทางการเมือง และการขัดขวางไม่ให้บุคคลมีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะ

· ให้ทางการประกาศอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดส่วนบุคคลและสถานที่ควบคุมตัวบุคคลทุกคนโดยเฉพาะในระหว่างการใช้กฎอัยการศึก ทางหน่วยงานเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากพวกเขาถูกควบคุมตัวเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนในการประท้วงอย่างสงบ ทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และควรตั้งข้อหาและฟ้องคดีต่อผู้ต้องสงสัยโดยใช้ฐานความผิดทางอาญาตามกฎหมาย และให้ดำเนินการผ่านศาลพลเรือน และดูแลให้กระบวนการยุติธรรมสอดคล้องกับมาตรฐานว่าด้วยความเป็นธรรมระหว่างประเทศ

การทรมานและการปฏิบัติอื่นๆ ที่โหดร้าย

· กำหนดข้อบัญญัติตามกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อบัญญัติในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะการกำหนดฐานความผิดด้านการทรมานอย่างชัดเจนตามนิยามที่กำหนดในอนุสัญญา

· ให้สอบสวนอย่างเป็นอิสระและรอบด้านต่อข้อกล่าวหาการทรมานและการปฏิบัติอื่นๆ ที่โหดร้ายที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ทางการ ทั้งนี้เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

· ประกันการเยียวยาและชดเชยอย่างรอบด้านแก่เหยื่อและครอบครัวที่ถูกกระทำทรมานหรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย

การขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

· ดำเนินการสอบสวนโดยทันที อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่างไม่ลำเอียงกรณีการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกกรณี โดยเฉพาะในส่วนที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงมีส่วนเกี่ยวข้อง และให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมที่ได้มาตรฐานสากลของความเป็นธรรม ไม่ให้สั่งลงโทษประหารชีวิต

· ให้มีการแก้ไขเนื้อหาของกฎอัยการศึกอย่างกว้างขวาง หรือให้ยกเลิกไป

· ในการนำมาตรการฉุกเฉินมาใช้นั้น ให้ใช้ตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้แก้ไขข้อบัญญัติในพรก.ฉุกเฉินฯที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายและมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งการแก้ไขมาตรา 17 ที่มีข้อยกเว้นไม่ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าพนักงานในสภาพการณ์ทั่วไป

· ประกันว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามสถานที่ต่างๆ และตามค่ายทหารสามารถเข้าถึงทนายความ ญาติพี่น้อง และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม และมีการอนุญาตให้หน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระเข้าเยี่ยมสถานควบคุมตัวทุกแห่ง

· ให้หาทางสืบหาและแจ้งให้ทราบถึงที่อยู่ของทนายสมชาย นีลไพจิตรและบุคคลอื่นที่ถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อประกันว่าจะมีการนำตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อการสูญหายมาลงโทษ

· ให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาสากลว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และดำเนินการที่จำเป็นเพื่อบังคับใช้อนุสัญญาในระดับประเทศโดยทันทีหลังมีการให้สัตยาบัน

ผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง

· ให้เคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement)และประกันว่าจะไม่มีการขับไล่ ส่งกลับ หรือบังคับให้เดินทางกลับไปยังประเทศหรือดินแดนกรณีที่มีความเสี่ยงว่าต้องกลับไปเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง โดยเฉพาะในประเทศพม่าหรือลาว

· ให้มีการสอบสวนกรณีการบังคับขับไล่ชาวโรฮิงญา และประกันว่ามีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และให้มีการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการบังคับขับไล่เช่นนี้อีกในอนาคต

· ให้เคารพต่อพันธกรณีที่ต้องอนุญาตให้ผู้แสวงหาที่พักพิงสามารถเข้าถึงกระบวนการแสวงหาที่พักพิงอย่างจริงจัง และให้ได้รับการติดต่อกับ UNHCR และประกันว่าบุคคลที่หลบหนีจากภัยคุกคามจะได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ

· ให้ยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยอย่างไม่มีเวลากำหนดและโดยพลการ และยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยในสภาพที่แออัดเป็นเวลานาน

· ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย 1951 และพิธีสาร 1967 (1951 Convention Relating to the Status of Refugees and its 1967 Protocol)

· ให้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับคนงานพลัดถิ่น เพื่อประกันว่าคนงานเหล่านี้ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมและได้รับผลตอบแทนที่เท่าเทียมจากการทำงาน มีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ มีโอกาสได้พักผ่อน ทำกิจกรรมสันทนาการ และมีการจำกัดชั่วโมงทำงานอย่างชอบด้วยเหตุผล

· ให้ยุติการละเมิดใด ๆ ที่กระทำต่อคนงานพลัดถิ่น ทั้งการค้ามนุษย์และการรีดไถ

โทษประหารชีวิต

· ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 3 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด

· เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทโทษประหารชีวิต

· ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต