ภาพจาก มติชน |
ใบตองแห้งออนไลน์: บวรศักดิ์เปลือยเป้า
Tue, 2015-02-10 15:41
ใบตองแห้ง
ที่มา ประชาไท
รัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไร ระบอบการปกครองหลัง คสช.ต่างจากหลังรัฐประหาร 2549 อย่างไร ณ วันนี้ ใกล้เห็นภาพชัดเจนแล้ว
ในขณะที่จะมีการยุบรวม ลดอำนาจบางองค์กรอิสระ เช่น กกต. รวมทั้งลดบทบาทสถาบันตุลาการในการสรรหาวุฒิสมาชิกและองค์กรอิสระ (เพื่อดึงสถาบันตุลาการหลบไปบ้างหลัง “สองมาตรฐาน” มา 8 ปี) แต่ก็จะมีการเพิ่มอำนาจ กระชับอำนาจ ใน 2 ระดับ
นั่นคือเหนือรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง (ซึ่งถูกทำให้กระจัดกระจายภายใต้วิธีเลือกตั้งแบบขาหมูเยอรมันผัดสะตอ และถูกทำให้ผิดเพี้ยนจากหลักเสียงข้างมากเช่นบังคับให้รองประธานสภาต้องมาจากฝ่ายค้าน) ยังจะมีวุฒิสภาสรรหา 200 คน ที่มีอำนาจตรวจสอบประวัติ สกัดการแต่งตั้งรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูง มีอำนาจถอดถอน ไว้สมคบกับฝ่ายค้านล้มรัฐบาล มีองค์กรอิสระใหม่ๆ เช่น ศาลวินัยการคลัง มีเทวดาองค์ใหม่ๆ เช่น “สมัชชาคุณธรรม” ทำตัวเป็นคนดีคอยชี้คนอื่นผิด
ขณะที่ใต้รัฐบาลลงไป ก็จะสร้างเกราะอำนาจ “รัฐราชการ” เหมือนอย่างรัฐประหาร 49 ยึดอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายทหารไปไว้ที่สภากลาโหม หลังรัฐประหารครั้งนี้ คสช.ออกประกาศแก้กฎหมายตำรวจ ยึดอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายไปไว้ในมือ ผบ.ตร. และ ก.ตร.โดยตำแหน่ง ไม่ให้ “นักการเมืองชั่ว” ที่ประชาชนเลือกมา ยุ่งเกี่ยวได้แม้แต่น้อย ล่าสุด คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็จะให้มีคณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน 7 คน ยึดอำนาจตั้งปลัดกระทรวง อธิบดี ทุกกระทรวงทบวงกรมไปจากคณะรัฐมนตรี ซี่งจะทำหน้าที่ได้แค่ “ตรายาง”
ไม่เพียงเท่านั้น ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจยังเสนอให้ตั้ง “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” องค์กรกลางกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ที่มีงบประมาณ 5.1 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณแผ่นดิน 2 เท่า เข้ามาถือหุ้นแทนกระทรวงการคลัง ดำเนินนโยบาย สั่งการ กำหนดทิศทาง เป็นอิสระจาก “นักการเมืองชั่ว” ที่ประชาชนเลือกมา
นี่ยังไม่นับการแปลงร่างหน่วยงานในกระทรวงไอซีทีเป็น “นิติบุคคลที่ไม่ใช่ส่วนราชการไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ” ที่จะฮุบขุมทรัพย์คลื่นความถี่ไปจัดสรรเอง (แต่กันคลื่นวิทยุทหารออกก่อน) ตามกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 10+3 ฉบับ
รัฐบาลจากเลือกตั้ง ถ้ามีได้ก็จะเป็นเพียง “เจว็ด” เท่านั้น แต่ความเป็นจริง อำนาจจากเลือกตั้งไม่มีทางเป็นรัฐบาลได้ ต่อให้ประชาชนเลือกมาท่วมท้น 300 เสียงจาก 450 เสียง ก็ดำเนินนโยบายไม่ได้ สั่งข้าราชการไม่ได้ แต่งตั้งโยกย้ายไม่ได้ ไม่เกี่ยวไม่ข้องกับรัฐวิสาหกิจ เป็น “เจว็ด” ที่รังแต่ถูกจ้องจับผิด จ้องถอดถอน แจกใบแดง แจกข้อหา เป็นคนเลวตั้งแต่ยังไม่ลงเลือกตั้ง จนต้องตรวจภาษีย้อนหลัง นายกรัฐมนตรีไม่ต้องทำงานทำการ เพราะถูกบังคับให้ไปตอบกระทู้ถามในสภา คิดจะแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางทำได้ วันดีคืนดีก็มีคนไปร้องศาลตามมาตรา 7 มาตรา 68 ว่าเกิดภาวะวิกฤติขอนายกฯ คนกลาง
มีแต่รัฐบาล “นายกฯ คนกลาง” ที่มีอำนาจบารมีจนทุกฝ่ายกลัวเท่านั้น ที่จะบริหารประเทศได้ คนอื่นไม่มีทาง
เหลืองเขียวยึดอำนาจ
ในจุลสารของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2 ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 มีข้อเขียนเรื่อง “ระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง” ของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งผู้สนใจสามารถเปิดดูได้
http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution/more_news.php?cid=57
http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution/download/article/article_20150127165718.pdf
ท้ายบทความบวรศักดิ์เขียน Power Point แนวคิดของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีแผนภาพที่แสดงทัศนะของบวรศักดิ์ชัดเจน 3 แผนภาพ คือ สภาพสังคมวิทยาการเมืองไทยก่อนปี 2540 สภาพสังคมวิทยาการเมืองไทยหลังปี 2540 และ “ระบบรัฐสภาที่ปรับปรุงให้สมดุล”
บวรศักดิ์อธิบายสภาพสังคมวิทยาการเมืองไทยก่อนปี 2540 ว่ามีคน 3 กลุ่มคือ ข้าราชการ ทหาร/พลเรือน รัฐวิสาหกิจ ผู้คุมอำนาจรัฐ (สีเขียว) คนมั่งมีมหาศาล คนชั้นกลางระดับบน ผู้เข้าถึงทรัพยากรหรืออยู่ในระบบพันธสัญญา (สีเหลือง) ราษฎรส่วนใหญ่ในชนบท/คนชั้นกลางระดับล่าง เข้าไม่ถึงทรัพยากร อยู่ในระบบอุปถัมภ์ (สีแดง)
“สีแดง” เลือกสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการซื้อเสียงและอุปถัมภ์ ได้นายกฯ รัฐบาลผสม ขณะที่ “สีเขียว” กับ “สีเหลือง” ครองอำนาจในวุฒิสภา
แหม ใช่เลยครับ จนท่านปรามาจารย์บวรศักดิ์มายกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 สังคมการเมืองจึงเปลี่ยนไปในทางที่ดี
“สีแดง” เลือกสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการซื้อเสียงและอุปถัมภ์ ได้นายกฯ รัฐบาลผสม ขณะที่ “สีเขียว” กับ “สีเหลือง” ครองอำนาจในวุฒิสภา
แหม ใช่เลยครับ จนท่านปรามาจารย์บวรศักดิ์มายกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 สังคมการเมืองจึงเปลี่ยนไปในทางที่ดี
ขอพักฮาสักนิดว่าบวรศักดิ์ยอมรับงานวิจัยของนักวิชาการประชาธิปไตย ที่ว่าชนบทเปลี่ยนไปแล้ว คนชั้นกลางระดับล่างในชนบทคือเสียงที่มีอำนาจในการเลือกตั้ง
คำถามคือสภาพสังคมวิทยาการเมืองไทยหลังปี 2540 นี้ผิดตรงไหน อำนาจเป็นของประชาชน ตามที่บวรศักดิ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ไว้ (ที่ว่าสีเหลือง สีเขียว ลอยอยู่เฉยๆ ไม่จริงนะครับ ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งเท่ากัน 1 คน 1 เสียง แต่สีเหลืองแพ้เลือกตั้งเท่านั้นเอง) ถ้าจะมีปัญหาก็แค่รัฐบาลเข้มแข็งแทรกแซงทุกองค์กรสถาบัน ซึ่งควรแก้ตรงนั้น ไม่ใช่ริบอำนาจประชาชน
แล้วบวรศักดิ์แก้ปัญหาอย่างไร ง่ายมาก ก็แย่งอำนาจประชาชนคืนไปให้สีเขียวสีเหลือง
“ระบบรัฐสภาที่ปรับปรุงให้สมดุล” ของบวรศักดิ์ ใช้คำว่า “ประชาชน” (ไม่มีสี) เลือกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นสีแดง 2 ใน 3 สีเหลือง 1 ใน 3 มีวุฒิสภาเป็น “สภาพหุนิยม” มี 3 สีเท่ากัน อยู่ด้านบนของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเลือกนายกฯ “สีชมพู” (ไม่รู้มาจากไหน มาจากจุฬาคอนเนคชั่นหรือเปล่า)
ยังไม่พูดว่าเชื่อได้อย่างไรที่ในวุฒิสภาจะมี “สีแดง” ถึง 1 ใน 3 ในเมื่อกระบวนการสรรหามาจากชนชั้นนำ รัฐราชการ และองค์กรจัดตั้งของคนชั้นกลาง (บวรศักดิ์คงอ้างว่ามาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกตั้งทางอ้อมโดยผู้บริหารท้องถิ่น) แต่ข้อสำคัญคือ คุณเอาหลักอะไรกำหนดว่าคน 2 กลุ่มคือ ข้าราชการ คนมั่งมีและคนชั้นกลางระดับบน ควรจะมีอำนาจเท่าคนชนบทคนชั้นกลางระดับล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ (ซึ่งที่จริงก็มีทุกสีทุกภาค)
ข้าราชการผู้คุมอำนาจรัฐ คนมั่งมีมหาศาลคนชั้นกลางระดับบน ผู้เข้าถึงทรัพยากร รวมกันแล้วได้อำนาจ 2 เท่าของคนส่วนใหญ่ในชนบท คนชั้นกลางระดับล่าง ทั้งที่ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียงเท่ากัน นี่หลักการอะไรครับ แล้วพูดได้อย่างไรว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ (ในจุลสารยังมีบทความเพ้อเจ้อ “รัฐธรรมนูญกินได้” ของสุภัทรา นาคะผิว และบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ถ้าอำนาจไม่เท่าเทียม จะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร หรือให้หวังความเมตตาจากบรรดาขุนนางอำมาตย์ มหาเศรษฐี CSR)
แผนภาพนี้คือหลักฐานเปลือยล่อนจ้อนว่า รัฐธรรมนูญ 2558 ตั้งเป้าแย่งอำนาจจากประชาชนคืนให้รัฐราชการ คนมั่งมี และคนระดับบน ซึ่งเคยมีอำนาจเหนือประชาธิปไตยก่อนปี 2540 แล้วจะมาแย่งคืนอย่างไม่ชอบธรรม
ปันอำนาจกระฎุมพี
อะไรที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 นอกเหนือจากการยึดอำนาจไปเป็นของรัฐราชการ ก็คือการ “มีส่วนร่วม” ของคนมั่งมีและคนชั้นกลางระดับบน ที่จะร่วมใช้อำนาจเหนือคนส่วนใหญ่
ถ้าดูโมเดลสรรหาวุฒิสภา จะพบว่านอกจากชนชั้นนำ รัฐราชการ วุฒิสมาชิกยังมาจากผู้แทนองค์กรวิชาชีพ เช่น 3 องค์กรธุรกิจ แพทยสภา สภาทนายความ ฯลฯ ซึ่งก็คือตัวแทนของคนมั่งมีและคนชั้นกลางระดับบน (จำนวน 20 คน) ผู้มาจากการเลือกกันเองขององค์กรต่างๆ ที่จะกำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น เกษตร แรงงาน วิชาการ ชุมชน สื่อมวลชน ฯลฯ (จำนวน 40 คน) ซึ่งก็คือตัวแทนคนชั้นกลางในเมืองเป็นส่วนใหญ่ (คงมีสมาคมชาวนา สมานฉันท์แรงงานไทย แท็กซี่ สามล้อ หลุดเข้าไปซัก 2-3 คนหรอกนะ) ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งสมัครมาให้ผู้บริหารท้องถิ่นเลือก 100 คนโดยห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ก็จะคละกันไประหว่างตัวแทนคนมั่งมี คนชั้นกลางในตัวเมือง “ภาคประชาสังคม” และร่างทรงพรรคการเมืองขั้วต่างๆ
ถ้าดูโมเดลสรรหา กกต. จะพบว่า 2 คนมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา อีก 3 คนมาจากกรรมการสรรหา ซึ่งมี 3 ส่วนคือ ศาลยุติธรรมศาลปกครองฝ่ายละ 2 คน รัฐบาลฝ่ายค้านฝ่ายละ 2 คน ที่ประชุมอธิการบดีและสมัชชาคุณธรรม ฝ่ายละ 2 คน
ถ้าดูโมเดลการปกครองท้องถิ่น (ที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบริหารท้องถิ่น ไม่ยอมให้ปกครอง) นอกจากถูกริบอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ยังจะมี “สภาพลเมือง” มาคอยตรวจสอบถอดถอน ไม่รู้ว่า “พลเมือง” ลอยมาจากไหน เป็นใครกันถึงมีสิทธิมีอำนาจเหนือ 1 คน 1 เสียงที่เลือกตั้ง แต่เห็นเจตนารางๆ ถ้าไม่แปลงร่างจากสภาพัฒนาการเมืองของสถาบันพระปกเกล้า ก็พวกสภาองค์กรชุมชนของหมอพลเดช ปิ่นประทีป
โมเดลเหล่านี้สะท้อนการแบ่งปันอำนาจให้คนรวยและคนชั้นกลางระดับบน ผ่านสถาบันของกระฎุมพี เช่น องค์กรธุรกิจ องค์กรวิชาชีพ ที่ประชุมอธิการบดี รวมทั้ง “อ่อย” พวกที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาสังคม” ให้ฝันถึงที่นั่งในสมัชชาคุณธรรม สภาพลเมือง เพื่อเสริมความชอบธรรมให้รัฐราชการ ทั้งระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น แบบเดียวกันที่คนพวกนี้แห่เข้ามาสร้างความชอบธรรมให้สภาปฏิรูปใต้รัฐทหาร
ถ้าจำกันได้ พันธมิตรฯ เคยเรียกร้องอำนาจจากสรรหา 70-30 กปปส.ก็ชูธง “สภาประชาชน” ซึ่งคือความต้องการของคนชั้นกลางเก่า ที่อยากเข้ามามีอำนาจร่วมกับขุนนางอำมาตย์ กรรมาธิการยกร่างจึงตอบสนองความต้องการ ให้คนชั้นกลางเข้ามาร่วมขี่อยู่เหนือหัวคนชนบท กระนั้น ปัญหาคือพวกเขาจะจัดสรรอำนาจได้เป็นที่พอใจกันหรือไม่ (มิพักต้องกล่าวถึง “ความขัดแย้งทางชนชั้น” จะรุนแรงขึ้นตามการแบ่งสีของบวรศักดิ์)
ประเด็นยกร่างฯ ที่ต้องจับตา คือจะกำหนดอำนาจพิทักษ์รัฐธรรมนูญไหม ถ้ามี ก็คง “ปล่อยของ” ออกมาช่วงท้าย นอกจากนี้ยังจะมีรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลอ้างความปรองดอง บวรศักดิ์บอกว่าจะใช้เวลา 4 ปี (ตรงสูตรกระชับอำนาจ 1+4) โดยจะมีอำนาจหลายอย่างอยู่ต่อไปในบทเฉพาะกาล อย่างน้อย สปช.ก็สะท้อนแสงอีกหลายปี
ใบตองแห้ง
10 ก.พ.58