วันอาทิตย์, ตุลาคม 05, 2557

ลำดับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519



เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์จลาจล ตลอดจนการปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วง ซึ่งเกิดขึ้นในและบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง ขณะที่นักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยกำลังชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 46 คน ซึ่งมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี หรือถูกทำให้พิการ

หนึ่งวันก่อนเกิดเหตุการณ์ มีการตีพิมพ์ภาพถ่ายการแขวนคอจำลองโดยผู้ประท้วงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสื่อ สำหรับหลายฝ่าย นักศึกษาในภาพถ่ายนั้นเหมือนกับกำลังแขวนคอหุ่นจำลองสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผลให้กำลังกึ่งทหารที่โกรธแค้นมาชุมนุมกันนอกมหาวิทยาลัยในเย็นนั้น

พลตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ สั่งการโจมตีในรุ่งเช้าและอนุญาตให้ยิงเสรีในวิทยาเขต คณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยึดอำนาจทันทีหลังสิ้นสุดเหตุการณ์ สมาชิกของคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองนั้นมีความคิดสายกลางกว่ากลุ่มของพลตรีประมาณ และความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองกลุ่มยังเป็นที่เข้าใจไม่มากนัก[2] คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองแต่งตั้งธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ยึดมั่นในหลักการ และผู้ที่พระมหากษัตริย์โปรด เป็นนายกรัฐมนตรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
...

ลำดับเหตุการณ์
6 ตุลาคม 2519ที่มา http://www.2519.net/

สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศว่า พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นคำขาดต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลดำเนินการตามกฎหมายต่อ ศนท. ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเด็ดขาด หากมีรัฐมนตรีหรือนักการเมืองคนใดเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ก็ให้จับกุมและลงโทษตามกฎหมายทันที

สุธรรม แสงประทุม กับกรรมการ ศนท. และตัวแทนชุมนุมนาฏศิลป์ฯ เดินทางไปขอพบนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

01.40 น. กลุ่มคนประมาณ 100 คนได้บุกเข้าไปเผาแผ่นโปสเตอร์หน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านสนามหลวง กลุ่มคนที่อออยู่หน้าประตูพยายามจะบุกปีนรั้วเข้าไป มีเสียงปืนนัดแรกดังขึ้นและมีการยิงตอบโต้ประปรายแต่ไม่มีใครบาดเจ็บ

02.00 น. กลุ่มนวพลในนาม “ศูนย์ประสานงานเยาวชน” มีแถลงการณ์ความว่า “ขอให้รัฐบาลจับกุมกรรมการศูนย์ฯ ภายใน 72 ชั่วโมง หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้ นวพลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด”

03.00 น. สถานีวิทยุยานเกราะยังคงออกรายการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ตลอดทั้งคืน ส่วนภายในธรรมศาสตร์ยังมีการอภิปรายและแสดงดนตรีต่อไปแม้จะมีผู้พยายามบุกเข้ามหาวิทยาลัยและมีเสียงปืนดังขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ขึ้นอภิปรายบนเวทีขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ใช้อาวุธ ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น เจ้าหน้าที่หน่วยปราบจราจลยกกำลังมากั้นทางออกด้านสนามหลวง

05.00 น. กลุ่มคนที่ยืนออกอยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัยพยายามจะบุกปีนเข้าไปอีกครั้ง ยังคงมีการยิงตอบโต้ด้วยปืนพกประปราย

07.00 น. กลุ่มคนที่อออยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัยตั้งแต่ตอนตีหนึ่งพยายามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยโดยใช้รถบัสสองคันขับพุ่งเข้าชนประตู ต่อมาก็มีเสียงระเบิดดังขึ้น

07.50 น. ตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) และตำรวจท้องที่ ล้อมอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย โดยมี พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ และพล.ต.ต.ยุทธนา วรรณโกวิท มาถึงที่เกิดเหตุและเข้าร่วมบัญชาการ

08.10 น. พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ บัญชาการให้ตำรวจตระเวณชายแดน (ตชด.) อาวุธครบมือบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตชด.มีอาวุธสงครามใช้ทุกชนิด ตั้งแต่เครื่องยิงระเบิด ปืนต่อสู้รถถัง ปืนเอ็ม 79 ปืนเอ็ม 16 ปืนเอช.เค. และปืนคาร์บิน ตำรวจบางคนมีระเบิดมือห้อยอยู่ครบเต็มอัตราศึก เสียงปืนดังรุนแรงตลอดเวลา ตำรวจประกาศให้นักศึกษายอมจำนน นักศึกษาหลายคนพยายามวิ่งออกมาข้างนอก จึงถูกประชาชนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์ นักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมอยู่ข้างในแตกกระจัดกระจายหลบหนีกระสุน

08.18 น. ตชด.เข้าประจำการแทนตำรวจท้องที่ และมีกำลังใหม่เข้ามาเสริมอีก 2 คันรถ

08.25 น. ตชด.บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยหลายจุด พร้อมกับยิงกระสุนวิถีโค้ง และยิงกราดเข้าไปยังกลุ่มนักศึกษาซึ่งมีอยู่จำนวนมาก มีนักศึกษาถูกยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตทันทีหลายคน (ไทยรัฐ 7 ตุลาคม 2519)

08.30-10.00 น. นักศึกษาและประชาชนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยตลอดคืนต่างแตกตื่นวิ่งหนีวิถีกระสุนที่ตำรวจตระเวนชายแดนและกลุ่มคนที่เข้าก่อเหตุได้ยิงเข้าใส่ฝูงชนอย่างไม่ยั้ง ทั้งๆ ที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของนักศึกษามีปืนพกเพียงไม่กี่กระบอก

นักศึกษาประชาชนที่แตกตื่นวิ่งหนีออกไปทางหน้าประตูมหาวิทยาลัยในจำนวนนี้มีมากกว่า 20 คนถูกรุมตีรุมกระทืบ บางคนถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส แต่ยังไม่สิ้นใจ ได้ถูกลากออกไปแขวนคอ และแสดงท่าทางเยาะเย้ยศพต่างๆ นานา

นักศึกษาหญิงคนหนึ่งถูกรุมตีจนสิ้นชีวิตแล้วถูกเปลือยผ้าประจาน โดยมีชายคนหนึ่งซึ่งเข้าก่อเหตุรูดซิปกางเกงออกมาทำท่าเหมือนจะแสดงท่าข่มขืนหญิงผู้เคราะห์ร้ายนั้นให้พวกพ้องที่โห่ร้องอยู่ใกล้ๆ ดู มีประชาชนบางส่วนเมื่อเห็นเหตุการณ์ชวนสังเวชก็จะเดินเลี่ยงไป ด้วยน้ำตาคลอ

ประชาชนที่ชุมนุมอยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัย ลากศพนักศึกษาที่ถูกทิ้งอยู่เกลื่อนกลาดข้างหอประชุมใหญ่ 3 คนออกมาเผากลางถนนราชดำเนิน ตรงข้ามอนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผม ใกล้ๆ กับบริเวณแผงขายหนังสือสนามหลวง โดยเอายางรถยนต์ทับแล้วราดน้ำมันเบนซิน จุดไฟเผา ศพนักศึกษาอีก 1 ศพถูกนำไปแขวนคอไว้กับต้นมะขามแล้วถูกตีจนร่างเละ

เหตุการณ์ในและนอกธรรมศาสตร์ช่วงนี้มีรายละเอียดมากมาย ดังปรากฏจากคำพูดของผู้ประสบเหตุการณ์คนหนึ่งในวันนั้น ดังต่อไปนี้

…ในเช้าวันที่ 6 ตุลา ขณะที่ฉันนอนอยู่ตรงบันไดตึกวารสารฯ ก็ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น ฉันและเพื่อน 2 คนเดินออกมาดูเหตุการณ์ยังสนามฟุตบอล จึงทราบว่าพวกตำรวจได้ยิง เอ็ม 79 เข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บหลายคน เพื่อความปลอดภัย โฆษกบนเวทีประกาศให้ประชาชนหลบเข้าข้างตึก ฉันและเพื่อนยืนฟังอยู่พักหนึ่ง พวกทหารก็เริ่มระดมยิงเข้ามาในธรรมศาสตร์ทุกด้านเป็นเวลานาน ฉันกับเพื่อนจึงหมอบอยู่บริเวณข้างตึกโดมข้างๆ เวที ภาพที่เห็นข้างหน้าคือ บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่มีควันตลบไปหมด พวกมันระดมยิงถล่มมายังหน้าหอใหญ่เป็นเวลานาน พวกเราหลายคนถึงกับร้องไห้ด้วยความเคียดแค้น และเป็นห่วงเพื่อนๆ ของเราที่รักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน แต่พวกตำรวจระดมยิงเข้ามาเหมือนจะทำลายคนจำนวนพันคน ตำรวจยิงเข้ามาพักหนึ่ง เมื่อแน่ใจว่าพวกเราที่หน้าหอใหญ่ตายหมดแล้ว มันจึงกล้าเอารถเมล์วิ่งพังประตูเข้ามาในธรรมศาสตร์

เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น พวกเราจึงช่วยกันพังประตูตึกโดมเข้าไป ตอนแรกคิดว่าอยู่ในตึกคงปลอดภัย แต่เมื่อเห็นว่าพวกมันยังยิงเข้ามาไม่หยุดและเคลื่อนกำลังเข้ามามากขึ้น จึงตัดสินใจกระโดดลงจากตึกโดมแล้ววิ่งไปตึกศิลปศาสตร์และลงแม่น้ำเจ้าพระยา ฉันและเพื่อนๆ ได้ขึ้นฝั่งที่ท่าพระจันทร์ ปรากฏว่าพวกตำรวจตรึงกำลังอยู่บริเวณดังกล่าว และปิดถนนถึงท่าช้าง ประชาชนบริเวณท่าพระจันทร์ปิดประตูหน้าต่างกันหมด พวกเราเดินเลาะไปตามริมน้ำ พอมาระยะหนึ่งไม่มีทางไป เพื่อนบางส่วนพอวิ่งออกไปถนนก็ถูกตำรวจจับ ฉันและเพื่อนจึงตัดสินใจเคาะประตูบ้านประชาชนบริเวณนั้น มีหลายบ้านเปิดให้พวกเราเข้าไปหลบด้วยความเต็มใจ เนื่องจากจำนวนคนมีมากเหลือเกิน เพื่อนของเราบางส่วนยอมเสียสละให้ผู้หญิงและประชาชนเข้าไปหลบในบ้านประชาชน ในบ้านที่ฉันเข้าไปหลบอยู่มีคนประมาณ 30 คนอยู่ด้วย เจ้าของบ้านต้มข้าวต้มให้พวกเรากิน ฉันนั่งฟังเสียงปืนที่พวกมันยิงถล่มธรรมศาสตร์อยู่ประมาณชั่วโมงเศษ มีทหารและตำรวจ 2 คนมาเคาะประตูบ้าน มันขู่ว่าถ้าไม่เปิดจะยิงเข้ามา เจ้าของบ้านจึงต้องไปเปิดให้พวกตำรวจเข้ามาตรวจค้นบ้านทุกชั้น ทุกห้องตามความต้องการ

พวกเราถูกตำรวจไล่ให้มารวมกับคนอื่นๆ ที่ถูกจับอยู่ก่อนแล้วที่ถนนข้างวัดมหาธาตุ นอนกันเป็นแถวยาวมาก ตำรวจสั่งให้ผู้ชายถอดเสื้อ ทุกคนต้องนอนอยู่นิ่งๆ ห้ามเงยหัวขึ้นมา พวกเราต้องนอนอยู่เช่นนี้เป็นเวลาหลายชั่วโมง ต้องทนตากแดดอยู่กลางถนน และยังมีกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้านที่ร้ายกาจหลายคนเดินด่าว่าพวกเราอย่างหยาบคาย ทั้งพูดท้าทายและข่มขู่อยู่ตลอดเวลา เราต้องเผชิญกับการสร้างสถานการณ์ข่มขู่ทำลายขวัญของพวกตำรวจ โดยสั่งให้พวกเรานอนคว่ำหน้าและไล่ประชาชนออกจากบริเวณนั้น แล้วยิงปืนรัวสนั่นจนพอใจจึงหยุด ฉันนอนอยู่ริมๆ แถวรู้สึกว่ากระสุนวิ่งไปมาบนถนน ไม่ห่างไกลจากเท้าฉันนัก บางครั้งก็มีเศษหินเศษอิฐกระเด็นมาถูกตามตัวพวกเรา แทนที่พวกตำรวจจะทำลายขวัญพวกเราสำเร็จ กลับเสริมความเคียดแค้นให้กับพวกเราทุกคน เหมือนฉันได้ผ่านเตาหลอมที่ได้ทดสอบความเข้มแข็งและจิตใจที่ไม่สะทกสะท้านต่อการข่มขู่ บางคนรู้สึกกลัว พวกเราก็คอยปลอบใจ ไม่ให้กลัวการข่มขู่ พวกมันทำเช่นนี้อยู่หลายครั้งจนพอใจ จึงสั่งให้พวกเราคลานไป สักพักหนึ่งมันก็ตะคอกสั่งให้หมอบลง จนถึงรถเมล์ที่จอดอยู่ใกล้ๆ ก็ให้ลุกขึ้นเข้าแถวทยอยกันขึ้นรถ

พวกเรานั่งกันเต็มรถทั้งที่นั่งและพื้นรถ ตำรวจสั่งให้พวกเราเอามือไว้บนหัวและต้องก้มหัวลงต่ำๆ พอรถแล่นออกมายังสนามหลวงผ่านราชดำเนินจะมีกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้านตั้งแถวรออยู่ พอรถมาถึงมันก็ขว้างก้อนอิฐก้อนหินและโห่ร้องด้วยความชอบใจ พวกเราในรถหลายคนหัวแตก บางคนถูกหน้าผากเลือดไหลเต็มหน้า พวกตำรวจที่คุมมาก็คอยพูดจาเยาะเย้ยถากถางและตะคอกด่าพวกเรามาตลอดทางจนถึงบางเขน พอรถเลี้ยวเข้ามาบางเขนก็มีตำรวจเอาเศษแก้วขว้างเข้ามาในรถ แต่โชคดีที่ไม่ถูกใครเข้า เมื่อรถวิ่งเข้ามาจอดที่เรือนจำก็มีตำรวจกลุ่มหนึ่งวิ่งเข้ามาล้อมรถไว้ บางส่วนกรูเข้าในรถ ทั้งด่า ทั้งเตะ ซ้อมคนในรถตามชอบใจ คนไหนใส่แว่นมันยิ่งซ้อมหนัก บางคนถูกมันกระชากเอาแว่นไปด้วย พวกมันสั่งให้ทุกคนถอดนาฬิกาและสร้อยคอให้หมด ผู้ชายต้องถอดเข็มขัดออก มันอ้างว่าเดี๋ยวพวกเราจะเอาไปผูกคอตายในคุก คนไหนไม่ทำตามมันก็เอาท้ายปืนตี มันทำตัวยิ่งกว่าโจร ยิ่งกว่าสัตว์ป่าอีกด้วย

ฉันและเพื่อนหญิงประมาณ 400 คน ถูกขังอยู่ชั้น 2 ของเรือนจำ มีอยู่ 2 ห้อง ห้องหนึ่งจุคน 200 กว่าคน สภาพในคุกทั้งสกปรก ทั้งคับแคบ ต้องนอนเบียดเสียดกัน น้ำก็ไม่มีให้ใช้ ในระยะแรกน้ำก็ไม่มีให้กิน พวกเราทุกคนที่อยู่ในคุกได้จัดตั้งกันเป็นกลุ่มๆ ตามแต่ละองค์กรเพื่อช่วยเหลือกัน จัดให้มีการพูดคุยปรึกษาหารือ เช่น เล่าแลกเปลี่ยนเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา ที่แต่ละคนได้พบเห็นความทารุณโหดร้ายของ ตชด. ตำรวจ กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน ที่ร่วมกันเข่นฆ่าเพื่อนๆ และพี่น้องประชาชนอย่างโหดเหี้ยม….

เหตุการณ์น่าสังเวชที่มีรายละเอียดยังมีอีกมาก ดังส่วนหนึ่งกระจายเป็นข่าวไปทั่วโลก ดังเช่น

นีล ยูลิวิค ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่อยู่ในเหตุการณ์ได้รายงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เดอะ รียิสเตอร์ วันที่ 8 ตุลาคม 2519 ว่า “ด้วยความชำนาญในการสื่อข่าวการรบในอินโดจีนแล้ว ข้าพเจ้าสามารถบอกได้ว่าเสียงปืนที่ได้ยินนั้น 90% ยิงไปในทิศทางเดียวกัน คือยิงใส่นักศึกษา บางครั้งจึงจะมีกระสุนปืนยิงตอบมาสักนัดหนึ่ง

เลวิส เอ็ม ไซมอนส์ รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ ซานฟรานซิสโก ครอนิเกิล วันที่ 7 ตุลาคม 2519 ว่า “หน่วยปราบปรามพิเศษต่างก็กราดปืนกลใส่ตัวอาคารและส่วนอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย พวกแม่นปืนที่ได้รับการฝึกมาเป็นพิเศษใช้ปืนไรเฟิลแรงสูงยิงเก็บเป็นรายตัว ตำรวจพลร่มกลุ่มหนึ่งสวมหมวกเบเร่ต์ดำ เสื้อแจ๊คเก็ตดำคลุมทับชุดพรางตาสีเขียวได้ยิงไปที่อาคารต่างๆ ด้วยปืนไร้แรงสะท้อนยาว 8 ฟุต ซึ่งปกติเป็นอาวุธต่อสู้รถถัง ส่วนตำรวจคนอื่นๆ ก็ยิงลูกระเบิดจากเครื่องยิงประทับไหล่ ไม่มีเวลาใดเลยที่ตำรวจจะพยายามให้นักศึกษาออกมาจากที่ซ่อนด้วยแก๊สน้ำตา หรือเครื่องควบคุมฝูงชนแบบมาตรฐานอื่นๆ” ไซมอนส์ได้อ้างคำพูดของช่างภาพตะวันตกคนหนึ่งที่ชาญสนามมา 4 ปีในสงครามเวียดนาม ซึ่งกล่าวว่า “พวกตำรวจกระหายเลือด มันเป็นการยิงที่เลวร้ายที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมา”

สำนักข่าวเอพี (แอสโซซิเอเต็ด เพรส)รายงานจากผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยว่า นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ถูกล้อมยิงและถูกบุกทำร้ายจากพวกฝ่ายขวาประมาณ 10,000 คน ตำรวจระดมยิงด้วยปืนกลใส่นักศึกษาที่ถูกหาว่าเป็นฝ่ายซ้าย นักศึกษา2 คนถูกแขวนคอและถูกตีด้วยท่อนไม้ ถูกควักลูกตา และถูกเชือดคอ

นายจี แซ่จู ช่างภาพของเอพี กล่าวว่า เขาเห็นนักศึกษา 4 คนถูกลากออกไปจากประตูธรรมศาสตร์ถึงถนนใกล้ๆ แล้วถูกซ้อม ถูกราดน้ำมันเบนซินแล้วเผา

หนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิส ไทมส์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตีพิมพ์รายงานจากผู้สื่อข่าวของตนในกรุงเทพฯ ว่า กระแสคลื่นตำรวจ 1,500 คนได้ใช้ปืนกลระดมยิงนักศึกษาในธรรมศาสตร์ พวกฝ่ายขวาแขวนคอนักศึกษา 2 คน จุดไฟเผา ตีด้วยท่อนไม้ ควักลูกตา เชือดคอ บางศพนอนกลิ้งกลางสนามโดยไม่มีหัว

หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 รายงานว่ามีนักศึกษาอย่างน้อย 4 คนพยายามหลบรอดออกมาข้างนอกมหาวิทยาลัย แต่แล้วก็ถูกล้อมกรอบด้วยพวกตำรวจ และพวกสนับสนุนฝ่ายขวาเข้ากลุ้มรุมซ้อมและทุบด้วยท่อนไม้จนถึงแก่ความตาย นักศึกษาบางคนมีเลือดไหลโชกศีรษะและแขน เดินโซเซออกมาจากมหาวิทยาลัยแล้วก็ล้มฮวบลง

สำนักข่าวอินเตอร์นิวส์ ผู้พิมพ์วารสารอินเตอร์เนชั่นแนล บุลเลทิน รายงานว่าตำรวจได้ใช้ปืนกล ลูกระเบิดมือ ปืนไร้แรงสะท้อน ระดมยิงนักศึกษาในมหาวิทยาลัย นักศึกษาหลายคนถูกจับตัวและถูกราดน้ำมันเบนซินแล้วจุดไฟเผา คนอื่นๆ บ้างก็ถูกซ้อม บ้างก็ถูกยิงตาย “ผู้อยู่ในธรรมศาสตร์ขอร้องให้ตำรวจหยุดยิง ตำรวจก็ไม่หยุด ขอให้หยุดชั่วคราวเพื่อให้ผู้หญิงที่อยู่ในมหาวิทยาลัยมีโอกาสหนีออกไป ตำรวจก็ไม่ฟัง”

11.00 น. หลังจากตำรวจบุกยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว นักศึกษาประชาชนถูกสั่งให้นอนคว่ำ แล้วควบคุมตัวไว้ทยอยลำเลียงขึ้นรถเมล์และรถสองแถวส่งไปขังตามสถานีตำรวจต่างๆ (มี 3 แหล่งใหญ่ๆ ได้แก่ นครปฐม ชลบุรี และร.ร.ตำรวจนครบาลบางเขน) มากกว่า 3,000 คน ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่นั้น นักศึกษาชายและหญิงถูกบังคับให้ถอดเสื้อ นักศึกษาหญิงเหลือแต่เสื้อชั้นใน ถูกสั่งให้เอามือกุมหัว นอนคว่ำคลานไปตามพื้น ระหว่างที่คลานไปตามพื้นก็ถูกเตะถีบจากตำรวจ ระหว่างขึ้นรถก็ถูกด่าทออย่างหยาบคายและถูกขว้างปาเตะถีบจากตำรวจและอันธพาลกระทิงแดง ลส.ชบ. ระหว่างลงจากรถไปยังที่คุมขังก็ถูกตำรวจปล้นชิงทรัพย์สินและของมีค่าไป

กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้กำชับการอยู่เวรยาม ให้เจ้าหน้าที่สื่อสารคอยรับฟังข่าวจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสดับตรับฟังข่าวในเขตจังหวัด ป้องกันการก่อวินาศกรรมสถานที่ราชการ และหาทางยับยั้งอย่าให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

กทม.สั่งปิดโรงเรียนในสังกัดโดยไม่มีกำหนด กระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนในสังกัดถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2519 กระทรวงยุติธรรมสั่งหยุดศาลต่างๆ 1 วัน

11.50 น. สำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ตั้งกองบัญชาการรักษาความสงบเรียบร้อยขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล

12.00 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์สรุปได้ว่า

1.เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสยามมกุฎราชกุมารได้แล้ว 6 คน จะดำเนินการส่งฟ้องศาลโดยเร็ว
2.เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมสถานการณ์การปะทะกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว
3.รัฐบาลได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด

12.30 น. กลุ่มลูกเสือชาวบ้านและประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนชุมนุมอยู่ที่ลานพระรูปทรงม้า มีการพูดกลางที่ชุมนุม โดยนายอุทิศ นาคสวัสดิ์ ให้ปลดรัฐมนตรี 4 คน คือนายสุรินทร์ มาศดิตถ์ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ นายชวน หลีกภัย และนายวีระ มุสิกพงศ์ โดยแต่งตั้งให้นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมบุญ ศิริธร ให้อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป ในที่ชุมนุมมีการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการกับผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเฉียบขาด

นิสิตจุฬาฯ ประมาณ 3,000 คน ชุมนุมกันภายในบริเวณมหาวิทยาลัย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ชี้แจงถึงเหตุการณ์จราจลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 1. เรียกร้องให้นิสิตจุฬาฯ ออกชี้แจงกับประชาชนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2. เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด 3. ยืนยันว่าหากเกิดรัฐประหาร พวกตนจะต่อสู้ถึงที่สุด 4. ยืนหยัดในการขับพระถนอมออกนอกประเทศ

บ่ายวันนั้นมีการประชุม ครม.นัดพิเศษ พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ และพล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ เข้าชี้แจงเหตุการณ์ต่อที่ประชุม ครม.

14.20 น. ประชาชนและลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าส่วนหนึ่ง ประมาณ 4,000 คน เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล และส่งตัวแทน 5 คนเข้าพบนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ปรับปรุง ครม. และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะพิจารณาดำเนินการ

17.00 น. ประชาชนและลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่สลายตัว

18.00 น. พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศยึดอำนาจ ความว่า “ขณะนี้ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม เป็นต้นไป และสถานการณ์ทั้งหลายตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน…” โดยมีเหตุผลในการยึดอำนาจการปกครอง คือ “…คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ประจักษ์แจ้งถึงภัยที่ได้เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือ ได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาบางกลุ่ม ได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการเข้าจับกุมก็ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธร้ายแรงที่ใช้ในราชการสงคราม โดยร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชาวเวียดนามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก”

สรุปความเสียหายจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ตามตัวเลขทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 39 คน บาดเจ็บ 145 คน (ในจำนวนนี้เป็นตำรวจเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 23 คน) นักศึกษาประชาชนถูกจับกุม 3,094 คน เป็นชาย 2,432 คน หญิง 662 คน ขณะที่แหล่งข่าวอ้างอิงจากการเก็บศพของเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู ประมาณว่ามีนักศึกษาประชาชนเสียชีวิต 530 คน ส่วนทรัพย์สิน (จากการสำรวจของคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีครุภัณฑ์และวัสดุของคณะต่างๆ เสียหายเป็นมูลค่า 50 กว่าล้านบาท ร้านสหกรณ์มีสินค้าและทรัพย์สินเสียหาย 1 ล้าน 3 แสนบาท สิ่งของมีค่าหายสาบสูญ อาทิ โทรทัศน์ เครื่องพิมพ์ดีด กล้องถ่ายรูป เทปบันทึกเสียง เครื่องเย็บกระดาษ เสื้อผ้า เงินสด รายงานแจ้งว่า “หน้าต่างถูกทุบและโดนลูกกระสุนเสียหาย โต๊ะเก้าอี้พัง ห้องพักอาจารย์ถูกรื้อค้นกระจัดกระจาย”

24 สิงหาคม 2520

อัยการศาลทหารกรุงเทพฯ พิจารณาสำนวนสอบสวนแล้ว มีคำสั่งฟ้องนักศึกษาและประชาชนเป็นผู้ต้องหาจำนวน 18 คน



16 กันยายน 2521

ผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ทั้ง 18 คน ได้รับการนิรโทษกรรม พร้อมกับผู้ต้องหาในศาลอาญาอีก 1 คน คือนายบุญชาติ เสถียรธรรมมณี ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ

18 กันยายน 2521

สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สมธ.) ร่วมกับสโมสรนักศึกษา 8 แห่ง จัดงานรับขวัญ “ผู้บริสุทธิ์ 6 ตุลา” ที่ลานโพธิ์






ที่มา :

(1) คัดลอกและเรียบเรียงจาก จุลสาร “พิสุทธ์” เนื่องในงานรำลึกวีรชนเดือนตุลา จัดพิมพ์โดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
(2) จุลสาร “ตุลา สานต่อเจตนาวีรชน” จัดพิมพ์โดย พรรคสัจจธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง
(3) หนังสือ “รอยยิ้มในวันนี้” คณะกรรมการบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2522
ooo


หลังจากผู้ต้องหาคดี ๖ ตุลา จำนวน ๑๙ คน ถูกจับกุมคุมขังนาน ๗๑๐ วัน ในที่สุดพวกเขาก็ได้รับอิสระภาพ เมื่อันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๒๑ หลังจากที่รัฐบาลของ พล อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ooo
เบื้องหลังวิกฤติ 6 ตุลาคม 2519
http://www.youtube.com/watch?v=I52UmNghGj4&sns=fb