ที่มา มติชนออนไลน์
ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Kasian Tejapira
----------
ฟังเสียงวิพากษ์ โรดแมป ′บิ๊กตู่′
มติชนรายวัน 13 ก.ค. 2557
หมายเหตุ - ความเห็นของฝ่ายต่างๆ ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ระบุแนวทางรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่จะให้อำนาจ คสช.กับรัฐบาลมีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน กระบวนการคัดสรรสภาปฏิรูปจาก 11 กลุ่ม ประมาณ 550 คน จังหวัดคัดเลือกเหลือจังหวัดละ 1 คน และคัดสรรให้เหลือไม่เกิน 250 คน รวมถึงการปลุกค่านิยม 12 ข้อ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม
ยุทธพร อิสรชัย
คณบดีสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ทั้งหมดที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้เเถลงออกไป ทั้งเรื่องค่านิยมคนไทย 12 ข้อ เรื่องอำนาจการถ่วงดุลระหว่างรัฐบาลเเละ คสช. รวมทั้งเรื่องสภาปฏิรูป คิดว่าเป็นเจตนารมณ์อันดีของ คสช.ในการจัดการบ้านเมือง มีกระบวนการที่ถ่ายอำนาจลงมาสู่รัฐบาล โดยเเบ่งงานด้านบริหารเเละความมั่นคงตามที่ได้บอกไป ตรงนี้เส้นเเบ่งควรจะต้องมีความชัดเจนอยู่พอสมควร เพราะว่าท้ายที่สุดจะต้องทำให้เห็นว่ารัฐบาลนั้นมีอิสระพอสมควรในการที่จะบริหารงานบ้านเมือง
การรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนในสังคม ต้องมีช่องทางต่างๆ ที่กว้างขวาง อย่าลืมว่ารัฐบาลที่ถูกตั้งขึ้นเป็นรัฐบาลที่มาจากคสช. ยังไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น เเม้ คสช.จะมีอำนาจอยู่ เเต่ก็จำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนในการใช้อำนาจหลังจากที่มีรัฐบาลเกิดขึ้นได้
เรื่องสภาปฏิรูป อยากเห็นกลไกที่ยึดโยงกับประชาชน กลไกที่ยึดโยงตรงนี้คงไม่ใช้เเค่เฉพาะเรื่องของการมีตัวเเทนจาก 77 จังหวัดเข้ามาในสภาปฏิรูปเท่านั้น เเต่กระบวนการยึดโยงกับประชาชนนั้นจะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้สภาปฏิรูปเป็นสภาสื่อสารที่จะให้ตัวเเทนทั้ง 77 จังหวัดเป็นตัวเเทนไปสื่อสารกับพี่น้องประชาชนในการนำเอาความต้องการ ปัญหา เเละความคิดเห็นต่างๆ ขึ้นมาประกอบในการร่างรัฐธรรมนูญ
กระบวนการการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเทศก็มาจากการเเต่งตั้ง หลายประเทศก็มาจากการเลือกตั้ง เเต่ส่วนใหญ่ในโลก กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งจะประสบความสำเร็จในการที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญไปบังคับใช้ได้มากกว่าเพราะจะทำให้ประชาชนรู้สึกได้ว่ามีความเป็นเจ้าของในรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ คือ รัฐธรรมนูญปี 50 เเละ 40 ซึ่งปี 50 ไม่มีตัวเเทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เเต่เป็นสภาสมัชชาเเห่งชาติ 2,000 คนเลือกกันมา เป็น ส.ส.ร. เเต่ปี 40 เป็นการเลือกตัวเเทน 76 จังหวัดมารวมกับผู้เชี่ยวชาญอีก 23 คน เป็น 99 คน มีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็น หรือการประชาพิจารณ์ที่กว้างขวางกว่า ทำให้รัฐธรรมนูญปี 40 ประชาชนจะรู้สึกเป็นเจ้าของมากกว่า
เราจะเห็นได้เลยว่า เเม้รัฐธรรมนูญปี 50 จะมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าปี 40 ถึง 10 กว่ามาตรา เเต่ทำไมรัฐธรรมนูญปี 50 ถึงไม่สามารถนำบทบัญญัติเหล่านั้นมาใช้อย่างจริงจังได้ นั่นเป็นเพราะว่าต้นทางของการร่างไม่ได้มีอะไรที่ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญนั่นเอง
ทั้งนี้ เเม้ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่เลือกเป็นนายกฯเอง คิดว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้อยู่ เพราะ คสช.ยังมีอำนาจพิเศษ เเละน่าจะเหนือกว่านายกฯ เเต่สูตรที่ดีที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เองเเละควบตำเเหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนตำเเหน่ง ผบ.เหล่าทัพต่างๆ ที่จะหมดวาระก็มานั่งตำเเหน่งรองนายกฯควบกับตำเเหน่งรองหัวหน้า คสช. เเละทำให้โครงสร้างพีระมิดในกองทัพได้ขยับเคลื่อนได้ทุกๆ กองทัพ
ทวี สุรฤทธิกุล
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ค่านิยม 12 ข้อที่ได้แถลงไปอาจจะพอเทียบเคียงได้กับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ครั้งหนึ่งเคยปลุกเร้าให้ประชาชนชาตินิยมและมีอุดมการณ์ที่เด่นชัด จะสร้างชาติให้พ้นจากภัยคุกคาม โดยยุคนั้นจะเรียกกันเล่นๆว่า "ยุคมาลานำไทย" ที่สั่งให้คนสวมหมวก ออกจากบ้านต้องใส่รองเท้า หอมแก้มกันก่อนออกจากบ้าน ห้ามเคี้ยวหมาก เป็นต้น ในอดีตนั้นออกจะเข้มกว่าเพราะเป็นในเชิงคำสั่ง แต่เหตุการณ์ในอดีตครั้งนี้ก็เข้าใจได้ว่ามีที่มาที่ไป คือสร้างค่านิยมให้พ้นจากภัยคุกคาม
สำหรับในยุค คสช.นี้ที่จะมีการพลิกฟื้นฟูคุณค่าหรือค่านิยมดีงามขึ้นมา อาจจะเป็นด้วยเห็นว่ายุคนี้ค่านิยมมีแต่ความเสื่อม ซึ่งเลวร้ายกว่าการแตกแยกภายในสังคมเสียอีก สังคมผ่านวิกฤตต่างๆ มามากในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมานี้ จึงต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมต่างๆ ให้ดีขึ้น
"เชื่อว่าเป็นความหวังดีที่จะช่วยสังคมที่เสื่อมโทรม สังคมที่ไม่เคารพกฎหมาย ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีมนุษย์ป้าเกิดขึ้น ทหารคงวิเคราะห์แล้วมองได้ว่าควรจะต้องรีบแก้ตรงจุดนี้ อย่างไรก็ตาม ในทางรัฐศาสตร์อาจจะมองได้ว่าเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐ เพราะ คสช.ถือว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เมื่อมีการประกาศออกมา น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่ แต่อาจจะไม่เข้มข้นในแนวทางปฏิบัติเหมือนกับสมัยจอมพล ป.ก็ได้"
เรื่องการถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐบาลและ คสช.เห็นว่าการบริหารในสถานการณ์แบบนี้คือมีทั้งรัฐบาลและผู้มีอำนาจอำนวยการ ซึ่งหมายถึง คสช. อาจจะเรียกว่าเป็นอำนาจที่ 4 นอกจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และศาล และสำหรับอำนาจที่ 4 นี้ดำเนินงานผ่านสามขา ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาปฏิรูป และรัฐบาล เป็นลักษณะของความสมดุลทางอำนาจอีกอย่างหนึ่ง โดยการถ่วงดุลนี้คือการควบคุมทั้งสามขาให้ทำงานได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า คสช.จะไม่ปล่อยให้ทั้งสามองค์กรทำงานอย่างอิสระ ทั้งนี้ เพื่อลดความขัดแย้ง และอีกส่วนหนึ่งเพื่อต้องการล้มระบอบเดิม จึงต้องการคุมอำนาจไว้ก่อนเพื่อให้ระบอบเดิมกลับมาไม่ได้
ส่วนการเปิดกว้างให้สมัครเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปนั้น เห็นว่าเปิดกว้างเกินไป แต่อาจจะเป็นไปได้ว่า คสช.อาจจะต้องการที่จะได้รู้ว่าสังคมมีความตื่นตัวกับนโยบายของ คสช.หรือไม่ มีความสนใจมากน้อยแค่ไหน หากได้ฝ่ายที่เห็นต่างมาเข้าร่วมด้วยจะทำให้เกิดการยอมรับในนโยบายมากขึ้นว่า แม้ฝ่ายขั้วที่เคยตรงข้ามยังยอมรับและให้การสนับสนุน หรืออีกทางหนึ่ง คสช.ต้องการที่จะรู้ว่าใครเป็นใคร มีแนวคิดอะไรอย่างไรก็เป็นได้ ก่อนที่จะนำไปสู่การคัดกรองกับตัวแทนแต่ละจังหวัดที่คาดว่าจะคัดมาให้ร่วมในสภาปฏิรูป เชื่อว่าระบบราชการคงต้องเข้ามายุ่งด้วยแน่แต่ไม่ออกหน้าโดยตรง ซึ่ง คสช.คงคาดหวังและไว้ใจในระบบราชการมาก ส่วนจะเป็นตัวแทนแท้จริงในการนั่งในสภาปฏิรูปก่อนจะร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น เห็นว่าคงเป็นไปได้ในทางหลักทฤษฎีที่ว่าเป็นตัวแทนโดยชื่อและเป็นตัวแทนโดยงานที่ทำ
อย่างไรก็ตาม ในการทำงานภาพรวมเป็นเรื่องยาก หากจะต้องการปฏิรูปหลายๆ เรื่อง จำเป็นต้องใช้ทั้งสององค์ประกอบร่วมกัน
อภินันท์ โปษยานนท์
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
กรณี พล.อ.ประยุทธ์ให้ทุกภาคส่วนช่วยกันสร้างค่านิยมหลักของคนไทย 12 ข้อ เพื่อสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็งนั้น ในส่วนของ วธ.เรื่องการสร้างค่านิยมทั้ง 12 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นภารกิจและเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงอยู่แล้วและได้ดำเนินการมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปลูกฝังเรื่องความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่การที่หัวหน้า คสช.พูดเรื่องนี้ ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้ทุกภาคส่วนทบทวนแนวทางขับเคลื่อนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เรื่องค่านิยมหรือว่างานวัฒนธรรมต้องยอมรับว่าเป็นงานนามธรรม ดังนั้น มองว่าต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม หลายโครงการที่ วธ.ได้ทำมาแล้ว แต่อาจจะขาดความต่อเนื่อง ดังนั้น คิดว่าหลังจากนี้ จะเชิญผู้บริหาร วธ.มาหารือและพูดคุยเพื่อกำหนดแนวทางในการสร้างค่านิยมด้วยมิติวัฒนธรรมให้เกิดความชัดเจนขึ้น
"ที่ผ่านมาโครงการที่จะช่วยสร้างค่านิยมให้คนไทยและรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย อาทิ วัฒนธรรมประชาธิปไตย ซึ่งหลังจากนี้ก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้น โดยจะทำให้ครอบคลุมทั้งประเทศ นอกจากนี้ จะคัดเลือกกิจกรรมที่มองว่าจะช่วยส่งเสริมค่านิยมความเป็นไทยด้วยวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดค่านิยมที่พึงประสงค์และเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้ร่วมกิจกรรม การปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณของปี 2557 ของ วธ.ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่อนุรักษ์และส่งเสริมความเป็นไทยด้วยมิติวัฒนธรรมและสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมอย่างต่อเนื่องการจัดกิจกรรมครอบครัวตัวอย่างซึ่งจะขยายไปทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม การบ่มเพาะค่านิยมของคนไทย ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันปลูกฝังให้ลูกหลาน ซึ่ง วธ.พร้อมที่จะช่วยสนับสนุนในการจัดกิจกรรมหรือขับเคลื่อนงานของกระทรวง เพื่อให้คนไทยกลับมาเป็นคนมีน้ำใจไมตรีและมีศีลธรรม เพื่อให้สังคมกลับมาเข้มแข็งเหมือนเดิม"
กมล รอดคล้าย
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)
การปลุกค่านิยมของคนไทย 12 ข้อถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่ง 12 ข้อที่เน้นย้ำส่วนใหญ่จะตรงกับที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังดำเนินการในการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาหน้าที่พลเมืองและวิชาประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เช่น มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความซื่อสัตย์ เสียสละและอดทน มีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย เป็นต้น โดยจะได้ประสานนายวินัย รอดจ่าย ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองไปผลักดันต่อ และต้องพิจารณาว่าข้อไหนบ้างที่ยังไม่มีอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนอาจจะต้องเพิ่มเติมหรือช่วยผลักดันต่อโดยอาจจะเพิ่ม 12 ข้อไว้ในหนังสือเรียน หรือจะบรรจุไว้ในคู่มือการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมืองของครูผู้สอน และอีกช่องทางหนึ่งในการผลักดันแนวคิดนี้ สพฐ.อาจจะหาช่องทางรณรงค์เรื่องนี้ทางทีวีด้วย