นี่ คสช.ก็เพิ่งอนุมัติยิ่งลักษณ์บินไปยุโรป 20 วัน
นี่คือการวินิจฉัยว่า "นโยบายผิดติดคุก" ผลงานฆ่าตัดตอนประชาธิปไตยอีกศพ เพราะตัดสินว่ายิ่งลักษณ์ผิดที่ดำเนินนโยบายตามหาเสียงไว้ เป็นนโยบายที่ผิดพลาด เสียหาย เกิดการทุจริต แล้วไม่ยกเลิก (แม่-พ่วงข้อหาชาวนาฆ่าตัวตายเข้ามาอีกต่างหากทั้งที่เป็นเพราะ กกต.ตีความว่ากู้ไม่ได้)
ไม่ได้บอกว่าจำนำข้าวถูกต้องนะครับแต่ที่ ปปช.บรรยายมามันคือ "ความผิดทางการเมือง" ไม่ใช่ "ความผิดทางอาญา" ถ้าบอกว่าบุญทรงทุจริตผิด 157 ยิ่งลักษณ์รู้ว่าบุญทรงทุจริตยังละเลยยังงั้นก็ผิด 157 แต่ที่ ปปช.เอาผิดนี่มันคือการดำเนินนโยบายในภาพรวม ซึ่งต้องเป็น "ความผิดทางการเมือง" หมายถึงเสื่อมความนิยม ถูกอภิปราย ถูกด่า ไม่ได้รับเลือกเข้ามาอีก หรือคะแนนตก ฯลฯ
ทำไมต้องยอมให้เป็นความรับผิดทางการเมือง ก็เพราะถ้าชี้มูลแบบ ปปช.ก็แปลว่าต่อไปพรรคการเมืองไหน หาเสียงกับประชาชนไว้ แล้วเข้ามาดำเนินนโยบายตามนั้น แล้วมันกลายเป็นความผิดพลาด เสียหาย ปปช.ก็เอาเข้าคุกได้ "นโยบายผิดติดคุก"
นี่คือการฆาตกรรม "ประชาธิปไตยกินได้" ปิดฉากการหาเสียงด้วยนโยบาย พรรคการเมืองหาเสียงโง่ๆ พูดโอ่สวยๆ แล้วเข้าไปเป็นปลัดกระเทศ ให้ราชการ เทคโนแครต กำหนดนโยบายแทน
เรื่องเกี่ยวข้อง...
ป.ป.ช.มีมติ 7-0 แจ้งข้อกล่าวหา "ยิ่งลักษณ์" โครงการจำนำข้าว ผิดอาญา ม.157 "วรงค์" ชี้เป็นไปตามคาด
ที่มา มติชนออนไลน์
วันนี้ 17 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)นนทบุรี นายวิชามหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. และ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงข่าว โครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าว ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีนายกรัฐมนตรี ว่า
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติ 7ต่อ 0 ให้แจ้งข้อกล่าวหา ต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าว และได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. วิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหาเพิกเฉย ไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย ที่เกิดจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตามอำนาจหน้าที่ ทำให้หน่วยงานราชการได้รับความเสียหาย โดยผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแต่รับฟังไม่ขึ้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งได้กำหนดนโยบายจำนำเข้า มาตั้งแต่ต้น และ ในฐานะประคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. ที่กำหนด ราคาข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตลาด เกินกว่าที่ควรคาดหมายได้ตามปกติ อันมีลักษณะเป็นการบิดเบือนกลไกราคาตลาดและการดำเนินโครงการมีการทุจริตทุกขั้นตอน ทั้งการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การสวมสิทธิ์เกษตรกร โกงความชื้น โกงตาชั่ง นำข้าวมาเวียนเข้าโครงการ
ส่วนการระบายข้าว มีการใช้อิทธิพลช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้ข้าวจากโครงการไปจำหน่าย
นอกจากนี้ การเก็บรักษา ยังมีปัญหาทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพและเกิดการสูญหาย ทำให้การขายข้าวขาดทุน ซึ่ง รัฐบาลเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ สร้างความสูญเสียเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ยังปรากฎว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำนวนหลายล้านราย ที่ยังไม่ได้รับเงินในโครงการฯ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนบางคนถึงกับฆ่าตัวตาย แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงที่สุดของประเทศ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด และ มีความผิดตาม พ.ร.บ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้ารัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ซึ่งป.ป.ช.จะจัดส่งสำนวนฟ้องไปยังอัยการสูงสุดในสัปดาห์หน้าเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการที่จะเดินทางไปต่างประเทศ
คลิกอ่านข่าว: "คสช."ให้"ยิ่งลักษณ์"บินทัวร์ยุโรปตามที่ขอ คาดไปเบิร์ธเดย์ "ทักษิณ"ที่ฝรั่งเศส
ด้าน นพ.วรงค์ กิจเดชวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 7:0 ส่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ว่า เรื่องนี้อัยการสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณาและไปจบที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นขั้นตอนสุดท้าย ส่วนตัวเชื่อว่าอัยการสูงสุดและศาลฎีกาจะพิจารณายืนตามที่ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลว่ามีความผิดจริง เพราะมีหลักฐานชัดเจน ดังนั้นศาลฎีกาคงไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อมูลชัดเจนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปล่อยปละละเลย ให้มีการโกงในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหา ข้าวเน่า ข้าวหาย สีข้าวแปรสภาพ และข้าวเสื่อมคุณภาพ สอดคล้องกับที่ปชป. ได้นำเสนอในสภาฯมาโดยตลอด กรณีนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ ของการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ทำลายระบบข้าวและชาวนาไทย รวมถึงกลไกตลาดให้หายนะทั้งระบบ
นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่าดำเนินการโครงการนี้ เพราะเป็นนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ทั้งที่สังคมโจมตีว่าอาจจะมีทุจริต ตนอยากถามว่าทำไมจึงเลือกทำนโยบายนี้ เพียงอย่างเดียว ทั้งที่ยังมีนโยบายอื่นที่หาเสียงไว้ เช่น การงดจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมัน ที่ทำได้ 2-3 เดือนก็ยกเลิก เพราะฉะนั้นจึงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ รู้เห็นหรือหวังจะได้ประโยชน์ จากการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ ทั้งนี้ การที่ป.ป.ช. ชี้มูล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ถือว่าเป็นการปิดจ็อบการทุจริตจำนำข้าว เพราะยังเหลือปมในการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีอดีตรัฐมนตรีคนอื่น ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่ตนมั่นใจว่าจะปิดจ็อบคดีต่างๆได้ เพราะหัวขบวน อย่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังถูก ป.ป.ช. ชี้มูล จึงคาดว่าท้ายขบวนคงไม่รอด
ส่วนกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุญาตให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปต่างประเทศได้ระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม - 10 สิงหาคมนั้น นพ.วรงค์ กล่าวว่า ตนมองอย่างเป็นกลางว่า ขั้นตอนการดำเนินการยังอีกยาว ดังนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังมีเวลาต่อสู้คดีอีก แต่หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะออกนอกประเทศแล้วไม่กลับมาอีกอย่างที่สังคมตั้งข้อสังเกตนั้น ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ คสช. ว่าจะตัดสินเรื่องนี้อย่างไร