สัมภาษณ์ โดย เมธาวุฒิ เสาร์แก้ว
ที่มา มติชนออนไลน์
หมายเหตุ : ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น(Tyrell Haberkorn) นักวิจัยประจำภาควิชา Political & Social Change มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ประเด็นพัฒนาการทางวิธีคิดสู่การปฏิรูปอุดมการณ์ประชาธิปไตย
@เหตุใดจึงตัดสินใจเลือกพื้นที่ศึกษาที่ประเทศไทย
สมัยที่มาประเทศไทยเมื่อ 17 ปีก่อน ได้สนใจปัญหาความไม่เป็นธรรมของผู้หญิงที่ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับช่วงนั้นเป็นนักศึกษาปริญญาตรีที่ University of North Carolina at Chapel Hill ได้ลงพื้นที่ศึกษาที่ประเทศไทยแล้วก็มาอยู่ในเครือข่ายการเคลื่อนไหวของสิทธิคนงาน ได้ไปเรียนรู้การทำงานกับองค์กรผู้หญิง นำมาซึ่งความสนใจประวัติศาสตร์ไทย จากนั้นได้มาศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาสตรีศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเริ่มสนใจการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เรียกร้องความเป็นธรรม และสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจการเคลื่อนไหวจริงๆ ต้องศึกษาความรุนแรงควบคู่ไปด้วย เพราะว่าทุกครั้งคนที่เคลื่อนไหวมักจะถูกกระทำด้วยความรุนแรง ทั้งกระทำโดยรัฐและกระทำโดยผู้มีอิทธิพล
@ความรุนแรงที่ประชาชนได้รับความสูญเสียเพื่อได้มาซึ่งประชาธิปไตย
บริบททางประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีแต่ความสูญเสีย ไม่ว่ากรณีของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุคคลผู้อภิวัฒน์ 2475 กรณีจิตร ภูมิศักดิ์ สุพจน์ ด่านตระกูล และทองใบ ทองเปาด์ หรือปัญญาชนหัวก้าวหน้าทุกคน ล้วนถูกจับด้วยข้อหาภัยต่อความมั่นคงและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นักศึกษาและเครือข่ายกรรมกรชาวนาชาวไร่ก็ถูกสังหาร ปราบปราม จนบางคนก็หนีเข้าป่าหรือลี้ภัยทางการเมืองไปยังต่างประเทศมากมาย หลังจากนั้นมาบรรดานักเคลื่อนไหวภาคประชาชนก็ได้รับชะตากรรมการสูญเสียที่ถูกอุ้มหาย สังหาร และข่มขู่เช่นกัน ไล่มาถึงปัจจุบัน กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ความสูญเสียทั้งหมดคิดว่าเป็นความเสียสละเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ถือเป็นการสูญเสียอิสรภาพและชีวิตที่เสียไปกับความกลัวของกลุ่มมีอำนาจทางการเมือง ในบริบทปัจจุบันมีกระบวนการสร้างมาตรฐานวิธีคิดร่วมกันของคนในสังคม ก็เสมือนเป็นความสูญเสียเช่นกัน เพราะชีวิตทุกคนจะเลือกอยู่อย่างไร อยู่อย่างเงียบๆ หรือจะลุกขึ้นสู้ ในฐานะผู้สังเกตการณ์การเมืองไทย ประเมินว่า การพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นความสูญเสียสำคัญของประชาชนในชาติ เพราะมีการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน
@เหตุใดฝ่ายผู้มีอำนาจในอดีตมองผู้ที่เป็นนักเคลื่อนไหวที่มีอุดมการณ์มีวิธีคิดต่างจากอุดมการณ์กระแสหลักในสังคม
เท่าที่ดูกลุ่มภาคประชาชนมักทวงถามถึงสิทธิของตนเองและเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมโดยที่ไม่ใช่กลุ่มคนที่โค่นล้มรัฐบาล แต่สิ่งที่แปลกใจมากที่สุด คือ การไปคุยสัมภาษณ์หาข้อมูลกับผู้นำชาวนามักบอกว่า จะโดนสังหาร โดนอุ้มฆ่า จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นกิจกรรมหัวรุนแรง เพียงแต่เรียกร้องให้เจ้าของที่ดินฝ่ายรัฐปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น
@พัฒนาการทางวิธีคิดด้านประชาธิปไตยในรอบทศวรรษที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
สังเกตได้ ประมาณ 8 ปีมีการตอบโต้ถกเถียงประเด็นประชาธิปไตยกันอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงทางการเมืองในหลากหลายกลุ่ม ไปจนถึงมีการผลิตผลงานวิชาการบทความ กวี นิยาย อย่างล้นหลาม อันถือเป็นช่วงที่มีศิลปศาสตร์แห่งอุดมการณ์วิญญาณประชาธิปไตยสูงส่ง ในขณะเดียวกันการเห็นรัฐประหารครั้งนี้ บวกกับการเคลื่อนไหว กปปส.ที่ผ่านมา อาจจะเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ว่าต้องการอะไร และอาจจะมีสาเหตุมาจากความอึดอัดที่กระแสความเป็นประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวกในการแบ่งปันทรัพยากร แต่ร้ายไปกว่านั้นมันกลับลุ่มๆ ดอนๆ ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด เพราะประชาชนยังไม่เข้าถึงความเป็นธรรมและความยุติธรรมในสังคมเท่าที่ควรนัก
@มองว่าการมีสิทธิเสรีภาพควรเป็นอย่างไรเพื่อควบคู่ไปกับมิติความมั่นคง
มองว่าประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพเป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติ จริงๆ แล้วไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะวิตกอะไรและทำไมต้องกลัวประชาชนที่ลุกมาเคลื่อนไหวเหล่านั้นด้วย เพราะว่าถ้ามีการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทุกคนก็จะได้ประโยชน์ หากแต่การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพมันกลับตอกย้ำไปที่หลักการมองคนไม่เท่ากัน
@นิยามประชาธิปไตยของฝ่ายชนชั้นนำเก่าเป็นอย่างไร
ไม่แน่ใจว่าจะเป็นประชาธิปไตยจริงๆ หรือไม่ ถ้าตราบใดที่ใช้วิธีการตรงข้ามต่อวิถีทางของประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมีการกักขังหน่วงเหนี่ยว การชะลอการเลือกตั้ง การออกคำสั่งต่างๆ นานา มันจะสะท้อนให้คิดว่าวิธีการนั้นจะไม่มีทางกลับไปสู่ประชาธิปไตยได้ มิหนำซ้ำพวกเขาน่าจะมองว่าประชาธิปไตยคงมีการเลือกตั้งแค่บางส่วน ฉะนั้นแล้วสถานการณ์ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา คิดว่ายังมองไม่เห็นว่าประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้
@โรดแมปทั้ง 3 ระยะจะถือเป็นกระบวนการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงอย่างไร
โรดแมปดังกล่าวนั้นทำไปเพื่อให้ฝ่ายที่ควบคุมอำนาจมีความมั่นคงทางอำนาจเพราะยิ่งมีการใช้มาตราที่เด็ดขาดในการพยายามควบคุมสื่อ หรือมีมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) จะเป็นการปฏิรูปได้เช่นไร ในความเป็นจริงประชาชนทุกภาคส่วนและทุกองคาพยพในสังคมต้องมีส่วนร่วมในการปฏิรูป แม้ว่าจะมีการจัดตั้งกระบวนการในการปฏิรูปการปรองดองสมานฉันท์ตามด้วยการไปสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มองว่าไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงถ้าประชาชนยังกลัวอำนาจนั้นอยู่ แต่เป็นการบังคับให้มีส่วนร่วมมากกว่า ที่ผ่านมาได้มีกระบวนการปรองดองที่ทำมาแล้วเมื่อครั้งปี 2553 และ 2554 ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อการปฏิรูปประเทศ แต่พบว่ามีข้อจำกัดเยอะในคณะทำงานชุดที่แล้ว มีหลายอย่างเป็นข้อมูลลับเปิดเผยไม่ได้ ทำให้การปฏิรูปครั้งนั้นสูญเปล่า สำหรับการปรองดองในสภาพแห่งสภาวะที่ดำรงอยู่ช่วงนี้ไม่น่าจะสมานฉันท์ได้จริงๆ แม้ว่าจะมีงานคืนความสุขผ่านการร้องเพลงหลายๆ แห่ง รวมทั้งที่สนามหลวงก็ตาม ซึ่งเห็นว่าต้องแยกความสุขกับเผด็จการออกให้ได้ ถ้าแยกไม่ได้ก็ไม่มีทางจะปรองดองได้ ถ้าไม่พูดถึงความยุติธรรมในสังคมมันเป็นเพียงละครหน้าฉากเท่านั้น
@สิ่งที่สัมฤทธิผลและประสบความสำเร็จที่สุดในการปฏิรูประยะเริ่มต้น
การจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง การจัดระเบียบรถแท็กซี่ เพราะประชาชนได้รับประโยชน์ เนื่องจากเป็นปัญหาที่คาราคาซังมานาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น หากแต่จะกล้าปฏิรูปทุกภาคส่วนราชการด้วยหรือไม่
@อุดมการณ์ปฏิรูปประชาธิปไตยต้องเริ่มที่จุดใดเป็นจุดแรก
ทุกคนในประเทศต้องปฏิบัติตามหลักการของกฎหมายเดียวกัน สิ่งที่ควรจะทำแม้ว่าจะเป็นอุดมคติก็ตาม นั่นคือ ความสูญเสียต่างๆ ที่กล่าวไป คนที่กระทำให้เกิดความสูญเสียควรรับผิดชอบโดยปราศจากการนิรโทษกรรมให้ตนเอง ถ้าดูคำสั่งกฎหมายต่างๆ สะท้อนชัดเจนว่าเป็นการสร้างช่องว่างทางอำนาจเพิ่มขึ้น ฉะนั้นการที่ออกคำสั่งที่เป็นกฎหมายอยู่ก็ไม่มีทางที่จะเป็นประชาธิปไตยได้ เป็นเพียงแค่จินตนาการที่ย้อนไปสู่ยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือย้อนไปสู่ยุค 6 ตุลา 2519 โดยตรง ถือเป็นบาดแผลใหญ่ของประชาธิปไตย แต่ก็หวังว่าจะไม่ให้ประชาธิปไตยเสียชีวิตไปเลย เพราะพลังสำคัญที่จะพัฒนาประชาธิปไตยได้ นั่นคือ ประชาชน
........
(ที่มา:มติชนรายวัน 28 ก.ค.2557)
(ที่มา:มติชนรายวัน 28 ก.ค.2557)