ที่มา บีบีซีไทย
สื่อต่างประเทศเล่นข่าวเรื่องไทยกันหนาแน่นเมื่อวานนี้ ประเด็นสำคัญที่ทำให้ไทยได้รับความสนใจหนีไม่พ้นเรื่องของการมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่สื่อหลักๆหยิบมาเล่นกันและเล่นในประเด็นแทบจะเป็นอันเดียวกันก็ว่าได้ กล่าวคือเน้นเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ให้อำนาจ คสช.ไว้อย่างมาก รวมทั้งประเด็นเรื่องของการที่ทหารจะยังอยู่ในอำนาจต่อไป มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใดๆตลอดไปถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งเรื่องของการที่หัวหน้าคสช.อาจจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียเอง
นสพ. วอลสรีทเจอร์นัลอธิบายภาพของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นภาพที่นำเสนอผ่านทีวีโดยบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคสช.ได้เข้าเฝ้า วอลสตรีทเจอร์นัล บอกว่ารัฐธรรมนูญใหม่ให้อำนาจ คสช.ในการเสนอแนะชื่อคนที่จะมาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ สภาปฎิรูปและกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แถมมีอำนาจยับยั้งการตัดสินใจใดๆไม่ว่าของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติหรือตุลาการ
พร้อมกันนี้อ้างความเห็นของไมเคิล มอนเตซาโน นักวิชาการของสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สิงคโปร์ว่า นี่เป็นความพยายามในการทำให้การทำรัฐประหารเป็นเรื่องชอบธรรม
ด้านวีโอเอหรือวอยส์ ออฟ อเมริการายงานประเด็นเดียวกันเรื่องว่าคสช.ออกรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้อำนาจตัวเองอย่างมาก หัวหน้าคณะคสช.จะมีอำนาจกำกับดูแลองค์กรทั้งในส่วนบริหารและนิติบัญญัติ และยังอาจจะก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไปของไทย วีโอเอบอกว่า รัฐธรรมนูญใหม่มีผลให้การรัฐประหารของ คสช.ถูกต้องตามกฎหมาย และว่าทหารจะเป็นผู้เลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวน 220 คน สภานี้จะทำหน้าที่แทนวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฏร ทั้งบอกด้วยว่าสมาชิกสภาต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปี ไม่เคยถูกโยกย้ายหรือลงโทษ ด้วยข้อกล่าวหาในเรื่องทุจริต
สำนักข่าวบลูมเบอร์กรายงานประเด็นเดียวกันว่าทหารจะเป็นคนเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติ และสภานี้จะเป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรี 35 คน บลูมเบอร์กบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้เป็นภาพสะท้อนเสียงเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วง กปปส. นี่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ของไทย ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีการตั้งสภาปฎิรูปที่มีสมาชิก 250 คน สภานี้จะเป็นผู้รับรองร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมีกรรมการยกร่างด้วย ข่าวอ้างนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคสช.ที่อธิบายกับสื่อว่า คสช.จะอยู่ในอำนาจจนกว่าจะมีการนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้
ด้านนายพอล แชมเบอร์ส์ ผอ.สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในเชียงใหม่บอกว่า เป้าหมายหลักของการมีรัฐธรรมนูญนี้ก็เพื่อจะนิรโทษกรรมคสช.
สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันหมดเรื่องที่มีการคาดการณ์ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รอยเตอร์รายงานอ้างพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายาที่ตอบคำถามนักข่าวในที่แถลงข่าวเรื่องรัฐธรรมนูญว่า พล.อ.ประยุทธ์ทำงานได้ดีไม่มีที่ติเท่าที่ผ่านมา สองเดือนมานี้พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานในการประชุมทุกวันดูแลงานและการบริหารประเทศผ่านไปอย่างเรียบร้อย จึงไม่มีเหตุผลว่าทำไมจึงจะทำหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ส่วนนายวิษณุ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคสช.ก็บอกว่า ตามรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ แต่จะเป็นหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าสภานิติบัญญัติจะเลือกหรือไม่
รอยเตอร์อ้างความเห็นแอมบิก้า อบูจา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองไทยของกลุ่มประเมินความเสี่ยงชื่อ ยูเรเชีย ที่บอกว่า เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์คงจะยังมีอำนาจต่อไปในรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีเอง หรือไม่ก็เป็นรัฐมนตรีกลาโหม หรือไม่ก็ยังรั้งตำแหน่งผบ.ทบ.ต่อไป เธอบอกว่า หากเป็นจริงก็จะทำให้ยากที่จะมองหาคนที่เป็นกลางมาทำหน้าที่ประสานรอยร้าว และจะยิ่งสร้างความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในกองทัพ
รอยเตอร์อ้างพล.อ.ไพบูลย์ระบุว่า จะยังคงมีการใช้กฎอัยการศึกต่อไป และที่ปรึกษากฎหมายนายวิษณุระบุว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้อาจจะอยู่กับประเทศไทยไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี
Comments:
รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ ตามแบบฉบับ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถนอม กิตติขจร
เผด็จการไม่เคยมีจุดจบที่งดงาม
fascist thailand
ก็เอียงข้างอยู่เหมือนเดิม
ทหารเลว ไม่รู้จักหน้าของตัวเอง
ทหารปกครองยังไงก็เผด็จการอยู่แล้ว ไม่ต้องบอกก็รู้ แต่ปกครองแบบออกกฏเกณฑ์ไว้กีดกัน กำจัด นักการเมืองเลวๆได้ ผมเชียร์ครับ เพราะนักการเมืองเลวๆ มันไม่กล้าออกกฏหมายเอาผิดตัวมันเองแน่นอน.
I'm order
ทรงพระเจริญ
ยังรักทักษิณก็คือยังอยู่ในกะลา..นะจะบอกให้
ขอบคุณครับที่ bbc ถ่ายทอดความเห็นของสื่อสำนักอื่นๆ
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ไปกันไกลได้ขนาดนี้
รอบนี่จ๊อกกี่ขี่ม้าเข้าวินเเล้วเเต่จ๊อกกี่ยังไม่ลงจากหลังม้า
รอเวลา
อยู่เหนืออำนาจตุลาการด้วย. ใหญ่แค่ไหนก็ดูเอาเถอะ
มหาอุปราชแห่ง..เสียมก๊ก
"I am the law"
ถ้าทหารไม่มีอำนาจแล้วใครจะมี ?!
สหมงคลฟิล์ม ภูมิใจเสนอ ....อำนาจมาดเล็ก เล็ก เล็ก ) ) ) )) Echoooo
คนร่างก็คนที่เคยทำงานให้ทักษิณมาก่อนทั้งนั้น ทั้ง วิษณุ เครืองาม, มีชัย ฤชุพันธ์ บวรศักดิ์ อุวรรโณ
ooo
เรื่องเกี่ยวเนื่อง...
ภาพจาก ชูวิทย์ I'm No 5 |
เดิมตั้งใจจะเขียนถึงประเด็นการปฏิรูปด้านต่างๆ แต่เมื่อวานนี้ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมได้อ่านรัฐธรรมนูญแล้วและไม่มีประเด็นอะไรที่เกี่ยวกับโครงสร้างของสภานิติบัญญัติ สภาปฏิรูป และคณะรัฐมนตรี ที่อยู่เหนือความคาดหมายนัก ในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ต้องยอมรับว่ามาตรา ๓๕ ได้บัญญัติประเด็นของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่จะแก้ปัญหาระบบการเมืองไว้ ค่อนข้างจะตรงประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น การที่นักการเมืองถูกครอบงำ หรือปัญหาของการที่หลักนิติธรรมนิติรัฐถูกทำลายในอดีต
แต่มีบทบัญญัติมาตราหนึ่งที่อาจถูกมองว่าผิดปกติ คือ มาตรา ๔๔ อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้าคสช. และคสช. ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษ โดยเป็นการเขียนในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า การตราธรรมนูญการปกครองก็ดี หรือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ดี โดยปกติเป็นการส่งมอบอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่คณะรัฐประหารใช้ กลับเข้าสู่การใช้อำนาจอธิปไตย โดยพระมหากษัตริย์ ผ่านสภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี และศาล การใช้อำนาจของคณะรัฐประหารจะมีการคงไว้อยู่บ้างในลักษณะของการบริหารเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง เช่น
• เมื่อปี ๒๕๔๙ ประธาน คมช. อาจขอให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง คมช. กับครม. ได้ในปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ
• ในปี ๒๕๓๔ ประธาน รสช. โดยความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมระหว่างสภา รสช. กับนายกรัฐมนตรี อาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ เพื่อป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงได้
แม้แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งสังคมไทยจะกล่าวถึงเสมอ คือมาตรา ๑๗ ที่ถือว่าเบ็ดเสร็จที่สุด ก็จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการสั่งการหรือกระทำการเพื่อระงับหรือปราบปรามการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง ความแตกต่างในครั้งนี้ คือ ในมาตรา ๔๔ อำนาจพิเศษนั้น เป็นของหัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของคสช. โดยไม่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี และมาตรา ๔๔ ยังบัญญัติโดยชัดแจ้งว่าการใช้อำนาจนี้อาจมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ และทางตุลาการได้ โดยไม่มีกระบวนการที่จะโต้แย้งหรือตรวจสอบ นั่นหมายถึง ความสามารถที่จะออกกฎหมายและ/หรือการกลับคำพิพากษาได้ ขอบเขตของการใช้มาตรา ๔๔ นี้ ยังมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่สามารถใช้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปหรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ของคนในชาติได้ด้วย บทบัญญัติในมาตรานี้ทั้งหมดจึงอาจถูกมองได้ว่าไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา ๓
ผมเชื่อว่าสังคมยอมรับสภาพการคงอำนาจพิเศษในกรณีที่จะเกิดปัญหาความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของการขยายอำนาจพิเศษให้ครอบคลุมอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการก็ดี หรือการอ้างอิงเหตุผลในการใช้อำนาจเพื่อผลักดันการปฏิรูปหรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ก็ดี มีความจำเป็นอย่างไร เพราะโดยโครงสร้างสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปก็มีที่มาจากคสช. อยู่แล้วและการระงับการกระทำที่เป็นปัญหาต่อความมั่นคงก็จะเป็นการใช้มาตรการทางบริหารเป็นหลัก ผมจึงหวังว่าหัวหน้า คสช. จะช่วยอธิบาย ถึงความจำเป็นและสิ่งที่ท่านคิดอยู่ในใจว่าจะใช้อำนาจในมาตรา ๔๔ นี้ ในกรณีไหนอย่างไรโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นได้