วันอาทิตย์, กรกฎาคม 20, 2557

"นักวิชาการ" วิพากษ์... ป.ป.ช.ฟัน "ปู" คดีข้าว “ยิ่งลักษณ์” มั่นใจในความบริสุทธิ์โครงการรับจำนำข้าว


ที่มา มติชนออนไลน์

หมายเหตุ - ความเห็นของนักวิชาการกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ช่วงเวลาเดียวกับที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศได้

อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ป.ป.ช.อาจจะมองว่าถ้าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์บินไปต่างประเทศเเล้วไม่กลับ โดยที่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ชี้มูลหรือดันมาชี้ภายหลังจากที่บินไปเมืองนอกเเล้ว จะเกิดข้อตำหนิได้ว่า "เขาไปเเล้ว มาชี้มูลทำไม" ซึ่งหากไปเเล้วไม่กลับมา งานที่ทำมาก็เหมือนเสียเปล่าหมด เพราะฉะนั้นอาจจะพอฟังขึ้นว่า เนื่องจากมีการขอไปต่างประเทศ ป.ป.ช.จึงอยากทำหน้าที่ให้เเล้วเสร็จ ไม่รู้ว่ามีความเชื่อมโยงกันหรือเปล่า เเต่ดูเเล้วเหมือนกับจะเชื่อได้ว่าเป็นอย่างนั้น เพราะจู่ๆ ก็เเถลงข่าว ปกติอาจจะบอกล่วงหน้าเป็นวันด้วยซ้ำว่าจะมีการสรุปผลคดี เเต่อันนี้มาใกล้กับเวลาที่ คสช.อนุมัติให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศ

ป.ป.ช.อยากทำหน้าที่ให้จบเรื่องเรียบร้อย เมื่อ ป.ป.ช.ทำหน้าที่เเล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปไหนก็อยู่ที่ คสช.จะอนุมัติ เหมือนโยนเผือกไปให้เเล้ว เเละไม่มีคนมาตำหนิว่าตัดสินความช้าไป

ทั้งนี้ ป.ป.ช.น่าจะเห็นว่าการจัดการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ก่อนที่จะเป็นนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นั้นถือเป็นงานที่เบ็ดเสร็จเเละเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่า เเละหลังจากนี้จะต่อด้วยนายบุญทรงก็เป็นเรื่องง่ายเเล้ว

ขณะเดียวกันที่ผ่านมา ป.ป.ช.เเละองค์กรอิสระโดนวิจารณ์ถึงการทำงานที่ล่าช้า ยิ่งช่วงนี้ คสช.กำลังไล่บี้ทุกหน่วยงาน ป.ป.ช.คงอยากเเสดงให้เห็นว่าทำงานได้มีประสิทธิภาพ สามารถจัดการปัญหาได้ เเละยังเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอยู่ ประกอบกับช่วงนี้มีข่าวลงพื้นที่ตรวจโกดังข้าวของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เเละพบความผิดปกติในหลายจังหวัดชัดเจนก็ไม่มีอะไรเหลือที่จะต้องให้ ป.ป.ช.รอในการชี้มูล น.ส.ยิ่งลักษณ์ หากปล่อยให้ลอยนวลอยู่อีกคนจะถามว่าเเล้ว

ป.ป.ช.ทำอะไรอยู่


เจษฎ์ โทณวณิก

นักวิชาการด้านนิติศาสตร์

เรื่องนี้สามารถมองแยกได้เป็น 3 ส่วน คือ 1.น.ส.ยิ่งลักษณ์มีกำหนดเดินทางก่อนล่วงหน้าแล้ว มีแผนการที่จะไปอยู่แล้วโดยระบุว่าจะไปที่ไหนทำอะไรอย่างไรบ้าง และได้ยื่นขออนุญาต คสช.ตามระเบียบปกติ 2.คสช.มองว่ากำหนดการอันนี้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไร ประกอบกับที่ผ่านมาในช่วงที่มีการรัฐประหาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ให้ความร่วมมือด้วยดีมาตลอด จึงพิจารณาอนุมัติให้ไป 3.ในส่วน ป.ป.ช.ไม่ได้รู้เห็นหรือทราบกำหนดการล่วงหน้าของอดีตนายกฯมาก่อน และในส่วนของคดีจำนำข้าวเดินทางมาสุดทางแล้ว สมควรที่จะเคาะมติออกมาได้ เป็นลักษณะของที่สถานการณ์ปกติที่แม่น้ำแต่ละสายต่างไหลหลากไปไม่เกี่ยวกัน เพียงแค่มาบรรจบกันอย่างประจวบพอดีเท่านั้น

หากมองในแง่ร้ายที่สุดคือ คสช.รู้กันกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า สำนวน ป.ป.ช.คดีจำนำข้าวงวดเข้ามาทุกทีแล้วจึงอาจจะปล่อยไฟเขียวไปก่อน เช่นเดียวกับที่ ป.ป.ช.ได้ทราบมาว่าอดีตนายกฯมีกำหนดจะเดินทางไปต่างประเทศ จึงได้เร่งรัดสำนวนนี้ขึ้นอีก ซึ่งจริงๆ อาจจะอยู่ในความสมบูรณ์สัก 90% ก็ได้ แต่รีบดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จก่อนที่อดีตนายกฯจะได้เดินทางไป ประเด็นนี้สามารถมองได้ทั้งสองทางและหากเป็นหนทางนี้ก็อยู่ที่การพิจารณา คสช.ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ เพราะมีสถานการณ์ใหม่เข้ามาสามารถที่จะอ้างเรื่องนี้ปรับเปลี่ยนได้ หรือหากจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพราะเห็นว่าที่ผ่านมาอดีตนายกฯให้ความร่วมมือดีมาก ก็อนุญาตให้ไปเช่นเดิม ดังนั้น เรื่องทั้งหมดจะไปตกอยู่ที่การพิจารณาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองว่าจะตัดสินออกมาเช่นไร

เห็นว่าหาก คสช.อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปแล้ว และหลายเสียงอาจจะกังวลว่าเธอจะไปมากเกินกว่า 20 วันที่ขอด้วยคดีที่เกิดขึ้นนี้ จึงอยากแนะนำ คสช.ว่าหากจะอนุญาตจริง ควรจะวางมาตรการหรือเพิ่มเงื่อนไขในการเดินทางมากขึ้น เช่น อาจจะเพิ่มว่าต้องมารายงานตัวทุกๆ กี่วัน แจงรายละเอียดในการเดินทางมากกว่านี้ เป็นต้น เพื่อที่จะให้ทุกฝ่ายไม่มีข้อกังขาว่าทำอย่างโปร่งใส ไม่มีนอกไม่มีใน อย่างนี้น่าจะทำให้ทุกฝ่ายสบายใจได้

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

เป็นไปตามคาดคะเนอยู่เเล้ว ไม่ได้ผิดปกติในทรรศนะของตัวเอง เป็นไปตามกระบวนการ อาจจะออกมาพร้อมกับการอนุมัติให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปต่างประเทศ เเต่ไม่ได้มองว่าผิดปกติ เเละที่จริง ป.ป.ช.อาจอยากจะชี้นานเเล้วด้วยซ้ำ

เเต่มติทั้งหมดก็เป็นเเค่ข้อกล่าวหา ไม่ได้หมายความว่าทุกคดีที่ ป.ป.ช.ชี้จะมีผลตามนั้นเสมอไปในท้ายที่สุด ยังมีอัยการ เเละศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก ตอนนี้ก็เพียงเเต่ว่าจบขั้นตอนของ ป.ป.ช.เท่านั้นเอง ทั้งนี้เผลอๆ อาจจะคิดว่าทำก่อนที่จะต้องมีการปฏิรูปตัวเองเหมือนกัน

ความเห็นที่ว่า ป.ป.ช.น่าจะหมายมั่นในเเง่ที่ว่าทำผลงานเพื่อเเสดงให้เห็นว่าองค์กรนี้ยังสำคัญอยู่ก็ถือว่าเป็นไปได้ ถามว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช.ให้โอกาสกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงพอหรือไม่ คิดว่าจริงๆ เเล้วการที่ฝ่ายจำเลยเรียกขอพยาน ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าเเรงก็ควรจะให้ เพราะยิ่งเป็นคดีที่มีโทษหนักด้วยเเล้ว ต้องให้สู้ถึงที่สุด เเต่ทาง ป.ป.ช.อาจจะมองว่าการขอพยานเพิ่มของจำเลยนั้นเพียงเพื่อหวังประวิงเวลาเท่านั้น เเต่ความจริงเเล้ว การจะลงโทษผู้ใดหนักๆ นั้นต้องรอบคอบมาก ควรจะให้โอกาสพยาน

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ถ้าเทียบเคียงกับกรณีอื่นๆ จะทำให้เห็นว่า ป.ป.ช.ทำงานแบบมีมาตรฐานหรือมีความเป็นกลางจริงหรือเปล่า ข้อหาที่ ป.ป.ช.ตั้งข้อหากับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือ มาตรา 157 เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีนี้ ป.ป.ช.อ้างว่าทำให้ความเสียหายเกิดขึ้น ถ้า ป.ป.ช.ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาก็ยังมีคำถามง่ายๆ เช่น กรณีที่มีคนร้องเรียนเรื่องพรรคประชาธิปัตย์กรณีประกันราคาข้าว หรือกรณีที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้ความรุนแรงกับประชาชนปี 2553 คิดว่าที่เห็นทั้งหมดนี้คือ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ทำอะไรเลย หรือทำอะไรช้ามาก ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเกิดคำถามว่ากรณีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หรือกรณีอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่กรณีของพรรคเพื่อไทยหรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คำถามคือทำไมจึงไม่เห็นความคืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็น

ส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กำลังจะเดินทางออกนอกประเทศ ไม่แน่ใจว่าจะสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกันขนาดไหน เป็นกรณีหนึ่งที่คนน่าจะตั้งข้อสังเกตได้ โดยปกติเวลา ป.ป.ช.จะตัดสินอะไรจะมีกำหนดการ มีระยะเวลาที่ชัดเจน แต่ตอนนี้เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมจึงเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์กำลังจะเดินทางออกนอกประเทศ แล้ว ป.ป.ช.รีบดำเนินการ

สิ่งที่อยากจะเตือน ป.ป.ช.คือ อำนาจต้องไปกับความเป็นธรรม ถ้าเมื่อไหร่ที่อำนาจไม่ไปกับความเป็นธรรม คิดว่าสถาบันนั้นพร้อมจะเสื่อม พร้อมจะถูกโยนทิ้งได้ง่ายๆ อย่าคิดว่ามีลำพังอำนาจแล้วใช้อำนาจไม่สนใจเรื่องความเป็นธรรม ประวัติศาสตร์หรือบทเรียนของสังคมระดับการเมืองไทยหรือการเมืองโลก เราเห็นมาเยอะแล้วว่าอำนาจที่ไม่มีความเป็นธรรมสักวันจะล้มคว่ำลงอย่างไม่เป็นท่าได้ เพราะฉะนั้น ป.ป.ช.ต้องคิดให้ดี

ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะพูดถึงบรรทัดฐานใหม่ในการตัดสิน ต้องรอกระบวนวิธีของศาลก่อน ดูการพิจารณาคดีของศาลก่อน เพราะไปถึงศาล มาตรา 157 ลำพังเพียงการทุจริตในระดับการปฏิบัติงาน ยากที่จะส่งผลไปถึงผู้กุมในระดับนโยบาย ที่ผ่านมาความผิดตามมาตรา 157 ไม่ได้หมายความว่า พอมีเจ้าหน้าที่ทุจริตกันในระดับปฏิบัติงานแล้วนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นนายกรัฐมนตรีทุกคนต้องติดคุกหมด นายอภิสิทธิ์ก็ไม่เว้น ถามว่าสมัยนายอภิสิทธิ์มีการทุจริตในระดับการปฏิบัติงานหรือไม่
...

“ยิ่งลักษณ์” มั่นใจในความบริสุทธิ์ชี้มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีอาญา โครงการรับจำนำข้าวเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ

ภาพจาก Wallstreet Journal
ที่มา FB Yingluck Shinawatra

“ยิ่งลักษณ์” มั่นใจในความบริสุทธิ์ ชี้มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีอาญา โครงการรับจำนำข้าวเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ กล่าวหาเลื่อนลอย ขาดพยานหลักฐาน ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เลือกปฏิบัติ เร่งรีบ รวบรัด ชี้มูลความผิดโดยขาดความเที่ยงธรรม ชาวนาหมดโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตและมุ่งคุ้มครองพ่อค้าข้าวผู้ส่งออกที่เสียประโยชน์

ในวันนี้ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗ นางสาวยิ่งลักษณ์ฯ อดีตนายกรัฐมนตรีเห็นว่าจากกรณีที่มีการแถลงข่าวของศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวของรัฐบาลมีมติว่านางสาวยิ่งลักษณ์ฯ อดีตนายกรัฐมนตรีมีมูลความผิด และให้ส่งรายงานและเอกสารพร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๗๐ นางสาวยิ่งลักษณ์ฯ เห็นว่า

๑. การดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมสากล ไม่เป็นไปตามคำชี้แจงของ ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ ที่ได้แถลง เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ขอยืนยันว่ากระบวนการดำเนินคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติ ๗ : ๐ เสียง ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เลือกปฏิบัติ และขาดความเที่ยงธรรม กล่าวคือ ยังยืนยันว่าการดำเนินคดีเป็นไปด้วยความเร่งรีบ รวบรัดอย่างเป็นพิเศษต่างจากการดำเนินคดีอื่นๆ ที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยกันถูกกล่าวหาทั้งก่อนหน้าคดีนี้จำนวนหลายคดีอย่างขาดความชอบธรรม ไม่มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นไต่สวนเหมือนคดีอื่นๆ และไม่เคยได้รับคำตอบใดๆ จากคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเฉพาะระยะเวลาที่ดำเนินคดีกับนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ นับแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตั้งคณะกรรมการไต่สวน เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๗ ใช้เวลา ๒๑ วัน ในการแจ้งข้อกล่าวหา และใช้เวลาเพียง ๑๔๐ วัน นับแต่วันรับทราบข้อกล่าวหา มีการเร่งรีบมีมติชี้มูลความผิดในคดีอาญาต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ทั้งที่ในช่วงการไต่สวนดังกล่าวมีข้อโต้แย้งมากมายทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ผู้ถูกกล่าวหาในการนำเสนอพยานบุคคล และพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.หลายครั้งหลายคราวนับแต่ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นจำนวนพยานไม่มากหากเทียบกับเรื่องที่ถูกกล่าวหา เนื่องจากมีผู้ปฏิบัติและหน่วยงานที่รับผิดชอบจำนวนมาก กับมีข้อโต้แย้งมากมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้การไต่สวนที่ผ่านมาองค์คณะผู้ไต่สวนได้ตัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยการตัดพยานหลักฐานที่จะเข้าสู้สำนวนหมดไปกับการโต้แย้งมากมายจากองค์คณะผู้ไต่สวน แต่ผู้ที่เสียหายคือนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ถูกตัดโอกาสในการต่อสู้คดีจนถึงวันชี้มูลความผิดอาญาต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ฯ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างเร่งรีบ โดยไม่เคยปรากฏมาก่อนหน้านี้ว่ากรรมการ ป.ป.ช. ได้เคยปฏิบัติหน้าที่ในการไต่สวนคดีอาญาอื่นๆ ต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่นเดียวกับนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ แต่อย่างใด การหยิบยกข้ออ้างตามข้อกฎหมายว่า จำเป็นต้องไต่สวนโดยเร็วการปฏิบัติหน้าที่จึงชอบด้วยกฎหมายนั้น การไต่สวนโดยเร็วดั่งว่านั้น ไม่มีข้อเท็จจริงว่าได้เคยปฏิบัติต่อคดีอื่นๆ ที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่นเดียวกับนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ถูกกล่าวหาซ้ำร้ายยังปรากฏเป็นข่าวที่โฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สังคมทั่วไปทราบเช่นเดียวกับคดีนี้ว่า คดีอื่นๆ มีการเริ่มสอบสวนเมื่อใด และจะสิ้นสุดลงในเวลาใดเช่นเดียวกับคดีนี้

นอกจากนี้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ฯ ผู้ถูกกล่าวหาได้ขอความเป็นธรรมต่อองค์คณะผู้ไต่สวนถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๗ และครั้งที่สามเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๗ นอกจากนี้มีองค์คณะผู้ไต่สวนโดยเฉพาะ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชาฯ ได้ถูกคัดค้าน และขอความเป็นธรรม โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ถึง ๓ ครั้ง ต่อองค์คณะผู้ไต่สวนในครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๗ และครั้งที่สามเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๗ ขอให้องค์คณะผู้ไต่สวนทั้งหมดเปลี่ยนตัวศาสตราจารย์พิเศษวิชา ฯ ที่กระทำตัวเป็นปฏิปักษ์หลายประการต่อผู้ถูกกล่าวหา โดยละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกกล่าวหา โดยชี้นำสังคมว่านางสาวยิ่งลักษณ์ฯ เป็นผู้กระทำความผิดตลอดมา บุคคลดังกล่าวพูดจาเหน็บแนม กระแนะกระแหน ถากถาง ดูถูก เย้ยหยัน ดูหมิ่น ผู้ถูกกล่าวหาต่างๆ นานา โดยปราศจากพยานหลักฐาน รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาเรียกร้องให้บุคคลดังกล่าวถอนตัวจากการเป็นองค์คณะผู้ร่วมไต่สวน แต่หาได้รับการสนองตอบเพื่ออำนวยความยุติธรรม แก่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ องค์คณะผู้ไต่สวนรายอื่นกับปล่อยให้บุคคลดังกล่าวยังคงทำหน้าที่อยู่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน หากเทียบกับมาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการ ป.ป.ช. รายพลตำรวจโท สถาพร หลาวทอง ที่มีข้อเท็จจริงเพียงว่าสมัยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เคยตรวจสอบโกดังข้าวเท่านั้นก็ถอนตัวจากการเป็นองค์คณะผู้ไต่สวนในคดีนี้เสียแล้ว

การเลือกที่จะรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นโทษและเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหาทางการเมือง อาทิเช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายวรงค์ เดชกิจวิกรม ไม่รับฟังและไต่สวนพยานหลักฐานในส่วนที่เป็นคุณโดยเฉพาะพยานบุคคลหลายราย ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีที่ถูกกล่าวหาโดยสิ้นเชิง อันเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม และผู้ถูกกล่าวหากลับถูกให้ร้าย โดยไม่เป็นธรรมว่ามีพฤติการณ์ประวิงคดี ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหาเพียงแต่ต้องการแสวงหาความยุติธรรม โดยการนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากกรณีโครงการประกันราคาข้าวที่ ป.ป.ช.ไม่ได้เร่งรีบแต่กลับละเลยไม่ดำเนินการ ซ้ำยังให้ข่าวว่าเอกสารหายเนื่องจากเกิดเหตุอุทกภัยถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่

คำถามจึงมีว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๖๓/๒๕๕๗ เรื่อง นโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ให้มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการดำเนินคดีตามประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่โดย ที่ประกาศดังกล่าวมีจุดประสงค์ให้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมทั้งปวง รวมทั้ง ป.ป.ช. ในการบังคับใช้กฎหมาย อันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง และความแตกแยกในสังคม โดยต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม และไม่มีการเลือกปฏิบัติ ได้รับการปฏิบัติสนองตอบเป็นอย่างดีแล้วหรือไม่

๒. ประเด็นที่กล่าวหาว่านางสาวยิ่งลักษณ์ฯ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวของรัฐบาล

๒.๑ ในเรื่องนี้เห็นว่าการหยิบยกข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๑๒๓/๑ มากล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ว่ามีมูลกระทำความผิดตามข้อกฎหมายข้างต้นในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เป็นการกล่าวหาในลักษณะ “หว่านแหกล่าวหา” เลื่อนลอยปราศจากหลักฐาน ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ และไต่สวนให้เสร็จสิ้นกระแสความในแต่ละเรื่อง และแต่ละประเด็นไม่ว่าจะเป็นประเด็นตามข้ออ้างว่ามีการทุจริตในทุกขั้นตอนนั้น มีพฤติการณ์ที่เป็นการทุจริตอย่างไร ทุจริตที่ไหน เจ้าหน้าที่รัฐคนใดหรือหน่วยงานใด และเอกชนรายใดที่เข้าร่วมโครงการ หรือแม้แต่ชาวนาเกษตรกร รายใด ตำบลใด อำเภอใด และจังหวัดใดที่มีพฤติการณ์ที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยการสวมสิทธิเกษตรกร โกงความชื้น โกงตราชั่ง นำข้าวมาเวียนเข้าโครงการ การลักลอบนำข้าวออกจากคลัง โดยยืนยันในเรื่องคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. คลาดเคลื่อนในประเด็น ดังต่อไปนี้

๒.๑.๑ เรื่องการขาดทุนของโครงการ ได้ให้การและมีพยานบุคคลและเอกสารหลักฐานแสดงว่าโครงการมีความจำเป็นและมีประโยชน์ต่อชาวนา และเศรษฐกิจของประเทศชาติ มากกว่าการขาดทุนที่กล่าวอ้างดังนี้

๒.๑.๑.๑ ได้มีการชี้แจงว่าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ฯลฯ. รัฐต้องมีงบประมาณช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ การประกันราคาข้าวของรัฐบาลก่อนก็ใช้งบประมาณหมื่นๆ ล้านต่อปีเช่นกัน เงินช่วยเหลือดังกล่าวหลายๆฝ่ายเรียกว่า ขาดทุน

๒.๑.๑.๒ โครงการช่วยเหลือดังกล่าวทำให้เกษตรกร ทำการเกษตรได้คุ้มทุน สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ในระยะยาว และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

๒.๑.๑.๓ รายได้ที่ชาวนาได้รับเพิ่มขึ้นทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ดีขึ้นกว่า ๑ แสนล้านบาท หรือ ๑% ของ GDP

๒.๑.๑.๓ รายงานปิดบัญชีที่ ป.ป.ช. อ้างถึงทั้ง ๒ ครั้ง ซึ่งได้การขาดทุนดังกล่าวรวมค่าใช้จ่ายต่างๆไว้แล้ว ซึ่งคณะกรรมการ กขช. ประกอบด้วยหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานได้โต้แย้งว่า ข้าวที่ระบุว่าหายจำนวนประมาณ ๓ ล้านตัน ควรต้องลงในบัญชีเพราะหน่วยงานรับผิดชอบได้ยืนยันว่าไม่ได้หายไป อยู่ในขั้นตอนสีแปร และหากมีข้าวหายจริงก็มีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบการสูญหายนั้น รัฐไม่ได้เสียหายใดๆ และมีข้อโต้แย้งที่สำคัญอีกคือ การคำนวณมูลค่าสต็อกข้าวที่เหลือ และสูตรการคำนวณการเสื่อมสภาพ ข้อโต้แย้งดังกล่าวทำให้ผลการขาดทุนลดลงเหลือเพียงปีละ ๑ แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณไม่มากกว่าโครงการรับจำนำข้าวมากนัก ทั้งๆ ที่โครงการรับจำนำข้าวกำหนดราคาจำนำข้าวและจำนวนข้าวที่ได้รับจำนำมากกว่า

๒.๑.๑.๔ คำชี้แจงและข้อโต้แย้งดังกล่าว ป.ป.ช.ยังไม่ได้ไต่สวนให้สิ้นกระแสความและได้ตัดพยานของผู้กล่าวหา ซึ่งนับว่าไม่ถูกต้องและเป็นธรรมตามระบบนิติธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา

๒.๑.๒ ส่วนในเรื่องข้าวเสื่อมสภาพ และข้าวหายนั้น

หน่วยงานที่ควบคุมดูแลสต็อกข้าว คือ อคส.และ อตก. ได้ทำสัญญาต่างๆ กับเจ้าของคลังสินค้า ผู้ตรวจคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) และบริษัทประกันภัย ให้รับผิดชอบค่าเสียหาย หากเกิดกรณีข้าวสูญหายและการเสื่อมสภาพข้าวที่ผิดปกติจากธรรมชาติ ดังนั้น การกล่าวอ้างเรื่องรัฐมีความเสียหายจากกรณีข้าวหายหรือข้าวเสื่อมสภาพ จึงไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา

๒.๑.๓ เรื่องการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตทุกขั้นตอน ขอชี้แจง ดังนี้

๒.๑.๓.๑ โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการที่มีที่มาที่ไปและระบบการบริหารงานตั้งแต่ระดับล่างสุด คือ การฟังเสียงประชาชนจากการหาเสียงเลือกตั้ง มาเป็นนโยบายของรัฐบาล จนกระทั่งแถลงนโยบายในรัฐสภา และในการบริหารมีคณะกรรมการชุดต่างๆตั้งแต่คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการ กขช. คณะอนุกรรมการข้าวคณะต่างๆทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจนถึงระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล และมีส่วนร่วมจากประชาชน เพื่อทำให้ระบบการทำงานโปร่งใส และป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น

๒.๑.๓.๒ ขั้นตอนการทำงานและระบบงานต่างๆได้นำขั้นตอนการทำงานของรัฐบาลก่อนๆ ทั้งโครงการประกันราคาข้าว และจำนำข้าวมาพิจารณาปรับปรุงให้ดีขึ้น และทันสมัย เพื่อความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต

๒.๑.๓.๓ ได้มีการตรวจสอบ จับกุม ดำเนินคดี ผู้กระทำผิดแล้วประมาณ ๓๐๐ คดี อีกทั้งยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมสอบสวน ไต่สวน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถูกกกล่าวหากรณีต่างๆอีกด้วย

๒.๑.๓.๔ ข้อกล่าวหาทุจริตที่ ป.ป.ช.อ้างถึงนั้น ยังไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน มีเพียงคำกล่าวหา ยังไม่ได้ไต่สวนให้สิ้นคดีความ และ ป.ป.ช. ได้ระงับการไต่สวนพยานของผู้ถูกกล่าวหาด้วย

อีกทั้งในชั้นตรวจพยานหลักฐาน เอกสารที่ตรวจครั้งแรก ๔๙ แผ่น และครั้งที่สอง ๒๘๐ แผ่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่มีพยานหลักฐานที่จะให้ตรวจตามข้อกล่าวหา ข้อกล่าวหาดั่งว่ากับปราศจากพยานหลักฐานว่าเกิดขึ้น ณ ที่ใด เป็นการปฏิบัติในทางตรงกันข้าม โดยไม่รอข้อเท็จจริงว่าในปัจจุบันนี้เอง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้สั่งการและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่าเกิดปัญหาตามข้อกล่าวหาขององค์คณะผู้ไต่สวนจริงหรือไม่ เพราะขณะนี้เองก็ยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องความเสียหาย และความรับผิดจากการตรวจสอบของคณะกรรมการที่ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะถือได้ว่าการไต่สวนขององค์คณะผู้ไต่สวนคดีนี้เสร็จสิ้นกระแสความได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ความก็ปรากฏต่อสังคมว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เองก็ได้ส่งเจ้าหน้า ป.ป.ช. ที่ไปร่วมสังเกตการณ์กับคณะกรรมการผู้ตรวจสอบดังกล่าวข้างต้นกลับเลือกที่จะรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นโทษต่อผู้ถูกกล่าวหาได้แก่รายงานผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เมื่อ วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ และ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ซึ่งมีระยะเวลาเนินนานมาแล้ว และรายงานดังกล่าวมีข้อโต้แย้งมากมาย จากหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบ และข้อโต้แย้งจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ฯ หลายประเด็นในการจะนำพยานบุคคลเข้าหักล้างรายงานผลการปิดบัญชี โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล แต่ถูกตัดพยานเสียดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

๒.๒ กรณีเรื่องการระบายข้าว

เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกันที่องค์คณะผู้ไต่สวนได้ปฏิบัติตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น และเป็นกรณีที่ไม่ได้กล่าวหาโดยตรงต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด และยังไม่ได้มีข้อยุติในคดีที่มีการกล่าวหาเรื่องระบายข้าวว่าจะมีข้อยุติเป็นอย่างไร จึงถือได้ว่ากรณีเรื่องการระบายข้าวเป็นเรื่องนอกข้อกล่าวหาที่มีต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ และตลอดมาศาสตราจารย์พิเศษ วิชาฯ เองก็ได้แถลงข่าวเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมว่าคดีระบายข้าวมิได้เกี่ยวข้องกับนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ผู้ถูกกล่าวหา ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ผู้ถูกกล่าวหามิได้ต่อสู้คดีนี้หรือมีโอกาสนำเสนอพยานหลักฐาน เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาในเรื่องการระบายข้าวแต่อย่างใด อีกทั้งข้อกล่าวหามากมายที่มีต่อเรื่องระบายข้าว ในเรื่องที่องค์คณะผู้ไต่สวนมีวินิจฉัย อาทิเช่น เรื่องข้าวเสื่อมคุณภาพก็ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ว่า หลักเกณฑ์การคิดคำนวณข้าวเสื่อมคุณภาพมีวิธีการคิดคำนวณอย่างไร และก่อนหน้านี้องค์คณะผู้ไต่สวนเองก็รับว่าหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณข้าวเสื่อมคุณภาพยังไม่มีหลักเกณฑ์ในทางปฏิบัติที่แน่นอน ซ้ำร้ายเมื่อผู้ถูกกล่าวหาจะนำพยานบุคคลเข้ามาชี้แจงก็กลับไม่ให้โอกาสที่จะนำพยานบุคคลเข้าชี้แจง อ้างว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นที่กล่าวหา สำหรับการขายข้าวขาดทุนเองก็ยังไม่ปรากฏว่าได้ขายข้าวที่มีอยู่ในสต็อกเป็นการเสร็จสิ้นแล้ว เพราะข้าวที่มีอยู่ในสต็อกล้วนมีมูลค่าที่จะต้องนำมาหักทอนทางบัญชี และยังไม่มีการขายให้เสร็จสิ้นจึงยังไม่มีข้อยุติทางตัวเลขแต่อย่างใด ส่วนข้ออ้างการขายข้าวขาดทุนโดยใช้หลักเกณฑ์ส่วนต่างของราคาระหว่างราคารับจำนำข้าวกับราคาท้องตลาด โดยที่ยังไม่มีการขายข้าวจริงจะถือว่าขายข้าวขาดทุนได้อย่างไร ส่วนข้าวสูญหายจากโกดังเองก็ยังมีข้อยุติว่ายังมีการตรวจสอบไม่เสร็จสิ้น และองค์คณะผู้ไต่สวนได้ไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบปริมาณข้าวก็ได้ข้อเท็จจริงว่าข้าวอยู่ครบจำนวนไม่ได้มีการสูญหาย แม้กระทั่งปัจจุบันมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบจำนวนข้าวแต่ละโกดัง ก็ยังตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จ จึงไม่ทราบได้ว่าข้าวสูญหายมากน้อยเพียงใด และในเรื่องนี้ยังไม่มีข้อเท็จจริงยุติว่ามีข้าวสูญหายในแต่ละจุดมากน้อยเพียงใด และยังมีข้อเท็จจริงที่เป็นข้อยุติว่าผู้รักษาข้าว อาทิเช่น เจ้าของโกดัง เจ้าของไซโล ได้มีสัญญาซึ่งมีสภาพบังคับตามกฎหมายในอันที่จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าวซึ่งสามารถไล่เบี้ยเอากับผู้รับผิดชอบในฐานะผู้ร่วมโครงการได้ แต่หาได้มีข้อเท็จจริงว่าได้มีการดำเนินการดั่งว่าแล้ว และเป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานของรัฐจะสมคบหรือปล่อยประละเลยให้มีข้าวสูญหายจากโกดัง เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นเลยในสถานที่แห่งใดนอกจากนี้ข้อวินิจฉัยในเรื่องการสีแปรสภาพ การขนส่ง การเก็บรักษา รัฐบาลกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ ทำลายระบบการค้าข้าวโดยเสรีโรงสีและผู้ส่งออกนอกโครงการไม่สามารถจัดหาซื้อข้าวได้เพียงพอ โรงสีในโครงการและผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลข้าว จะมีการค้าขายที่มีข้อได้เปรียบโรงสีและผู้ส่งออกนอกโครงการ ตลอดจนราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียตลาดส่งออกที่สำคัญ การรับจำนาข้าวเปลือกทุกเมล็ด โดยไม่จำกัดพื้นที่ผลิตและวงเงินของการรับจำนำ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายต่อโครงการอย่างยิ่ง จากการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ ตลอดจนปริมาณรับจำนำสูงเกินกว่าข้อเท็จจริง แต่คุณภาพข้าวต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ ข้อวินิจฉัยดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหาเองได้นำพยานบุคคล และพยานหลักฐานที่เป็นคุณเข้าหักล้างแล้วแต่องค์คณะผู้ไต่สวนหาได้รับฟังพยานหลักฐานส่วนที่เป็นคุณไม่ อีกทั้งเลือกที่จะตัดพยานหลักฐานและพยานบุคคลจำนวนหลายราย ที่ผู้ถูกกล่าวหาร้องขอให้ไต่สวนออกเสีย ทำให้ข้อเท็จจริงที่เป็นคุณไม่ปรากฏในสำนวน

สำหรับข้อวินิจฉัยในเรื่องมีการใช้อิทธิพลทางการเมืองช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้ข้าวจากโครงการไปจำหน่าย เกิดระบบนายหน้าค้าข้าวไม่เปิดประมูลข้าวอย่างเปิดเผย การทุจริตดังกล่าวได้ก่อให้เกิดภาระรายจ่ายของรัฐ ไม่ปรากฏว่ามีอยู่ในข้อกล่าวหาที่มีต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ เป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกเหนือข้อกล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจล่วงรู้ว่ามีประเด็นดังกล่าวอันจะทำให้มีข้อโต้แย้ง และข้อหักล้างต่อข้อวินิจฉัยดังกล่าวได้

๒.๓ ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ระงับยังยั้งโครงการ โดยยังคงดำเนินโครงการต่อมาจนขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ในเรื่องนี้เห็นว่า ข้ออ้างเรื่องการขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากนั้น เป็นข้อวินิจฉัยที่มีข้อโต้แย้งยังไม่ไต่สวนให้สิ้นกระแสความ และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าหน่วยงานรัฐด้วยกันเองก็ยังมีการคิดคำนวณผลการขาดทุนดั่งว่านั้น แตกต่างกันระหว่างรายงานผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลกับหน่วยงานรัฐด้วยกัน แต่เมื่อผู้ถูกกล่าวหาจะได้นำเสนอพยานหลักฐาน เพื่อหักล้างในเรื่องนี้ก็กลับถูกตัดพยานบุคคลดังกล่าวมา อีกทั้งองค์คณะผู้ไต่สวนเองก็ไม่มีข้อหักล้างฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาเช่นกันว่าการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาได้จริง และผลจากการจ่ายเงินเป็นผลโดยตรงให้ GDP ของประเทศมีอัตราสูงขึ้นอย่างสามารถที่จะตรวจสอบได้ ประกอบกับปัจจุบันนี้ก็ยังมีหน่วยงานหลายหน่วยงานให้ข่าวเป็นที่ประจักษ์ว่าผลจากการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวเกิดผลดีโดยตรง และโดยอ้อมหลายประการตามที่ผู้ถูกกล่าวหาได้นำเสนอพยานบุคคล และพยานหลักฐานถึงผลดีในโครงการรับจำนำข้าว แต่พยานหลักฐานที่เป็นคุณดังกล่าวกลับถูกปฏิเสธที่จะรับฟังจากองค์คณะผู้ไต่สวนโดยสิ้นเชิง ที่เป็นเช่นนี้เพราะกรรมการ ป.ป.ช. เองก็ได้ตั้งข้อรังเกียจต่อโครงการรับจำนำข้าว นับแต่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ต้น

ข้อวินิจฉัยเรื่องเหตุที่ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวนับล้านครอบครัวที่ยังไม่ได้รับเงินตามกำหนด และทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายนั้นเป็นที่ประจักษ์ว่า สภาพทางการเมืองที่ประสบในขณะนั้นอยู่ในสภาพบีบบังคับมิให้กลไกของรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันทางการเงินไม่สามารถจ่ายเงินได้ตามปกติที่พึงจะต้องปฏิบัติต่อกันนับแต่ได้เริ่มโครงการ และนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ได้ดำเนินมาตรการหลายมาตรการ เพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับชาวนาแต่กลับถูกสกัดกั้นดังที่เห็นเป็นประจักษ์ แต่ปรากฏในกาลต่อมาว่าในภายหลังที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ฯ สิ้นสุดลง มาตรการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ได้ดำเนินการไว้ในหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในโครงการ สถาบันการเงินเดิมที่เคยปฏิเสธก็กลับมาจ่ายเงินให้กับชาวนาได้ตามปกติและเห็นชอบในการนำสภาพคล่องของธนาคารมาสำรองจ่ายให้อีกด้วย

กรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ต้องถูกกล่าวหาในคดีนี้ ทั้งที่เป็นการดำเนินการในทางนโยบายของฝ่ายบริหาร (Act of government) ที่ควรจะตรวจสอบในระบบรัฐสภา อีกทั้งเป็นการปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ และมีมติคณะรัฐมนตรีจำนวนมากที่ได้แสดงออกว่านางสาวยิ่งลักษณ์ฯ หาได้ละเลยหรือละเว้น การกำกับ ควบคุม ดูแล แต่อย่างใดไม่ ในทางตรงกันข้ามมีข้อเท็จจริงปรากฏว่านับแต่เริ่มโครงการผู้ถูกกล่าวหาได้ดำเนินการ และให้นโยบายแก่ผู้ปฏิบัติให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และให้มีมาตรการป้องกันการทุจริตตลอดมา
...

เรื่องเกี่ยวเนื่อง...


Credit นายหนหวย หงุดหงิดรายวัน