วันศุกร์, กรกฎาคม 18, 2557

ในโลกแห่งประชาธิปไตย หงสาฯและอโยธยากอดกันแน่น


ที่มา 

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมาร์ เดินทางมาเยือนไทย นับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงต่างชาติคนที่ 2 ต่อจากรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของมาเลเซีย ที่เดินทางมาเยือนไทยนับตั้งแต่มีการรัฐประหาร โดยการเยือนครั้งนี้ ผบ.สส.ของเมียนมาร์ได้เดินทางไปเข้าพบทั้งพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย, พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้า คสช., และแน่นอนพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งได้รับการยกย่องนับถือจากพล.อ. มิน อ่อง หล่ายให้เป็นพ่อบุญธรรมเลยทีเดียว

จริงๆแล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่ทางการเมียนมาร์จะยอมรับได้ว่า การรัฐประหารในไทยเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม เพราะทุกคนก็รู้กันดีอยู่ว่า เมียนมาร์ก็ยังคงปกครองด้วยรัฐบาลทหารอยู่ดี แม้จะเปิดประเทศมากขึ้นแล้ว

ก่อนจะไปพูดถึงการพบกันของกองทัพทั้งสองประเทศ และความสัมพันธ์อันแนบแน่น มาทำความรู้จักกับมิน อ่อง หล่ายกันก่อน หากใครลองค้นประวัติของเขาดูก็จะพบว่า ผบ.สส.เมียนมาร์ผู้มีความสนิทแนบแน่นกับทั้งองคมนตรีและกองทัพไทยคนนี้ ไม่ใช่ธรรมดาเลยทีเดียว เขาได้ชื่อว่าเป็นทหารที่มีความเข้มแข็ง แข็งแกร่ง กล้าหาญ และเด็ดขาด -- เมื่อปี 2552 เขาเป็นผู้ที่นำกำลังเข้าต่อต้านกลุ่มกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย (NDAA) ในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยโกกังในรัฐฉาน ส่งผลให้ชาวโกกังเกือบ 40,000 คนลี้ภัยไปจีน หลังจากนั้นก็ทำความดีความชอบให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาร์มากมาย จนปี 2554 จึงได้รับเลือกให้มาเป็นทายาทอสูรจากพล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย ให้เป็นผบ.สส.มาจนถึงปัจจุบัน และยังมีการคาดการณ์ว่า ตาน ฉ่วยอาจผลักดันให้มิน อ่อง หล่ายลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้าอีกด้วย

พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ถือเป็นนายทหารที่มีอิทธิพลในพม่า และเป็นผู้หนึ่งที่เคยประกาศต่อหน้ารัฐบาลว่า กองทัพจะยังคงมีบทบาทในทางการเมืองพม่าต่อไปเหมือนเช่นในอดีต และย้ำว่า กองทัพมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องรัฐธรรมนูญ

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับตำแหน่งผบ.สส.เมียนมาร์ก็คือ รัฐธรรมนูญของเมียนมาร์ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในการให้อำนาจแก่ผบ.สส. ในการทำรัฐประหาร หากเป็นไปเพื่อการรักษาความมั่นคงของชาติ ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองแตกแยก ไม่แน่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยอาจเพิ่มข้อนี้ขึ้นมาก็ได้ จะได้ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญกันอีกให้เสียเวลา (ความเห็นส่วนตัว: มาตราแบบนี้อยู่ในรธน.ใหม่เพราะประเทศไทยเป็นพวกหน้าบางไม่ทำอะไรโจ่งแจ้ง แต่ที่เราต้องจับตาก็คือ การเพิ่มอำนาจให้กองทัพ, การปรับเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้ง เพื่อบีบไม่ให้เพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอีก, รวมถึงมาตราที่เกี่ยวกับการสืบราชบัลลังก์)

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทั่วโลกเกิดอาการ "เอ๊ะ?" เบาๆ กับการพบกันครั้งนี้ ก็คือ การที่ผบ.สส.ของไทยบอกว่า รัฐบาลเมียนมาร์สนับสนุนการรัฐประหารไทยก็เพราะเมียนมาร์เคยผ่านเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันมาก่อน นั่นก็คือ เหตุการณ์ 8888 เหตุการณ์การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ย่างกุ้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988 ที่ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ทำร้ายและยิงใส่กลุ่มผู้ประท้วงบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก นักศึกษาหลายคนถูกจับกดน้ำตายในทะเลสาบอินยา การปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยจากเผด็จการเนวินนี้ ส่งผลมีประชาชนเสียชีวิตไปอย่างน้อย 3,000 คน จึงทำให้หลายคนสงสัยว่าผบ.สส.ของไทยไร้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จริงๆ จึงหยิบเหตุการณ์นี้ขึ้นมาเทียบ หรือตั้งเป้าเอาไว้ว่าอยากจะเป็นเผด็จการได้ถึงขนาดนั้น เพราะการพูดแบบนี้นอกจากจะทำให้ตัวเองดูโง่แล้ว ยังดูสวนทางกับการโฆษณาชวนเชื่อว่ากองทัพต้องการให้เกิดความสงบสุขในประเทศ

ภาพที่ผบ.สส.ของทั้งสองประเทศกอดกันอย่างแนบแน่นในครั้งนี้ จึงสะท้อนว่า ศัตรูคู่อาฆาตกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา กลับมีความสนิทชิดเชื้อกันอย่างแนบแน่นแล้ว เพราะทั้งสองประเทศต่างก็มีรัฐบาลทหาร เข้าใจความคิดแบบทหาร และไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในสังคมโลกที่ล้วนเป็นประชาธิปไตย ไม่อ้างว้างเมื่อโดนชาติตะวันตกเบือนหน้าหนี

จริงๆแล้วความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ตามแนวชายแดน เนื่องจากผู้บัญชาการในพื้นที่ก็มีการร่วมมือกัน และทำข้อตกลงกันมานานหลายปี และส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการเจรจากันโดยอิสระจากคำสั่งหรือนโยบายของรัฐบาลกลาง

นายกวี จงกิตถาวร ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น*** เคยเขียนเอาไว้ว่า เป็นความลับที่ไม่ลับว่า กองทัพไทยรับสินบน โดยเฉพาะจากธุรกิจค้าไม้และรัตนชาติที่มีผลกำไรมหาศาล เพื่อแลกกับความร่วมมือด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ กองกำลังตามแนวพรมแดนไทย-เมียนมาร์จะไม่ดำเนินนโยบายตามที่รัฐบาลกลางสั่ง แต่ดำเนินนโยบายโดยกองทัพเอง

แม้จะมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงผู้ลี้ภัยที่ข้ามแดนมาเพราะความขัดแย้งเรื่องศาสนาและชาติพันธุ์ แต่ล่าสุดก็มีแนวโน้มว่า กองทัพทั้งสองจะสามารถตกลงกันได้แล้ว

นาย Nirmal Ghosh จากสำนักข่าว The Straits Times ของสิงคโปร์ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับเอาไว้ว่า ผู้ลี้ภัยชาวพม่ากว่า 130,000 คน ในค่ายผู้ลี้ภัยในแดนไทย อาจถูกส่งกลับเมียนมาร์ในไม่ช้า เพื่อไทยจะได้หมดภาระฝั่งไทย แม้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะไม่อยากกลับ เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะกลับไปยังพื้นที่ที่ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งทั้งศาสนาและชาติพันธุ์