ที่มา สำนักข่าวอิศรา
“เข้าใจนะว่า โรงแรมต้องการที่จะเจริญเติบโตทางธุรกิจ แต่ที่จริงก็ปิดปรับปรุงบางส่วนแล้วยังจ้างพนักงานอยู่ก็ได้ แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่ความพอใจของผู้บริหาร ป้าไม่โกรธไม่ได้แค้น ”
“อย่าให้ผมเล่าเลยครับว่า รู้สึกอย่างไรในวันที่ได้ยินว่าจะถูกเลิกจ้างในวันแรก พูดไม่ออก ผมทำงานที่นี่มา13 ปี ผูกพันมานาน เงินเดือนที่นี่ก็ไม่ได้สูงมากแต่เราก็ยังอยู่”
นี่คือเสียงแรกของพนักงานโรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค ภายหลังจากที่ได้รับทราบว่าบริษัททีซีซี โฮเทล แอสเสท แมนเนจเม้นท์ จำกัด มีนโยบายปิดปรับปรุงโรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค เกือบ 2 ปี และเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการ ไปอยู่ภายใต้เครือแมริออท และอาจมีการเลิกจ้างพนักงานโรงแรมอิมพีเรียลฯ จำนวน 800 คน
เขาสมัครงานทิ้งไว้แล้ว 3-4 แห่งแล้ว ยิ่งเมื่อรู้ข่าวว่า ตัวเองจะต้องออกจากงานในวันที่ 30 ตุลาคม ถึงวันนี้ยังไม่มีที่ไหนสักแห่งเรียกเข้าไปสัมภาษณ์สักที
และวันนี้ก็เป็นอีกวันที่เขาต้องมานั่งกรอกใบสมัครงานทิ้งไว้ โดยหวังว่าจะได้งานทันที่ตัวเองถูกเลิกจ้าง แต่หากโชคไม่ดีต้องตกงาน เงินชดเชยที่จะได้ตอบแทน ก็คงเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่จะใช้ปะทังชีวิตและสู้หางานไปเรื่อยๆ
"คนที่อายุงาน 10 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่ก็จะได้เงินชดเชยกันหลักแสนขึ้นทุกคนก็คงจะเอาเงินตรงนี้มาใช้กันก่อน หากยังไม่ได้งาน" เขาคุยไป ถอนหายใจไป ขณะที่มือก็ง่วนอยู่กับการกรอกประวัติลงในใบสมัครงาน
ช่วงสายๆ ของวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางโรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค ได้มีการจัดงาน Job fair ขึ้นเพื่อให้พนักงานได้มองหาช่องทางอื่น หลังจากถูกเลิกจ้าง ซึ่งมีบริษัทธุรกิจโรงแรมให้ความร่วมมือเข้าร่วมงานครั้งนี้กว่า 20 แห่ง
ทันที่ที่ก้าวเท้าย่างเข้าโรงแรมแห่งนี้ สิ่งที่เห็นไม่ใช่หน้าตาที่เศร้าหมองของพนักงาน แต่คือใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มที่มาพร้อมกับการให้บริการอย่างเป็นมิตร ซึ่งหากไม่ทราบข่าวมาก่อนหน้านี้ ใครเลยจะคิด พนักงานบริการเหล่านี้ ส่วนหนึ่งกำลังถูกลอยแพในเวลาไม่ช้า
ยิ่งเมื่อเดินขึ้นไปยังชั้น 2 ของโรงแรมฯ สิ่งที่เห็นคือเหล่าพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน พนักงานเสิร์ฟ เบล์บอย พ่อครัว ต่างนั่งรวมตัวกันหน้าลานชั้น 2 ก้มหน้าก้มตากรอกใบสมัครกันอย่างคึกคักด้วยความหวังว่าพวกเขาจะได้งานทำ เปลี่ยนข่าวร้ายให้เป็นข่าวดี จากงาน Job fair ครั้งนี้
พนักงานเสิร์ฟ วัย 25 ปี ที่ทำงานที่นี่มากว่า 3 ปี เล่าให้เราฟังพร้อมนั่งเขียนใบสมัครไปด้วยว่า เธอมีโอกาสทำงานที่นี่ถึงเดือนสิงหาคม
"ตอนนี้ก็ยังไม่ได้งานที่ไหน เพิ่งจะทำการสมัครงานภายในงานนี้ และหากต้องออกจากงานในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม และยังไม่ได้งาน ก็จะยังคงหางานต่อไปเรื่อยๆ พยายามใช้เงินชดเชยที่ได้ให้คุ้มที่สุด"
เมื่อถามถึงเงินชดเชย ที่บริษัทฯ จะให้ เธอบอกว่า “เงินชดเชยได้ไม่เท่ากันหรอกอยู่ที่อายุงาน ใครอยู่นานเงินเดือนสูงก็ได้กันเป็นแสน แต่อย่างของหนูไม่ถึงหรอกเพราะอายุงานน้อย เขาก็ให้ตามกฎหมายกำหนด”
ตำแหน่งสูงขึ้นมาหน่อย หัวหน้างานของพนักงานเสิร์ฟ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทุกคนก็หวังที่จะได้งานจาก Job fair ครั้งนี้ ส่วนเงินที่จะมีการขอเพิ่มเติมตอนนี้ก็ไม่มีความคืบหน้า เราไม่หวังว่าจะได้แล้ว เนื่องจากไม่มีใครเป็นแกนนำหลัก อย่างคนที่วุฒิการศึกษาสูงๆ เขาก็ไม่ได้เดือดร้อนเพราะเขามีทางเลือก ขณะที่บางคนก็มีธุรกิจอาชีพทำ คนที่จะเดือนร้อนส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มแม่บ้าน เบล์บอยที่อายุมากและวุฒิการศึกษาน้อยๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้ทำงานที่นี่มาหลายปีแล้ว
คนสุดท้ายที่ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ไปพูดคุยด้วย แม่บ้านวัย 52 ปี ที่ทำงานมานานกว่า 20 ปี บอกว่า ตอนแรกก็ยอมรับไม่ได้ที่อยู่ๆ จะต้องออกจากงาน เพราะมีภาระทางบ้านที่ต้องดูแล ลูกสาวคนโตเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 ส่วนคนเล็กก็กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หากเธอยังทำงานลูกๆ ของเธอก็จะได้ไม่ลำบากเรื่องทุนการศึกษา
"ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าจะทำอย่างไรดี เพราะอายุก็มากแล้ว หางานทำลำบาก" เธอบอกถึงสิ่งที่อัดอั้นข้างใน และว่า "ป้าเข้าใจนะว่าโรงแรมต้องการที่จะเจริญเติบโตทางธุรกิจ แต่ที่จริงก็ปิดปรับปรุงบางส่วนแล้วยังจ้างพนักงานอยู่ก็ได้ แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่ความพอใจของผู้บริหาร ป้าไม่โกรธไม่ได้แค้น แต่เราก็พยายามเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ใครๆ ก็ต้องการความเจริญรุ่งเรือง”
ส่วนเงินชดเชยที่แม่บ้านวัย 52 ปีคนนี้ได้ จากการต้องออกจากงานครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท แต่เธอคิดว่า ไม่คุ้มกับการถูกเลิกจ้าง เพราะหากเธอทำงานต่อไปจนอายุ60 ปี เธอจะมีรายได้มากกว่าเงินชดเชยที่ได้รับ
แม้จะมีพนักงานหลายคนลุกขึ้นมาเรียกร้องขอเงินชดเชยเพิ่มเติม แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะไม่มีแกนนำที่ชัดเจน เนื่องจากหลายคนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านหรือเรียกร้องสิทธิมักถูกผู้บริหารเรียกไปพบ
“พนักงานส่วนใหญ่กลัวจะมีผลกระทบต่อการได้รับเงินชดเชยทุกคนเลยตกอยู่ในสภาวะจำยอมคือทำอะไรไม่ได้แล้ว ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาทำอะไรแล้ว บางคนเขาก็ไม่ได้เดือนร้อน เรียกว่าจำยอมแบบจำใจที่จะต้องตกงาน”
เธอ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า จริงๆแล้วพนักงานที่นี่ทำงานดีทุกคน มีประสิทธิภาพทุกคน แม้ว่าจะอายุมากแล้วก็ตาม อย่างตัวเธอเองอายุ 52 ปี แต่ก็ยังแข็งแรงและทำงานได้ไม่แพ้คนอายุ 30 แต่เวลาสมัครงานส่วนใหญ่พอเห็นแค่อายุยังไม่ได้มีการพูดคุย ก็มักจะถูกปฏิเสธก่อนอยู่แล้ว เพราะคิดว่าคนอายุมากจะทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่จริงไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป
ก่อนจากไป เธอตั้งความหวังถึงการสมัครงานว่า จะได้รับโอกาสสักที คงมีที่ไหนสักแห่งมองข้ามเรื่องอายุของเธอไป
นอกจากนี้โลกโซเชียลมีเดียอย่างเฟชบุ๊ก ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งเป็นที่ระบายความอัดอั้นตันใจของพนักงาน หลายคนตกอยู่ในสภาวะจำยอม และต้องทนรับชะตากรรม กำลังกลายเป็นผู้ตกงานในไม่ช้า
แม้ผู้บริหารระดับสูง หรือนายทุนจะไม่ยอมฟังข้อเรียกร้อง เราลองไปฟังเสียงคนเล็กคนน้อยสักนิด...
"ครั้งหนึ่ง..ที่นี้เปรียบเสมือนบ้านที่อบอุ่น..แต่ตอนนี้..เขาไม่ตอ้งการลูกๆ 700 กว่่าคน เขาตีค่าลูกๆ 700 กว่าชีวิตดว้ยเศษเงินของเขา..เสียดายเวลา...แทบทั้งชีวิตที่ทุ่มเทไปกับ.บ้านหลังนี้"
"มองจากบนตึกที่เราทำงานยังมีตึกที่ต่ำกว่าอีกมากมายต่อจากนี้ไปไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้มาสัมผัสอีกไหมนะ"
"ลองทำตัวเป็นคนตกงานดูสามวันมันก็สบายดีเหมือนกันนะนั่งๆนอนๆดูทีวีอยู่หน้าคอมฯถึงเวลากินก็กินได้เวลาไปรับลูกกลับจากโรงเรียนก็ไปแต่ถ้านานๆไปจะมีความรู้สึกอย่างไรไม่รู้เพราะนี่เป็นแค่การทดลอง 5 แต่ก็คงอีกไม่นานคุณๆก็จะได้สัมผัสกันบ้างสักระยะนะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย"
"ทำงานมา10กว่าปีโรงแรมปิดทั้งที่ได้แค่หมื่นห้า"
"อีก 3เดือนข้างโ่รงแรมนี้จะปิดแล้ว ไม่น่าทำกับพนักงานแบบนี้เลย"
"เมื่อวันที่ 17 ก.ค เกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าใจค่ะ มีเพื่อนพนักงานท่านหนึ่ง ช็อคเมื่อได้ยินว่า วันนี้เขาต้องทำงานเป็นวันสุดท้ายแล้ว ทั้งๆที่ กำหนดจริงคือ 15 ส.ค. แต่ทางบริษัท ทีซีซี บังคับให้เขาหยุดโดยการใช้วันลาพักร้อนที่เหลือทั้งหมด เขาร้องไห้ เดินเหมือนคนไร้ชีวิต เพื่อนต้องเรียกสติกลับมา สักพักเขาก็ร้องไห้ จนหลับไปเอง คิดดูว่า ถ้าเขาคิดสั้นทำอะไรไป ลูกชายที่ยังเล็กจะทำเช่นไร นั่งมองแล้วมองอีกมันเป็นความผิดของใครกัน"
"กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ โรงแรมแห่งหนึ่งที่กำลังจะปิดกิจการเพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแบรนด์ในการบริหาร โดยการลอยแพพนักงานอย่างมโหฬารเป็นประวัติศาสตร์ เห็นมีแต่พนักงาน ST level - Supervisor level และ Management บางท่าน ที่ช่วยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน มอบคำปลอบประโลม หาหนทางสารพัดในการเผชิญปัญหาตกงาน / อนาคตมืดมิด / ครอบครัวคล้ายจะล่มสลาย ให้กับพนักงานที่ต้องจำนนต่อเหตุการณ์ "
บางครั้งเราก็มองความทุกข์ยากของคนอื่นเป็นเรื่องไกลตัวและหลายคนคิดว่าเงินจะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องแต่นั่นก็อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ถูกต้องและเป็นธรรมเสมอไป
Thailand's hotel industry is not expected to recover by the start of the high season in October if martial law remains in effect, says the Thai Hotels Association (THA).
Source: Bangkok Post