วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 24, 2557

เรื่องจากใจรัฐศาตร์บริกรอกหัก... "สมบัติ" เตือนคสช.อย่าซ้ำรอย "สฤษดิ์-ถนอม" หลังคงอำนาจ รธน. ชั่วคราว


"สมบัติ" เตือนคสช.อย่าซ้ำรอย "สฤษดิ์-ถนอม" หลังคงอำนาจ รธน. ชั่วคราว

"สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" ชี้ รธน.ชั่วคราว ให้อำนาจ คสช. เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เตือน คสช. "ซื่อสัตย์สุจริต" อย่าซ้ำรอย "สฤษดิ์-ถนอม" ระบุชัด เมื่อขาดความชอบธรรม ประชาชนจะต่อต้าน

ที่มา สำนักข่าวอิศรา

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราwww.isranews.org ถึงการคงอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ว่า สาระสำคัญประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่คนในสังคมให้ความสนใจคือการตั้งคำถามว่าอำนาจพิเศษของ คสช. จะยังมีอยู่หรือไม่ เมื่อมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งกรณีของ คสช. นี้ อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังคงอยู่ โดยเฉพาะที่มาตรา 44 ซึ่งถือว่า คสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ

นายสมบัติกล่าวว่า ที่ผ่านมาก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คสช. ใช้เพียงอำนาจในทางนิติบัญญัติ คือการออกประกาศ และคำสั่งต่างๆ และใช้อำนาจทางบริหาร คือการแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่หน่วยงาน องค์กรต่างๆ แต่อำนาจเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่อำนาจตุลาการ แต่มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้ามีผู้ต้องหาที่มีการกระทำบ่อนทำลายชาติ คสช. สามารถทำการแทนศาลได้เลย สามารถสั่งประหารชีวิตได้เลย และเป็นการใช้อำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นที่สุด ใครมาโต้แย้งไม่ได้

"นี่คือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้อำนาจแก่ คสช. พอสมควร” นักวิชาการรายนี้ระบุ

นายสมบัติ ยังกล่าวเปรียเทียบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของคณะรัฐประหารในอดีตที่ผ่านมาว่า ถ้าเทียบกับการรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพล ถนอม กิตติขจร, พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่และพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ แล้ว จะพบว่าคณะรัฐประหารเหล่านี้ ล้วนมีมาตราที่ให้อำนาจคณะรัฐประหารอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

“จอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม มีมาตรา 17 กรณีของทั้งสองคน เป็นอำนาจที่อาจจะเรียกว่าเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ทั้งนิติ บัญญัติ บริหาร ตุลาการเช่นกัน ส่วนของ รสช. ที่นำโดยพลเรือเอกสงัดมีมาตรา 21 พลเอกสุนทร มีมาตรา 27 ซึ่งล้วนให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบเดียวกัน”

นายสมบัติกล่าวด้วยว่า แม้จะมีนายกฯ แล้วก็ตาม รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ก็ยังบัญญัติไว้ว่า คสช. ยังมี อำนาจปลดนายกฯ ตามที่บัญัติไว้ใน มาตรา 19 วรรค 3 ดังนั้น โดยภาพรวม แม้เมื่อมีนายกฯ ครม. สนช. และมีสภาปฏิรูปแล้วก็ตาม หากถามว่าอำนาจ คสช. ในฐานะรัฐถาธิปัตย์ ยังมีอยู่ไหม คำตอบคือยังมีอยู่ครบถ้วนทุกประการ

นายสมบัติกล่าวด้วยว่าอำนาจเหล่านี้ จะยังปกป้อง คสช. ต่อไปได้ ตราบใดที่ คสช. ยังสามารถรักษาพรมจรรย์ไว้ได้ ซึ่งพรมจรรย์ในที่นี้ หมายถึง คำที่ พล.อ. ประยุทธ์ บอกว่า ไม่โกงแม้แต่บาทเดียว และไม่ต้องเอา 30 เปอร์เซ็นต์ มาให้ คสช. ถ้าทำได้ แบบนี้ประเทศสดใส

"ที่ผ่านมา เรื่องคอร์รัปชั่น เรื่องค่าคอมมิชชัน 30 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนก็ปวดหัวใจพอแล้ว ดังนั้น เมื่อหัวหน้า คสช ขึ้นมาและประกาศคำพูดนี้แล้วก็ขอให้ทำให้ได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า คสช. ไม่ได้มีแค่หัวหน้า คสช. แต่ยังมีคนที่แวดล้อมมากมาย ถ้าเมื่อใดทำให้คนสงสัย เมื่อเกิดความไม่โปร่งใส แม้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตามมาตรา 44 ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะ มาตรา 44 จะมีอิทฤทธิ์ปาฏิหหาริย์อย่างมาก เมื่อ คสช. มีความซื่อสัตย์สุจริต แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ มาตรา 44 ก็จะไม่มีความขลังอะไรเหลืออยู่ ไม่ต่างจากยุคจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ที่แม้จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เมื่อประชาชนลุกฮือต่อต้านความไม่ชอบธรรม อำนาจเหล่านี้ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้” นักวิชาการรายนี้ระบุ

ภาพประกอบจาก : http://news.springnewstv.tv และ google.com