วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 24, 2557

ข้อสังเกต รธน. ชั่วคราว 'ห้ามเจ้าสำนัก'




ข้อสังเกตเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557



*โปรดดูรัฐธรรมนูญฯ ประกอบ

คำปรารภ ปกติแล้วคำปรารภ หรือ preamble นั้นจะกล่าวถึงที่ไปที่มาและอุดมการณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่คำปรารภนี้กลับกล่าวถึงสาเหตุของการยึดอำนาจเสียมากกว่า และเป็นคำปรารภที่ยาวมากกว่าปกติ

มาตรา 1 และ 2 – เป็นรูปแบบปกติของรัฐธรรมนูญไทย

มาตรา 3 – ยังงงๆอยู่ว่าการที่บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยแต่พอดูเนื้อหาทั้งฉบับแล้วไม่รู้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยตรงไหน

มาตรา 4 – อ่านแล้วเคลิ้มเพราะพูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แลพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่พออ่านไปถึงมาตรา 47 แล้วมาตรานี้ไม่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด

มาตรา 5 – คือมาตรา 7 ของ รธน.50 ดีๆนี่เอง แต่เพิ่มตรงให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยล่วงหน้าได้ ซึ่งผิดวิสัยของการเป็นศาล ที่ปกติแล้วจะไม่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายแต่ศาลจะวินิจฉัยในกรณีที่ เกิดข้อพิพาทแล้วเท่านั้น

มาตรา 6,7,8,9,10,11,12,13 – เป็นส่วนเกี่ยวกับองค์ประกอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มีข้อสังเกตคือ ห้ามผู้เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายในระยะเวลา 3 ปี แต่ไม่ห้ามข้าราชการประจำ  

ที่น่าขำก็คือ มาตรา 8(8) ห้ามเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก จึงเป็นปัญหาว่าคำว่าเจ้ามือนี้หมายความถึงอะไรบ้าง เช่น เจ้ามือไฮโล เจ้ามือหวยไต้ดิน ฯลฯ และคำว่าเจ้าสำนักหมายถึงเจ้าสำนักนางโลมหรือเจ้าสำนักบู้ลิ้มด้วยใช่หรือไม่ อย่างไร

มาตรา 14,15,16,17,18 – เป็นส่วนเกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายและการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั่วๆไป

มาตรา 19,20 – ว่าด้วยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีซึ่งมีข้อสังเกตคือไม่เป็นหรือ เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง(สนช.และสปช.เป็นสมาชิกพรรคได้ ห้ามเฉพาะผู้มีตำแหน่งในพรรคเท่านั้น) และแน่นอนว่าไม่ห้ามข้าราชการประจำอีกเช่นกัน

มาตรา 21 – เกี่ยวกับการออกพระราชกำหนด

มาตรา 22 – เกี่ยวกับการออกพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 23 – เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึกและสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ แต่ไม่ยักพูดถึงการประกาศสงคราม

มาตรา 24 – เกี่ยวกับการโปรดเกล้าแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ผู้พิพากษาตุลาการและองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย

มาตรา 25 – การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองฯ

มาตรา 26 – ความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีของฝ่ายตุลาการ

มาตรา 27 – ประเด็นที่สภาปฏิรูป (สปช.) มีหน้าที่ศึกษา 11 ด้าน ซึ่งยังงงๆอยู่ว่าอาศัยเกณฑ์อะไรในการแบ่งหมวดเพราะดูทับซ้อนกันอย่างไรพิกล แต่ก็ยังดีที่มี (4) ที่มีประเด็นการปกครองท้องถิ่นแต่แยกออกมาจากการบริหารราชการแผ่นดิน (ซึ่งจริงๆแล้วควรจะอยู่ด้านเดียวกัน) แต่ก็ยังดีที่อย่างน้อยก็จะได้มีการพูดถึงประเด็นการปกครองท้องถิ่นบ้าง แม้ว่าจะไม่เห็นความหวังของการพัฒนาการที่ดีขึ้นแต่อย่างใด มีแต่จะถูกลดทอนขนาดและอำนาจหน้าที่ลงไปเป็นลำดับนับแต่ภายหลังมีการยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม57 เป็นต้นมา

มาตรา 28,29,30,31 – เกี่ยวกับคุณสมบัติ ที่มา อำนาจหน้าที่ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

มาตรา 32,33 – เกี่ยวกับที่มาและคุณสมบัติของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คน ซึ่งห้ามสมาชิกพรรคการเมืองหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายใน 3 ปี เช่นเดียวกับคุณสมบัติ ครม.

มาตรา 34 – กำหนดระยะเวลาร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่ได้รับความเห็นจาก สปช.และต้องเสนอร่าง รธน.ต่อ สปช. (ไม่ใช่ สนช.) พิจารณา

มาตรา 35 – กำหนดประเด็นให้คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ รัฐธรรมนูญฯฉบับที่ 20 ที่จะมีขึ้นคือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฯฉบับที่ 19 หรือฉบับปี 57 นั่นเอง เพียงแต่เมื่อมีฉบับที่ 20 แล้ว ฉบับที่ 19 ก็เลิกไปเพราะเอาเจตนารมณ์ฉบับที่ 19ไปใส่ในฉบับที่ 20 แล้ว

มาตรา 36,37,38,39 – เป็นขั้นตอนและกระบวนการร่างรัฐรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีข้อสังเกตคือ ตามมาตรา 37 วรรคสองที่บัญญัติว่า ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไปซึ่งค่อนข้างจะแตกต่างกับกระบวนการตรากฎหมายที่ผ่านมาในอดีต เพราะไม่บัญญัติให้มีการยืนยันร่าง แต่กลับเพิ่มพระราชภารกิจและความรับผิดชอบให้แก่พระมหากษัตริย์ในกรณีที่ต้องวินิจฉัยให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป 

และในกรณีมาตรา 38 วรรคสองในกรณีคณะกรรมาธิการฯยกร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการฯชุดใหม่ขึ้นมาอีก ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะแล้วเสร็จอีกเช่นกัน ซึ่งอาจกินเวลาเป็นสิบๆปีทำลายสถิติเดิมที่ทำไว้เพียงสิบปีในสมัยจอมพลสฤษดิ์และต่อเนื่องมาถึงจอมพลถนอม 

หรือถ้ามองแบบร้ายสุดๆก็อาจจะไม่มีฉบับที่ 20 เลยก็เป็นได้

มาตรา 40 – เกี่ยวกับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งของตำแหน่งในรัฐธรรมนูญนี้ซึ่งกำหนดให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 41 – ยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้แก่ คมช.,สนช.,สปช.,กรรมาธิการร่าง รธน. ฯลฯ

มาตรา 42 – ให้ คมช.อยู่ต่อไปและเพิ่มจำนวนให้เป็นไม่เกิน 15 คน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่าง คมช.กับ ครม.
มาตรา 43 – ในระหว่างที่ยังไม่มี สนช.,ครม.ให้อำนาจเป็นของ หน.คมช.

มาตรา 44 – สรุปง่ายๆก็คือมาตรา 17 ที่เคยให้อำนาจจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอมไว้อย่างไรก็แทบไม่แตกต่างกัน เพียงคราวนี้หาก หน.คมช.จะใช้อำนาจก็โดยความเห็นชอบของ คมช.เท่านั้นเอง

มาตรา 45 – เกี่ยวกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญภายใต้บังคับของมาตรา 5 และมาตรา 44

มาตรา 46 – เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจของ สนช.พิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่เท่านั้นไม่สามารถแก้ไขได้หากครม.และคสช.ไม่เห็นชอบด้วย

มาตรา 47 – บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช.ไม่ว่าจะทำก่อนหรือหลัง รธน.นี้บังคับใช้เป็นประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและถือ เป็นที่สุดจนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก  

ที่น่าสังเกตคือมีคำว่าหลัง ประกาศใช้ รธน.ซึ่งก็แสดงว่า คสช.ยังมีอำนาจเต็มทุกอย่างนั่นเอง

มาตรา 48 – ว่าด้วยการนิรโทษกรรมการกระทำทั้งหลายที่กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจ ไม่มีข้อสังเกต เพราะถ้าไม่มีมาตรานี้ต่างหากจึงจะผิดสังเกตของการยึดอำนาจแบบไทยๆ

รายละเอียดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗ ที่ http://hilight.kapook.com/view/105498