วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 09, 2558

ล้อการเมืองของจุฬา หายไปไหน มีเรื่องมาเล่าให้ฟัง...



ตัวหุ่น “Corruptท่าน“ (เครดิต ภาพจากSanook.com)ที่สื่อถึง ผู้พิพากษาทั้งหลายที่ไปรับตำแหน่งการเมือง เปลี่ยนเป้าหมายไปสู่หนทางแห่งอำนาจ หรือ การมุขเปลี่ยนฉากหลังให้ท่านผู้นำที่กำลังฮิตในเน็ต เอาไปใส่ให้คนดูทางบ้านดู) (เครดิตภาพ Thairath.com)

ที่มา เวป Chris To Go

ล้อการเมืองของจุฬา หายไปไหน ผมมีเรื่องมาเล่าให้ฟังครับ

เนื่องจาก ขบวนล้อการเมืองของธรรมศาสตร์ทำได้ดีมากใน ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา มธ ในปีนี้

ก็เห็นหลายๆคน มีคำถามว่า

"แล้วจุฬาล่ะ?"
"เกิดอะไรขึ้นกับจุฬา"
"จุฬามีขบวนล้อการเมืองไหม"

ผมพอจะมีประสบการณ์ในเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง จึงอยากจะมาแชร์ให้ฟังตรงนี้ครับ

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนเรียนอยู่ทีนิติ จุฬา ปี 4 ตอนนั้นผมเป็นรองหัวหน้านิสิตฝ่ายกิจการภายนอกกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดงานที่ไป "ประมูล" มาจากส่วนกลางที่เรียกว่า อบจ. (องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ซึ่งงานอย่างงานบอลเป็นงานใหญ่มาก ก็เลย ต้องแบ่งหน้าที่กันทำ
คนไม่คุ้นเคยอาจจะไม่เข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น ในส่วนของบัตร ให้คณะสหเวชเป็นคนรับผิดชอบ งานส่วนของเนื้อหาให้อักษร รับผิดชอบ

ซึ่งในปีนั้น ด้วยความที่ว่า ผมชอบการเมืองมาก และคิดว่า นี่ล่ะโอกาสที่ใฝ่ฝันมานานแล้ว ในงานบอลปีที่ 66 ผมจึงไปประมูล ขบวนล้อการเมืองของจุฬา (ที่ถูกเรียกว่า"ขบวนสะท้อนสังคม" เราอยากเรียกว่า ล้อการเมืองมาก แต่ ธรรมศาสตร์ เค้าไม่ยอมให้เราใช้ชื่อ คงเพราะว่าเค้าทำแบรนมาหลายปี แล้ว จุฬาไม่เคยทำมานานมากแล้ว) โดย เราตกลงกันว่า นิติจะทำคอนเซปต์ ส่วนถาปัด จะช่วยทำหุ่นให้

ซึ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นก็มีเยอะครับ ประเด็นใหญ่ที่สุดที่เราพบคือ

"การเซ็นเซอร์ในจุฬามีอยู่จริง"

เราออกแบบ ทำแปลน วางแผนกันอยู่หลายรอบ แต่ทุกรอบต้องกลับไป finalize ที่อาจารย์ (ผู้บริหารจุฬา)

หลายๆปีที่ ไอเดียหลายอย่าง มักจะถูกเซนเซอร์โดย คนในคณะเอง (ที่คิดแบบว่า คณะอยู่ดีๆจะไปยุ่งกับการเมือง หาเรื่องทำไม หรือประเภท ความคิดการเมืองของคุณ ไม่ได้representคนทั้งคณะ เพราะฉะนั้น ถ้ากูเงียบ มึงต้องเงียบด้วย 55+) หรือ คนในอบจ. (ที่คิดว่า จะประจบอาจารย์ หรือไม่ก็ คิดแบบเดียวกับพวกแรก คือ จะไปหาเรื่องเดือดร้อน ทำไม)

แต่ผมโชคดีมาก ที่ปีนั้น คนในคณะหลายๆคนเอาด้วย และอบจ.ปีนั้นเห็นด้วย ทุกๆคนอยากจะเห็นจุฬา มีบทบาททางสังคมบ้าง

แต่ปรากฎว่า สุดท้าย ผมก็เจอจังๆกับตัวเองครับ
ผู้บริหารจุฬา(อาจารย์) เรียกเข้าไปพบ ขอให้ปรับ ขอให้แก้คอนเซปต์
เพราะคิดว่า อาจแรงเกินไป ไม่มีความจำเป็นต้องศัตรูๆ บลาๆ

ตอนแรก เราอยากจะทำตีมการเมืองเต็มที่
(แพลนหลักๆคือ เสื้อเหลือง เสื้อแดง ทะเลาะกันจริง แต่หารู้ไม่ ว่าประเทศนี้ทหารคุม)
สุดท้าย ที่ทำออกมาได้จริงๆ เป็นตีม สิทธิในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of expression)

ตัวอย่างที่เค้าแก้ ที่ผมจำได้ชัดๆ อย่างเช่น
ก่อนหุ่นตัวสุดท้าย ที่เป็น ท้อปบู้ตเหยียบคนเสื้อเหลืองเสื้อแดง จะออก
เราดีไซน์กันว่า ให้มีป้ายผ้า "ประชาชนต้องมาก่อน" แล้วให้ทหารถือปืนจี้ประชาชนเดินรอบสนามฟุตบอล สุดท้าย ฉากนี้ถูกห้าม พวกเราจึงพยายามทำเป็นว่า ทหารเดินตามประชาชนแล้วให้ถือปืนไขว้หลีง

ซึ่งทุกวันนี้ ผมยังกลับมาคิดอยู่ว่า
ถ้าเราฝีน เค้าจะทำอะไรเราได้ จะไล่เราออกยังงั้นหรือ คงไม่มีทาง แล้วทำไมเราถึงยอมทำตามที่ผู้มีอำนาจสั่ง เพียงแค่เค้าบอกว่า ไม่เหมาะสม

คือ โดยสภาพ ณ เวลานั้น ปัจจัยหลายๆอย่าง มันทำผมตัดสินใจเปลี่ยน "เพียงเพราะอาจารย์(ซึ่งไม่ได้สอนผมด้วยซ้ำ)บอก"
สภาพต่างๆที่ว่านี้ อาจเป็นtypical ของเด็กจุฬา ที่กล่าวไปแล้ว
เช่น หาเรื่องใส่ตัวทำไมวะ กลัวมีปัญหา กลัวทะเลาะกับเพือน อาจารย์สั่งก็ทำๆไป ง่ายกว่า ผมเชื่อว่า ด้วยสภาพสังคมต่างๆในจุฬา มันทำให้การ"เซนเซอร์ตัวเอง" เป็นสิ่งที่ง่ายกว่า จะทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่นักศึกษามธ.ทำในงานบอลครั้งนี้ ผมจึงชื่นชมมาก