วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 08, 2558

พาเหรด แปรอักษร บอลประเพณีปีนี้ (นึกว่าจะไม่) มีเฮ








แปรอักษรฟุตบอลประเพณีจุฬา ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 2558 โหดมาก ต้องดู
https://www.youtube.com/watch?v=pApgAX_SYro&app=desktop





พาเหรด แปรอักษร บอลประเพณีปีนี้ (นึกว่าจะไม่) มีเฮ

https://www.facebook.com/video.php?v=991355890909781

ประมวลมาจากสื่อต่างๆ หวังว่าคงจุใจ ทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ใหม่ และสิทธิสาธารณะชนรับรู้

เริ่มด้วยแนวค่อนข้างฮ้าร์ดคอร์ (ขอไม่เขียนอังกิด) จาก พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

“การที่ทหารตำรวจเข้าไปขัดขวางขบวนล้อการเมืองของนักศึกษา ไปปิดประตู ตรวจค้น ยึดป้ายผ้า ฯลฯ เป็นการกระทำที่ใช้ทุกอย่างคิด ยกเว้นใช้สมอง

ทีมงานนศ.ที่จัดเชียร์ จัดแปรอักษร ขบวนล้อการเมืองในงานฯ ตลอดเกือบ 10 ปีมานี้ เป็นสลิ่มเหลืองส่วนใหญ่ จึงเอาแต่ล้อเลียนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทุกรัฐบาล ขนาดว่า มีรปห.2549 และยุคเผด็จการคมช. งานฟุตบอลประเพณี มกราคม 2550 ก็ยังไม่แตะทหาร

แต่ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ทั้งทีมล้อการเมืองและทีมแปรอักษรบนอัฒจันทร์ ต่างก็ชูประเด็นประชาธิปไตย ล้อเลียนเผด็จการชัดเจน

นศ.เหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มที่เคลื่อนไหวต้านรปห.เมื่อปีที่แล้ว ทั้งหมดไม่เคยเคลื่อนไหวการเมืองอะไรมาก่อนทั้งสิ้น ที่น่าสนใจคือ ทีมล้อการเมืองกับทีมแปรอักษรบนอัฒจันทร์ไม่ได้คุยกัน ไม่ได้นัดกัน แต่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ แล้วมาเติมเต็มกันและกันในสนามอย่างพอดี!

นักศึกษากลุ่มนี้เขาทำกิจกรรมที่เขายึดมั่นว่าเป็น ‘ประเพณี’ ของเขา ตั้งแต่รุู่นปู่ย่าตายายมาถึงรุ่นพวกเขา ก็เท่านั้นเอง มีการล้อเลียนการเมืองบ้างแบบสนุกๆ ประสาเยาวชน พวกคุณไปใช้อำนาจบาตรใหญ่ ข่มขู่ กดดัน ห้าม ขัดขวาง แย่งชิงป้ายผ้า ฯลฯ คุณกำลังทำให้พวกเขาตื่นขึ้น

ส่วนกลุ่มที่กางป้ายผ้าบนอัฒจันทร์ที่ไม่มีหลังคา เป็นกลุ่มต้านรปห.เดิม (กินแซนวิช แจกตั๋วหนัง ฯลฯ) มาตั้งแต่ปีที่แล้ว มีทั้งธรรมศาสตร์และสถาบันอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย”

(กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)'s post)

ตามด้วย Hard Top “วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารได้ทวิตข้อความถึงงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 ไว้ว่า...

"...ทหารสืบหาที่มา ป้ายผ้าต้านปฏิวัติ ‘Coup= Corruption’ โผล่อัฒจรรย์บอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ หลายป้าย

- หน่วยทหารที่ประสานงานจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ คงโดน ‘นาย’ เล่นงานแน่ ขอแต่ขบวนพาเหรดงดการเมือง แต่คงลืมไปว่ามีแปรอักษร-ป้ายผ้า

- ปฏิบัติการ ‘กระตั้วแทงเสือ ภาค 2’

แม้หน่วยทหารที่ดูแลประสานงานกับจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ แล้ว เรื่องขอความร่วมมือขบวนพาเหรดงานฟุตบอลประเพณี ของดเรื่องการเมือง แต่ก็ไม่อาจปิดกั้นความคิดของนักศึกษาได้ ทั้งการแปรอักษร-ป้ายผ้า ข้อความต่างๆ...

ถือว่าเปิดรูระบายความคิด ความรู้สึก กันออกมา ถือว่าเป็นอีกเวทีที่สะทัอนความคิดเห็นไปยังรัฐบาล และคสช. ในเวที ที่ไม่ใช่ ที่คสช.จัด...

แต่คาดว่าทหาร-ตำรวจที่ดูแลประสานงานคงจะโดน ‘นาย’ เอ็ด ไม่น้อย....บิ๊กตู่ นายกฯ ยังเคยโดน ‘กระตั้ว แทงเสือ’ ที่นศ.กลุ่มดาวดิน ม.ขอนแก่นปฏิบัติการจู่โจม ชู 3 นิ้วต้านรัฐประหารเมื่อครั้งเยือนขอนแก่น มาแล้ว

- แปรอักษรนี้ส่งตรงถึง ‘บิ๊กตู่’ เลยเชียว…‘ขอประชาธิปไตย เมื่อไหร่จะคืน’…น้องๆนักศึกษาเตรียมข้อความต่างๆและซ้อมกันมานาน

- ตอนเรียนธรรมศาสตร์ ขึ้นแสตนด์แปรอักษร งานฟุตบอลประเพณีตลอด 4 ปี แม้จะร้อน แต่สนุกโดยเฉพาะการแปรอักษร...ปีนี้งานนี้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์แล้ว

- เห็นทีว่าทหารคงไม่ต้องสืบหาที่มาป้ายผ้าต้านรัฐประหารอะไรแล้ว เพราะข้อความจากการแปรอักษร ก็สะท้อนความคิดเห็นนักศึกษาออกมาแล้ว คงต้องรับฟัง

- ธรรมศาสตร์ ชนะ จุฬาฯ 2-0 ฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 70 สนามศุภฯ 7 กพ.2558…ประวัติศาสตร์บันทึกแล้ว นศ.สื่อข้อความถึงคณะรัฐประหารผ่านการแปรอักษร-ป้าย ..."

แถมท้ายสไตล์ ‘ละมุน ละม่อม’ โดยศาสตราจารย์ Charnvit Ks

“Legend of Chula-Thammasat Football Match since 1941

ตำนานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ นับแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมา ๗๐ กว่าปีแล้วว่า

ปีไหนธรรมศาสตร์แพ้ฟุตบอลประเพณี บ้านเมืองมักจะไม่ดี มีภััยพิบัติ มีการจลาจลทางการเมือง

ตำนานเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ กล่าวคือ นับแต่มีฟุตบอลประเพณีมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นปีก่อตั้ง มธก. นั้นธรรมศาสตร์ก็ชนะบอลมาตลอด หรือไม่ก็เสมอครับ จุฬาไม่เคยชนะเลย

จนกระทั่งปี ๒๔๘๔ มะเส็งงูเล็กนั่นแหละ ที่จุฬายิงเปรี้ยงได้ ๑ ประตู แล้วก็อีกเปรี้ยงได้ ๒ ประตู อจ. ผู้คุมทีมของธรรมศาสตร์ถึงกับช๊อค และหัวใจวาย ว่ากันว่า ท่านถูกหามเข้า รพ. จุฬา (สมัยนั้นธรรมศาสตร์ยังไม่มี รพ.) และสิ้นชีวิตที่นั่น

นางเอกหนัง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ ไพลิน นิลรังสี คนงามเล่าให้ฟังว่า วันนั้นวันแพ้บอล นศ. มธก. เดินคอตกกลับรังที่ท่าพระจันทร์ มีความรู้สึกเหมือนกับว่า โลกมันถล่มทลาย

เธอเล่าต่ออีกว่า อีกไม่กี่วันต่อมา ญี่ปุ่นก็บุกไทย ๘ ธันวา (พร้อมๆ กับโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์) ญี่ปุ่นยกพลขึ้นแถบบางปู ปากน้ำ แถบนครฯ ประจวบ ไล่ลงไปทางใต้ตลอดถึงปัตตานี รัฐบาลไทยต้องยอมจำนน สั่งหยุดยิง ให้ญี่ปุ่นผ่านแดนเพื่อไปตีมลายู สิงคโปร์ พม่า

ท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็น รมต. คลังของรัฐบาลพิบูลสงคราม ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับรัฐบาล เลยถูก ‘เตะโด่ง’ ขึ้นไปเป็นผู้สำเร็จราชการฯ (ในหลวงและอนุชา ร. ๘ ร. ๙ อยู่สวิสตลอดสงคราม) ท่านปรีดีตั้ง ‘ขบวนการเสรีไทย’ กู้ชาติ แล้วใช้ตึกโดมกับทำเนียบท่าช้างเป็น สนง.

ปีต่อมาน้ำท่วมใหญ่ ๒๔๘๕ งดฟุตบอลประเพณี และต้องงดต่อมาอีกหลายปี เพราะสถานการณ์สงครามโลก กว่าญีปุ่นจะแพ้ โดนปรมาณู ๒ ลูก ก็ปี ๒๔๘๘ คืออีก ๔ ปีต่อมา

ดังนั้น จึงเกิดคำเล่าลือว่า ถ้าธรรมศาสตร์แพ้บอลประเพณี บ้านเมืองไม่ดีแน่ๆ ครับ

มองกลับไปเมื่อ ๓ ปี ๒๕๕๕/๕๖/๕๗ ที่เพิ่งผ่านมา ธรรมศาสตร์ก็แพ้ตลอด การเมืองตึงเครีียด รัฐบาลปูแดง ยิ่งลักษณ์ โดนทั้งน้ำท่วม และโดน ปชป. แตกหน่อ เป็น กปปส. ยำเสียเละ โดยมีขุนทหารกับอำนาจบารมีเก่าคอยจ้องรอโอกาส

๒๕๕๖ เกิดการจลาจลทางการเมือง มีการก่อตั้ง กปปส. เพื่อร่วมมือกับ ปชป. กับองค์กรอิสระ อย่าง กกต และศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง กก. สิทธิฯ ในการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการ shut down ‘ปิด’ กทม. และรัฐบาลยุบสภา

๒๕๕๗ มีล้มเลือกตั้งโดย กปปส./ปชป. และมีรัฐประหารประยุทธ์ขึ้นมาจนได้

ปีนี้เป็นปีที่ผู้คนก็ต้องวิตกกังวลกับสถานการณ์ทางการเมือง แถมเศรษฐกิจก็ย่ำแย่ ประชาธิปไตย ทำท่าจะไปไม่รอด ในขณะที่มหามิตรเดิม อย่างอเมริกา อียู และญี่ปุ่น กดดันหนัก มหามิตรใหม่อย่างจีน ก็ดูท่าจะหลอกกินไข่แดงฟรีๆ ส่วนเกาหลีเหนือมิตรใหม่ ยิ่งทำให้ไทยขาดสง่าราศรี

และแล้ว เมื่อธรรมศาสตร์ชนะ ๒:๐ ขึ้นมา ผู้คนก็ชักใจชื้นว่า ประชาธิปไตยคงไม่หมดหวังไปเสียทีเดียว

แถมเยาวชน คนหนุ่มสาว ก็แสดงทั้งพลังและสติปัญญา ในการจัดขบวนพาเหรดและแปรอักษร อย่างไม่คาดคิดว่าจะยอดเยี่ยดขนาดนี้

เห็นแล้วเลยชื่นใจ มีความหวังกันขึ้นมาไม่น้อย ครับ
cK@Kyoto6Feb2015