วันพุธ, สิงหาคม 14, 2567

กับดักหนี้ : โพสต์เรื่อง หนี้ของคนเจน Z น่าสนใจ ไม่เฉพาะแต่ คนเจน Z


Chonlatorn Wongrussamee
14 hours ago
·
วันก่อนชลมีโอกาสสัมภาษณ์คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่บริษัทเครดิตบูโร เกี่ยวกับหนี้ของคนเจน Z มา พบประเด็นทั้งน่าสนใจและน่าห่วงใย อยากแชร์ต่อ ดังนี้ค่ะ

- คนเจน Z มีหนี้บัตรเครดิตราว 6,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเป็นหนี้เพื่อใช้เป็นต้นทุนทำธุรกิจ เช่นทำร้านกาแฟ ทำร้านซักรีด ขายของออนไลน์ ฯลฯ หรือเรียกว่าเป็นหนี้เพื่อธุรกิจราว 5,900 ล้านบาท ซึ่งกลายเป็นหนี้เสียไปแล้ว 918 ล้านบาท และกำลังจะเสีย อีก 500 กว่าล้านบาท

- คนเจน Z กู้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ (ส่วนใหญ่เป็นคอนโด) 1.3 แสนล้านบาท เป็นหนี้เสีย 6,400 ล้าน และมีหนี้ที่กำลังจะเสีย อีก 7,000 ล้านบาท ถือเป็นหนี้เสียในสัดส่วนที่ยังไม่สูงขนาดก่อวิกฤตแบบต้มยำกุ้งได้ เพราะหนี้บ้านเป็นหนี้ที่คนเจน Z สู้เต็มที่ แต่ยอมไปเสียเครดิตในหนี้อื่นๆ เช่นหนี้ Buy Now Pay Later

- ฟีเจอร์ Buy Now Pay Later หรือ 'ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง' ที่อยู่ในแอ็พช็อปปิ้งออนไลน์ เป็นกับดักหนี้เจน Z ที่จะมาแทนที่บัตรเครดิต ถ้าเราใช้ Buy Now Pay Later แบบผูกกับบัตรเดบิต ใช้ปุ๊บหักเงินสด จะไม่ใช่ประเด็นน่ากังวลนัก เพราะแสดงว่าเรามีเงินพร้อมชำระค่าสินค้า แต่หากเราเอา Buy Now Pay Later ไปผูกกับสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) เช่นบัตรเครดิต หมายความว่าเรากำลังใช้เงินกู้มาซื้อของ นอกจากดอกเบี้ยจะสูงถึง 20% ขึ้นไป ยังมีประวัติการเป็นหนี้ขึ้นในเครดิตบูโร

- อัตราหนี้เสียจากหนี้ Buy Now Pay Later ในไทยขณะนี้ค่อนข้างสูงและ มีสถาบันการเงินที่เคยประกาศตัวว่าปล่อยกู้หนี้ Buy Now Pay Later เมื่อปี 2565 พอมาถึงเดือนมีนาคม ปี 2567 ขอเลิก เพราะมีอัตราการเพิ่มของหนี้เสียและหนี้กำลังจะเสียสูงขึ้น

- ปัจจุบันคนเจน Z เลือกพึ่งพาสถาบันทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) เช่นแอปพลิเคชันกู้เงินรายย่อยมากขึ้น โดยพบว่า คนเจ็น Z กู้จาก Non-Bank ถึง 3.6 หมื่นบัญชี เพราะกู้ง่ายกว่าธนาคารแม้ดอกเบี้ยจะสูงถึง 24-33 % ขึ้นไป

- หนี้คนเจน Z ที่สูงที่สุดตอนนี้ คือหนี้รถมอเตอร์ไซค์ เดือนพฤษภาคม 2567 พบว่าคนเจน Z มีสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ 5.5 แสนสัญญา คิดเป็นหนี้ 3.78 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้เสีย 8,600 ล้านบาท เป็นยอดที่กระโดดขึ้น 50% ภายใน 1 ปี ถือว่าเติบโตเร็วอย่างน่ากลัว

- คนเจน Z เสี่ยงต่อการติดกับดักภาระหนี้สิน เพราะเศรษฐกิจที่โตต่ำ รัฐไม่ได้สนับสนุนสตาร์ทอัพจริงจังหรือเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ ไม่มี Sunrise Industry ปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยหรือยานพาหนะมีราคาแพง คนเจน Z ซึ่งไม่มีทางเลือกมากนักจึงเลือกเป็นหนี้เพื่อสร้างตัวและนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และยังมีหนี้อย่าง Buy Now Pay Later ที่เข้ามาทำการตลาดกับคนที่มีไลฟสไตล์ออนไลน์ได้ง่าย คุณสุรพลชวนคิดว่าเราต้องตั้งคำถามต่อว่า ถ้าคนเจน Z ต้องเอาเงินที่ได้จากการกู้ซึ่งมีดอกเบี้ยสูงถึง 24% ไปทำธุรกิจ คนเจน Z จะมีโอกาสสำเร็จไหม?

- คนเจน Z ยอมจ่ายหนี้บางอย่างอย่างมีวินัย เช่นหนี้คอนโดที่สู้สุดใจ แต่ปล่อยจอยหนี้บางอย่างที่คิดว่าเลี่ยงได้ เช่นหนี้จากการซื้อของออนไลน์ แต่ในความจริงแล้ว ไม่ว่าใครก็ตามหากมีหนี้เสียแม้แต่หนึ่งบัญชีในประวัติ จะถูกจัดประเภทว่ามีหนี้เสียทั้งหมด เช่นหากเรามีหนี้ 5 บัญชี ต่อให้เราส่งหนี้คอนโดได้ดี แต่ไปเสียที่หนี้รถมอเตอร์ไซค์ หรือหนีหนี้ซื้อของออนไลน์ที่ผูกกับบัตรเครดิต เราจะถูกจัดประเภทว่ามีหนี้เสีย เพราะฉะนั้นในอนาคต หากคนเจน Z อยากหมุนเงิน อยากเข้าระบบ อยากแก้ตัว จะไม่ได้สินเชื่อ นี่คือประเด็นที่คนเจน Z ยังไม่ตระหนักมากนัก

- การกู้เงินไม่ใช่เรื่องผิดบาป แต่เราต้องเรียนรู้ว่าการกู้เงินที่ถูกต้อง ที่เหมาะสมกับจริตตัวเองเป็นอย่างไร และถ้าเกิดปัญหาจะทำอย่างไรต่อไป และต้องเตรียมพร้อมที่จะเดินเส้นทางนั้นให้ดี เพราะถ้าเลือกเส้นทางการหนี จะถูกฝังด้วยกระบวนการทางกฎหมาย จนอาจกลับเข้ามาในระบบเครดิตอีกไม่ได้ พร้อมปิดโอกาสในอนาคตที่จะขอเครดิตเพื่อเป็นต้นทุนของชีวิตในระยะยาว

ชวนอ่านงานฉบับเว็บไซต์ได้ที่นี่ค่ะ https://themomentum.co/feature-genz-debt/