วันอังคาร, สิงหาคม 13, 2567

พรรคประชาชน เสนอมาตรการเร่งด่วน จี้รัฐบาล ปกป้องธุรกิจไทยจากแพลตฟอร์มออนไลน์จีนบุกตลาด


พรรคประชาชน - People's Party
12 hours ago
·
[ เสนอมาตรการเร่งด่วน เพื่อปกป้องธุรกิจไทยจากแพลตฟอร์มออนไลน์จีนบุกตลาด ]
.
บูรณาการหน่วยงานรัฐกำกับดูแล E-commerce
ศึกษามาตรการรับมือของประเทศอื่น
หารือระดับอาเซียน เพิ่มอำนาจต่อรองทุนจีน
กำกับคุณภาพสินค้าอย่างเข้มงวด
.
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การไหลบ่าเข้ามาของสินค้าจีน และการทุ่มตลาดของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์จีน โดยระบุว่า รัฐบาลไทยจะไม่เน้นการตอบโต้ เช่น การใช้มาตรการกำแพงภาษี เพราะอาจจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของสินค้าเกษตรไทย และมีสิทธิ์ที่สินค้าไทยจะถูกกีดกันจากจีนมากขึ้น
.
ต่อกรณีนี้ สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี เขต 7 พรรคประชาชน กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำพูดของ รมว.พาณิชย์ ซึ่งมาจากรัฐบาลที่อ้างเสมอว่าอยากเห็นประชาชนคนไทยอยู่ดีกินดี เพราะการไหลบ่าเข้ามาของทุนจีนนั้นเป็นเรื่องใหญ่ระดับภูมิภาค เฉพาะไทยเราเองก็ขาดดุลการค้าจีนติดต่อกันมาถึง 11 ปีแล้ว และ 2 ปีล่าสุดก็ขาดดุลมากถึงปีละ 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศทั่วภูมิภาคอาเซียน ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ก็ล้วนแต่มีมาตรการเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของประเทศทั้งนั้น
.
รัฐบาลไทยต้องยอมรับก่อนว่าการไหลบ่าเข้ามาของทุนจีนนั้นเป็นปัญหาจริง แต่จนถึงตอนนี้ รัฐบาลก็ยังไม่มีมาตรการอะไรมารองรับเรื่องนี้ แม้แต่การส่งหนังสือไปสอบถามบริษัทจีนที่เข้ามาทุ่มตลาดสินค้าออนไลน์ ก็ยังไม่สามารถนำเนื้อหาหรือคำตอบมารายงานให้ประชาชนทราบได้เลย
.
มาตรการที่ รมว.พาณิชย์น่าจะทำได้และควรทำโดยเร็ว คือการหารือและออกมาตรการร่วมกันในระดับอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับทั้งภูมิภาค ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะได้สร้างความร่วมมือด้านการค้าเพิ่มเติมในระดับภูมิภาคด้วย
.
นอกจากนี้ การที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐาอุตส่าห์เดินทางไปทั่วโลกเพื่อดึงดูดการลงทุนและเจรจาโอกาสทางการค้าใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้น่าจะเข้ามาทดแทนการขาดดุลการค้ากับจีนได้ เราควรหาแหล่งการลงทุนใหม่ๆ ที่หลากหลาย ไม่ใช่หวังพึ่งประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นพิเศษ
.
“โอกาสทางการค้าใหม่ๆ ที่น่าจะเกิดขึ้น จะไม่สามารถทดแทนการขาดดุลการค้าจากจีนได้เลยหรือ เราไม่สามารถหาการลงทุนใหม่ๆ ที่ดีกว่านี้ได้หรือ ท้ายที่สุดถ้าแม้แต่ภาษีเราก็เก็บไม่ได้ แล้วประเทศเราจะได้อะไรบ้างจากการไหลบ่าเข้ามาของทุนจีน โดยไม่มีมาตรการรองรับแบบนี้”
.
.
[ หลายประเทศตระหนักถึงปัญหา พร้อมออกมาตรการป้องกันแล้ว แต่ไทยยังไม่รู้ร้อนรู้หนาว ]
.
ดร.ชาย สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวว่า รัฐบาลควรเข้าไปดูแลและจัดการปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพราะกำลังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างรุนแรง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2567 กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจได้จัดประชุมหัวข้อ “ผลกระทบของสินค้าและธุรกิจต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทยและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะปัญหาสินค้าต่างชาติราคาต่ำและการประกอบธุรกิจผ่านนอมินี” โดยเชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการค้าขายออนไลน์ (E-commerce) ในไทย และผู้ประกอบการค้าปลีก มาหารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้
.
จากการให้ข้อมูลของภาคเอกชนพบว่า ผู้ประกอบการไทยเผชิญกับผลกระทบของสินค้าราคาต่ำจากต่างชาติอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งประเมินภาคอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 46 กลุ่ม พบว่าใน 6-12 เดือนข้างหน้า มีมากถึง 25 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เสี่ยงได้รับผลกระทบหนัก ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งก็ลดต่ำกว่าร้อยละ 30 แล้ว หรือพูดง่ายๆ คือ หลายโรงงานจากที่เดิมทำงาน 3 กะ ตอนนี้เหลือเพียงกะเดียว
.
นอกจากนี้ การบุกตลาดประเทศไทยของแพลตฟอร์มออนไลน์จีนอย่าง “Temu” กำลังซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้นอย่างมาก โดยจากบทเรียนในต่างประเทศ Temu เติบโตไว ยอดขายโตทุกเดือน เดือนละ 12 เท่า สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดและเอาชนะรายใหญ่ที่เคยครองตลาด เช่น Aliexpress ได้ในไม่กี่เดือน ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม Temu เป็นการขายของส่งตรงจากโรงงานถึงมือผู้บริโภค ชิ้นเดียวก็ขาย ค่าส่งถูก หากลูกค้าไม่พอใจก็ส่งคืนได้ อีกทั้งแพลตฟอร์มยังมีการเก็บข้อมูลจากลูกค้า ส่งให้โรงงานเพื่อปรับสินค้าให้ตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ แต่ที่น่ากลัวคือปัจจุบันไม่มีสินค้าไทยบนแพลตฟอร์มเลย
.
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังให้ข้อมูลอีกว่า 4-5 เดือนที่ผ่านมา โรงงานปิดตัวมากถึง 111 แห่งต่อเดือน แม้บางข้อมูลจะบอกว่ามีการเปิดใหม่เพิ่มขึ้น แต่ผู้แทนสภาอุตฯ แจ้งว่า ต้องไปดูว่าที่เปิดเพิ่มมาใช้แรงงานมากแค่ไหน ใช้แรงงานไทยหรือต่างชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นกำลังกระทบความมั่นคงของภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทานในประเทศ ซึ่งถ้าเสียหายแล้ว สร้างใหม่ยาก และจะกระทบต่อผู้ผลิตและภาคอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว
.
ภาครัฐจึงไม่ควรนิ่งนอนใจกับปัญหานี้ ต้องรีบรับมือ และควรดูบทเรียนในต่างประเทศ เพราะวันนี้ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือประเทศในอาเซียนอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ต่างก็มีมาตรการเพื่อรับมือปัญหานี้ โดยสิ่งที่รัฐบาลทำได้มีหลายอย่าง ในสถานการณ์เฉพาะหน้ามีอย่างน้อย 3 ประการ คือ
.
(1) บูรณาการหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องการค้าขายออนไลน์ (E-commerce) ให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันโลกและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไว
.
(2) กำกับเรื่องคุณภาพสินค้าอย่างเข้มงวด ผ่านฉลากทั้ง มอก. และ อย. โดยแพลตฟอร์มต้องให้ผู้ค้าแสดงฉลากสินค้าและตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้อาจเริ่มจากการมุ่งเป้ากลุ่มสินค้าที่ขายจำนวนมากบนออนไลน์และมีแนวโน้มคุณภาพไม่ได้มาตรฐานก่อน โดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมต้องเร่งเพิ่มจำนวน มอก.ภาคบังคับให้ทันกับจำนวนและประเภทสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์ม
.
(3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการค้าระหว่างประเทศ เช่น กรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางภาษี เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากร ควรศึกษาบทเรียนในต่างประเทศที่สามารถออกมาตรการรับมือสินค้าราคาต่ำจากต่างชาติ ทั้งนี้ ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่ค้าขายออนไลน์หรือประสบปัญหา หลายประเทศที่เผชิญปัญหามาก่อน และสามารถออกมาตรการรับมือที่เหมาะสมได้ รัฐบาลต้องมีนโยบายเชิงรุกในลักษณะนี้
.
#พรรคประชาชน #ทุนจีน #temu