วันจันทร์, สิงหาคม 05, 2567

"นี่หรอกระบวนการยุติธรรมไทย?"


ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง
13 hours ago
·
.
“เราควรเป็นมนุษย์ก่อนเป็นนักกฎหมาย”
.
ขออนุญาตคัดลอกข้อความของอาจารย์พัชร นิยมศิลป์ (FB Pat Niyomsilp) มาไว้ ณ ที่นี้
ด้วยความนับถือ
.
.
ถามติง ถามติงติง
.
เป็นพยานคดีชุมนุมมาก็หลายคดี ทุกครั้งที่ไปศาลจะมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ เสมอ แต่วันนี้พิเศษหน่อย
.
เช้านี้เป็นคดีที่เกิดจากการชุมนุม 24 มิถุนา ปี 2564 ม็อบราษฎรยืนยัน ดันเพดาน เพื่อรำลึกครบรอบ 89 ปี การอภิวัฒน์สยาม คดีนี้ผู้ชุมนุมหลายคนโดนฟ้องข้อหาทำกิจกรรมมั่วสุมชุมนุมกันมากกว่าห้าสิบคน ขัดต่อข้อกำหนดตาม ม.9 พรก ฉุกเฉินฯ
.
เนื้อหาคดี ก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไร จำเลยที่โดนคดีการเมืองเหล่านี้ก็หน้าเดิม ๆ ทนายความจำเลยหรือแม้กระทั้งอัยการฝ่ายโจทก์ที่ว่าคดีนี้ ก็คุ้นเคยกัน คุ้นกันถึงขนาดสามารถถามสารทุกข์สุกดิบคนในครอบครัวกันได้ทีเดียว
.
ไฮไลค์ในคดีวันนี้คือ "ทนาย" ฝ่ายจำเลย ทนาย มาในชุดนักโทษสีกากี แขนขวาแถบสีแดง (ชุดออกศาล)
ใช่ครับ เขาคือ ทนายอานนท์ นำภา หนึ่งในแกนนำราษฎร 63 เจ้าของรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูประจำ พ.ศ.2564 และผู้ต้องโทษคดี ม. 112
.
เมื่ออัยการหมดคำถาม
.
ทนายอานนท์ลุกจากโต๊ะทนายจำเลย หยิบหนังสือคำให้การแล้วเดินมาที่คอกพยานอย่างช้า ๆ เสียงกรุงกริ๊งของโซ่ตรวนที่รัดข้อเท้าอันเปลือยเปล่า แม้ว่ามันจะเบามากแต่มันก็กระทบโสตประสาทผมอย่างรุนแรง เกิดเป็นคำถามอยู่ในใจเป็นล้านคำ ประเทศนี้จัดการกับผู้เห็นต่างแบบนี้ได้อย่างไร
.
ทนายอานนท์ถามติงได้อย่างมืออาชีพ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดที่ทนายหลาย ๆ คนคงเลิกล้มความพยายาม ยอมแพ้ไปเสียแต่ต้นแล้ว
.
ให้การเสร็จ ระหว่างที่นั่งรอหน้าบังลังก์พิมพ์คำให้การ ผมได้มีโอกาสสนทนากับทนายอานนท์ ที่ม้านั่งหลังห้อง มีภรรยาและลูกชายวัยสองขวบเล่นอยู่ข้าง ๆ ผมมองเด็กน้อยวิ่งเล่นในห้องพิจารณาอย่างไรเดียงสา ปีนขึ้นลงคอกพยานส่งเสียงร้องอย่างสนุกราวกับว่ามันเป็นสนามเด็กเล่น
.
ภาพจำว่าห้องพิจารณาคดีต้องเคร่งขรึม ดูน่าเกรงขาม หายไปในบัดดล
.
ในความผิดปรกตินี้ ผมกลับรู้สึกได้ถึงความ "ปรกติ" ในความเป็น "มนุษย์" ของทุกคนที่นั่งอยู่ในห้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ไม่มีใครว่ากล่าวเด็กน้อย หรือดุผู้ปกครองของเจ้าหนูแม้แต่น้อย
.
ผมสันนิษฐานว่า เพราะทุกคนรู้ดี สำหรับนักโทษทางการเมืองอย่างอานนท์ ห้องพิจารณาคดีเป็นหนึ่งในไม่กี่สถานที่ที่ครอบครัวของเขาจะอยู่ร่วมกันได้
.
แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ทุกนาทีมันก็มีความหมาย
.
สืบพยานเสร็จ ต่างคนต่างกลับไปบ้าน แต่อานนท์ต้องกลับเข้าเรือนจำ ภาพอานนท์บรรจงจูบลูกชายตัวน้อยและกอดภรรยาล่ำลากัน ทำเอาพ่อลูกหนึ่งอย่างผมน้ำตาซึม ผมจับมือขอบคุณอานนท์แล้วกล่าวลา ก่อนที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะเดินนำนักโทษคดี 112 จากไป
.
เดินออกจากห้องพิจารณา คำถามที่เคยอยู่ในใจเป็นล้านคำ หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่คำ
.
"นี่หรอกระบวนการยุติธรรมไทย?"
2 สิงหาคม 2567
.