16 ส.ค. 2567
ไทยรัฐออนไลน์
ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ลงทุนเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 5 บ่อ กลายเป็นปลาหมอคางดำไปแล้ว 2 บ่อ รอลุ้นอีก 3 บ่อ...สยองพบปลาหมอคางดำมุดตัวรอดชีวิตในดินโคลนเน่า ทั้งไข่และลูกอ่อนเต็มปาก
นายบุญศรี ขันคำ อายุ 72 ปี เจ้าของบ่อเลี้ยงกุ้ง 5 บ่อ เนื้อที่รวม 135 ไร่ ใน ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เริ่มถูกปลาหมอคางดำรุกรานเมื่อปีที่แล้ว นับวันยิ่งรุนแรง
รอบล่าสุด ปล่อยลูกพันธุ์กุ้งกุลาดำ ตัวขนาดก้านไม้ขีด ลงบ่อเลี้ยง 100,000 กว่าตัว พร้อมด้วยพันธุ์ปูม้า ปูทะเล อีกจำนวนหนึ่ง รวมลงทุนเกือบ 200,000 บาท
เมื่อ 2 เดือนก่อนจับกุ้งจาก 2 ใน 5 บ่อ ได้กุ้งเพียง 3 กิโลกรัม ที่เหลือนอกนั้นเป็น "ปลาหมอคางดำ" ตัวโตอ้วนท้วน ส่วนใหญ่มีไข่และลูกอ่อนเต็มปาก ไม่ได้นับไม่ได้ชั่งว่ามีเท่าไหร่ รู้เพียงว่าเยอะมาก ไม่ได้เอาไปขาย ใครอยากได้ไปทำอะไรก็มา เอาไปยกให้หมด
ส่วนอีก 3 บ่อ กำลังต่อสู้กับมัน คอยเหวี่ยงแหและวางอวน จับมันออกจากบ่อ หวังว่าจะเหลือกุ้งปูให้พอได้ทุนคืนบ้าง...ที่น่าตกใจยิ่งกว่าได้กุ้งเพียง 3 กิโลกรัมจาก 2 บ่อ คือการพบ ความทรหดของปลาหมอคางดำ
ทั้งนี้ เมื่อจับปลาหมอคางดำออกไปจาก 2 บ่อหมดแล้ว จากนั้นปล่อยให้พื้นที่บ่อแห้งสนิท มีเพียงโคลนเลนและน้ำขังบริเวณขอบบ่อ ซึ่งลุ่มต่ำกว่าบริเวณอื่น...เมื่อผ่านไปเดือนเศษ บริเวณขอบบ่อแปรสภาพเป็นน้ำตมและดินโคลนหมักหมมเน่าเหม็น แทบไม่น่าเชื่อว่าจะพบปลาหมอคางดำตัวโตๆมุดอยู่บริเวณนี้นับร้อยตัว
เกือบทุกตัวอมไข่ไว้ในปากนับร้อยฟอง ไข่บางส่วนฟักเป็นตัวอ่อนแล้วและมีชีวิต บางตัวมีลูกอ่อนติดมาตามครีบและลำตัว แสดงว่ามันสามารถมีชีวิตในสภาพแวดล้อมเลวร้าย
นายบุญศรีบอกว่า ทำบ่อเลี้ยงกุ้งมาแล้ว 30 ปี ไม่เคยเจอ เหตุการณ์ใดน่าสยองเท่าครั้งนี้ แต่ยังคงจะสู้ต่อไป เพราะอายุปูนนี้ ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว ที่นี่ : ม.5 ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
"อึด-ถึก-ทนมากเป็นพิเศษ กินแบบทำลายล้างระบบ นิเวศในน้ำย่อยยับ ปัจจุบันพบว่าอยู่ได้ในทุกน้ำ ทั้งน้ำจืด-น้ำกร่อย-น้ำเค็ม-น้ำคลอง-น้ำทะเล-น้ำเน่า และน้ำโคลน"
"Joey Kanis" โพสต์ย้ำเตือนไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมแชร์ ภาพข่าวจาก Thai PBS News (4 ส.ค.67) นี่เป็น “ลูกปลาหมอคางดำ” และ “ไข่ปลาหมอคางดำ” ลูกปลาหมอคางดำ ขนาด “ไม่ถึง 1 เซนติเมตร” และไข่ที่พบในปากตัวผู้ ฝังตัวอยู่ก้นบ่อ น้ำโคลน เป็นโคลนข้น มีกลิ่นเน่าเหม็น แต่...พวกลูกปลาหมอคางดำตัวน้อยเหล่านี้ “ยังมีชีวิตรอด”
ไข่และลูกปลาหมอคางดำที่หลุดรอดแบบนี้...เป็นสถานการณ์ความเสี่ยงที่นำไปสู่การกระจายพื้นที่ได้ไวและเติบโตไปแพร่พันธุ์ ได้เร็ว ถ้าพวกมันหลุดรอดจากการโดนจับ เพราะ “อวน” หรือ “แห” ก็ไม่สามารถจับลูกปลาหรือไข่ปลาขนาดเล็กเช่นนี้ได้ จุดนี้พบในบ่อเลี้ยงกุ้งที่ ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
ย้ำกันอีกทีว่า การเติบโตทั่วไปของพวกมัน ที่แพร่ระบาดไปแล้ว 17 จังหวัด กรมประมง บอกว่าจากไข่...เป็นตัว...เติบโต 4 เดือน พร้อมผสมพันธุ์...ออกลูกได้ทุกๆ 22 วัน ถึง 1 เดือน ตั้งท้องได้ทีละ 300-400 ฟอง
ตัวที่มีศักยภาพแข็งแกร่งเป็นพิเศษ ที่กรมประมงเคยพบ จะตั้งท้องได้ถึง 600 ฟอง และไข่ทุกฟองมีโอกาสรอดเป็นตัว ได้ถึง 99% หิวและกินได้ทุกๆ 1 ชั่วโมง
มีความอึด...ถึก...ทน กินทั้งตัวอ่อนของพืชและสัตว์น้ำ เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมอย่างยิ่ง...จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงต้องเร่งระดมจับออกจากน้ำให้ไวที่สุด ปัจจุบันพบว่าอยู่ได้ ในทุกน้ำ ทั้งน้ำจืด...น้ำกร่อย...น้ำเค็ม...น้ำคลอง...น้ำทะเล...น้ำเน่า และน้ำโคลน
เพจ “SROI TU” (2 ส.ค.67) โพสต์เรื่อง “การระบาดของ ปลาหมอคางดำกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจในตำบลแพรกหนามแดง” สรุปสั้นๆ
แบบกระชับๆเอาไว้น่าสนใจ เริ่มจากทำความ...รู้จักปลาหมอคางดำ (Blackchin Tilapia) ต้นกำเนิด... แอฟริกาตะวันตก การแพร่พันธุ์...น้ำจืด, น้ำกร่อย, น้ำเค็ม
พฤติกรรม...รวมฝูงกินแพลงก์ตอน, พืช, สัตว์ การผสมพันธุ์... ตลอดปี ไข่ 300 ฟองต่อครั้ง อัตรารอดสูง พุ่งเป้าไปที่...การระบาด ในแพรกหนามแดง เริ่มนำเข้า พ.ศ.2553 พบการระบาด พ.ศ.2555 บ่อกุ้ง, บ่อปลาในสมุทรสงคราม ผลกระทบ...เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง, บ่อเลี้ยงปู, กุ้ง, ชาวประมงพื้นบ้าน
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ...การเลี้ยงปลานิล/ปลาทับทิม ผลผลิตเฉลี่ย 364.49 ตัน/ปี รายได้เฉลี่ย 15.16 ล้านบาท/ปี...การเลี้ยงกุ้งทะเล ผลผลิตเฉลี่ย 743.63 ตัน/ปี รายได้เฉลี่ย 111.73 ล้านบาท/ปี ประมง พื้นบ้าน...รายได้เฉลี่ย 5.06 ล้านบาท/ปี รวมรายได้จากประมงในพื้นที่ 131.96 ล้านบาท/ปี...
ความเสียหายหากไม่หยุดการระบาด...มูลค่าความเสียหาย ต่อปี 131.96 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบ...ธรรมชาติ, คุณภาพชีวิต, อาชีพเกษตรกร, ชาวประมงพื้นบ้าน
มาตรการแนะนำ...การศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประเมินมูลค่าทางสิ่งแวดล้อม ใช้มาตรการ “ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย” เพื่อชดเชยความเสียหาย
ข้อมูลข้างต้นนี้จัดทำโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI TU) วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ย้ำว่า “ราคา” ที่ต้องจ่ายจากหายนะ “ปลาหมอคางดำ” ในหลายๆพื้นที่ทั่วประเทศไทยเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง ติดตาม เรื่องใหญ่อย่างนี้...ต้องมี “ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ”
มหากาพย์เอเลี่ยนสปีชีส์ “ปลาหมอคางดำ” จึงยังคงไม่จบลงง่ายๆด้วยประการฉะนี้
ใคร? นำเข้า “ปลาหมอคางดำ” ระบาดหนักจนเป็น “อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม” เลือดเนื้อผู้เดือดร้อนจงสาปแช่ง เผาพริกเผาเกลือสาปส่ง...“กรรมใดใครก่อ...กรรมนั้นคืนสนอง”.
https://www.thairath.co.th/news/local/2808049