วันพุธ, สิงหาคม 21, 2567

เมืองไทย เละแล้ว... เมื่อศาลไทยถูกนักศึกษาตั้งคำถามว่า “มีธงหรือเปล่า”


กลุ่มนิสิตจากองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมแสดงความเห็นที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยมติเป็นเอกฉันท์สั่งยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567

อาจารย์นิติศาสตร์สอนหนังสืออย่างไร เมื่อศาลไทยถูกนักศึกษาตั้งคำถามว่า “มีธงหรือเปล่า”

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
20 สิงหาคม 2024

คณะนิติศาสตร์คืออันดับ 4 ของกลุ่มสาขาวิชาที่เด็กไทยสมัครเรียนเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีมากที่สุดในปี 2567 จากข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถามมากขึ้น

โดยเฉพาะสองกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ตั้งแต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติยุบพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566 ไปจนถึงมติของศาลเดียวกันที่วินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา

บีบีซีไทยพูดคุยกับอาจารย์คณะนิติศาสตร์ 3 คน ได้แก่ กับ ดร.อภินพ อติพิบูลย์สิน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.), ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ว่าผู้สอนวิชากฎหมายเผชิญคำถามอะไรบ้าง เมื่อโลกกฎหมายในห้องเรียนกับในโลกแห่งความเป็นจริงไม่สอดคล้องกัน

“มีธงในใจอยู่หรือเปล่า”

“มีธงในใจอยู่แล้วหรือเปล่า” นี่คือคำถามจากนักศึกษาที่ ดร.อภินพ อาจารย์นิติศาสตร์จาก มธ. พบบ่อยครั้งมากขึ้น เมื่อนักศึกษาเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนอกห้องเรียนกฎหมายในบางครั้ง กำลังย้อนแย้งกับหลักการที่พวกเขาเรียน

“กระบวนการทางกฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสืบพยาน หรือการเรียกหลักฐานที่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม มันไม่ได้มีผลหรือเปล่า มันเป็นเพียงแค่การแสดงฉากหนึ่งที่นำไปสู่ข้อสรุปทั้งหมดหรือเปล่า ?” ดร.อภินพ ยกตัวอย่างคำถามจากนักศึกษาที่เขาเจอ

อย่างไรก็ตาม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. บอกว่าตนเองยังคงสอนตามหลักการเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับใช้ในการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น

“เวลาที่มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วมันมีเหตุผลประหลาด ไม่ว่าจะเป็นศาลฎีกา ศาลปกครอง ฯลฯ ถ้าเรามีตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมเหตุสมผล มันก็มีประโยชน์ทางการศึกษา เพื่อชี้ให้เห็นว่าหลักเราเรียนมาแบบนี้ แต่ทำไมคำวินิจฉัยออกมาอีกแบบหนึ่ง แต่ความกังวลส่วนใหญ่มาจากคนนอกวงการ โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นถึง concept (แนวคิด) เรื่องระบบศาลตุลาการทั้งหลาย เรามักจะคิดว่าทุกอย่างมันมีความมั่นคงแน่นอน มีความชัดเจนว่าข้อเท็จจริงแบบนี้เมื่อนำมาจับกับหลักกฎหมายมันต้องออกมาซ้ายหรือขวาอย่างไร เพราะมันมีหลักการบอกอยู่ แต่จริง ๆ แล้ว ทุกเรื่องมันไม่ได้ออกแบบมาให้นักกฎหมาย 100 คน จะต้องตอบเหมือนกันหมด” เขากล่าว



เมื่อถามว่าแล้วผู้สอนต้องตอบคำถามนักศึกษาเช่นไร อาจารย์จากรั้ว มธ. ผู้นี้บอกว่า ตนเองต้องอธิบายกับนักศึกษาว่า “มันเป็นสภาวะยกเว้น” หากเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองมาก ๆ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย

“เช่นกรณีศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา หากอาจารย์กฎหมายท่านใดบอกว่าศาลตัดสินตามหลักกฎหมาย 100% ก็จะโดนกล่าวหาว่าไร้เดียงสาเกินไป เพราะทุกคนก็จะรู้ว่าศาลแต่ละคนเป็นใครบ้าง ใครแต่งตั้งมา ใครเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยม แล้วการศึกษาในระดับ law school ที่สหรัฐอเมริกา ไปไกลถึงขั้นวิเคราะห์ตุลาการและผู้พิพากษาด้วยซ้ำว่าแต่ละคนเป็นเช่นไร ผ่านข้อมูลที่ใส่เข้าไปแล้ววิเคราะห์ออกมาเป็นคะแนน เพื่อทำนายผลคดีต่าง ๆ ผ่านคอมพิวเตอร์ว่ามีเปอร์เซ็นต์ชนะเท่าไร คนไหนจะตัดสินเห็นด้วย คนไหนจะตัดสินให้คดีตกไป”

อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. ผู้นี้มองว่าสิ่งเหล่านี้จะยังไม่เกิดขึ้นในไทย เพราะการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในไทยยังคงระบบเรียนกฎหมายแบบท่องจำและมีความอนุรักษนิยมในลักษณะที่ยึดตามคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลเป็นหลัก

“หากไปดูข้อสอบกฎหมายรัฐธรรมนูญของเนติบัณฑิต ทั้งตัวข้อสอบหรือการเฉลยข้อสอบ บางครั้งมันก็ไปอิงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนว่าเวลาออกข้อสอบมาก็ต้องมุ่งหวังให้นักศึกษาทุกคนท่องตามคำวินิจฉัยที่ออกมาแล้ว และใช้เหตุผลตามนั้น ซึ่งก็ต้องไปถามอาจารย์ที่ไปบรรยายให้เนติบัณฑิตในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญว่าจะอธิบายปัญหาหรือการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไรในคดีหลัง ๆ”

“นักกฎหมายรัฐธรรมนูญในปัจจุบันต่างเห็นตรงกันว่ามันมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Judicialization of Politics หรือการทำให้การเมืองเป็นเรื่องกฎหมายหรือเรื่องของศาลเกิดขึ้น ซึ่งเวลาเราสอนนักศึกษาทั้งหลาย เราก็ต้องชี้ให้เห็นว่ามันมีปรากฏการณ์เช่นนี้อยู่ซึ่งเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เพราะว่าเมื่อเราเอาความชอบธรรมของกระบวนการในชั้นศาลหรือตุลาการไปใช้จัดการทางการเมือง มันคือการ abusive (ใช้ในทางที่ผิด) หรือมีลูกเล่นจะได้ใช้อำนาจเพื่อช่วยเหลือฝ่ายหนึ่งทางการเมืองให้มันแนบเนียนขึ้น โดยไม่ได้ใช้อำนาจทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่กลับมาใช้อำนาจศาล คำพิพากษา หรือคำวินิจฉัยของศาลแทน”

ทั้งนี้ เขาเน้นย้ำว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเกินครึ่งก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง แต่ยังรวมถึงเทคนิคทางกฎหมายและกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งว่าไปตามตัวบทกฎหมายและหลักการ

“เราก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น”

ผศ.สุทธิชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ มอ. บอกกับบีบีซีไทยว่า ตัวอย่างคำวินิจฉัยที่ไม่เป็นไปตามหลักการ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับนักเรียนกฎหมายในชั้นเรียนได้

“สำหรับตัวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเราเห็นว่าผิดหลักการหลายอย่าง ทั้งหลักการตีความกฎหมายที่มีการขยายความ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ มันก็เป็น bad practice (ตัวอย่างการปฏิบัติที่ไม่ดี) ที่เราเอามาสอนได้ว่ามันถูกหรือไม่ถูกต้องอย่างไร” เขาบอก

แต่ความยากสำหรับผู้สอนคือ พวกเขาต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาคำอธิบายนักศึกษาว่าตัวอย่างที่ไม่ดีเหล่านั้นมันผิดหลักการและทฤษฎีทางกฎหมายเช่นไรบ้าง

“เราก็ต้องยอมรับว่าคำพิพากษาของศาลมันมี authority (อำนาจ) ทางกฎหมาย แต่ในแง่วิชาการหากเราเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง เราก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ผ่านการสอนตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับนักศึกษา ซึ่งเราก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น”

ส่วนคำถามที่เผชิญในห้องเรียนมากที่สุดในระยะหลังคือ “ทำไมคำวินิจฉัยไม่เป็นไปตามหลักการ ทำไมเรียนในห้องเรียนเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ศาลตัดสินออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง” ซึ่งเขามองว่ามันเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นแนวคิดของคนไทยที่มักเห็นว่า “ในทางปฏิบัติกับทางทฤษฎีมันไม่เหมือนกันหรอก”

“2 เรื่องนี้จริง ๆ มันต้องสัมพันธ์กันนะครับ หากทฤษฎีและการปฏิบัติไม่เหมือนกัน แสดงว่าอย่างใดอย่างหนึ่งต้องมีปัญหา” ผศ.สุทธิชัย กล่าว “ไม่เป็นเพราะว่าตัวทฤษฎีมันเก่าไป ปรับเปลี่ยนไม่ทันบริบท ก็ต้องหมายถึงว่าการปฏิบัติมันมีปัญหา ซึ่งในแง่ของประเด็นศาลรัฐธรรมนูญมันก็เป็นในลักษณะนี้ ดังนั้นหากเราคิดว่าในทางทฤษฎีมันยังถูกต้อง เราจะ defend (โต้แย้ง) อย่างไรว่าหลักปฏิบัติที่เกิดขึ้นนั้นมันผิด ซึ่งเราก็ต้องมาอธิบายนักศึกษา นั่นแหละคือความยาก”


สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในห้องประชุมรัฐสภาฯ กำลังฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567

คณบดีคณะนิติศาสตร์ มอ. บอกว่า คำถามของนักศึกษามักเป็นคำถามทางการเมืองเสียส่วนมาก เช่น “เหตุใดศาลไม่ตัดสินตามทฤษฎี” ซึ่งเขามองว่าเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก เนื่องจากมันอยู่เหนือหลักการและเหตุผลทางกฎหมายไปแล้ว

“ความยากของมันคืออยู่ตรงนี้ครับ มันเหมือนสภาวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คุณลองสังเกตว่าเวลาที่เขาวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไร เขาไม่ต้องไปเปิดตัวบทกฎหมายแล้วนะครับ แต่ดูเพียงว่าบริบททางการเมืองในปัจจุบันเป็นเช่นไร ถ้าผลออกมาแบบนี้ ใครจะได้ประโยชน์ทางการเมือง ใครจะเสียผลประโยชน์ทางการเมือง เช่นเดียวกันหากผลออกมาอีกแบบ ใครจะได้ประโยชน์หรือเสียผลประโยชน์ทางการเมือง ฯลฯ ซึ่งลักษณะนี้มันไม่ใช่การวินิจฉัยทางกฎหมายแล้ว แต่มันคือการตัดสินในทางการเมือง”

อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วสิ่งที่เขาอยากให้เกิดขึ้นกับนักศึกษามากที่สุด คือการคิดวิเคราะห์คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่ปักใจเชื่อในคำอธิบายของผู้สอนเพราะเห็นว่าเป็นอาจารย์ หรือเชื่อในคำพิพากษาเสียทั้งหมดเพราะเห็นว่าเป็นคำตัดสินสูงสุด

“ผมเห็นว่าสุดท้ายแล้วหากเขาจะต้องไปวินิจฉัยคดี เขาก็ต้องเริ่มต้นจากกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน แล้วจะตีความกันเช่นไรเพื่อคุ้มครองสิทธิ จะตีความอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นการขยายอำนาจ มันก็เป็นเรื่องที่ต้องสอนกันต่อไป” เขากล่าว

“ตัวนักศึกษารุ่นใหม่ ๆ เขาเข้าใจนะ พอเราอธิบายไป เพียงแต่ว่าตัวระบบทั้งหมดทั้งปวงในแง่วิชาชีพทางกฎหมายที่มันเป็นอยู่ มันทำให้พวกเขาไม่กล้ากระโดดออกมาพูด เพราะหากออกมาพูดแล้วอีกหน่อยจะไปสอบอัยการ ผู้พิพากษา เขาก็กังวลว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นไหม เราก็จะเห็นว่ามันมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับพวกเขาเอาไว้”

คำถามต่อผู้สอน

ด้าน ผศ.สุทธิชัย บอกว่า ตัวอย่างที่ไม่ดีนอกห้องเรียนทำให้เขาเกิดคำถามกับตัวเองเช่นกันว่า “ไอ้ที่เรากำลังสอนนักศึกษา เรากำลังสอนอะไรอยู่ และสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราสอนไปนั้นมันเกิดประโยชน์อะไร”

แต่เขาก็คิดได้ว่ายิ่งเกิดภาวะเช่นนี้ในวิชาชีพนักกฎหมาย ผู้สอนนิติศาสตร์ก็ต้องยิ่งยืนให้มั่นคงและหลังตรงโดยไม่หวั่นไหว แม้จะเกิดความเหนื่อยหรือความท้อขึ้นในใจอยู่บ้างก็ตาม

“หากเราซึ่งเป็นผู้สอนยังไม่ยืนหยัดในสิ่งที่เราสอน แล้วจะมีใครออกมาพูดหรือสอนนักศึกษาว่าสิ่งที่ถูกต้องมันควรเป็นเช่นไร” เขากล่าว

ด้าน รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. บอกกับบีบีซีไทยว่าการสอนในห้องเรียนไม่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเชื่อว่าในคณะนิติศาสตร์ทุกคณะ ต่างสอนหลักการที่ถูกต้อง แต่มีตัวอย่างที่ไม่ดีเพิ่มมากขึ้นในการเรียนการสอน

“ผมสอนกฎหมายทั่วไป ผมอาจจะมองในฐานะคนที่สอนนิติศาสตร์ ต้องบอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเทคนิคมาก ๆ ของสายมหาชน แต่มันเป็นปัญหาหลักการพื้นฐานทางกฎหมายเบื้องต้นเลย” เขากล่าว

“แต่ความหดหู่ของคนที่สอนกฎหมาย คือเราสอนกฎหมายด้วยหลักการที่ถูกต้อง แต่ทำไมกระบวนการยุติธรรม และระบบกฎหมาย มันไม่ดีขึ้นเลย เราไม่ได้ไปไหนเลย มันเหมือนเราถอยหลังอยู่ตลอด เราแย่ยิ่งกว่าเดิม อันนี้คือความเศร้า เพราะสำหรับคนที่สอนในมหาลัย มันทำให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่า ตอนนี้โลกวิชาการกับโลกแห่งความเป็นจริง มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง”

ด้าน ดร.อภินพ จากคณะนิติศาสตร์ มธ. บอกว่า คำถามต่อผู้สอนย่อมเกิดขึ้นอยู่แล้ว พร้อมกับยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่ผู้สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญก็เกิดคำถามเช่นกันว่า “จะสอนไปทำไม หากสุดท้ายแล้วผู้คนหันมาสนใจว่าใครคือผู้พิพากษาในคดี”

“โดยส่วนตัว ผมไม่ได้มีความสงสัย หรือมีวิกฤตในความศรัทธาขนาดนั้น” เขากล่าว “ผมก็ยังสอนต่อไปว่ากฎหมายมันไม่ใช่เรื่องหลักการ 100% มันมีอีก 10% เป็นอย่างน้อยที่เป็นเรื่องดุลยพินิจที่เป็นเรื่องการเมืองขึ้นมา มันก็สนุกด้วยซ้ำที่ได้ชี้ให้นักเรียนเห็นว่า คุณไปดูได้เลยว่าที่เขาตัดสินแบบนั้นแบบนี้ มันมีเหตุปัจจัยอะไรนอกเหนือจากที่เรียนกันในวิชานิติศาสตร์บ้าง”

คำถามต่อความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรม

ดร.อภินพ กล่าวต่อว่า ตัวอย่างคำวินิจฉัยที่ผิดไปจากหลักการเหล่านั้นยังทำให้ผู้คนตั้งคำถามกับความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรมได้ด้วย

“มันอาจจะไม่ต้องมองแค่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่อาจมองไปถึงศาลปกครอง ไปจนถึงศาลทหารก็เป็นได้ เพราะที่ผ่านมาเราแทบไม่เคยตั้งคำถามด้วยซ้ำว่าเราปฏิรูประบบศาลได้ไหม เราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง บางทีเราปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ ให้เป็นเรื่องของตุลาการ-ผู้พิพากษาจัดการกันเอง ซึ่งแน่นอนว่ามันมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของตัวศาลมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะก็จะมองว่าเป็นเรื่องของผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนั้นก็ไม่ต้องไปแตะต้อง เพราะไม่ได้เรียนนิติศาสตร์มา ทั้งที่จริงแล้วทุกคนควรจะตั้งคำถามกับมันได้”



สำหรับคำถามที่ว่าตัวอย่างที่ไม่ดีเหล่านั้นจะสร้างปัญหาแค่ไหน ดร.อภินพ บอกว่า หากมีคำวินิจฉัยที่มีปัญหาออกมายิบย่อยเพียง 2-3 คดี ก็ยังไม่สร้างปัญหามากนัก แต่ถ้าหากเริ่มเห็นคดีเช่นนี้มากขึ้นและมีความถี่แทบจะทุกเดือน ก็อาจส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เนื่องจากมันเป็นระบบที่อยู่ได้ด้วยความชอบธรรม และอาศัยความน่าเชื่อถือของผู้พิพากษา ตุลาการ และกฎเกณฑ์ของกฎหมาย

“ฉะนั้นในทางทฤษฎีเราก็จะบอกกันว่าศาลนั้นก็เหมือนผู้เล่นมายากล ต้องทำให้เห็นว่าคำวินิจฉัย-คำพิพากษาเหล่านั้นผ่านการกลั่นกรอง ผ่านทฤษฎีที่มันมั่นคงและสลับซับซ้อนต่าง ๆ แล้วออกมาด้วยใจเป็นกลาง ปราศจากความอคติ หากในวันหนึ่งเรากลับไปเฉลยมายากลว่าขั้นตอนที่ทำมามากมายมันมีปัญหาแบบนั้นแบบนี้ คนก็จะเลิกเชื่อถือองค์กรศาลซึ่งเป็นคนกลางไปในที่สุด เพราะไม่ไว้ใจแล้วว่ามันจะมีอคติหรือเข้าข้างใครหรือเปล่า” เขากล่าว

เมื่อถามว่าศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นฝ่ายตุลาการหรือองค์กรอิสระ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มธ. บอกว่า หากดูจากชุดครุยและกระบวนการพิจารณาที่ไม่ต่างจากศาลในระบบอื่น ๆ “ศาลก็จะบอกว่าตัวเองเป็นองค์กรตุลาการ”

“แต่หากว่ากันตามทฤษฎี คนก็จะย้อนไปถึงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญของออสเตรียที่สุดท้ายเป็นต้นแบบของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหลาย จะเห็นว่าคนที่ออกแบบเขาคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญควรเป็นองค์กรอิสระมากกว่า ซึ่งแยกออกมาจากองค์กรตุลาการปกติ เพราะต้องตัดสินเรื่องทางการเมือง”

อาจารย์จาก มธ. กล่าวต่อว่า ในปัจจุบัน หากดูประเทศประเทศต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญก็จะอธิบายว่าตัวเองเป็นองค์กรศาล แต่หากพูดถึงในเรื่องโครงสร้างอำนาจ ก็จะบอกว่าเป็นเนื้อเดียวกันกับองค์กรตุลาการไม่ได้


“ตอนนี้หากเราดูของไทยเป็นหลัก ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจชี้ขาดที่มีผลผูกพันกับทุกองค์กรในรัฐธรรมนูญ บางทีก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่อง juristocracy ซึ่งคือการปกครองโดยตุลาการไปแล้วหรือเปล่า เพราะศาลสามารถชี้เป็นชี้ตายองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรฝ่ายบริหาร" ดร.อภินพ กล่าว และชี้ว่า สิ่งนี้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญคือผู้กุมอำนาจสูงสุดทางการเมืองหรือไม่


ปฏิกิริยาของผู้สนับสนุนอดีตพรรคก้าวไกลในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรค เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา

ด้านคณบดีคณะนิติศาสตร์ มอ. มองว่าขณะนี้ในภาพรวม ผู้คนต่างรู้สึกหมดความเชื่อมั่นกับกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวศาลรัฐธรรมนูญ หรือคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับนักโทษทางการเมืองก็ตาม

“มันเป็นเรื่องอันตรายในระยะยาว จริง ๆ แล้วประเด็นนี้เราพูดกันมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ซึ่งมีหลายคนเริ่มเตือนว่าศาลไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองเยอะจนเกินไป ควรจะถอยกลับไปอยู่ในที่ตั้งของตนเอง แต่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย มันก็เขยิบขยายไปเรื่อยจนถึง 2 คดีหลังสุด มันร้ายแรงมาก” ผศ.สุทธิชัย กล่าวถึงคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลและปลดนายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน

“การตัดสินคดีมันควรมีความไม่แน่นอนบางประการที่ทำให้ผู้คนมองไม่ออกว่าผลตัดสินใจมันจะเป็นเช่นไร แต่เมื่อไรก็ตามที่คนบอกว่าไม่ต้องไปเปิดตัวบทกฎหมายหรอก ศาลตัดสินแบบนี้อยู่แล้วโดยมองแค่เหตุผลทางการเมือง มันหมายความว่าเขาหมดความเชื่อมั่นในตัวบทกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จาก มอ. กล่าวทิ้งท้าย

รายงานเพิ่มเติมโดย ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

(https://www.bbc.com/thai/articles/c17gwd8945wo)