วันศุกร์, สิงหาคม 23, 2567

ปริญญา เลคเชอร์จริยธรรม ตุลาการศาลรธน. อคติพูดส่อเสียดจำเลย พร้อมชี้ช่องยื่นเอาผิด



ปริญญา เลคเชอร์ จริยธรรมตุลาการศาลรธน. รับในฐานะอาจารย์สอนกม. ไม่สบายใจ พูดส่อเสียดจำเลย พร้อมชี้ช่องเอาผิด

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพูดติดตลก ระหว่างการสัมมนาทางวิชาการถึงคดียุบพรรคก้าวไกล ตอนหนึ่งว่า พรรคประชาชนต้องขอบคุณตนเองที่ยุบพรรค ทำให้ได้เงินบริจาคถึง 20 ล้าน โดยระบุว่า

#มาตรฐานจริยธรรม ที่ศาลรัฐธรรมนูญท่านใช้ในการตัดสินให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งนั้น คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบว่า มาจากศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระกำหนดร่วมกัน เพื่อให้เป็น # มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ #ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ

โดยชื่อเต็มๆ คือ มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่ง ในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561

ที่มีการนำมาใช้กับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมถึง ส.ส. และ ส.ว.ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 วรรคสอง และข้อ 3 วรรคสองของมาตรฐานจริยธรรมฉบับนี้กำหนดไว้เช่นนั้น แต่ที่จริงแล้วทั้งชื่อและเจตนารมณ์ต้องการให้ใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเป็นหลักครับ

ซึ่งผมเปิดดูแล้ว มี 2 ข้อที่ผมเห็นว่า สำคัญที่สุดในการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ คือ ข้อ 13 และข้อ 23 ดังนี้ครับ

ข้อ 13 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ… โดยคํานึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ

ข้อ 23 ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเต็มใจ ให้บริการด้วยความรวดเร็ว เสมอภาค ถูกต้อง โปร่งใส ปราศจากอคติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ผมได้เห็นข่าวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง พูดให้ความเห็นเรื่องพรรคที่ท่านยุบไป ในฐานะอาจารย์สอนกฎหมายผมฟังแล้วก็ไม่ค่อยสบายใจ เพราะไม่เคยได้ยินว่า มีตุลาการหรือผู้พิพากษาท่านใด ตัดสินลงโทษจำเลยไปแล้วมาพูดถึงจำเลยในแบบที่อาจจะเข้าข่ายเป็นการส่อเสียดอย่างนี้มาก่อน และที่สำคัญไม่ทราบว่าเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมข้อ 13 และ 23 ในเรื่อง ปราศจากอคติ คำนึงสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน และอาจจะรวมถึงเรื่อง เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ผมยกมาหรือไม่ครับ

ด้วยความเคารพ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องกล่าวถึง เพราะดังที่กล่าวไปในตอนต้น มาตรฐานจริยธรรมนี้กำหนดมาให้เป็นมาตรฐานจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นหลัก ศาลรัฐธรรมนูญจึงพึงต้องยึดถือปฏิบัติด้วยครับ

ทั้งนี้ มีผู้สอบถามมาหลายท่านทั้งที่เป็นสื่อและไม่ใช่สื่อว่า #รัฐธรรมนูญกำหนดขั้นตอนในการดำเนินการอย่างไร ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ #ถูกร้องเรียนเรื่องการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ผมจึงขอสรุปประเด็นเรื่องนี้ ซึ่งเป็น #ข้อกฎหมาย ให้หายสงสัย ดังนี้ครับ

1.รัฐธรรมนูญมาตรา 234(1) กำหนดให้เป็นอำนาจของ #คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ในการไต่สวนและมีความเห็น “กรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ … ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” คือต้องไปร้องที่ ปปช. ครับ

2.รัฐธรรมนูญมาตราถัดมาคือ มาตรา 235 กำหนดว่า ”ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีการกล่าวหาว่า … ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ …ผู้ใดมีพฤติการณ์ตามมาตรา 234(1)“ ก็ให้ ปปช. ไต่สวนข้อเท็จจริง และลงมติ โดย ”หากมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เห็นว่าผู้นั้น มีพฤติการณ์หรือกระทําความผิดตามที่ไต่สวน“ ก็ให้ดําเนินการต่อไป คือจะมีการดำเนินการต่อผู้ถูกร้องหรือไม่อยู่ที่การลงมติของ ปปช. ครับ

3.หากเสียงข้างมากเห็นว่าผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์ “ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” มาตรา 235 (1) กำหนดว่า “ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย” ดังนั้น ศาลที่จะตัดสินก็คือ #ศาลฎีกา ครับ

4.พฤติการณ์ที่จะไปถึงศาลฎีกาและเป็นความผิดได้ จะต้องเป็น การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม “อย่างร้ายแรง” ถ้าไม่ถึงขนาด “อย่างร้ายแรง” ก็ไปที่ ปปช. และไปถึงศาลฎีกาไม่ได้

ทั้งนี้ #มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ข้อ 27 กำหนดว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 “ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง” (ภาพที่สาม) ซึ่ง “เป็นกลาง ปราศจากอคติ” และ “โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” (ข้อ 13) และ “ปราศจากอคติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” (ข้อ 23) อยู่ในหมวด 2 และหมวด 3 ซึ่งมิได้ถือว่า “มีลักษณะร้ายแรง” และเท่ากับไม่ใช่การฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

5.อย่างไรก็ตาม มาตรฐานจริยธรรมฯ ข้อ 27 วรรคสอง กำหนดว่า “การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 และหมวด 3 จะถือว่า มีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติ นั้น”

หมายความว่า แม้จะเป็นพฤติการณ์ที่ไม่อยู่ในหมวด 1 ที่ถือว่า ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง แต่ก็ต้องดูเจตนาและความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย หากถึงขั้นร้ายแรง ก็จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ ปปช. และศาลฎีกาจะเป็นผู้วินิจฉัยครับ

#สรุป คือ เป็นอำนาจของ ปปช. หาก ปปช. ไต่สวนและลงมติว่าเป็นการฝ่าฝืนว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เรื่องก็จะไปที่ศาลฎีกาซึ่งจะเป็นผู้ตัดสิน

จึงเรียนมาเพื่อตอบข้อสงสัยท่านที่ถามมาครับ

ที่มา มติชนออนไลน์
https://www.matichon.co.th/politics/news_4749133
22 สิงหาคม 2567




Atukkit Sawangsuk
10 hours ago
·
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นตำแหน่งเพราะผิดจริยธรรมมี 2 ช่องทาง
:
1.มาตรา 208 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นตำแหน่ง ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 เพราะเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
:
2.ถูกร้อง ปปช.ว่า ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(โปรดสังเกต มีคำว่าอย่างร้ายแรงเพิ่มเข้ามา)
แล้ว ปปช.มีมติเกินกึ่งหนึ่ง ส่งศาลฎีกาวินิจฉัย
:
ไม่ว่าทางใดก็ตาม
อาจไม่สามารถหวังผลในการถอดถอน
แต่มันจะสนุกมาก
เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยกัน ลงมติ 8-0 ว่าเพื่อนไม่ผิดจริยธรรม
หรือ ปปช. ลงมติเป็นเรื่องจิ๊บๆ ไม่สำคัญ ไม่ร้ายแรง
หรือถ้าไปถึงศาลฎีกา
อ้าว ศาลจะว่าอย่างไรกับคนที่มาจากผู้พิพากษาด้วยกันเอง
สนุกทุกช่องทาง