วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 22, 2567

สภาฯ ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติแล้ว: ขั้นต่อไปชวนจับตา “คำถามประชามติ” เรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ จากรัฐบาลแพทองธาร


พรรคประชาชน - People's Party
14 hours ago
·
[ สภาฯ ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติแล้ว: ขั้นต่อไปชวนจับตา “คำถามประชามติ” เรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ จากรัฐบาลแพทองธาร ]
.
วันนี้ (21 ส.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการส่งร่างดังกล่าวเข้าสู่การกลั่นกรองของวุฒิสภา คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย
.
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีในยุคนายกฯ เศรษฐา ทวีสินมีมติว่าจะเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง โดยจะยังไม่เดินหน้าจัดทำประชามติครั้งแรกและประกาศคำถามประชามติอย่างเป็นทางการ จนกว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติจะแล้วเสร็จ
.
ดังนั้น เมื่อสภาฯ ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติแล้วในวันนี้ โจทย์สำคัญที่สุดเฉพาะหน้าจึงหนีไม่พ้นเรื่องการกำหนด “คำถามประชามติ” สำหรับประชามติครั้งแรก ซึ่งคณะรัฐมนตรีในยุคนายกฯ เศรษฐาเคยเสนอให้ใช้คำถามว่า…
.
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์”
.
พรรคประชาชน รวมถึงอดีตพรรคก้าวไกล แสดงความกังวลมาตลอด ว่าการตั้งคำถามในลักษณะนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลงและไม่ประสบความสำเร็จ ด้วย 3 เหตุผล คือ
.
(1) คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีในยุคนายกฯ เศรษฐาเสนอ เป็นการถาม 2 ประเด็นใน 1 คำถาม โดยมีการบรรจุเงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถาม
.
การออกแบบคำถามลักษณะนี้อาจทำให้ประชาชนบางคนที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถาม (เช่น เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขเรื่องหมวด 1 และ หมวด 2) มีความลังเลใจว่าควรจะลงมติเช่นไรที่สะท้อนเจตจำนงหรือจุดยืนของตนเอง และทำให้ในบรรดาคนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะลงคะแนน “เห็นชอบ” เหมือนกันอย่างเป็นเอกภาพ
.
(2) คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีในยุคนายกฯ เศรษฐาเสนอ เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบปัญหาในเชิงกฎหมาย
.
เพราะในเมื่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในแต่ละหมวดมีความสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจมีการยกร่างเนื้อหาบางส่วนในหมวด 3 เป็นต้นไป ที่ทำให้เกิดความจำเป็นทางกฎหมายที่จะต้องแก้ไขบางข้อความในหมวด 1 และ หมวด 2 ให้สอดคล้องกันกับหมวดอื่นๆ แต่การแก้ไขดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ในกระบวนการดังกล่าว หากไม่เปิดให้มีการแก้ไขข้อความในหมวด 1 และ หมวด 2 ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
.
(3) คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีในยุคนายกฯ เศรษฐาเสนอ เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองในบริบทปัจจุบันได้
.
เพราะในเมื่อเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญคือการออกแบบกติกาการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง การปิดกั้นข้อเสนอจากประชาชนเกี่ยวกับการปรับปรุงเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 (ที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ) อาจเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ถูกมองว่าสะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนได้อย่างแท้จริง
.
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ได้ห้ามเรื่องการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ไว้ รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งรัฐธรรมนูญ 2540, 2550, และ 2560 ก็มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 มาโดยตลอด
.
.
[ หวังรัฐบาลใหม่ทบทวนคำถามประชามติอีกครั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้สำเร็จ-แก้ความเห็นต่างทางการเมืองได้ ]
.
เมื่อประเทศเรากำลังจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร พรรคประชาชนจึงหวังว่าคณะรัฐมนตรีในยุคนายกฯ แพทองธารจะเห็นด้วยกับข้อกังวลดังกล่าวข้างต้น และทบทวนคำถามประชามติ โดยหันมาใช้คำถามที่มีลักษณะเปิดกว้างว่า…
.
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ)”
.
นอกจากการหวังให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว พรรคประชาชนยังมีญัตติเรื่องคำถามประชามติที่เสนอโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564 มาตรา 9(4) ค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรสามารถเลื่อนขึ้นมาพิจารณาได้ทันทีหากเห็นว่ามีความเร่งด่วน เพราะรัฐบาลใหม่จะต้องตัดสินใจเรื่องคำถามประชามติในเร็วๆ นี้
.
นับจากวันนี้จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคนให้ร่วมกันจับตาและติดตามเรื่องการเคาะคำถามประชามติอย่างใกล้ชิด เพราะนี่คือหมุดหมายสำคัญที่จะกำหนดเส้นทางว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทยนั้นจะดำเนินไปในทิศทางใด จะเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างฉันทามติร่วมของคนทั้งสังคมได้ หรือจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองไทยลึกลับซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก
.
#พรรคประชาชน #คำถามประชามติ #ร่างรัฐธรรมนูญใหม่