วันศุกร์, สิงหาคม 02, 2567

ในปี 2567 (ตั้งแต่ ม.ค.– ก.ค.) มีการยื่นประกันตัวนักโทษการเมือง ไม่น้อยกว่า 109 ครั้ง มีเพียงผู้ต้องขัง 6 รายเท่านั้นที่ได้ประกัน


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
14 hours ago
·
ประมวลสถานการณ์ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองครึ่งปี 2567 (ม.ค. – ก.ค.) พบคำร้องขอประกันสูง 109 ฉบับ มีเพียงผู้ต้องขัง 6 ราย ได้ประกัน
.
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 จนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2567 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีที่แสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง 44 คน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 24 คน
.
ในจำนวนของผู้ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี มีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีตามมาตรา 112 อย่างน้อย 17 คน และยังมีในส่วนคดีเกี่ยวกับการครอบครองวัตถุระเบิด – วางเพลิงรถตำรวจ อย่างน้อย 7 คน นอกจากนั้นยังมีเยาวชน 2 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ในสถานพินิจฯ ตามคำสั่งมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษาของศาลเยาวชนฯ
.
ในปี 2567 นี้ พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฏาคม มีการยื่นประกันตัวผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองถี่มาก และสูงที่สุดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 109 ครั้ง โดยแบ่งเป็นการยื่นคำร้องในคดีหลักตามมาตรา 112 – 116 จำนวน 85 ครั้ง, คดีที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิดจากการชุมนุม จำนวน 23 ครั้ง และคดีดูหมิ่นศาล-ละเมิดอำนาจศาล 1 ครั้ง
.
ตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเพียง 5 คน ได้แก่ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร จากกรณีที่ถูกคุมขังตามมาตรา 116 สืบเนื่องมาจากการที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าขัดขวางขบวนเสด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567, “ถนอม” ชายไร้บ้าน จากกรณีถูกฝากขังในคดีจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 บริเวณแยกคอกวัว, “แอมป์” ณวรรษ จากกรณีถูกคุมขังในคดี ม.112 จากคดีปราศรัย #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb , ผู้ต้องขัง LGBTQIA+ วัย 24 ปี และชายหนึ่งคนวัย 53 ปี (นับเฉพาะคนที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำอยู่ และได้รับการประกันตัว ไม่ได้รวมถึงผู้ที่ได้รับการประกันตัวอยู่แล้ว ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ)
.
นอกจากนั้นยังมีผู้ต้องขังที่เสียชีวิตในขณะถูกควบคุมตัว 1 ราย ได้แก่ บุ้ง เนติพร จากกรณีถูกคุมขังตามคดีละเมิดอำนาจศาลที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 และเหตุจากการถูกสั่งถอนประกันตัวในคดีมาตรา 112 ทำโพลขบวนเสด็จที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565
.
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์คดีมาตรา 112 รวมถึงคดีที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิดในเหตุการณ์ชุมนุมที่บริเวณดินแดง ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา พบว่าแนวโน้มของการไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดมีเพิ่มมากขึ้น และคำสั่งประกันตัวของศาลอุทธรณ์ก็มีแนวโน้มเป็นไปในทางลบมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
.
ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และ ผู้ต้องขังคดีครอบครองวัwตถุระเบิด มีแนวโน้มถูกขังชนป้าย ไร้แววสิทธิประกันตัวในศาลสูง
.
ช่วงครึ่งปีแรกของ 2567 พบว่าอัตราการยื่นประกันตัวในคดีมาตรา 112 – 116 มีสูงที่สุดถึง 85 ครั้ง โดยปัจจุบันมีผู้ต้องขังในคดีดังกล่าวที่อยู่ในระหว่างพิจารณา จำนวน 17 ราย และคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการครอบครองวัตถุระเบิดอีก 7 ราย
.
ในจำนวนผู้ต้องขังคดี ม.112 – 116 ที่ยื่นประกันตัวมีเพียงแค่ “ตะวัน – แฟรงค์” เท่านั้นที่ได้ประกันตัว ส่วนผู้ต้องขังรายอื่นที่มีคำพิพากษาในศาลชั้นต้นแล้ว ตลอดจนผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังข้ามปีล้วนแล้วแต่ถูกศาลปฏิเสธคืนสิทธิประกันตัวทั้งสิ้น
.
ทั้งในกรณีของผู้ต้องขังคดีเหตุเกี่ยวกับการเผา – ทำลาย และมีวัตถุระเบิด 7 ราย ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร, ประวิตร, ขจรศักดิ์, คเชนทร์, ไพฑูรย์ และสุขสันต์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ต้องขังทางการเมือข้ามปี 2566 และถูกคุมขังมาระยะหนึ่ง โดยไม่มีคดีใดที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุด โดยเฉพาะถิรนัย และชัยพร ซึ่งเป็นสองนักกิจกรรมและการ์ดผู้ชุมนุมอิสระที่ถูกคุมขังนานมานานที่สุดในระลอกนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566
.
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของ “ถิรนัย – ชัยพร” นักกิจกรรมและการ์ดผู้ชุมนุมวัย 23 และ 24 ปีตามลำดับ โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปีนั้นหนักเกินไป จึงพิพากษาแก้โทษ เป็นจำคุกจำเลยคนละ 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน
.
และเมื่อนับรวมวันฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566 จนถึงวันที่ 16 ก.ค. 2567 ถิรนัยและชัยพรถูกขังมาแล้วเป็นระยะเวลา 518 วัน หรือ 1 ปี 5 เดือน 1 วัน ทำให้ทั้งสองคนจะถูกปล่อยตัวในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2567 นี้ ตามโทษในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
.
ศาลชั้นต้นมีแนวโน้มไม่พิจารณาคำสั่งประกันตัว ส่งศาลอุทธรณ์ – ฎีกาเป็นผู้พิจารณาคำสั่ง
.
อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่าในทุกคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โดยตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา แนวโน้มของคำสั่งมักไม่ถูกพิจารณาโดยศาลชั้นต้น แต่มักจะส่งให้ศาลอุทธรณ์ – ฎีกาเป็นผู้พิจารณาคำร้องขอประกันตัว
.
ทั้งนี้ ใน ข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีการเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ในข้อที่ 24 ได้ระบุไว้ว่า กรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หรือคดีที่ต้องขออนุญาตฎีกาก็ตาม
.
หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ โดยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งประกันได้ โดยใช้วิธีการอย่างเดียวกับการประกันในระหว่างพิจารณา หรือใช้เงื่อนไขประกันที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลสูงเป็นผู้สั่งเอง
.
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แนวโน้มของการพิจารณาคำสั่งประกันตัวในคดีการเมืองหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ของจำเลยหลายคนไม่ถูกสั่งในศาลชั้นต้น แต่จะถูกส่งให้ศาลสูงเป็นผู้พิจารณาทันทีภายหลังมีคำพิพากษาแล้ว
.
การใช้ดุลยพินิจของศาลชั้นต้นดังกล่าว ทำให้การขอประกันตัวจำเลยในคดีการเมืองมีแนวโน้มยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากในช่วงหลัง ศาลสูงมีแนวโน้มจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 หรือคดีเกี่ยวกับวัตถุระเบิด แม้จำเลยจะไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบกับเมื่อคำสั่งประกันตัวในครั้งแรกหลังมีคำพิพากษา ถูกสั่งโดยศาลที่สูงกว่าแล้ว การขอประกันตัวในครั้งถัด ๆ ไป ก็มักจะถูกส่งไปพิจารณาโดยศาลสูงเช่นเดิม ทำให้จำเลยหลายคนไม่ได้รับการประกันตัวเรื่อยมา
.
นอกจากนั้น การไม่ได้รับการประกันตัวทำให้หลายคนได้ตัดสินใจไม่ต่อสู้คดีต่อในศาลสูง ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ต้องยินยอมให้คดีสิ้นสุดลง เพื่อรับโทษและรู้วันเวลาออกที่แน่นอน พร้อมกับไปสู่ช่องทางอภัยโทษหรือพักโทษต่าง ๆ กรณีลักษณะนี้ อาทิ กรณีของทีปกร, วารุณี หรือพรชัย
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ : https://tlhr2014.com/archives/68919