วัฒนธรรมอาชีวะ หรือ “โรงงานผลิตอาชญากร” ผ่านเรื่องจริงเด็กช่าง ผู้ดิ่งสู่เส้นทางผู้กระทำผิด
ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
23 พฤศจิกายน 2023
กลุ่มชายวัยคึกคะนองนับสิบ กระโดดลงจากมอเตอร์ไซค์ ควักมีดด้ามยาว พุ่งขึ้นไปไล่ฟันศัตรูบนรถสองแถวที่จอดติดไฟแดง ระหว่างนั้น วัยรุ่นคนหนึ่งจุดระเบิดปิงปองขนาดเท่าลูกส้มโอ เขวี้ยงขึ้นไปบนรถสองแถว ก่อนที่สัญญาณจราจรจะกลายเป็นไฟเขียว
“แล้วมันก็บึ้ม... เสียงหนึ่งที่ผมจำได้ มันเป็นเสียงกรีดร้อง” อดีตเด็กช่างชื่อเล่นว่า “ไทย” วัย 25 ปี เล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ในเดือน พ.ค. 2557 ที่เขาและกลุ่มเพื่อนราว 10 คน จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสมุทรปราการ ตัดสินใจไล่ล่า-ไล่ฟัน-ปาระเบิด ใส่นักศึกษาจากสถาบันคู่อริ นั่นคือ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ
เหตุการณ์ที่อาจฟังดูเหมือนฉากในภาพยนตร์ “4 Kings” นี้ เป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศในเวลานั้น และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บสาหัส 2 คน และบาดเจ็บเล็กน้อยอีกราว 20 ราย
กลุ่มผู้กระทำการ รวมถึง ไทย ถูกตั้งข้อหาร่วมกันฆ่า ร่วมกันพยายามฆ่า และพกพาอาวุธปืน-ระเบิด รวมโทษ 6 ปีในสถานพินิจ ส่วนสาเหตุที่ วชิร และกลุ่มเพื่อนร่วมสถาบัน ตัดสินใจก่อเหตุอุกฉกรรจ์เช่นนี้ ก็เพื่อส่งต่อวัฒธรรมประจำสถาบันอาชีวะ ด้วยการ “โชว์ให้รุ่นน้องปีหนึ่งดูว่าเวลาเจอคู่อริ ต้องทำแบบนี้”
ฉากปาระเบิดใน Teaser ของ "4 King ภาค 2" เข้าฉาย 30 พ.ย. 2566
“มึงทำเพื่อใคร เพื่อนมึงเหรอ โรงเรียนมึงเหรอ ศักดิ์ศรีมึงรึเปล่า” ตัวละครหญิง ที่รับบทโดย อินทิรา เจริญปุระ ในภาพยนตร์ “4 Kings” ภาค 2 ที่จะเข้าฉายในไทยในวันที่ 30 พ.ย. 2566 เอ่ยถามเด็กช่างคนหนึ่ง
บีบีซีไทยพยายามหาคำตอบต่อคำถามดังกล่าว ผ่านเสียงของอดีตเด็กอาชีวะที่ก่อคดีฆาตกรรม-ร่วมกันฆ่า ซึ่งปัจจุบัน หวังใช้โอกาสที่สองในชีวิต เตือนสติเยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไป ไม่ให้ต้องจมดิ่งสู่ด้านมืดและเส้นทางอาชญากร เช่นพวกเขาในอดีต
นักเรียน & นักรบ
อ็อฟ เติบโตในครอบครัวฐานะปานกลางที่พ่อแม่ทะเลาะกันเป็นประจำ เขาเองถูกบิดาที่ติดสุราทำร้ายร่างกายอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่ยังเด็ก นั่นผลักให้เขาไปอยู่กับกลุ่มรุ่นพี่ที่เป็นเด็กช่างในชุมชน จนเห็นเด็กอาชีวะเป็น “ไอดอล”
“ในสมัยนั้น ความรู้สึกผมคือมันเท่ ผมต้องมีชื่อเสียงด้านนี้ให้ได้” เขาบอกกับบีบีซีไทย โดยเล่าต่อว่า ได้ดรอปการเรียนหลังมัธยมปีที่ 3 ไปหนึ่งปี เพื่อทำงานหาเงินส่งเสียตนเองเข้าศึกษาที่โรงเรียนเทคโนโลยีบางกะปิ แม้พ่อแม่และรุ่นพี่จะห้ามแล้วว่า ชีวิตจะต้องจมอยู่กับ “เรื่องไล่ฆ่าฟันแทง”
อ็อฟ ระบุว่า เขาต้องพกปืน 2 กระบอก และมีด ไปโรงเรียนอาชีวะต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน หลังถูกคู่อริดักยิง แต่รอดมาได้
แต่ชีวิตช่วงปี 1 ที่ยังเด่นชัดในความทรงจำของ อ็อฟ กลับไม่ใช่ชั้นเรียนฝึกวิชาชีพตามเป้าประสงค์ของสถาบัน แต่เป็นการฝึกเตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจโดยรุ่นพี่ คือ
- การทดสอบด้วย “ระบบมือตีน” - การฝึกร่างกายแบบทหาร อาทิตย์ละอย่างน้อยหนึ่งครั้ง “เป็นระบบมือตีน คือ เตะหน้าอก แท็ก (เอาไหล่กระแทก) จนไหล่เปิด” เพื่อเตรียมความพร้อมร่างกายและจิตใจ ให้รับมือสถานการณ์และการปะทะต่าง ๆ ได้
- การรับน้อง - ขั้นตอนสุดท้ายของการฝึกฝนโดยรุ่นพี่ จะเป็นการเข้าค่ายริมทะเลนาน 2 วัน “ได้นอนครู่เดียวก็ต้องฝึกต่อ” เมื่อผ่านการรับน้องไปได้ ก็จะได้ “เสื้อช็อป” หรือเครื่องแบบประจำสถาบัน
ฉากปาระเบิดใน Teaser ของ "4 King ภาค 2"
ครั้งหนึ่งที่ยังเป็นภาพติดตา คือ ถูกคู่อริต่างสถาบัน ขับมอเตอร์ไซค์ 4 คันเข้าประกบยิงด้วยปืนไทยประดิษฐ์ (ปืนลูกซองสั้นหักลำ) จนทำให้เพื่อนในกลุ่มคนหนึ่งเสียชีวิต ส่วนตัวเขาเอง มีรุ่นพี่คนหนึ่งเข้ามารับกระสุนแทน จนพิการขา
“ต้องเอาคืน... ผมไม่ยอมแล้ว” เขากล่าว “ช่วงนั้นผมเต็มอัตราแล้ว คนเดียวพกปืนสองกระบอกไปเรียน ทั้งปืนทั้งมีด” โดยเงินที่นำไปซื้อปืนกระบอกละราว 20,000 บาท มาจากการทำงานในช่วงเช้า และค้ายาเสพติด
จนกระทั่ง เขาถูกคู่อริย่านมีนบุรีดักยิงอีกครั้ง จึงตัดสินใจว่า “ต้องปิดจ็อบ” อ็อฟ จึงใส่ชุดนักเรียนมัธยม ซ้อนท้ายจักรยานยนต์เพื่อนอีกคน ไปวนรอบโรงเรียนของเป้าหมาย เมื่อเจอตัว จึงไล่แล้วจ่อยิง 3 นัด จนอีกฝ่ายเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
ตัวเขาในเวลานั้น ตัดสินใจไม่หนีคดี เพราะตระหนักดีกว่า เพื่อนของอีกฝ่ายเห็นหน้าเขาแล้ว “ยังไงก็หนีไม่พ้น ก็ใช้กรรมในช่วงเด็กไปเลย” และนั่นก็เป็นการปิดฉากชีวิตเด็กช่างของเขาลง ด้วยความผิดฐานพกพาอาวุธปืน และร่วมกันฆ่า ต้องโทษสถานพินิจ 4 ปี เนื่องจากอายุยังไม่ถึง 18 ปี
วัฒนธรรม (ผิด ๆ) ในสถาบัน
ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวเด็กช่างตีกัน โดยเฉพาะหากประชาชนถูกลูกหลง เหมือนกรณีที่ทำให้ครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ โดนลูกหลงเสียชีวิต เมื่อ พ.ย. 2566 ไทย จะรู้สึกสะเทือนใจ และระลึกถึงวีรกรรมของตนเองในอดีต
ไทย เข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสมุทรปราการ ในเวลาไล่เลี่ยกับ ศุภวัฒน์ และด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน คืออยากเท่ในเรื่อง “การแต่งตัว ทรงผม การสูบบุหรี่ และการพกมีดพกปืน” เขายังมองว่าการเลือกเรียนสายสามัญ “ดูเป็นเด็กเนิร์ด”
การฝึกฝนและการรับน้องของรุ่นพี่ มีรายละเอียดที่คล้ายคลึงกับเรื่องราวของอ็อฟ แต่ของ ไทย ต่างออกไปตรงที่รุ่นพี่ปลูกฝังให้ต้องจัดการสถาบันคู่อาฆาตอย่างชัดเจน
“จัดการก็คือ เราไปตีเขา ไปตบเสื้อช็อป ไปตบหัวเข็มขัดมา” วชิร ระบุ พร้อมอธิบายว่า ช็อป-หัวเข็มขัด สำคัญกับเด็กช่างมาก เพราะมีตราและโลโก้โรงเรียน หากคู่อริได้ไป “อาจเอาไปเหยียบ หรือทำอะไรที่อาจเสื่อมเสีย” ได้
ไทย เล่าว่าเคยรู้สึกภูมิใจที่ทนต่อการ "เตะหน้าอก เตะหลัง เอาเข่าพุ่งกระแทกหน้าอก" ได้ เพราะ "ดูแข็งแกร่ง ดูมีพลัง ในหมู่เพื่อน ๆ เรา รุ่นพี่เราก็แบบว่า เฮ้ย คนนี้ใช้ได้เว้ย"
ไทย ยอมรับว่า สมัยนั้นเขาจะไปดักตีนักเรียนต่างสถาบันแทบทุกวัน เพื่อพิสูจน์ตนเองกับรุ่นพี่ เพราะทำให้ “เป็นที่ยอมรับ เดินไปไหนก็จะมีคนยกมือไหว้... เฮ้ย! อย่าไปยุ่งนะ คนนี้ของจริง”
ระหว่างให้สัมภาษณ์ อดีตเด็กช่างเทคโนฯ สมุทรปราการ ถลกแขนเสื้อข้างซ้าย เผยให้เห็นรอยการนำเหล็กร้อนรูป “ฟันเฟือง” มาประทับ เพื่อแสดงการอุทิศตนเพื่อสถาบัน เขากล้าพูดว่าในเวลานั้น “รักสถาบันที่สุด พร้อมลุย พร้อมทำทุกอย่าง”
อย่างไรก็ดี เขายอมรับว่า ความรู้สึกในเวลานั้นขัดแย้งกันเอง เพราะเวลาอยู่ในกลุ่มเพื่อนจะฮึกเหิม อยากแสดงตนว่าเข้มแข็ง “เป็นไง กูบอกแล้ว กูสุด” แต่เวลาก่อเหตุคนเดียว จะเป็นอีกโลกหนึ่ง ยกตัวอย่างครั้งหนึ่ง เขาเอามีดไปฟันคู่อริ จน “เศษเนื้อติดมากับมีด” แต่เขากลับรู้สึก “กลัว สงสาร เขาจะเป็นหนักไหม”
เขาเชื่อว่า พฤติกรรมของเขาในสมัยเป็นเด็กช่าง และปัญหาความรุนแรงในสถาบันอาชีวศึกษาที่ดำเนินจากอดีตมาถึงปัจจุบัน มีสาเหตุจากการ “วัฒนธรรมผิด ๆ” ในสถาบัน ที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นพี่ เหตุการณ์ที่เขาไปไล่ตีคู่อริ จนนำมาสู่การที่เพื่อนปา “ระเบิดลูกส้มโอ” ใส่รถสองแถวที่นักเรียนต่างสถาบันนั่งอยู่ ก็เป็นผลมาจากความพยายามส่งต่อความเป็นอริให้กับรุ่นน้องเช่นกัน
วชิร อธิบายว่า ช่วงแรกรุ่นพี่จะเอาเหล็กรูป "ฐาน" มาประทับก่อน เมื่อผ่านการทดสอบและรับน้อง จึงนำเหล็กรูป "ฟันเฟือง" มาประทับต่อ เป็นอันสมบูรณ์
โรงงานผลิตอาชญากร ?
หลังถูกจองจำในสถานพินิจช่วงหนึ่ง อ็อฟ และ ไทย ได้ย้ายมาอยู่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก ด้วยเหตุผลเพียงว่า มีอิสระมากขึ้น ไว้ผมยาวได้ และมีโอกาสได้กลับบ้าน แต่ชีวิตหลายปีที่บ้านกาญจนาฯ กลับทำให้พวกเขาสำนึกในการกระทำของตนเอง และอยากกลับเข้าสังคมในฐานะผู้สร้างความตระหนักรู้ว่า วัฒนธรรมความรุนแรงในสถาบันอาชีวศึกษา ควรยุติลงเสียที
ฉากเด็กอาชีวะต่างสถาบันรวมกลุ่ม เพื่อเผชิญหน้ากัน ปรากฎบ่อยครั้งในภาพยนตร์ 4 Kings ทั้งสองภาค
ทิชา ณ นคร หรือ “ป้ามล” ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ในฐานะที่พูดคุยกับผู้ต้องหาเยาวชนจากสถาบันอาชีวะมานับไม่ถ้วน มองว่าปัจจัยที่ทำให้ “วัฒนธรรมอาชีวะมันแข็งแรง และไม่ตาย จนเป็นมรดกบาป” มี 2 ประการใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ
- ความไร้ตัวตนในครอบครัว – เด็กถูกเลี้ยงดูและเติบโตในครอบครัวที่ไม่เห็นคุณค่าของเด็ก จนผลักไสเด็ก ๆ ให้ไปแสวงหาคุณค่าผ่านการยอมรับในผองเพื่อนและรุ่นพี่ในสถาบันอาชีวะ เธอยกตัวอย่างคำบอกเล่าของเด็กคนหนึ่งว่า “ผมเคยลั่นไกครั้งแรก ไม่มีใครตายเลยครับป้า แต่ทุกคนให้การยอมรับ ใจมันฟูมากเลย การลั่นไกครั้งที่สองเลยต้องมีคนตาย เพราะผมไม่อยากให้คนที่ยอมรับผมผิดหวัง”
- ด้านมืดในสถาบันอาชีวะ - คือ ศิษย์เก่าและรุ่นพี่ ที่ “คอยล้อเล่นกับด้านมืดของเด็ก ๆ อยู่” ด้วยการส่งต่อความเกลียดชังและวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรง
"ถามว่าทำไมปัญหามันดำรงอยู่ได้... เด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวที่อ่อนแอเปราะบาง เกิดมาทุกวัน ขณะที่กลุ่มที่รอเล่นกับด้านมืดของเด็ก ก็แข็งแกร่งอยู่เสมอ ไม่เคยลดราวาศอก" ทิชา ณ นคร
ซ้ำร้าย เธอมองว่า เวลาเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงระดับโศกนาฏกรรม สังคมเลือกที่จะกล่าวโทษผู้กระทำที่เป็น “ปัจเจก” แต่ไม่เคย “ทะลุเพดาน” ไปแก้ปัญหาที่ปัจจัยร่วมข้างต้น ขณะที่รัฐบาลและสถาบันที่ควรมีส่วนรับผิดชอบ ก็กระทำเสมือนปฏิเสธความรับผิดชอบ จนกลายเป็นการ “ทิ้งชีวิตผู้คนไปอย่างเปล่าประโยชน์”
ในความคิดของเธอ วัฒนธรรมอาชีวะ ถือเป็น “โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตอาชญากรเด็ก” ที่ไม่เคยหยุด และส่งผู้ก่อคดีสู่สายพานมาอยู่เรื่อย ๆ จนไม่น่าประหลาดใจที่สังคมจะเริ่มตั้งคำถามว่า “สังคมไทยยังมีความหวังไหมเรื่องความรุนแรงในอาชีวะ”
หนัง “4 Kings” วัคซีนต้านวัฒนธรรมอาชีวะ
ภาพยนตร์เรื่อง “4 Kings อาชีวะ ยุค 90” เข้าฉายเมื่อปลายปี 2564 บอกเล่าถึงการต่อสู้ของนักเรียนอาชีวะระหว่างสถาบันต่าง ๆ ในช่วงปี 2538 พร้อมสะท้อนถึงผลลัพธ์ของการกระทำ และตั้งคำถามว่าเด็กช่าง “ตีกันไปทำไม”
ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ เล่าถึงเด็กช่างจาก 3 สถาบันถูกตำรวจจับและต้องเข้าสถานพินิจ จนเกิดมิตรภาพบางอย่างที่ไม่มีคำว่าสถาบันมาเป็นกำแพงกั้น อ็อฟ มองว่าภาพยนตร์กำลังเตือนสติเด็กช่างในปัจจุบันว่า “คำว่าสถาบันมันลบออกไปได้” และเด็กต่างสถาบันก็ “เป็นเพื่อนกันได้”
เด็กอาชีวะ 3 สถาบัน สานสัมพันธ์ในสถานพินิจใน 4 Kings ภาคแรก
“จากพกปืน เปลี่ยนเป็นพกปากกาเหมือนเด็กมหา'ลัยทั่วไป ผมว่าเท่กว่า... คราวนี้ทุกคนก็จะแต่งช่างได้ ไม่ต้องหวาดระแวงกัน เดินไปไหนก็มีแต่เพื่อน” อ็อฟ กล่าว โดยปัจจุบัน เขากำลังศึกษาต่อมหาวิทยาลัย เอกกีตาร์ไฟฟ้า ด้วยความฝันอยากเป็นครูและศิลปินอาชีพ
อ็อฟ ตอนนี้เป็นครูสอนกีตาร์ และเรียนกีตาร์ไฟฟ้า
แม้จะไม่เห็นด้วยกับการผลิตซ้ำความรุนแรง แต่ ทิชา มองว่า ภาพยนตร์แบบ “4 Kings” สามารถเป็นวัคซีนเพื่อป้องกันความรุนแรงได้
“มันเกิดสถานการณ์ที่สปริงบอร์ดได้ เพราะเขาเห็นห่วงโซ่แห่งความเสียหายชัดเจน เขาเห็นความบาดเจ็บ แผลใจชัดเจน” เธอกล่าว “คนที่อยู่ในหนังได้ทำให้ใครทุกข์โศกเสียใจ ตายบาดเจ็บไปกี่คน แล้วชีวิตเหล่านั้นกลับคืนมาได้ไหม”
“เคยคิดบ้างไหมว่า อนาคตมึงจะเป็นยังไงวะ” นี่คือบทพูดหนึ่งใน Teaser ของภาพยนตร์ “4 Kings” ภาคสอง บีบีซีไทย ถามคำถามเดียวกันนี้กับ ไทย ที่ปัจจุบันมีครอบครัวและเป็นพนักงานบริษัท เขาตอบสั้น ๆ ว่า “อยากมีบ้านให้พ่อกับแม่อยู่อย่างสบาย มีเงินส่งลูกไปโรงเรียน”
ทุกวันนี้ เขามอง “ความเท่” เป็นเรื่องของ การมีรถยนต์ บ้านสวย ๆ และเงินเก็บไปเที่ยวต่างจังหวัด-ต่างประเทศ
ส่วนรอยประทับเหล็กรูปฟันเฟืองที่ไหล่ซ้าย จากที่เคยภูมิใจ ตอนนี้เขาพยายามหาวิธีไปสักทับ เพราะ “นอกจากมันจะไม่เท่แล้ว มันไม่ใช่อะไรที่ควรมี” และทุกครั้งที่หันไปมองมัน ไทย จะหวนคิดไปถึงสิ่งที่ตนเองกระทำในอดีตเสมอ
“ครั้งแรกที่ผมไปสมัครเรียน นอกจากตามเพื่อนอยากเท่แล้ว ผมก็อยากออกไปทำงานดี ๆ ในบริษัท... ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมอยากไปเรียนให้จบ แล้วไปทำงานอย่างที่คิดไว้ดีกว่า”
ที่มา (https://www.bbc.com/thai/articles/cz92009kwezo)