ข้อมูลอย่างนี้ จะมีใครสำเหนียกบ้างไหม กรุงเทพธุรกิจ @ktnewsonline เปิดเบิ่งว่าตลอด ๓๐ ปีที่ผ่านมา ไทยขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องกับจีนเรื่อยมา จนมาถึงพี้คเมื่อปีที่แล้ว ๒๕๖๖ วงเงินขาดดุลอยู่ที่ ๓๖,๖๓๕ ล้านดอลลาร์
นั่นถ้าเป็นเงินไทยก็ ๑.๓ ล้านล้านบาทนั่นทีเดียว กรุงเทพธุรกิจชี้ว่าเหตุหนึ่ง “ช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา สิ้นค้าประเภทใช้ในบ้านนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น ๕๘%” และถ้าย้อนไปสิบปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๖ นั้น จำนวนขาดดุลอยู่ที่ ๑๐,๔๙๔ ล้านดอลลาร์
คือเพียงหนึ่งในสามของปีที่แล้ว ยิ่งถ้าย้อนไปอีก ๑๐ ปีก่อนหน้านั้น คือ ๒๕๔๖ จำนวนขาดดุลกับจีนยังเพียง ๓๑๓ ล้านดอลลาร์ ผู้ประกาศให้รายละเอียดต่อไป ว่าถึงแม้สิบปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกของไทยไปจีนเพิ่มปีละ ๔%
แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการนำเข้าสินค้าจากจีนในช่วงเดียวกันเพิ่มเฉลี่ยปีละ ๙% เท่ากับนำเข้ามากกว่าส่งออก สองเท่าตัว ทำให้อัตราขาดดุลช่วงทศวรรษนั้นเพิ่มถึง ๑๖% หรือ ๑ แสนล้านบาทต่อปี ถามว่า “มันเกิดอะไรขึ้น”
ประการหนึ่ง สินค้านำเข้าจากจีนที่ขยายตัวอย่างสำคัญ เป็นพวกเครื่องไฟฟ้าและเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ซึ่งมีสัดส่วนถึง ๔๐% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ดูรายชื่อบริษัทใหญ่ๆ ที่นำเข้าสินค้าจากจีน ได้แก่
“แอ็ปเปิ้ลเซ้าท์เอเซีย หัวเหว่ยเทคโนโลยี่ โซนี่เทคโนโลยี่ ไทยแซมซังอีเล็คโทรนิค มิสซูบิสชิอีเล็คตริค สยามคูโบต้าคอร์ป โตชิบ้าแคร์เรียร์ และเดลต้าอีเล็คโทรนิค” จะเห็นบริษัทเหล่านี้ไม่ใช่มีแต่ไทย นอกจากจีนแล้วมีทั้งญี่ปุน และอเมริกัน
อันเป็นบริษัทซึ่ง “มีฐานผลิตอยู่ในจีน แล้วนำเข้าสินค้ามาขายในประเทศไทย หรือนำชิ้นส่วนมาประกอบในไทย เพื่อขายทั้งภายในประเทศและส่งออกต่อไปยังประเทศอื่น” ไม่แต่เพียงสินค้าประเภทเครื่องใช้ เครื่องตกแต่งในบ้าน
“มีสิ้นค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่ไทยนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น ได้แก่ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้ ผ้าผืน” รวมไปถึงรถยนต์และรถบรรทุก รายงานข่าวยังชี้ด้วยว่า คนไทยหันไปกิน-ใช้ของจีนในชีวิตประจำวันมากขึ้นเพราะถูกกว่าของนอกอื่นๆ
เคล็ดลับอย่างหนึ่งของจีนก็คือ รัฐบาลมี subsidies หรือ ‘อุ้ม’ ผู้ประกอบการส่งออกในเรื่องค่าขนส่ง อย่างหนึ่งคือจัดบริการคลังพักสินค้ารอกระบวนการส่งออกที่ท่าเรือ ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายและถ่ายสินค้าได้เยอะ
(https://twitter.com/ktnewsonline/status/1752515039490433532)