วันพุธ, มกราคม 31, 2567

"อยากได้แร่ เจาะบ้านแม่มึงสิ" ชาวด่านขุนทด จี้ รบ.ปิดเหมืองโปแตชด่วน น้ำเค็มทะลัก กระทบการทำมาหากิน เพาะปลูกการเกษตรไร้ผล "อย่าเอาสิ่งแวดล้อมไปแลกเกลือ"



'น้ำเค็มทะลัก ทำมาหากินเพาะปลูกการเกษตรไร้ผล' ชาวด่านขุนทด จี้ รบ.ปิดเหมืองโปแตชด่วน

2024-01-26
ประชาไท

ภาพปก/ภาพประกอบ : ชนากานต์ เหล่าสารคาม / Thai News Pix

'กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด' ชุมนุมร้อง รบ.ปิดเหมืองโปแตช บ.ไทยคาลิ หลัง ปชช.ได้รับผลกระทบหนัก น้ำเค็มทะลัก ปลูกพืชใช้ประปาทำมาหากินเหมือนเดิมไม่ได้ มีข้อกังวลเพิ่ม 'บริษัทเปลี่ยนผังทำเหมือง ขุดอุโมงค์ แต่ไม่มี EIA-ใบอนุญาต?' เตือนหากเมินเฉยเตรียมลงถนนมิตรภาพ มุ่งสู่เมืองกรุง

26 ม.ค. 2567 รายงานข่าวจากสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม และประชาไท ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (26 ม.ค.) ตั้งแต่เวลา 9.00-14.00 น. ประชาชนจาก ต.หนองไทร และ ต.หนองบัวตะเกียด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา (โคราช) ในนาม "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด" ทำกิจกรรม "อยากกินข้าว ไม่ได้อยากกินเกลือ" โดยชุมนุมหน้าเหมืองโปแตช ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ไทยคาลิ จำกัด โดยชาวบ้านมีการปราศรัยถึงปัญหาการทำเหมืองแร่โปแตช ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีคำสั่งยุติการทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่โดยทันที มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หากยังเมินเฉย เตรียมลงถนนมิตรภาพ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ

(https://www.facebook.com/watch/?v=758181846201446)

บรรยากาศการทำกิจกรรมวันนี้ ประชาชนในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ได้รวมตัวกันที่วัดหนองไทร ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด ก่อนเดินทางไปทำพิธีกรรมที่ดอนปู่ตา ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนในท้องที่เคารพนับถือ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเอาฤกษ์เอาชัย

ต่อมา ประชาชนชุมนุมหน้าเหมืองแร่โปแตช บริษัทไทยคาลิ ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร (กม.) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีคำสั่งปิดเหมืองแร่โปแตชโดยทันที

นอกจากนี้ ประชาชนร่วมใส่เสื้อสีดำ และมีการทำโลงศพจำลอง เขียนด้านหน้าข้อความว่า 'นาย ไทยคาลิ ชาตะ 2558 มรณะ 2565' และชาวบ้านได้ถือรูปเจ้าของบริษัทเดินนำหน้าโลง พร้อมเปิดเพลงธรณีกรรแสงประกอบการเดินขบวน รวมถึงมีการถือภาพถ่ายผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ พร้อมถือป้ายระบุ "กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่เอาเหมืองแร่" "อย่าเอาสิ่งแวดล้อมไปแลกเกลือ"


ชาวบ้านตั้งแถวเตรียมเดินขบวนไปชุมนุม

ที่มาปัญหาเหมืองแร่โปแตชด่านขุนทด

ผู้สื่อข่าวระบุถึงที่ไปที่มาของปัญหาเหมืองแร่โปแตชที่ด่านขุนทด จ.โคราช ได้รับการประทานบัตรทำเหมืองหลังยุค คสช. ทำรัฐประหาร เมื่อปี 2558 โดยเหมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด โคราช โดยอาณาเขตของเหมืองกินพื้นที่ 2 ตำบล คือ หนองไทร และหนองวัวตะเกียด ดำเนินการโดย บริษัท ไทยคาลิ จำกัด

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลปิดเหมืองดังกล่าว เนื่องจากการทำเหมืองโปแตชส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำกินของประชาชน เพราะว่ามีน้ำเกลือที่ไหลออกมาจากบริเวณเหมือง และเมื่อน้ำไหลเข้าลงสู่พื้นดิน และแหล่งน้ำสาธารณะ ส่งผลให้น้ำมีความเค็มที่สูงกว่าปกติ ชาวบ้านไม่สามารถทำมาหากินได้อย่างที่เคยเป็นมา
 


โดยปกติ ถ้าเป็นดินเค็มตามธรรมชาติ ตามพื้นที่ ดิน หญ้า หรือต้นไม้ จะสามารถเติบโตได้ตามปกติ แต่เมื่อเป็นดินเค็มที่มากับอุตสาหกรรม จะทำให้พืชตาย และปลูกพืชไม่ขึ้น เพราะว่าน้ำเค็มกว่าปกติ และแหล่งน้ำ ปลาน้ำจืดไม่สามารถอยู่ได้ บ้านเรือนของชาวบ้านผุกร่อนลงไป เนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านมีการยื่นหนังสือร้องเรียนหน่วยงานรัฐหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ หรือดูแล แม้ว่าจะมีครั้งหนึ่งที่ทางจังหวัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อเก็บตัวอย่างดินและน้ำ แต่ไม่ได้มีการนำไปตรวจสอบ หรือว่าขยายหาข้อมูลใดๆ

ผู้สื่อข่าวระบุต่อว่า ขณะที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาใดๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้องเรียนไปแล้วก่อนหน้านี้ บริษัทจะมีการย้ายแผนเดิม ซึ่งทำแผนใหม่ในการที่ขุดเจาะสำรวจแหล่งแร่แห่งใหม่ โดยจะมีการขุดเพิ่ม 3 อุโมงค์ บริเวณดอนหนองโพ จ.โคราช ก่อนหน้านี้ประชาชนได้ตั้งคำถามว่าบริษัทมีการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA หรือไม่ แต่ชาวบ้านพบว่าบริษัทมีการใช้ EIA ฉบับเก่า และไม่ได้มีการทำ EIA ฉบับใหม่กรณีที่มีการสำรวจแหล่งแร่ใหม่

ผู้สื่อข่าวระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ประชาชนมีความกังวลด้านผลกระทบจากการระเบิดหลุมเพื่อสำรวจแร่อีกด้วย เพราะขั้นตอนการขุดเจาะสำรวจแร่ใหม่ จะมีการใช้ระเบิดหนัก 500 กก. (กิโลกรัม) ต่อ 1 หลุม และบริเวณที่ระเบิดอยู่ห่างจากชุมนุม ไม่ถึง 1 กม. (กิโลเมตร)

'เปลี่ยนผังสำรวจแร่ ระเบิดอุโมงค์' โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐ?

นอกจากผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นพืชผลทางการเกษตร และแหล่งน้ำสาธารณะ ชาวบ้านยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายค่าน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเสียค่าน้ำมิเตอร์ หน่วยละ 10 บาท แต่ตอนนี้ขึ้นเป็น 25 บาท หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องเผชิญมาหลายปี



เมื่อ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา 'กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด' ได้เดินทางไปที่ที่ว่าการอำเภอ เพื่อขอให้นายอำเภอช่วยตรวจสอบในการขยายพื้นที่ขุดเจาะ พื้นที่ใหม่ อย่างที่ได้กล่าวไป เพราะว่าบริษัทไม่ได้มีการทำ EIA ขึ้นมา แต่เป็นการใช้ EIA เดิม ในการขุดเจาะสำรวจแห่งใหม่

"ถ้าสรุปตามสิ่งที่สำนักงานอุตสหากรรมฯ ระบุมาแสดงว่าบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงการ อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐที่แจ้งมายังกลุ่มว่า ทางบริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงการแต่อย่างใด แต่ในพื้นที่กลับมีการดำเนินโครงการตามแผนผังการทำเหมืองใหม่เรียบร้อยแล้ว" ผู้สื่อข่าวกล่าว

ขณะที่ใบอนุญาตทำหรือไม่ ได้รับอนุญาตเปลี่ยนแผนผังโครงการหรือไม่ หรือ EIA ทำหรือไม่ทำ แต่ในพื้นที่มีการดำเนินการตามแผนผังใหม่เรียบร้อยแล้ว ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานใดเลย แต่โรงงานกลับมีการดำเนินการขยายพื้นที่ขุดเจาะ และนอกจากนี้ อาจจะมีการใช้ระเบิดจำนวนหลายร้อย กก. ห่างจากหมู่บ้านไม่เกิน 1 กม. ทำให้ประชาชนกังวลทั้งผลกระทบเรื่องของเสียง และความปลอดภัยอื่นๆ อย่างที่กล่าวข้างต้น

ปราศรัยความเดือดร้อนของชาวบ้าน

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม รายงานว่า เมื่อเวลาราว 11.00 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดเดินทางมาถึงบริเวณหน้าที่ทำการเหมือง และได้ปักหลักตั้งเต็นท์ และปราศรัย รวมถึงนำแผ่นผลึกเกลือที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองมาวาง โดยกล่าวว่า การมาชุมนุมในครั้งนี้มีข้อเรียกร้องให้เหมืองหยุดกิจการโดยทันที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสืบสวนเอาผิดกับหน่วยงานราชการ และบริษัทที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน



"เหมืองมาเมื่อปี 58 ตอนแรกๆ มันก็ยังไม่ได้กระทบอะไรมาก จนมาปี 59 เกิดการไหลทะลักของน้ำเกลือออกมาจากเหมือง ตั้งแต่ตอนนั้นที่ดินของเราก็เปลี่ยนไป มีผลึกเกลือเกิดขึ้นเต็มเลย ต้นไม้พืชผลทางการเกษตรก็ค่อยๆ ล้มตายไป ปลูกข้าวก็ได้ ปลูกอะไรก็ไม่ได้ ปลาก็ยังอยู่ในน้ำไม่ได้ ตายหมด พังหมดทุกอย่างเลย" ปริญญา สร้อยสูงเนิน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าว

หลังจากนั้น ตัวแทนชาวบ้านได้พลัดขึ้นปราศรัย แลกเปลี่ยนปัญหาจากการทำเหมืองโปแตช ของบริษัทไทยคาลิ
 
เผาพริกเผาเกลือสาปแช่งผู้บริหารบริษัทเหมืองแร่-อ่านแถลงการณ์ ลงถนนมิตรภาพ หากไร้ความคืบหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.41 น. ประชาชนทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "เผาพริกเผาเกลือ" เพื่อสาปแช่งเจ้าของบริษัทไทยคาลิฯ หุ้นส่วนบริษัทไทยคาลิ และมวลชนสัมพันธ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ขอให้จมธรณีเกลือ ขอให้มันจมลงไปกับกองเกลือที่ทำให้เรามีแต่ความทุกข์ความยาก





หนึ่งในชาวบ้านจาก ต.หนองวัวตะเกียด ที่ออกมาร่วมชุมนุมเรียกร้องให้มีการปิดเหมืองโปแตช ให้สัมภาาณ์ระบุว่า พื้นที่ประทานบัตร 9,005 ไร่ เป็นที่ดินของประชาชนตำบลหนองวัวตะเกียด 80% ได้รับผลกระทบเป็นคราบเกลือ และแหล่งน้ำเสียหาย เราไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่อพวกเรา เลยออกมาเรียกร้องปิดเหมือง

ชาวบ้านรายเดิมมองว่า ตอนที่มาทำประชามติ เขาจะเอาเจ้าหน้าที่มาคุย และประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรพอได้ยินว่า ‘โปแตช’ จะเอาไปทำปุ๋ย แล้วราคาปุ๋ยจะถูกลง ชาวบ้านเขาก็ดีใจ แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น ถ้าเราได้ปุ๋ยถูก แต่พื้นที่เราเป็นแบบ ต.หนองไทร มันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะได้ปุ๋ยราคาถูก เพราะมันใช้ไม่ได้จริง

ชาวบ้านรายเดิม กล่าวต่อว่า พื้นที่หนองไทร ได้รับผลกระทบจากเหมืองคือน้ำมีความเค็มเกินมาตรฐาน ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้น้ำประปาได้อีกต่อไปแล้ว และถ้าน้ำจากบึงหนองไทรตรงนี้ไหลสู่ห้วยธรรมชาติชื่อว่า 'ห้วยลำมะหลอด' ซึ่งห้วยนี้จะไหลลงไปเชื่อมกับอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง ถ้าอ่างเก็บน้ำมีการปะปนสารเคมีต่างๆ จริง เขาเชื่อว่ามันจะเกิดความเสียหายต่อแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำทำมาหากินทางการเกษตรด้วย

"อย่าได้มองว่า คนที่ออกมาต่อต้านเป็นการขัดขวางความเจริญของประเทศ ให้มองดูอีกมุมหนึ่ง พวกเราเดือดร้อนจริงๆ เราไม่อยากให้เป็นแบบนี้ ความเจริญพวกผมก็อยากได้ แต่ถ้าแลกมาด้วยความเสียหายอย่างนี้ อยู่อย่างเดิมดีกว่า" ชาวบ้านระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมสุดท้ายก่อนยุติการชุมนุมมีการเต้นรำวงฉลอง ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่มากับความสนุกสนาน แม้ว่าชาวบ้านจะรู้สึกเจ็บปวดจากผลกระทบที่เกิดขึ้น การต่อสู้ด้วยความสนุกสนานส่วนใหญ่เป็นการเย้ยหยันผู้มีอำนาจ ด้วยวิธีการสันติวิธี

หลังจากนั้น ประชาชนอ่านแถลงการณ์ "ปิดเหมืองแร่โปแตช" โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 3 ข้อ คือ 1. รัฐบาลต้องปิดเหมืองแร่โปแตชด่านขุนทด โดยทันที 2. เยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบสภาพแวดล้อมที่เสียหาย และ 3. ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายอย่างรุนแรงต่อบริษัทที่เกี่ยวข้อง



ประชาชนกล่าวว่า หากรัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการใดๆ พวกเขาจะมุ่งสู่ถนนมิตรภาพ เพื่อไปหานายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เพราะการดำเนินนโยบายที่ดี รัฐบาลต้องลงมาดูประชาชน เมื่อประชาชนได้รับผลกระทบ ก็ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ไม่สนใจ สนแต่เม็ดเงินทางเศรษฐกิจ

"กลุ่มคนรักบ้านเกิด ไม่เอาเหมืองแร่"

"เหมืองแร่ออกไปๆ"

เวลา 14.19 น. ผู้สื่อข่าวรายงานประชาชนได้ประกาศยุติการชุมนุม และขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่มาดูแลการชุมนุม ชวนประชาชนจับตารัฐบาลจะดำเนินการอะไรหรือไม่

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวระบุด้วยว่า มีการคุกคามประชาชนที่จะออกมาร่วมคัดค้านเหมืองโปแตช โดยผู้นำชุมชนคือกำนันผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนจึงได้ไปยื่นหนังสือให้นายอำเภอออกมาตรวจสอบกำนันฯ ที่มีพฤิตกรรมคุกคามแล้ว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวเน้นย้ำด้วยว่า การชุมนุมครั้งนี้มีการจดแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เรียบร้อย และไม่มีการใช้ความรุนแรงใดๆ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการระบุในหนังสือจดแจ้งการชุมนุมว่า ชาวบ้านขอสนับสนุนรถสุขา เพราะในที่ทำกิจกรรมไม่มีห้องน้ำ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าไม่สามารถนำรถสุชามาให้ชาวบ้านได้ ซึ่งน่าตั้งข้อสังเกตุว่าทั้งที่มีการแจ้งการขอชุมนุมไปแล้ว ทำไมถึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ



ที่มา (https://prachatai.com/journal/2024/01/107790)