คดีหุ้นไอทีวี: สรุปข้อโต้แย้ง พิธา กับ 3 ประเด็นหลักจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
24 มกราคม 2024
บีบีซีไทย
บีบีซีไทยสรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัย “คดีถือหุ้นไอทีวี” ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยชี้ให้เห็นถึงข้อต่อสู้/ข้อโต้แย้งของนายพิธา ผู้ถูกร้อง กับการตั้งประเด็นของศาล จนถึงความเห็นสุดท้ายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 ว่านายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีในวันสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่พ้นสมาชิกภาพ สส. เนื่องจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
เวลา 13.55 น. วันนี้ (24 ม.ค.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัย เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ สส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ เมื่อ 4 เม.ย. 2566
ประธานศาลรัฐธรรมนูญมอบหมายให้นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายนภดล เทพพิทักษ์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายปัญญา อุดชาชน เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย
คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นวินิจฉัยไว้ว่า สมาชิกภาพ สส. ของนายพิธาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (3) หรือไม่ และตั้งแต่เมื่อใด
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) กำหนดห้ามมิให้ผู้สมัคร สส. "เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ"
มาตรา 101 (6) กำหนดให้สมาชิกภาพ สส. สิ้นสุดลง หากมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
ในการพิจารณาว่ากิจการใดเป็นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้อ่านคำวินิจฉัยระบุว่า ต้องพิจารณาว่ากิจการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ และยังคงประกอบกิจการ และมีรายได้ประกอบสื่อในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส. หรือไม่
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลา 40 นาทีในการอ่านคำวินิจฉัย "คดีหุ้นไอทีวี"
จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้ไล่เลียงข้อเท็จจริงเบื้องต้น ซึ่งบีบีซีไทยขอสรุปไทม์ไลน์ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ดังนี้
- 20 มี.ค. มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภาผู้แทนราษฎร
- ต่อมา กกต. กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป เป็นวันที่ 14 พ.ค. 2566
- 4-7 เม.ย. 2566 กกต. เปิดรับสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ โดยพรรค ก.ก. ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ในวันที่ 4 เม.ย. 2566 โดยมีชื่อของผู้ถูกร้องอยู่ในลำดับที่ 1
- 26 เม.ย. 2566 ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวี ตามสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 26 เม.ย. 2566 ลำดับที่ 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น และผู้ถูกร้องถือหุ้นดังกล่าวเรื่อยมา
- ต่อมา กกต. ประกาศรับรอง สส. ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็น สส.พรรคก้าวไกล
- 25 พ.ค. 2566 ผู้ถูกร้องโอนหุ้นไอทีวีทางทะเบียนให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ น้องชาย ทั้งนี้ตามแบบหนังสือนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ ปี 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์
สำหรับสาระสำคัญของคำวินิจฉัย “คดีถือหุ้นไอทีวี” มี 3 ประเด็นหลัก โดยบีบีซีไทยขอสรุป ดังนี้
“ถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว” ก็เข้าเกณฑ์ถือหุ้นสื่อตามมาตรา 98 (3) แล้ว
1. สมาชิกภาพ สส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงด้วยเหตุเป็นผู้ถือหุ้นสื่อหรือไม่
ข้อโต้แย้งของพิธา: ถือหุ้นไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.00348% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทไอทีวีทั้งหมด ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ผู้ถูกร้องย่อมไม่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)
ความเห็นศาลรัฐธรรมนูญ: มาตรา 98 เป็นบทบัญญัติที่มีพัฒนาการมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 256 วรรคหนึ่ง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-14/2553 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 7/2562 วางหลักไว้ว่ารัฐธรรมนูญห้ามการเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ต้องห้ามโดยไม่ได้ระบุว่าจะถือหุ้นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีอำนาจบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่ ฉะนั้นการถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ก็ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการก็ตาม
การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามการถือหุ้นสื่อ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้ง สส. สว. มีช่องทางที่จะใช้หรือถูกใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบในทางใดทางหนึ่ง ดังนั้นรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) จึงห้าม สส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน โดยไม่ระบุว่าจะต้องถือหุ้นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีอำนาจในการบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่
“ฉะนั้นการถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) แล้ว”
ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลเดินทางไปติดตามฟังคำวินิจฉัยด้านหน้าศาลรัฐธรรมนูญ
ชี้ พิธา ผู้ถือหุ้นไอทีวีตั้งแต่ 5 ก.ย. 2550 และไม่ได้โอนให้น้องชายจริง
2. วันสมัครรับเลือกตั้ง สส. ผู้ถูกร้องเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวีหรือไม่
ข้อโต้แย้งของพิธา: ไม่ได้ถือหุ้นบริษัทไอทีวีไว้เพื่อตน โดยวันที่ 5 ก.ย. 2550 ผู้ถูกร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้รับโอนหลักทรัพย์จากบัญชีหลักทรัพย์ที่บิดาเคยเปิดไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ฟิลลิป รวมถึงหุ้นของบริษัทไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้น ผู้ถูกร้องได้รับมอบหมายจากทายาทให้ถือครองหลักทรัพย์ทุกรายการอันเป็นทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทอื่น และได้รับทราบจากบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิปว่า ไม่สามารถฐานะผู้จัดการมรดกต่อท้ายชื่อ-สกุลว่าเป็นผู้จัดการมรดกได้
ต่อมา 24 มิ.ย. 2562 ผู้ถูกร้องในฐานะผู้จัดการมรดก ทำหนังสือแบ่งทรัพย์มรดก โดยโอนหุ้นบริษัทไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้น ให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ดังนั้นกรณีที่ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็นผู้ครอบครองหุ้นดังกล่าวจนถึง 25 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน เป็นการครอบครองแทนนายภาษิณ ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงในหุ้นดังกล่าวตั้งแต่ 24 มิ.ย. 2562 ส่วนการโอนเมื่อ 25 พ.ค. 2566 เนื่องจากมีการนำประเด็นทางการเมืองดังกล่าวไปวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง
ความเห็นศาลรัฐธรรมนูญ: อ้างถึงสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 26 เม.ย 2566 และรายงานการโอนและรับโอนหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป ณ 5 ก.ย. 2550 ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิปโอนหลักทรัพย์ตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่ตั้งผู้ถูกร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ บิดา การโอนหลักทรัพย์เมื่อ 5 ก.ย. 2550 เป็นการโอนในฐานะผู้จัดการมรดก
“เมื่อผู้ถูกร้องมีฐานะเป็นทายาทในอีกฐานะหนึ่ง ซึ่งมีสิทธิในมรดกอันได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ซึ่งรวมถึงหุ้นของบริษัทไอทีวี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และ 1600 เป็นผลให้ผู้ถูกร้องเป็นทั้งผู้จัดการมรดก และฐานะทายาทที่มีสิทธิในหุ้นดังกล่าว ผู้ถูกร้องจึงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวีนับตั้งแต่ 5 ก.ย. 2550”
นอกจากนี้หนังสือสัญญาโอนหุ้นระหว่างนายพิธากับนายภาษิณ ผู้ถูกร้องเบิกความว่าจะดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงทำสัญญาด้วยวาจาในวันที่ 9 ก.ย. 2561 และทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร วันที่ 24 มิ.ย. 2562 ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่ผู้ถูกร้องเบิกความว่าบริษัทไอทีวียุติการประกอบกิจการสื่อ ไม่ใช่กิจการสื่อมวลชนอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) เนื่องจากตามความเข้าใจผู้ถูกร้องแล้ว ย่อมต้องไม่มีการโอนหุ้นดังกล่าวก่อนที่จะมีการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคราวเข้ารับตำแหน่งปี 2562 ผู้ถูกร้องไม่ได้ระบุถึงการโอนหุ้นดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารสำคัญ
พิธาในห้องพิจารณาคดี
นอกจากนี้การที่ผู้ถูกร้องเบิกความว่า หุ้นไอทีวีเป็นหุ้นที่ไม่สามารถโอนกันได้ผ่านตลาด เนื่องจากเป็นหุ้นที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายแล้ว ผู้ถูกร้องจึงไม่ได้โอนให้แก่ทายาทอื่น หรือจัดการอย่างหนึ่งอย่างใด ต่อมาปี 2566 ผู้ถูกร้องได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ว่าสามารถโอนหุ้นดังกล่าวทางทะเบียนได้ผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์
“แสดงให้เห็นว่าการที่ผู้ถูกร้องไม่ดำเนินการโอนหุ้นให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2562 เป็นการดำเนินการที่คลาดเคลื่อนและไม่ตรวจสอบหลักเกณฑ์การโอนหลักทรัพย์ให้ถูกต้องครบถ้วน และเป็นความเข้าใจของผู้ถูกร้องเอง ทั้งที่การโอนหุ้นเมื่อ 25 พ.ค. 2566 สามารถกระทำให้แล้วเสร็จได้ในวันเดียว”
“ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธหลายประการ จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกร้องทำสัญญาโอนหุ้นดังกล่าวจริง ข้อแย้งของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น จึงฟังได้ว่าผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวีอยู่ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีผู้สมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อ ต่อผู้ร้อง”
ไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อแล้ว เหตุไม่มีคลื่นความถี่-ไร้รายได้จากการทำสื่อ
3. บริษัทไอทีวีประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่
ข้อโต้แย้งของพิธา: ไอทีวีถูกเลิกสัญญาและดำเนินการสถานีโทรทัศน์ระบบ UHF ตั้งแต่ 7 มี.ค. 2550 คดีพิพาทเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างบริษัทไอทีวีกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) อยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และปัจจุบันบริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบการเกี่ยวกับกิจการสื่อมวลชน
ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัทไอทีวี ในฐานะประธานที่ประชุม ยืนยันว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนกว่าผลคดีจะสิ้นสุด ประกอบกับบริษัทไอทีวีไม่มีรายได้จากการประกอบ กิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ตามแบบ ส.บช.3 (แบบนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) รับวันที่ 10 พ.ค. 2566 นำส่งงบการเงินสิ้นสุด ณ 31 ธ.ค. 2565 ระบุว่า ไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากรอผลคดี มีรายได้จากผลตอบแทนเงินลงทุนและดอกเบี้ยรับ, งบกระแสเงินสดระบุว่า บริษัทมีรายได้จากการรขายตราสารทุนและตราสารหนี้ของกิจการอื่นและมีรายได้จากดอกเบี้ยรับ, งบกำไรเบ็ดเสร็จระบุรายได้มาจากผลตอบแทนเงินลงทุนและดอกเบี้ยรับ
นอกจากนี้สำนักงาน กสทช. แจ้งว่า บริษัทไอทีวีไม่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตหรือได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ความเห็นศาลรัฐธรรมนูญ: การพิจารณาว่านิติบุคคลใดเป็นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาแต่เพียงวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหรือจดแจ้งไว้เป็นทางการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะพิจารณาควบคู่ไปในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้นด้วยว่า มีการประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นหรือไม่อย่างไร
จากนั้นศาลได้ระบุถึงข้อเท็จจริง ซึ่งบีบีซีไทยขอสรุปไทม์ไลน์ ดังนี้
- 3 ก.ค. 2538 บริษัทไอทีวี เดิมชื่อบริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด ทำสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินสถานีวิทยุโทรทัศน์ กำหนดอายุ 30 ปี กับ สปน. จดทะเบียนแปรสภาพเป็น บมจ. และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ระบุวัตถุประสงค์ไว้ 45 ข้อ โดยข้อ 18 40 41 และ 43 เป็นไปตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
- 7 มี.ค 2550 สปน. ทำหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการไอทีวี แจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินสถานีโทรทัศน์ระบบ UHF ย่อมเป็นผลให้สัญญาเข้าร่วมงานสิ้นสุด
- 15 มี.ค 2550 บริษัทไอทีวียื่นแบบแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่าบริษัทหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ 8 มี.ค. 2550 เนื่องจากไม่มีพนักงาน โดย สปส. ตรวจสอบแล้วอนุมัติการหยุดกิจการชั่วคราวดังกล่าว รวมถึงปัจจบันยังปรากฏข้อมูลในฐานะข้อมูลของ สปส. ว่าหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ 8 มี.ค. 2550 ถึงปัจจุบัน
ประชาชนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ตั้งคำถามว่า "ไอทีวีออกช่องไหน" หลัง กกต. ในฐานะผู้ร้อง ชี้ว่าไอทีวีเป็นสื่อมวลชน
เมื่อพิจารณาแบบ ส.บช.3 ใน 3 รอบบัญชี พบว่า
- รอบปีบัญชีสิ้นสุด 2560-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า กิจการของโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก
- รอบบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2563-2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ และระบุสินค้าบริการว่า ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากติดคดีความ
- รอบบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ และระบุสินค้าบริการว่า ไม่ได้ดำเนินการกิจการเนื่องจากรอผลคดี มีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนจากดอกเบี้ยรับ
นอกจากนี้หมายเหตุประกอบงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุด 2560-2565 ระบุว่า บริษัทไอทีวีเคยดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการดำเนินการโทรทัศน์ สื่อโฆษณา และผลิตรายการ แต่ สปน. เพิกถอนสัญญาดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทต้องหยุดดำเนินการ และระบุว่า บริษัทมีรายได้ผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ ส่วนบริษัทย่อยของไอทีวีก็ต้องหยุดดำเนินกิจการไปด้วย
ขณะที่ ภงด.50 ตั้งแต่ปี 2550-2565 ระบุกิจการเผยแพร่โทรทัศน์และภาพยนตร์ แต่ระบุรายได้โดยตรงจากการประกอบกิจการเป็น 0 บาท และระบุรายได้อื่นว่ามาจากดอกเบี้ยรับ
ส่วนกรณีที่แบบ สบช.3 ปี 2563-2565 มีข้อความไม่ตรงกัน นายคิมห์เบิกความว่าเอกสารทั้ง 2 ฉบับเป็นฉบับจริง แต่มีการแก้ไขฉบับหลังเพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ให้เกิดข้อถกเถียงในเอกสารฉบับแรก โดยเอกสารฉบับแรกระบุประเภทสินค้าบริการว่า สื่อโฆษณา เป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้กรณีไม่ดำเนินกิจการให้ระบุวัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งของบริษัท ซึ่งข้อเท็จจริงสอดคล้องกับคู่มือของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรณีไม่ได้ดำเนินกิจการ ให้ระบุวัตถุประสงค์ให้ตรงกับที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ส่วนกรณีรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อ 26 เม.ย. 2566 หน้าสุดท้าย ซึ่งมีผู้ถือหุ้นถามว่า ในขณะนี้บริษัทยังประกอบกิจการเป็นสื่อมวลชนหรือไม่ นายคิมห์เบิกความว่า การที่คำตอบระบุว่ายังประกอบกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทนั้น ไม่ใช่การยืนยันว่าบริษัทดำเนินการเป็นสื่อมวลชน นอกจากนี้หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้บริษัทไอทีวีชนะคดี จะพิจาณากันอีกครั้งว่าบริษัทจะดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่
เห็นได้ว่า การที่แบบ ส.ปช.3 ปี 2563-2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ ต้องพิจารณากับข้อมูลและเอกสารอื่น ๆ ของบริษัทที่นำส่ง โดยเฉพาะงบการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงินที่จัดทำขึ้นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเพื่อให้ได้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกกอบกิจการของบริษัทอย่างถูกต้องแท้จริง
ประชาชนถึงกับกลั้นน้ำตาแห่งความยินดีเอาไว้ไม่อยู่ หลังศาลตัดสินให้พิธาไม่พ้นสมาชิกภาพ สส.
จากการไต่สวนฟังได้ว่า บริษัทไอทีวีจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์ สื่อโทรทัศน์ การผลิตสื่อ และการผลิตสื่อโฆษณา ซึ่งเป็นกิจการสื่อกลางในการส่งข่าวสารและเนื้อหาสาระไปสู่มวลชนที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป แต่เมื่อแบบ ส.บช.3 ประกอบงบการเงิน ภงด. 5 ตั้งแต่ปี 2560-2565 ปรากฏข้อมูลที่สอดคล้องกันว่าบริษัทไอทีวีหยุดดำเนินกิจการดังกล่าวนับตั้งแต่ สปน. บอกเลิกสัญญาเมื่อปี 2550 ซึ่งผลของการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ทำให้สิทธิในคลื่นความถี่ของไอทีวีกลับมาเป็นของ สปน. และบริษัทไอทีวีไม่มีคลื่นความถี่ที่จะดำเนินการกิจการโทรทัศน์ได้อีกต่อไป เกิดเป็นคดีพิพาทในการเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างกัน โดยบริษัทไอทีวีมิได้ฟ้องร้องเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิในคลื่นความถี่ของสถานีโทรทัศน์ให้แก่ตนเองแต่อย่างใด ขณะนี้คดีพิพาทดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
กรณีเห็นได้ว่า ข้อพิพาทคดีดังกล่าว หากในท้ายที่สุดแล้วบริษัทไอทีวีชนะคดี ก็มิได้มีผลให้บริษัทไอทีวีได้รับมอบคืนคลื่นความถี่และดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ระบบ UHF ได้อีก
ข้อเท็จจริงปรากฏดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า บริษัทไอทีวีไม่มีสิทธิประกอบการกิจการสื่อโทรทัศน์ตามกฎหมายตั้งแต่ 7 มี.ค. 2550 และการที่บริษัทไอทีวียังคงสถานะนิติบุคคลเดิมเอาไว้ก็เพื่อการดำเนินคดีที่ค้างอยู่ในศาลเท่านั้น นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าบริษัทไอทีวีมีรายได้จากกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน แต่มีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับ
การที่นายคิมห์เบิกความว่า หากศาลปกครองสูงสุดให้ไอทีวีชนะคดี จะพิจารณาอีกครั้งระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการบริษัทว่าบริษัทจะดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ ซึ่งอาจประกอบกิจการสื่อมวลชน หรือประกอบกิจการอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท 45 ข้อก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่ได้พิจารณาในขณะนั้น
“แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ สปน. บอกเลิกสัญญาจนถึงปัจจุบัน บริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่อมวลชน อีกทั้งไม่ปรากฏข้อมูลหลักฐานว่าบริษัทไอทีวีได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551, พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วิดีทัศน์ และสื่อโฆษณา ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551
“ดังนั้น ณ วันที่ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้ง สส. บริษัทไอทีวีมิได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ การถือหุ้นไอทีวีของผู้ถูกร้อง จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ สส. ของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (3)” นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นบทสรุปของคดีนี้
(https://www.bbc.com/thai/articles/cx8jlqd1p8yo)