วันอังคาร, มกราคม 30, 2567

“เป้าหมายยังไม่สำเร็จก็ไม่ทิ้งกัน” นักสู้ผู้ฝันอยากเป็นทนาย และคดีที่สองของมาตรา 112 ของก้อง อุกฤฏ์


iLaw
11h
·
“เป้าหมายยังไม่สำเร็จก็ไม่ทิ้งกัน” นักสู้ผู้ฝันอยากเป็นทนาย และคดีที่สองของมาตรา 112 ของก้อง อุกฤฏ์
.
บ่ายวันที่ 12 มกราคม ปี 2567 เสียงมอเตอร์ไซค์สงบลงที่ “ซุ้มเสื่อม” ก้อง-อุกฤฏ์ สันติประสิทธิ์กุล เดินทักทายมาด้วยสีหน้ายิ้มแยม เราร่วมตั้งวงพูดคุยกันโดยมีฉากหลังเป็นสระน้ำของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่แสงอาทิตย์เริ่มเป็นสีทองออกส้ม ซึ่งยิ่งเพิ่มความน่าจดจำขึ้นไปอีก ในวันที่ 30 มกราคม 2567 ศาลอุทธรณ์จะอ่านคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของก้อง และอาจจะทำให้เขาไม่ได้กลับมานั่งพูดคุยกับผองเพื่อนไปอีกหลายปี
.
หลังถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เราอธิบายถึงเป้าหมายในการพูดคุยครั้งนี้ว่าไม่ใช่เพียงแค่การพูดถึงคดีที่เขาถูกแจ้งความเอาผิดจากการแชร์ข้อความเกี่ยวกับการประท้วงกษัตริย์ไทยที่หน้าโรงแรมในประเทศเยอรมนี แต่อยากถามถึงชีวิตที่ผ่านมาหลัง iLaw เคยสัมภาษณ์เขาไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 (https://freedom.ilaw.or.th/node/1165) เพื่อรู้จักกับตัวตนของนักกิจกรรมการเมืองผู้นี้ให้มากขึ้น
.
เพราะชีวิตของนักกิจกรรมไม่ได้มีแค่มิติด้านการเมือง แต่ชีวิตประจำวัน ความทรงจำของบ้านเกิด การงานและเป้าหมาย ต่างเป็นสิ่งสำคัญที่รายล้อมก้องไม่ต่างจากภาพฝันถึงสังคมที่ดีกว่า ซึ่งอาจจะกลายเป็นราคาแพงมหาศาลที่คดีมาตรา 112 กำลังจะเรียกเก็บไปจากเขาอย่างไม่ใยดี
.
.
จากเด็กหนุ่มพัทยาสู่รั้วรามคำแหง ก้าวแรกสู่สังเวียนการเมืองปี 2563
.
ก้องเริ่มสนใจการเมืองจากสถานการณ์ความวุ่นวายในสังคมช่วงปี 2549 โดยเฉพาะการปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง กับฝ่ายผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จนนำมาสู่การรัฐประหารในเวลาต่อมา ประตูสู่โลกทางการเมืองของก้องจึงถูกจุดประกายจากคำถามที่ว่า ทำไมคนที่เก่งแบบทักษิณผู้มีผลงานอย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) กลับถูกผู้คนต่อต้านเป็นจำนวนมาก ความสนใจด้านการเมืองเหล่านี้เองจะถูกต่อยอดเมื่อเขาเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนเอกชน และได้ไปเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนประจำอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
.
“ได้ศึกษาค้นคว้าว่าการเมืองไทยในยุครัฐบาลประยุทธ์เป็นอย่างไร อยากศึกษาเพิ่มเติมว่าทหารมีอำนาจในรัฐบาลหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับอำนาจต่างๆ ได้อย่างไร”
.
การเริ่มติดตามข่าวการเมืองในยุคที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีนี้เองนำพาก้องมาสู่รั้วของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์ ซึ่งประจวบเหมาะกับการเกิดขึ้นของการชุมนุมทางการเมืองจากกลุ่ม “ลูกพ่อขุนฯ โค่นล้มเผด็จการ” ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2563 แต่ก้องยังไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเต็มตัว แต่เป็นผู้ร่วมชุมนุมเพียงเท่านั้น สิ่งนี้จะเปลี่ยนไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ก้องได้เข้าร่วมกับ “เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย” และได้ปราศรัยครั้งแรกในประเด็นการใช้งบประมาณและทรัพยากรของกองทัพไทย
.
“ได้ปราศรัยในเวทีย่อยๆ เล็กๆ รวมถึงเวทีในรามคำแหงด้วย เลยได้รับรู้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับคณะรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธิ์”
.
หลังเคลื่อนไหวได้สักระยะ ก้องตัดสินใจเข้าร่วมกับ “กลุ่มทะลุราม” ในปี 2565 เพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาสังคม นอกจากนี้ยังได้ร่วมทำ “ชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน” เพื่อศึกษาปัญหาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จุดนี้ก้องยกตัวอย่างปัญหาสำคัญในพื้นที่ว่ามักมาจากปัญหาโรงงาน การปล่อยน้ำเน่าเสียลงชุมชน หรือการที่ชุมชนถูกบริษัทขนาดใหญ่หรือแม้แต่ตัวรัฐบาลเองกดขี่ข่มเหงไม่ให้สามารถใช้สิทธิในพื้นที่ของตัวเองได้ เป็นต้น
.
.
บริบทรอบตัว ว่าด้วยการเคลื่อนไหวทางการเมืองและท่าทีของสังคมโดยรอบ
.
ย้อนกลับไปในคดีมาตรา 112 คดีแรกที่ก้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 จากการถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความและภาพบนเฟซบุ๊กชื่อ “John New World” ในช่วงปี 2563 และปี 2564 พาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ทำให้ครอบครัวของเขาที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากก้องไม่พอใจเป็นอย่างมาก การต้องขึ้นศาลในคดีมาตรา 112 ครั้งที่สองนี้จึงน่าสนใจว่าท่าทีของครอบครัวก้องนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนแล้วตามกาลเวลา
.
“ที่บ้านเริ่มปรับความเข้าใจแล้ว แต่พวกเขายังไม่โอเคเหมือนเดิม”
.
ก้องอธิบายว่าในปัจจุบันสมาชิกในครอบครัวมีทั้งฝั่งที่เข้าใจการถูกคดีความของก้องมากขึ้น ขณะที่บางฝั่งยังไม่อยากให้ก้องต้องเกี่ยวข้องกับคดีการเมืองโดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่อยากให้ก้องมุ่งสนใจชีวิตในอนาคตมากกว่า
.
“เรื่องคดีการเมืองพวกนี้ก็เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตในอนาคตเหมือนกัน ผมก็พูดหลายรอบแล้วแต่เขายังไม่เข้าใจ”
.
จากความ “อิน” การเมืองของก้องจนนำไปสู่การเคลื่อนไหวหลายครั้งในมหาวิทยาลัยรามคำแหง แน่นอนว่าก้องเคยให้สัมภาษณ์กับเราไปแล้วว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังมีความอนุรักษ์นิยมสูง เราจึงหันกลับมาถามเขาอีกครั้งหลังการเมืองไทยเริ่มมีกระแสความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในช่วงหลังการเลือกตั้ง 2566
.
“ส่วนใหญ่ใน ม.รามฯ มีคนไม่ยุ่งการเมืองเยอะ เพราะสังคมที่นี่เน้นเรียนสลับกับการทำงาน”
.
จุดนี้ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้สะดวกมากนักไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนหรือหลังเลือกตั้ง 2566 อย่างไรก็ตามกลุ่มทะลุรามยังมุ่งทำกิจกรรมทางการเมืองต่อไปอย่างไม่ลดละ กิจกรรมล่าสุดที่เกิดขึ้นคือการชวนผู้คนมาเขียนจดหมายถึงนักโทษทางการเมืองในเรือนจำ และกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519
.
“มีนักศึกษาและประชาชนทั่วไปมาแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้การตอบรับดีมากทั้งสองกิจกรรม เราไม่ได้โห่เฮ้ว ไม่ได้ใช้ความรุนแรง กิจกรรมส่วนใหญ่ของเราก็ทำโดยสร้างสรรค์ คนส่วนใหญ่ก็เลยโอเค”
.
อย่างไรก็ตาม ก้องระบุว่ากระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนได้รับความสนใจจากสังคมน้อยลง เนื่องจากหลังเลือกตั้ง 2566 ประชาชนให้ความสนใจกับการเมืองในรัฐสภามากกว่าเนื่องจากสามารถมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนเป็นครั้งแรกได้ในรอบหลายปี แต่เขายังเชื่อว่าในอนาคตกระแสความสนใจจะหันกลับมาสู่การเมืองบนท้องถนนอีกครั้งแน่นอน
.
.
เพราะบาดแผลเป็นเรื่องปกติของการต่อสู้ จากคดีติดตัวไปสู่การร่วมกันหาทางออกให้สังคมไทย
.
หลังพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะใช้กฎหมาย “ทุกฉบับ-ทุกมาตรา” ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ก็ได้มีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้ใหม่เพื่อดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนมาก หลายฝ่ายมองว่าเป็นนิติสงครามที่มีเป้าหมายเพื่อจัดการแกนนำการชุมนุมและข่มขู่ให้ผู้คนกลัวการแสดงออกทางการเมือง หลังพ้นสมัยของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ไปแล้วการดำเนินคดีการเมืองเหล่านี้ก็ไม่ได้จางหายไปไหน เราจึงสอบถามถึงมุมมองของก้องต่อปัญหาดังกล่าว ที่อาจจะยังเป็นความหวาดกลัวในใจของผู้คนในสังคมอยู่จนถึงปัจจุบัน
.
“การโดนคดีการเมืองจะทำให้ท้อบ้างเป็นเรื่องปกติ การมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ต้องนึกอยู่ในใจว่าสักวันเราอาจจะโดนคดี แต่ถึงแม้โดนคดีก็อย่าลืมว่าเราเพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์ในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น เราไม่ได้โดนคดีเพราะเราผิด”
.
อย่างไรก็ตามก้องกล่าวย้ำว่า คนที่ถูกดำเนินคดีไปแล้วขอให้อย่าท้อและขอเป็นกำลังใจให้ แต่คนที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีก็ขออย่าให้ถูกดำเนินคดีในตอนนี้เพราะกระแสการเมืองกำลังทำให้ถูกดำเนินคดีได้ง่ายขึ้น
.
สิ่งเหล่านี้ทำให้ก้องระบุว่าต้องเกิดการนิรโทษกรรมประชาชน เพราะเป็นการคืนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้กับประชาชนไม่ว่าพวกเขาจะเป็นฝ่ายไหน และเป็นการนิรโทษกรรมทุกคดีการเมืองให้แก่ทุกฝ่าย ก้องนับว่าเป็นบันไดขั้นแรกที่เปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างปลอดภัยมากขึ้น
.
“ถึงแม้ไม่มีตัวผมหรือแกนนำคนอื่น แต่ก็ยังมีประชาชนที่ยังอยากให้มีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้นอีกมาก”
.
.
ความฝันในวัยเยาว์ ทนายความ ท่องโลกกว้าง และพื้นที่ปลอดภัยในร้านกาแฟของทุกคน
.
ก้องเคยให้สัมภาษณ์กับเราเมื่อหนึ่งปีก่อนว่าเขาฝันอยากที่จะเป็นทนายความ แต่หลังถูกคดีมาตรา 112 เพิ่มเป็นครั้งที่สองทำให้เราต้องกลับมาถามคำถามนี้อีกครั้งว่าเขายังเชื่อมั่นในสายอาชีพนี้แค่ไหน คำตอบของเขาหลังผ่านวันเวลายังไม่เปลี่ยนไปเช่นเดียวกับรอยยิ้มและแววตาที่มุ่งมั่น
.
“ถึงแม้ระบบยุติธรรมจะเน่าเฟะแค่ไหน อย่าลืมว่ายังมีคนที่เป็นนักเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับผมอีกเป็นจำนวนมาก ถ้ามีประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์จนถูกดำเนินคดีอีกวิชาชีพทนายความแบบนี้ก็ช่วยได้ไม่มากก็น้อย เพื่อให้พวกเขามีทางสู้คดีนี้ได้ตามสิทธิของประชาชน… เป้าหมายการเป็นทนายของผมคือการได้ช่วยเหลือประชาชน”
.
การเป็นทนายของก้องจึงไม่ใช่การมองอาชีพทนายในฐานะการทำมาหากินเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในเส้นทางของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทย เนื่องจากในอนาคตเขาไม่ต้องการให้มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองที่รู้สึกโดดเดี่ยวเบื้องหน้าบัลลังก์ผู้พิพากษา การมีคนหลายคนร่วมกันต่อสู้ตั้งแต่บนถนนจนถึงในชั้นศาลคือเส้นทางที่ก้องเลือกที่จะเดินต่อไปในอนาคต
.
“ได้ช่วยประชาชน ได้ช่วยพี่น้องที่เป็นนักเคลื่อนไหว พวกเขาไม่ได้สู้คนเดียว การมีใครหลายคนร่วมสู้ด้วยกันแม้จะนานสักเท่าไหร่ก็ไม่ทิ้งไปไหน ผมก็ไม่ทิ้งคุณ เป้าหมายยังไม่สำเร็จเราจึงยังทิ้งกันไม่ได้”
.
เมื่อเราขยับจากเนื้อหาการเมืองที่เคร่งเครียดและชวนก้องพูดถึงสิ่งที่อยากทำในอนาคตอื่นๆ ก้องระบุว่าเขาอยากได้มีโอกาสไปเที่ยวประเทศในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนหรือประเทศที่เคยเป็นอดีตยูโกสลาเวียเพื่อศึกษาการก่อร่างสร้างประวัติศาสตร์ชาติเหล่านั้น ขณะเดียวกันในวัยเกษียณก็อยากที่จะเปิดร้านกาแฟเล็กๆ เป็นของตัวเองเพื่อใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น ไม่เพียงแต่ความคิดเห็นด้านการเมืองแต่ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะใช้แลกเปลี่ยนด้านวิถีชีวิตอีกด้วย
.
ก้องย้ำกับเราอีกครั้งว่าเขาตั้งเป้าหมายเป็นสำคัญ หากเป้าหมายยังไม่สำเร็จเขาก็ต้องต่อสู้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในฐานะทนายความ โอกาสกลับไปพัฒนาพัทยาบ้านเกิด หรือแม้แต่ในวันที่เขาเป็นเจ้าของร้านกาแฟเพื่อสร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คนในอนาคตก็ตาม
.
(https://www.facebook.com/iLawClub/posts/776952174478404?ref=embed_post)