วันอังคาร, มกราคม 30, 2567

Move On อย่างเป็นรูปธรรมที่แท้จริง เพื่อบ้านเมืองจะได้ไปต่อ ต้องผ่าน ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน

.....
iLaw
9h
·
ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน) นำเสนอทางออกจากสถานการณ์การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเล่นงานคนเห็นต่างทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก และยิ่งเวลาผ่านไป ก็จะยิ่งมีผู้ถูกคุมขังจากฐานความผิดที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกมากขึ้นเรื่อย ๆ
.
การนิรโทษกรรมประชาชนจึงเป็นความจำเป็นของสังคมไทย ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ทิ้งบาดแผลให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดหรือแสดงออกแบบใด โดยร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชนมีเนื้อหาหลักดังนี้
.
รวมประชาชนทุกคดีทุกฝ่ายตั้งแต่รัฐประหาร 49
.
ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชนไม่เลือกฝ่ายหรือประเภทของคดีความ ทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จะเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด โดยแบ่งการนิรโทษกรรมออกเป็นสองประเภท คือคดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมในทันทีหลังจากที่กฎหมายได้รับการรับรอง และคดีที่ให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชนที่จัดตั้งตามกฎหมายพิจารณาว่าจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่
.
สำหรับคดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมทันทีมีดังนี้
.
- คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
- คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 และประกาศคณะรักษาความสงบฉบับที่ 38/2557
- คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
- คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘
- คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๙
- คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับข้อดังกล่าวด้านบน
.
ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง/คนทำรัฐประหาร
.
หากจะมีข้อยกเว้นในร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน ก็จะอยู่ที่การไม่ให้นิรโทษกรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมหรือกระทำเกินแก่เหตุ รวมถึงความผิดตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดฐานเป็นกบฏ ซึ่งได้แก่ความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครอง
.
หมายความว่าผู้ที่ใช้กำลังยึดอำนาจรัฐหรือผู้ที่ทำรัฐประหารจะไม่ได้อานิสงค์จากกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน
.
มีตัวแทนประชาชนในคณะกรรมการพิจารณานิรโทษกรรม
.
ภายหลังจากที่ร่างกฎหมายได้รับการรับรอง ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชนกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งชื่อ “คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน” ซึ่งอำนาจหน้าที่หลักคือพิจารณาคดีอื่นใดที่ไม่ได้รวมอยู่ในประภเทคดีที่ได้รับการระบุไว้ในร่างกฎหมาย แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง ให้คณะกรรมการพิจารณานิรโทษกรรมได้ โดยนอกจากผู้ต้องหาหรือจำเลยผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการได้แล้ว ร่างกฎหมายยังเปิดช่องให้คู่สมรสหรือญาติสามารถยื่นเรื่องแทนได้ด้วย มากไปกว่านั้น คณะกรรมการยังมีหน้าที่จัดทำรายงานข้อเสนอการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอีกด้วย
.
คณะกรรมการนิรโทษกรรมมีทั้งหมด 19 คน ประกอบไปด้วย
.
- ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานคณะกรรรมการ
- ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
- ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล
- ส.ส. 10 คนตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร
- ตัวแทนจากประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจาก 4 เหตุการณ์ คือ การรัฐประหาร 2549 จากการชุมนุมช่วงปี 2552 - 2553 จากช่วงการรัฐประหาร 2557 - 2562 และจากการชุมนุมช่วงปี 2563 – 2566 เหตุการณ์ละ 1 คน
- องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรม 2 คน